Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
โค้งสุดท้ายวางแผนบริหารภาษี ติดต่อทีมงาน

คอลัมน์: สารพันปัญหาเงินทอง: ประวีร์ พิชัยศรทัต

         เรียน คุณประวีร์
         เหลือเวลาอีกประมาณแค่สองเดือน (ไม่นับเดือนตุลาคมนี้) ก็กำลังจะถึงสิ้นปีอีกแล้ว อยากให้คุณประวีร์ช่วยให้ความเห็นว่า มีเรื่องอะไรเกี่ยวกับเงินๆทองๆ ที่ต้องรีบเร่งจัดการก่อนจะเข้าสู่โค้งสุดท้ายของปีใหม่ อย่างเช่น วางแผนต่างๆ หรือเรื่องการลดหย่อนภาษี ฯลฯ อย่างไร ช่วยแนะนำที่เป็นประโยชน์ด้วย ขอบคุณครับ.
         พัชรพล

         ตอบคุณ พัชรพล
         ใช่แล้วครับ นับถอยหลังอีกแค่ 2 เดือนเศษก็จะก้าวเข้าสู่ปีใหม่กันอีกปีแล้ว ถ้าตั้งแต่เมื่อต้นปีหรือกลางปีท่านผู้อ่านมุ่งมั่นตั้งใจว่าจะลงมือทำอะไรเรื่องเงินหลายสิ่งหลายอย่างแต่ยังไม่ได้ลงมือทำ ถึงจะเหลืออีกแค่สองเดือนก็ถือว่ายังพอมีเวลาให้สะสางกันนะครับ

         ตามที่คุณพัชรพลเขียนมา คือเฉพาะในส่วนของเรื่องต่างๆทางการเงิน ก็ถือว่ามีหลายสิ่งให้เราต้องจัดการ แต่ในช่วงก่อนสิ้นปี มักเป็นช่วงชุลมุนของชีวิต ที่บางคนอาจต้องเร่งมือจัดการเคลียร์งานให้เสร็จสิ้น หรือปิดยอด วางแผน ทำงบฯ ก่อนหยุดยาวช่วงปีใหม่ จนอาจลืมว่ามีเรื่องเงินๆทองๆ อีกหลายอย่างที่เราต้องลงมือทำในช่วงสุดท้ายของปี ลองมาดูตามลิสต์ก็แล้วกันนะครับ ว่ามีอะไรบ้างที่เราควรทำก่อนหยุดยาวไปเคาต์ดาวน์กันในคืนข้ามปี

         1. ซื้อกองทุนประหยัดภาษี เรื่องการเงินที่ต้องสะสางเป็นอันดับแรกก่อนสิ้นปี คือการซื้อกองทุนประหยัดภาษี เพื่อให้ได้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างสมบูรณ์แบบ ผู้ลงทุนควรซื้อกองทุนประหยัดภาษีทั้งกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) และกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) นะครับ และเพื่อไม่ให้การซื้อกองทุนประหยัดภาษีเป็นภาระที่หนักและมากเกินไปในปลายปีเช่นนี้ แนะนำให้สมัครเข้าโปรแกรม  Saving  Plan ซึ่งจะหักบัญชีอัตโนมัติเพื่อซื้อกองทุนRMF/LTF อย่างสม่ำเสมอทุกเดือนตั้งแต่ต้นปี จะได้เป็นการจัดระเบียบทางการเงินอย่างหนึ่ง และอาจจะลงทุนเป็นเงินก้อนเพิ่มเติมอีกครั้งช่วงปลายปี ท่านผู้อ่านหลายท่านที่ไม่ได้จัดระเบียบมาตั้งแต่ต้นปี ก็ลองเริ่มใหม่ปีหน้าเลยนะครับ

