แบงก์ชาติจับตา3ปัจจัยเสี่ยงทุบศก.ไทยปี56
|
|
การเงิน - การลงทุน วันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 00:09 โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แบงก์ชาติจับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง ทุบเศรษฐกิจไทยปีหน้า เผยทั่วโลกระทึก! Fiscal cliff ยันยังไม่พบแรงเก็งกำไรอสังหาฯ
นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2556" ซึ่งจัดโดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ว่า เศรษฐกิจไทยระยะต่อไปยังต้องติดตามดูใน 3 ปัจจัยสำคัญ คือ แนวโน้มการฟื้นตัวและพัฒนาการด้านต่างๆ ของเศรษฐกิจโลก โดยสิ่งที่ทั่วโลกกำลังเฝ้าติดตามกันอยู่ในขณะนี้ คือ ปัญหาหน้าผาการคลัง(Fiscal cliff) ของทางสหรัฐ ว่าสหรัฐจะต่ออายุมาตรการกระตุ้นทางการคลังออกไปอีกหรือไม่
"แม้ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะชี้ว่า ทางการจะยังสานต่อแนวนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำอยู่ต่อไป แต่กระบวนการทางการเมืองสู่ข้อสรุปเพื่อต่ออายุมาตรการเหล่านี้อาจไม่ง่ายนัก โดยทางการสหรัฐฯ ประเมินว่าหากภาคการเมืองไม่สามารถตกลงกันได้และมาตรการดังกล่าวต้องสิ้นสุดลง เศรษฐกิจสหรัฐฯ คงจะกลับสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งในปีหน้า ซึ่งคาดว่จะหัดตัว 0.32%"นางผ่องเพ็ญกล่าว
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ ธปท. ติดตามดูภาพรวมเศรษฐกิจโลกขณะนี้ ยังเป็นไปในทิศทางเดิมไม่ได้ต่างจากช่วงที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ได้ประเมินไว้ในครั้งก่อนมากนัก และแม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเองมีแนวโน้มว่าจะแย่ลง ทำให้ภาพรวมไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมมากนัก
ส่วนปัจจัยที่ 2 ที่ต้องติดตามดู คือ การไหลเข้าของเงินทุนเคลื่อนย้ายมาในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก และเงินทุนที่ไหลเข้านี้ย่อมสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อค่าเงินและสินทรัพย์อื่นๆ
อย่างไรก็ตามการไหลเข้าของเงินทุนเคลื่อนย้ายเหล่านี้ อาจไม่ได้ไหลเข้าประเทศไทยจนสร้างแรงกดดันเหมือนที่เคยเผชิญเมื่อปี 2553 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจประเทศอื่นในภูมิภาค แม้มีอัตราการเติบโตที่ดีแต่ก็ไม่มากเท่าในปี 2553 ขณะเดียวกันนักลงทุนมีทางเลือกในการกระจายลงทุนไปยังตลาดในภูมิภาคอื่น เพราะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
"ถ้าเทียบผลตอบแทนกับความเสี่ยงแล้ว ตอนนี้ดูเหมือนตลาดแถบละตินอเมริกาจะได้รับความสนใจเพิ่ม เพราะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า ขณะที่ผลตอบแทนได้มากกว่า เงินจึงเริ่มไหลเข้าไปลงทุนในละตินอเมริกากันมาก ช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทได้ด้วย"นางผ่องเพ็ญกล่าว
นอกจากนี้ ถ้าดูราคาสินทรัพย์หลายๆ ตัวของไทย เช่น อัตราส่วนกำไรต่อราคาหุ้น(พี/อี) จะเห็นว่าเริ่มสูงขึ้นมาก ล่าสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 17-18 เท่า สูงกว่าราคาเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังในอดีตซึ่งอยู่ที่ 13.3 เท่า ทำให้โอกาสในการทำกำไรจึงลดน้อยลงด้วย ขณะเดียวกัน ธปท.ก็มีมาตรการสนับสนุนให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ จึงลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาทลงได้
ส่วนปัจจัยสุดท้าย คือ การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ทั้งจากภาคธุรกิจและครัวเรือน ที่เป็นแรงสนับสนุนสำคัญให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เศรษฐกิจโลกและการส่งออกยังอ่อนแอ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ แต่ระยะต่อไปเมื่อผลของมาตรการเหล่านี้ทยอยหมดลง คงต้องจับตาการดำเนินมาตรการเสริมด้านอื่นๆ รวมทั้งการใช้จ่ายด้านต่างๆ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ว่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2556 นั้น เชื่อว่าภาคการส่งออกยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงบ้าง แต่การจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุน ยังสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษบกิจไทยในปีหน้าให้เติบโตที่ 4.6% ได้
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
15 พ.ย. 55 08:08:40
|
|
|
|