|
ผมไปค้นข่าวเก่า ๆ เรื่องเกี่ยวกับปัญหาระหว่าง se-ed กับสำนักพิมพ์ ซึ่งนำมาสู่การรณรงค์ต่อผู้อ่านให้งดเข้าซื้อหนังสือร้าน se-ed
ขอกล่าวสักนิดว่า ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวจบลงไปแล้ว การรณรงค์ก็สิ้นสุดลงไปด้วย ในขณะที่ se-ed ใช้วิธีเจรจาเก็บค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้าเป็นราย ๆ ไปครับ
==================================
เงินกินเปล่า 1% ในธุรกิจหนังสือ... ปลาใหญ่เตรียมโต ปลาเล็กเตรียมตาย
รายงานพิเศษ มติชนสุดสัปดาห์ 17-23 ส.ค.2555
ธุรกิจหนังสือบ้านเราก็เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ ที่ระบบทุนนิยมหรือระบบตลาดเข้ามามีอิทธิพลครอบงำหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ
ล่าสุดประเด็นเรื่อง "ค่า DC" ที่ "ซีเอ็ด ยูเคชั่น (ร้านหนังสือซีเอ็ด) และอมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ (ร้านหนังสือนายอินทร์)" สองยักษ์ใหญ่ในวงการร้านหนังสือบ้านเรา ส่งจดหมายสั้นๆ แต่ข้อความบาดลึกไปยังหลายสำนักพิมพ์และสายส่งเพื่อแจ้งว่า จะขอขึ้นค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้า Distribution Center Fee (DC) อีก 1 % ของราคาปก
ค่า DC ดังกล่าวถูกเรียกขานว่า เงินกินเปล่า เงินกินดิบ หรือแม้แต่กระทั่งแป๊ะเจี๊ยะ เนื่องจากเป็นการเพิ่มค่าธรรมเนียมใหม่อีก 1 % เข้ามาในระบบการจัดจำหน่าย โดยให้เป็นการเก็บตามมูลค่าราคาค้าปลีก
อธิบายโครงสร้างง่ายๆ ว่า หนังสือที่เราเห็นๆ วางขายอยู่ตามร้านค้าทั่วไปนั้น โดยปกติแล้วหน้าร้านอาศัยกินเปอร์เซ็นต์จากเล่มที่ขายได้ เล่มใดขายไม่ได้ ก็ไม่คิดเงินจากสำนักพิมพ์หรือสายส่ง
สมมติว่าหนังสือมีราคา 100 บาท นอกจากค่า GP ซึ่งร้านหนังสือเรียกเก็บซึ่งอยู่ที่ระหว่าง 25-40% ซึ่งต้นทุนแต่ละหน่วยธุรกิจจะไม่เท่ากัน แต่คิดเฉลี่ยที่ 32% หรือ 32 บาท
ซึ่งนอกจากระบบเดิมยังคงอยู่แล้ว ซีเอ็ดกับนายอินทร์ยังจะขอคิดค่าวางหนังสือทุกเล่มในร้านอีก 1 บาท ไม่ว่าจะขายได้หรือไม่ได้ก็ตาม
ดูตัวเลขตรงนี้อาจจะเฉยๆ แต่อย่าลืมว่าหนังสือมีราคาโดยเฉลี่ยประมาณ 180 บาทต่อเล่ม
โดยสถิติตอนนี้สำนักพิมพ์น้อยใหญ่ร่วมกันผลิตหนังสือ 14,000 ชื่อเรื่องต่อปี ชื่อเรื่องละ 3,000 เล่ม เท่ากับปีหนึ่งๆ มีหนังสือออกใหม่ประมาณ 42 ล้านเล่ม ...