         เรื่องนี้หลายๆท่านอาจจะยังไม่ทราบถึงวัตถุประสงค์ที่แน่ชัดของตัวเองในการเลือกซื้อ "ผลิตภัณฑ์การเงิน" ต่างๆ เพราะโดยทั่วไปจะมองเพียงการลดหย่อนภาษีเท่านั้นเอง แต่ไม่ทราบว่าสิ่งที่ซื้อไป อาจมีความเสี่ยงขาดทุน อาจกลายเป็นภาระผูกพันในระยะยาว หรือทำให้ขาดสภาพคล่องในอนาคต

         ในการวางแผนภาษีส่วนบุคคลนั้น เขาเปรียบเงินที่ได้รับคืนจากการลดหย่อนภาษีเป็นผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งจะมีมากน้อยตามฐานภาษีของเราเอง เช่น คนวัยทำงาน มีเงินเดือน 60,000 บาท ไม่มีภาระหนี้อื่นๆเมื่อคำนวณแล้วจะต้องเสียภาษี 61,000 บาท หรือประมาณ 8.5% ของรายได้ทั้งปี ในการเลือกซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและกองทุนรวมหุ้นระยะยาว เขาถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่งคั่ง  Wealth  Creation ทั้งระยะกลาง และระยะยาวนะครับ ส่วนการเลือกซื้อประกันชีวิตนั้น จะเป็นทั้งการช่วยเพิ่มในด้าน  Wealth Creation และ Wealth Protection ควบคู่กันไป

         มีการแนะการซื้อกองทุนประหยัดภาษี ว่า ถ้าเป็นกองทุน RMF ควรเลือกกองทุนรวมที่มีนโยบายสอดคล้องกับระยะเวลาการลงทุนที่เหลือของเรา และความเสี่ยงที่เรายอมรับได้เป็นหลัก เช่น หากอายุในช่วง 30-40 ปี สามารถรับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวม RMF แบบหุ้น แบบผสม หรือทองคำ ระยะเวลาลงทุนที่เหลืออีก 15-25 ปี จะช่วยลดความผันผวนของตลาดลงได้ แต่หากอายุในช่วง 40-50 ปีแล้ว ก็ควรปรับลดระดับความเสี่ยงมาเป็นปานกลางถึงต่ำ และลงทุนในกองทุนรวม  RMF แบบผสม แบบตราสารหนี้ หรือตราสารเงิน และช่วง 5 ปีก่อนเกษียณ อาจปรับลดระดับความเสี่ยงลง และลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ จะสามารถคาดการณ์จำนวนเงินก้อนที่จะได้รับจากกองทุนเมื่อครบกำหนดขายได้และยังช่วยรักษาเงินต้นเป็นหลัก

         ส่วนกองทุน  LTF มีการมองกันว่าเป็นกองทุนเพื่อใช้จ่ายในระยะปานกลาง 3-5 ปีข้างหน้า   ฉะนั้นควรลงทุนในกองทุนที่มี นโยบายการจ่ายเงินปันผล เนื่องจากกองทุนLTF จะมีสัดส่วนลงทุนหุ้นอย่างน้อย 65% ซึ่งมีความเสี่ยง ดังนั้น การได้รับเงินปันผลคืนมาระหว่างการถือครอง จะช่วยให้เราสามารถลดต้นทุนจากราคาที่ซื้อได้ครับ แนะนำให้ซื้อกองทุน  LTF ประเภทจ่ายเงินปันผล มีประวัติการจ่ายปันผลสม่ำเสมอ 2-3 กอง ที่จ่ายปันผลไม่ตรงกัน และควรทยอยซื้อหน่วยลงทุนจะดีกว่าการซื้อในครั้งเดียว แม้ว่าจะไม่ทันในปีนี้ คงต้องเริ่มกันในปี 2556 ติดตามต่อฉบับหน้าครับ.--จบ--


โค้งสุดท้ายวางแผนบริหารภาษี (2)

         ความจากตอนที่แล้ว คุณพัชรพลเขียนมาว่า เหลือเวลาอีกแค่สองเดือนก็ จะสิ้นปีอีกแล้ว อยากจะได้ไอเดียว่ามีเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆ ที่ต้องรีบเร่งจัดการก่อนจะเข้าสู่โค้งสุดท้ายของปีนี้บ้างไหม อย่างเช่น วางแผนต่างๆ หรือเรื่องการลดหย่อนภาษีซึ่งผมก็แนะนำไปว่าถ้าตั้งแต่เมื่อต้นปีหรือกลางปี ท่านผู้อ่านที่มุ่งมั่นตั้งใจว่าจะลงมือทำอะไรเรื่องเงินหลายสิ่งหลายอย่างแต่ยังไม่ได้ลงมือทำ ถึงจะเหลืออีกแค่สองเดือนก็ถือว่ายังพอมีเวลาให้สะสางกันครับ ช่วงก่อนสิ้นปี มักเป็นช่วงชุลมุนของชีวิตอยู่เหมือนกัน อาจต้องเร่งมือจัดการเคลียร์งานให้เสร็จสิ้น ปิดยอด วางแผน ทำงบฯ แต่ก็อย่าลืมเรื่องเงินๆทองๆ อีกหลายอย่างที่เราต้องลงมือทำในช่วงสุดท้ายของปีนะครับ คราวก่อนผมลิสต์ไว้แล้ว ว่ามีอะไรบ้างที่เราควร ทำก่อนหยุดยาวไปเคาต์ดาวน์กันในคืนข้ามปีและได้พูดถึงสิ่งแรกไปแล้วคือข้อ 1.ซื้อ กองทุนประหยัดภาษี

         คราวนี้มาดูกันต่อ เรื่องที่สอง ครับ เป็นเรื่องของการพิจารณาใช้โบนัส ที่เรามักจะได้กันช่วงสิ้นปี ว่าเราจะดีไซน์การเอาไปใช้อย่างไร ให้โบนัสที่เราได้มานี้ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่แค่ว่าเอาไปซื้อของ ไปเที่ยว ให้รางวัลตัวเองอยู่อย่างเดียว เพราะสำหรับคนที่ได้โบนัสประจำปี เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราเตรียมจัดการเงินก้อนนี้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด เงินโบนัสจัดเป็นรายได้ประเภทหนึ่งมีผลให้ฐานภาษีของผู้ลงทุนเพิ่มสูงขึ้น ครับ ดังนั้น การจัดสรรเงินโบนัสให้เกิดประโยชน์ต้องมองการณ์ไกล

         ข้อแรก-สำรองเงินโบนัสส่วนหนึ่งเพื่อซื้อกองทุนประหยัดภาษีเพราะฐานภาษีจะเพิ่มขึ้นจากรายได้ที่มาจากโบนัส ข้อสอง-สำรองไว้สำหรับภาวะฉุกเฉินในปีหน้า อย่าง เช่น ภัยธรรมชาติ การซ่อมแซมปรับปรุงบ้าน เรื่องรถยนต์ฯลฯ และ สาม-สำรองไว้สำหรับคนข้างหลัง เช่น การศึกษา ลูกหลาน หรือพ่อแม่ หรือจะเก็บเป็นเงินออมประมาณ 40% โดย 20% อาจเลือกฝากเงินระยะสั้นไม่เกิน 6 เดือน อีก 20% แบ่งการออมเงินเป็นระยะเวลา เพื่อจะได้สามารถจัดสรรการใช้สอยได้ครับเช่น กองทุนอายุ 3 เดือน หรือ 6 เดือน ถ้าเป็นคนโสดไม่มีภาระมากนัก อาจเลือกซื้อทองคำเก็บไว้ก็ดี เพราะมีสภาพคล่อง มูลค่าก็เพิ่ม เผื่อยามฉุกเฉินยังสามารถแปลงสภาพเป็นเงินสดได้