เงินกินเปล่าหรือค่าวางหนังสือ 1% ที่ได้รับไปนั้น จะมหาศาลขนาดไหนและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปีตามธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วย
กระแสความไม่พอใจจึงอื้ออึงไปทั่ว โดยเฉพาะจากสำนักพิมพ์ขนาดกลางและขนาดเล็ก ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงร้านหนังสือรายย่อยๆ แนว Stand alone ที่ทำมาหากินในแวดวงนี้ด้วยความสุจริตใจมากกว่าคิดหวังหากำไรจากการอ่าน ของคนไทย เพราะถ้าอยากรวยไปทำงานอย่างอื่นคงรวยกว่าไปนานแล้ว
แต่ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็เพียงหวังให้หนังสือดีๆ ที่ตัวเองทำได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาปัญญาของสังคมบ้าง
การตั้งคำถามและออกแถลงการณ์จากผู้คน องค์กร ที่ใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองมานานจนถือว่ามีต้นทุนทางสังคมในแวดวงหนังสือค่อนข้างสูงและไม่ต้องสงสัยในเรื่องความบริสุทธิ์ใจ รวมถึงคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีอุดมการณ์แรงกล้า อาทิ เวียง-วชิระ บัวสนธิ์ แห่งสำนักพิมพ์สามัญชน, แถลงการณ์เชิญลงชื่อคัดค้านจากคนทำหนังสือที่มีตัวตั้งตัวตีอย่าง ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน, นิวัติ พุทธประสาท บรรณาธิการสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม, ปราบดา หยุ่น บรรณาธิการสำนักหนังสือไต้ฝุ่น ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์สมมติ, เครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก ที่เป็นการรวมตัวกันของคนทำหนังสือในภาคส่วนต่างๆ
หรือแม้กระทั่ง "คนอ่าน" อย่าง page "เครือข่ายคัดค้านร้านซีเอ็ดและนายอินทร์" ขึ้นใน facebook โดยมีแอดมินเป็นเด็กหนุ่มสาวที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัย รวมถึงนักอ่านทั่วไป ซึ่งถูกแชร์และไลค์ในระยะเวลาอันรวดเร็วมาก รวมถึงต้นน้ำอย่างสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยที่กำลังจับตามองเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และน่าจะมีท่าทีที่ชัดเจนออกมาในเร็ววันนี้
ส่งผลให้ทั้งซีเอ็ดและนายอินทร์จำเป็นต้องชี้แจงต่อสาธารณะว่าสาเหตุของการขอค่า DC นั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร โดยผ่านเวทีกลางคือการเสวนาเรื่อง "โครงสร้างอุตสาหกรรมหนังสือ จากวันนี้สู่อนาคต" ที่คนกลางอย่างสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยจัดขึ้น เพื่อระดมความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
หลังจากก่อนหน้านี้ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ได้ขอ ให้ยกเลิกจดหมายการแจ้งเรียกเก็บค่า DC ฉบับดังกล่าวไปก่อน
และตั้งคณะอนุกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาเหตุผลและความจำเป็นในการเก็บค่า DC ขึ้นด้วย
ทนง โชติสรยุทธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าสิ่งที่ซีเอ็ดเผชิญอยู่ตอนนี้คือรายรับจากการขายและกำไรขั้นต้นจากสินค้าขายลดลง เนื่องจากค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าจ้าง ค่าขนส่ง ค่าเช่า ค่าสินค้าสูญหาย 1-3% จากยอดขาย ค่าเสื่อมราคา ค่าถุงและปกพลาสติก ค่าใช้จ่ายจากน้ำรั่ว น้ำท่วม ไฟไหม้ ก่อการร้าย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแอร์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ล้วนแต่เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น
ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ค่าจ้างมีผลกระทบกับร้านหนังสือมากนั้น เป็นเพราะค้าปลีกและ logistic ใช้บุคลากรที่อิงจากค่าแรงขั้นต่ำเป็นส่วนใหญ่
"หลังปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท 7 จังหวัด ค่าใช้จ่ายเพิ่มทันที เดือนละประมาณ 5.1 ล้านบาท ซีเอ็ดขอให้ช่วยค่าใช้จ่าย 1% จากมูลค่าปก ที่ใช้บริการ Logistic (ประมาณ 3 ล้านบาทต่อเดือน) เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายจริงที่เพิ่มขึ้น ยกเว้น สำนักพิมพ์ที่ส่งมูลค่าปกน้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นระบบปกติที่เกิดขึ้นแล้วในธุรกิจหนังสือ ไม่เช่นนั้นร้านหนังสือจะอยู่ไม่ได้ แต่หากสำนักพิมพ์ไม่พร้อมจ่ายก็จะต้องมีการเลือกคุณภาพหนังสือให้มากขึ้น ไม่มีการรับหมดทุกเล่มอย่างแน่นอน"
ขณะที่ ถนัด ไทยปิ่นณรงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมรินทร์ บุ๊คเซ็นเตอร์ จำกัด อธิบายว่า ร้านหนังสือเครืออมรินทร์หลายร้านมีรายได้ติดลบ แต่ก็ต้องขยายสาขาเพื่อรักษามาร์เก็ตแชร์ เพราะทุกวันนี้ลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมการอ่านหนังสือเป็นออนไลน์ขึ้นทุกปี โดย 1% ที่เก็บจะมีรายได้เพิ่มประมาณ เพียง 2 ล้านบาทเท่านั้น"
หลังคำอธิบายสิ้นสุด สำหรับปลาใหญ่ทั้งสองตัวนั้นสถานการณ์รอบข้างไม่ได้ดีขึ้นเลยแม้แต่นิด
แต่สำหรับปลาตัวเล็กๆ แล้ว ยิ่งทำให้พวกเขาเห็นถึงเงื่อนงำบางอย่างที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม และยิ่งป่าวร้องต่อสาธารณะมากขึ้นว่าสิ่งที่เกิดขึ้น "ยุติธรรม" แล้วหรือ กับการผลักภาระทั้งหมดให้แก่ปลาเล็ก โดยเฉพาะสำนักพิมพ์น้อยๆ ที่หลายๆ แห่งพิมพ์งาน 3,000 เล่ม แล้วอาจขายได้ไม่ถึง 1,500 เล่มด้วยซ้ำ ... นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับวงการหนังสือไทย โดยเฉพาะงานประเภทที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมแนวจริงจัง สังคม การเมือง ปรัชญา ประวัติศาสตร์ ความรู้ ความคิดด้านต่างๆ
แล้วถ้าหากจนตรอกเข้าจริงๆ นั่นแปลว่าสำนักพิมพ์จะต้องขึ้นราคาหนังสือ ซึ่งคนที่รับภาระทั้งหมดจริงๆ จึงกลายเป็นผู้บริโภคหรือ "ผู้อ่าน"
เป็นเรื่องที่หัวร่อก็ไม่ออก ร้องไห้ก็ไม่ได้ ก่อเกิดสภาวะขันขื่นอย่างรุนแรงท่ามกลางการโหมประชาสัมพันธ์อย่างหนักหน่วงว่าในปี 2556 นี้ กรุงเทพฯ จะกลายเป็นเมืองหนังสือโลก
ความคลางแคลงใจขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งในประเด็นที่ว่า หากทุกสิ่งแย่จริง เหตุใดจึงมีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดซีเอ็ดเองได้ออกมาประกาศว่าได้ขยายสาขารองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าผู้อ่านทั่วประเทศเป็นจำนวนมากกว่า 400 สาขาแล้ว โดยเมื่อปี 2554 ได้เพิ่มอีก 50 สาขา รวมถึงได้แจ้งผลประกอบการสำคัญของปี 2554 ต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า มีรายได้รวม 5,561.77 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 225.22 ล้านบาท
หรืออมรินทร์ บุ๊คเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นเครือหนึ่งในอมรินทร์ พรินติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) นั้น ได้แจ้งผลประกอบการสำคัญของปี 2554 ต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า มีรายได้รวม 1,911.36 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 235.97 ล้านบาท
โดย ระพี อุทกะพันธุ์ ผู้อำนวยการสายงานค้าปลีก บริษัท อมรินทร์ บุ๊คเซ็นเตอร์ จำกัด เคยเปิดเผยว่า ร้านนายอินทร์ปีที่ผ่านมา ยังมียอดขายเติบโต 12-17% มียอดรายได้รวม 1,500 ล้านบาท สำหรับปีนี้ตั้งเป้าเติบโตอีกไม่ต่ำกว่า 15% หรือประมาณ 29-30 สาขา ด้วยงบฯ กว่า 50 ล้านบาท จากปัจจุบันมีจำนวนสาขาทั้งหมด 195 สาขา