         ที่จริงแล้ว โบนัส คือ รางวัลคำชมเชยจากเจ้านาย ซึ่งคนที่ทำงานหนักมาทั้งปีควรได้รับอย่างยิ่งครับ แต่อย่าไปคิดในแง่ที่ว่าโบนัสเป็นเงินที่ได้มาเปล่าๆ ฟรีๆ เพราะที่จริงมันก็เป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนเรานั่นเองครับ โดยปกติ มนุษย์เงินเดือนจะได้โบนัสแต่ละปี อย่างน้อยประมาณ 1 เท่าของเงินเดือน (ยกเว้นคนที่ทำงานกับบริษัทไฟแนนซ์ อาจได้เป็น 10 เท่าของเงินเดือนเลยก็เป็นได้) อย่างไรก็ดีครับ เงินโบนัสที่ได้นี้ ขอแนะนำว่าครึ่งหนึ่งควรใช้ซื้อรางวัลให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามที่เราอยากได้ ตั้งแต่ดาวน์รถใหม่ นาฬิกา กระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า เซตใหม่ หรือจะเป็นการไปทำสปาแบบหัวจรดเท้า หรือ การตรวจเช็กสุขภาพประจำปี รวมไปถึงการไปท่องเที่ยวไกลๆ ซัก 6-7 วัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มพลังกายและพลังใจเตรียมพร้อมสำหรับปีหน้า

        การใช้เงินตรงนี้ขอให้ถือเป็นการให้รางวัลกับตัวเองปีละ 1 ครั้ง จัดเต็มกันไปเลย แต่ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนั้น ถ้ายังไม่รู้จะไปลงอะไร ก็ขอให้เก็บไว้เป็นเงินออม จะซื้อกองทุนหรือประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ก็ได้ จะได้ประหยัดภาษีด้วย แต่สำหรับคนที่มีหนี้สินก้อนโต ก็ลองดูว่าจะเอาบางส่วนของเงินโบนัสชำระหนี้ เพื่อประหยัดค่าดอกเบี้ยได้หรือไม่ เพราะการลดหนี้เงินต้นก็ถือเป็นรางวัลอีกประเภทหนึ่งเหมือนกัน เพื่อให้ชีวิตเราเดินไปสู่ความเป็นไทได้เร็วขึ้นครับ

         นักบริหารเงินบางท่านอาจบอกว่า ให้หลักการ 80:20 โดยออม 80 และใช้จ่ายปีใหม่ 20 ซึ่งในส่วนของการออม 80% ของโบนัสนั้น อาจจะนำมาลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ชำระเงินกู้บ้านจะได้ลดดอกเบี้ยจ่ายในปีหน้า และอาจจะลงทุนในประกันชีวิตเพิ่มเติม เพื่อเสริมความมั่งคั่งให้ตัวเองก็ได้เหมือนกัน

        อย่างต่อไป 3.สรุปค่าใช้จ่ายตลอดทั้งปี แนะนำนะครับว่าหลักง่ายๆ คือ จัดหมวดหมู่ภาระค่าใช้จ่าย อย่างเช่น ค่าผ่อนบ้าน/ผ่อนรถ ใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวค่าอาหาร และเครื่องแต่งกายเป็นต้น เพื่อนำมาสำรวจค่าใช้จ่ายของตัวเองและสำรวจเงินออมว่าเพียงพอแล้วหรือไม่ โดยแนะนำให้ตั้งเป้าหมายการออมเงินระยะยาว โดยคำนึงถึงเงินที่เก็บไว้ใช้ช่วงหลังเกษียณอายุ เช่น หากทุกวันนี้ใช้จ่ายประมาณ 300 บาทต่อวัน (อ้างอิงจากอัตราค่าแรงขั้นต่ำครับ) หลังเกษียณภายใน 20 ปี  ซึ่งผู้ลงทุนต้องการใช้จ่ายในค่าอาหาร 3 มื้อ เพียง 300 บาท/วัน ผู้ลงทุนจะต้องมีเงินประมาณ 2,190,000 บาท (365 วันx20 ปีx300 บาท) ดังนั้น จึงควรจัดสรรเงินออมให้พอ โดยจะต้องสำรวจค่าใช้จ่ายในแต่ละปี...โปรดติดตามตอนต่อไปครับ.