รวมถึงยังมีคำถามด้วยว่าหากอ้างถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายรัฐบาลแล้วนั้น ภาษีนิติบุคคลที่รัฐบาลลดให้จาก 30% เหลือ 23% ไม่เป็นผลเลยหรือไร
คำตอบจากทั้งสองบริษัทคือไม่เป็นผลและไม่สามารถทดแทนกันได้
จากตัวเลขทั้งหมดชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ตัวเลขกำไรสูงขึ้นแต่อัตราการทำกำไรลดลง
หากมองในมุมหนึ่งนี่คือสิทธิของทุกบริษัทที่จะทำกำไรในเชิงธุรกิจ เพื่อหารายได้เข้าบริษัทให้มากที่สุด เพราะถ้าไม่มีกำไรเพิ่มขึ้นก็คงไม่รู้จะทำไปทำไมเหมือนกัน
แต่อีกมุมหนึ่ง อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ธุรกิจหนังสือเป็นธุรกิจที่มีลักษณะพิเศษ ไม่สามารถนำไปเทียบเคียงกับธุรกิจประเภทอื่นได้ ที่ว่าดังนี้ไม่ได้แปลว่าหนังสือจะดีวิเศษเหนือกว่าสิ่งอื่นแต่อย่างไร
แต่หมายความว่าการที่จะเดินเข้ามาในธุรกิจนี้จะต้องอยู่บนพื้นฐานหนึ่งคือความเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่โลภมาก จะหวังเงินมากๆ จากธุรกิจหนังสือไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจริงๆ แล้วธุรกิจหนังสือนั้นควรจะได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากรัฐ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาและมีอัตราการอ่านค่อนข้างต่ำอย่างไทย
ในหลายๆ ประเทศมีระบบให้งบประมาณสนับสนุนการพิมพ์หนังสือดี มีกฎหมายห้ามลดราคาหนังสือเพราะมองว่าเป็นการทำลายระบบหนังสือ อาทิ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เวียดนาม ฮังการี เพราะรัฐเข้าใจดีว่าหนังสือไม่ใช่ปัจจัย 4 หรือ 5 6 7 ที่ผู้คนจำเป็นจะต้องหยิบมาใช้ในชีวิตประจำวัน แต่เป็นปัจจัยจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ
แต่ในเมื่อบ้านเมืองนี้หวังเรื่องดีๆ ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือจากรัฐไม่ได้ ไม่ว่ารัฐบาลใดก็ตาม สิ่งเดียวที่คงหวังได้คือ "ใจ" ของคนทำหนังสือเหมือนกัน
เพราะหากไม่มองเรื่องของใจแล้ว กรณีการลงนามร่วมกันของซีเอ็ดและนายอินทร์ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั้งคู่นี้ มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าไว้น่าจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 มาตรา 27 ที่ว่าด้วยการฮั้วกันของธุรกิจ และในมาตรา 25 ที่ว่าด้วยการใช้อำนาจเหนือตลาด
เป็นความผิดทางอาญา มีโทษจำคุก ส่วนในประเทศไทยมีกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
การปรับระบบ เรียกเก็บค่าธรรมเนียมใหม่ในครั้งนี้ ไม่ได้ส่งผลถึงเชิงธุรกิจที่อาจทำให้สำนักพิมพ์เล็กๆ ที่มีสายป่านสั้น มีความสามารถในการแบกรับต้นทุนต่ำ แต่ก็ยังยืนยันจะทำหนังสือดีมีคุณภาพต้องล้มหายตายจากไปเท่านั้น ทว่ายังส่งผลถึงความหลากหลายทางชีวภาพในร้านหนังสือเป็นสำคัญ
เพราะที่สุดแล้วก็คงไม่มีใครอยากทำหนังสือที่ขายไม่ได้ ทำไปก็รู้ว่าขาดทุน ซึ่งจำนวนยอดพิมพ์ไม่สามารถบ่งบอกได้ถึงคุณภาพของหนังสือ หนังสือที่มียอดพิมพ์สูงๆ ในบ้านเราตอนนี้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นนวนิยายเบาๆ ฮาวทูทำให้รวย วิธีแก้กรรม หรือสัมผัสต่างๆ ทางจิตวิญญาณ
เรายังต้องการความหลากหลายของหนังสือ ต้องการทางเลือกให้นักอ่าน ในอุตสาหกรรมที่ช่วยสร้างปัญญาให้ผู้คนในสังคม
ก่อนที่เหตุการณ์นี้จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ทั่วทั้งร้านมีแต่หนังสือแก้กรรมทำแท้งหรือวิธีทำให้รวย
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1345171275&grpid=01&catid=&subcatid=
จากคุณ |
:
@power
|
เขียนเมื่อ |
:
25 พ.ย. 55 21:48:43
|
|
|
|
|