โค้งสุดท้ายวางแผนภาษี (3)

         จากที่คุณพัชรพลเขียนมาว่า เหลือเวลาอีกแค่สองเดือน ก็จะสิ้นปี อยากจะได้ไอเดียที่เกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆ ที่ต้องรีบเร่งจัดการก่อนจะเข้าสู่โค้งสุดท้ายของปีนี้ เช่น วางแผนต่างๆ หรือเรื่องการลดหย่อนภาษีซึ่งผมก็แนะนำไปใน สองตอนที่แล้ว ว่ามีอะไรบ้างที่เราควรทำก่อนหยุดยาวไปเคาต์ดาวน์ กันในคืนข้ามปี และได้พูดไปแล้ว 3 เรื่องคือข้อ 1.ซื้อกองทุน ประหยัดภาษี 2.การพิจารณาใช้โบนัส  และ 3. สรุปค่าใช้จ่ายตลอดทั้งปี มาต่อครับ

         เรื่องที่4 ใช้สิทธิประกันลดหย่อนภาษี เป็นอีกเรื่องทางการเงิน คือเราต้องถามตัวเองว่า ปีนี้ได้ใช้สิทธิจากประกันนำไปลดหย่อนภาษีหรือยัง ขอแนะว่าให้สำรวจสิทธิของประกันแต่ละประ เภท  เช่น ประกันชีวิตทั่วไป สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 1 แสนบาท ส่วนประกันบำนาญ สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ และสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท ทั้งนี้ เมื่อรวมกับเงินสะสมกองทุนอื่นๆได้แก่  RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข. หรือกองทุนสงเคราะห์โรงเรียนเอกชน จำนวนเงินลดหย่อนต้องไม่เกิน 500,000 บาท

         หากท่านผู้อ่านหรือผู้ลงทุน อยากจะบังคับให้ตัวเองออมเงิน ผมก็ขอแนะนำให้ซื้อประกันบำนาญ เพราะต้องส่งเบี้ยประกันแต่ ละปีในจำนวนที่เท่ากัน และหลังเกษียณอายุก็จะได้รับเงินคืนเป็นเงินบำนาญรายปี หรือลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) ซึ่งมีข้อดีตรงที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก โดยผู้ลงทุนสามารถออมขั้นต่ำ เพียง 3% ของเงินได้ หรือ 5,000 บาทต่อปีเองครับ แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า และก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนเท่ากันทุกปีด้วย แต่ต้องลงทุนทุกปีต่อเนื่องอย่างน้อย5 ปี จนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

         ประกันชีวิตที่มีอายุกรมธรรม์อย่างน้อย 10 ปี ยังใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 100,000 บาท ซึ่งในการเลือกซื้อควรดูว่าเราต้องการอะไรจากแบบประกันนี้ คุ้มครองชีวิต ออมเงินทุกๆ ปี เพื่อเป็นเงินก้อนหลังเกษียณ ส่วนประกันแบบบำนาญ เราควรสร้างบำนาญให้ตัวเอง จะได้ไม่ต้องกังวลกับความผันผวนของตลาดหุ้น

         นอกจากนี้ ทางการยังเพิ่มสิทธิให้ลดหย่อนภาษี อีก 200,000 บาท เป็นแบบประกันที่มุ่งเน้นการสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอหลังเกษียณ ก็เสมือนเป็นการสร้างกองทุนบำนาญให้กับตัวเองเหมือนกัน ในการเลือกแบบประกันบำนาญ เราควรเปรียบเทียบว่าเป็น การลงทุนแบบหนึ่ง เราจ่ายเงินทุกๆ ปี และเมื่อครบกำหนดเราจะได้เงินคืนไปเรื่อยๆจนกรมธรรม์หมดอายุ หรือเราเสียชีวิต ฉะนั้น เราควรพิจารณาว่าจุดคุ้มทุนอยู่ในปีไหนหลังจากที่เราเกษียณแล้วนะครับ ส่วนเงินที่ได้มากกว่านั้น ก็ถือเป็นกำไร จุดคุ้มทุนควรจะอยู่ที่อายุต่ำกว่า 72-75 ปี และเมื่อรวมสิทธิประโยชน์ทางภาษีก็น่าจะต่ำกว่า 70 ปี

         การซื้อกองทุนและกรมธรรม์ประกันชีวิต ถือเป็นวิธีปกติเพื่อประหยัดภาษี แต่นอกจากนั้นยังมีช่องทางอื่นๆในการลดยอดการจ่ายภาษีได้ เช่น การหักค่าลดหย่อนรายจ่ายค่าดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน ซึ่งได้สูงถึงปีละ 100,000 บาท การหักค่าลดหย่อนด้านค่าเล่าเรียนของบุตร การหักค่าเลี้ยงดูและประกันสุขภาพให้บิดามารดา เป็นต้นครับ ดังนั้น ก่อนสิ้นปีภาษีนี้ ลองดาวน์โหลดแบบ ภ.ง.ด. จากเว็บไซต์ของกรมสรรพากร (http://www.rd.go.th/) มาศึกษารายการลดหย่อนภาษีต่างๆ เผื่อในโค้งสุดท้ายนี้ท่านผู้อ่านอาจจะยังมีโอกาสที่จะประหยัดการจ่ายภาษีให้ได้มากที่สุด เพราะยิ่งท่านสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านภาษีลงได้เท่าไหร่ ก็แปลว่ารายได้ท่านจะเพิ่มมากเท่านั้น

         ขอแนะนำเพิ่มเติมว่า การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลก็เป็นทางเลือกใหม่ที่มีความมั่นคงสูงสุด ในวันที่ 11 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมานี้ พ.รบ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้ครับ ซึ่งก็หมายความว่า รัฐบาลจะค้ำประกันเงินฝาก บัญชีละ 1 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น สำหรับท่านที่มีเงินฝากในธนาคารเกิน 1 ล้านบาท ต่อบัญชี ต่อธนาคาร ควรเริ่มมองหาทางเลือกเพิ่ม เอาที่เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่มีผลตอบแทนที่เหมาะสม ซึ่งพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลซึ่งมีหลายประเภท เช่น พันธบัตรออมทรัพย์ พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ และ พันธบัตรทยอยจ่ายคืนเงินต้น เป็นต้น ซึ่งพันธบัตรแต่ละประเภทมีกระแสเงินสดที่ไม่เหมือนกัน และเหมาะสมกับนักลงทุนหลายแบบ โดยพันธบัตรออมทรัพย์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ รุ่นอายุ 3 ปี มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ และรุ่นอายุ 5 ปีขึ้นไป มีอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได ซึ่งเหมาะกับผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากมีวงเงินขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท เท่านั้น โดยปัจจุบันนี้ รัฐบาลจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านเคาน์เตอร์และเครื่อง ATM ของธนาคารกรุงไทย รุ่นอายุ 3 ปี ส่วนพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อนั้น มีผลตอบแทนแปรผันตามอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ต้องการรักษาอำนาจซื้อ โปรดติดตามตอนสุดท้ายฉบับหน้านะครับ.

โค้งสุดท้ายวางแผนภาษี (จบ)

         จากที่เราพูดกันมาสามตอนต่อกัน ในประเด็น คุณพัชรพล เขียนมาว่า เหลือเวลาอีกแค่สองเดือนก็จะสิ้นปี จึงอยากจะได้ไอเดียในเรื่องที่เกี่ยวกับเงินๆทองๆ ที่ต้องรีบเร่งจัด การก่อนจะเข้าสู่โค้งสุดท้ายของปีนี้ เช่น วางแผนต่างๆ หรือเรื่องการลดหย่อนภาษี ซึ่งผมก็แนะนำไปในสามตอนที่แล้ว ว่ามีอะไรบ้างที่เราควรทำและได้พูดไปแล้ว 4 เรื่องคือข้อ 1.ซื้อกองทุนประหยัดภาษี 2.การพิจารณาใช้โบนัส 3.สรุปค่าใช้จ่ายตลอดทั้งปี และ 4. คือใช้สิทธิประกันลดหย่อนภาษี วันนี้มาต่อในตอนสุดท้ายครับ

         ล่าสุดนี้ ก็มีพันธบัตรทยอยจ่ายคืนเงินต้น ที่มีการทยอยจ่าย คืนเงินต้นปีละ 20% ในช่วง 5 ปีสุดท้ายของอายุพันธบัตร ซึ่งพันธบัตรทยอยคืนเงินต้นที่ผมว่าไปนี้ เป็นพันธบัตรที่เหมาะกับผู้ใกล้วัยเกษียณอายุมาก และจุดเด่นที่สุดของพันธบัตรรัฐบาลทุกประเภท คือมีความมั่นคงสูงที่สุดของประเทศ มีการจ่ายดอกเบี้ยตรงเวลาและได้เงินต้นคืน 100% แน่นอนครับ สำหรับท่านที่รับความเสี่ยงจากการลงทุนไม่ได้เลย พันธบัตรรัฐบาลจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม ที่สุด แต่พันธบัตรรัฐบาลประเภทไหนจะเหมาะกับความต้องการลง ทุน ก็คงขึ้นอยู่กับรุ่น อายุ และกระแสเงินสดรับที่แตกต่างกันของชนิดของพันธบัตร ประเด็นชวนคิดที่อยากฝากไว้ก็คือ ในพอร์ตเงินออมที่ท่านผู้อ่านเก็บมาทั้งชีวิตนั้น คิดว่าควรมีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่มีความมั่นคงสูงสุดของประเทศสักเท่าไรดีครับ ตอนสุดท้ายนี้ ผมก็ขอมาพูดรวมๆ เป็นการสรุปข้อผิดพลาดเรื่องเงินๆทองๆ

         เรื่องนี้เป็นการสรุปค่าใช้จ่ายตลอดทั้งปีครับ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้"รู้ตัว" ว่าอะไรที่ "ผิดพลาด" จะได้พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นอีกในปีหน้า และโดยมาก ความ "ผิดพลาด" มักเกิดขึ้นจากปัจจัย 2 ด้าน คือ จ่ายมากไปโดยเฉพาะในด้านของการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น การซื้อรองเท้าคู่ใหม่เพราะลดราคา 25% และมี  Top-up อีก 5% จากบัตรเครดิตหรือบัตรห้างฯ เราเลยหลงคิดว่าจะได้กำไร 2 ต่อ จากการได้สินค้าในราคาถูก และ ไมล์เลจของบัตรเครดิต ทั้งๆ ที่ลืมคิดไปว่า เรามีรองเท้าคล้ายๆ กันอีก 20 กว่าคู่ที่ยังใหม่มาก หรือยังไม่ได้เอาออกจากกล่องเลยด้วยซ้ำ

         ส่วนความผิดพลาดประการที่ 2 คือ ออมน้อยไปครับ ซึ่งอัตราการออมนั้น ขอแนะนำหลักง่ายๆ คือ อย่างน้อยให้ออมให้เท่ากับอัตราภาษีเงินได้ที่ต้องจ่าย เช่น ถ้ารายได้อยู่ในระหว่างฐานภาษี 10% ให้ออมประมาณ 10% ของเงินเดือนไปเลย จะไปเสียภาษีทำไม สู้เอามาออมไว้ใช้ในอนาคตดีกว่า ซึ่งการออมมีหลายช่องทางที่หักภาษีได้ ไม่ว่าจะเป็น  LTF,  RMF หรือ การลงทุนในกรมธรรม์ประกันชีวิต โดยควรศึกษาตารางการคืนเงินให้เหมาะสมกับรายรับและความต้องการลงทุนในอนาคต

         และก่อนถึงปีหน้าแนะนำให้สำรวจข้อบกพร่องของการ ใช้เงินในปีนี้ก่อนว่า ตนเองมีข้อผิดพลาดอย่างไร ซึ่งปีนี้หลายท่านอาจไม่ทันได้สำรองเงินฉุกเฉินไว้มากนัก แต่เมื่อเจอสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ตัวอย่างเช่นปีก่อนที่เกิดภาวะน้ำท่วมหนักๆ ต้องย้ายบ้าน ซ่อมรถ ซ่อมบ้าน ซึ่งอาจต้องนำเงินออมออกมาใช้ก่อน หรือปีนี้ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ ดังนั้น ปีหน้าต้องชดเชยเงินออมที่นำออกมาใช้ในปีนี้ให้เท่าเดิม และที่สำคัญ ควรเพิ่มสัดส่วนเงินสำรองในยามฉุกเฉินให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อไม่ให้มากินในสัดส่วนของเงินออมในปีต่อไป

         จากการสำรวจ คนเรามีความผิดพลาดเรื่องเงินๆทองๆ กันไม่เว้นแต่ละปี เช่น รอจังหวะการลงทุน กะว่ารอให้ราคาต่ำแล้วค่อยซื้อ หรือบางทีก็ตัดสินใจช้าไป มาเริ่มออมทองคำตอนกลางปี แทนที่จะออมสม่ำเสมอตั้งแต่ต้นปี รวมถึงขาดการวางแผนการเงินตั้งแต่ต้นปี ทำให้เมื่อถึงปลายปีต้องซื้อกองทุนในราคาที่สูง และประเด็นที่เจอเยอะคือคำนึงถึงของแถม ของแจก มากกว่าผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกองทุน

         สำหรับปีหน้า เรามาเริ่มกันใหม่ และควรวางแผนการเงินและแผนภาษีตั้งแต่ต้นปี หรือตั้งต้นจาก ภง.ด. 90/91 ของปี 2555 เพื่อจะได้วางแผนการนำเงินคืนภาษีและเงินที่ได้จากกองทุน  LTF ที่ครบกำหนด มาลงทุนเพื่อต่อยอดในปี2556 ใช้ประโยชน์จากการออมที่เป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการออมกองทุนทองคำ ทองคำแท่ง กองทุน  LTF กองทุน  RMF หรือแม้แต่ประกันชีวิต เพื่อให้แผนภาษีของท่านผู้อ่านเป็นแผนการเงินที่สมบูรณ์และยังช่วยสร้างเงินบำเหน็จ ณ วันเกษียณ จาก  RMF และประกันชีวิต และมีเงินบำนาญให้ใช้อย่างสม่ำเสมอครับ

         นี่คือแนวคิดทั้ง 5 เรื่องเงินๆทองๆ เผื่อคุณพัชรพลและท่านผู้อ่าน อาจจะต้องจัดการในช่วงโค้งสุดท้ายของปี เสร็จแล้วจะได้ไปเฉลิมฉลองปีใหม่อย่างไม่มีเรื่องกังวลใจครับ.

         ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

จากคุณ : เม่าน้อยสู่พญาปลวก
เขียนเมื่อ : 31 ต.ค. 55 07:50:51




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com