Q&A DSM ในความเข้าใจของผม
สวัสดีครับ พี่เด่นศรี ท่านพ่อบ้านcoyote และชาวDSMers ทุกท่าน
ทักทาย
พี่เด่นศรีสบายดีไหมครับ
ผมยังคงซาบซึ้งในน้ำใจของพี่เด่นศรีอยู่ตลอดเวลาครับ
ขอบคุณที่มาเพิ่มเติมให้ในส่วนของการจัดการ กสงสฝ นะครับ ผมจะพยายามปฏิบัติตามครับ
ส่วนท่าน Coyote ผมก็ขอบคุณที่อุตส่าห์สละเวลาช่วยเหลือให้DSM ชัดเจน
ขึ้นครับ แม้ผมจะไม่ได้ตอบเลย(เหตุผลส่วนตัว) แต่ก็ยังคงเข้ามาอ่านประดับความรู้
ด้วยความนับถือในน้ำใจอยู่เสมอๆครับ
หลังๆมีผู้ใช้ DSM มากขึ้น จนconcept บางอย่างเข้าขั้นแบ่งออกเป็นหลายสายมากขึ้น
ซึ่งก็เป็นสิ่งดีครับ จะได้พัฒนาขึ้น
หลังจากได้ทำDSMมาระยะหนึ่งแล้ว ผมจึงมาเสนอแนวคิดที่ผมคิดว่าเป็นหัวใจของDSM กันสักคราวครับ ถูกผิดตรงใจไม่ตรงใจก็เสนอความเห็นแย้งได้นะครับ คราวนี้ผมมาตอบเป็นชุดQ&A กันเลยครับ
Q. สิ่งที่สำคัญที่สุดในDSM คืออะไรคะ?
A. แนวคิดและใจครับ (วิธีการมาทีหลัง พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา)
แนวคิดที่สำคัญจริงๆก็คือ เราต้องการหาส่วนต่างของการซื้อขายหุ้นในพอร์ตของเราเอง เพื่อมาเพิ่มจำนวนหุ้นในพอร์ต มูลค่าของพอร์ตจะเป็นอย่างไรยังไม่ใช่ประเด็นครับ
ใจ-ใจโลเลของชาว DSMers แบบลูกครึ่งจะแสดงออกมาเวลาที่หุ้นขึ้นๆลงๆแล้ว เราคาดเดาตลาด(สังเกตว่า เดาถูกเราดีใจ เดาผิดเราเสียดาย อะไรแบบนี้ เมื่อเกิดความรู้สึกแบบนี้ ให้รีบฉุกคิดว่า ตอนนี้กำลังเดาอยู่นะ ผิดวัตถุประสงค์แล้ว) โดยเฉพาะเวลาที่หุ้นขึ้น เราอยากจะขาย ตรงจุดที่คิดว่า peak 100% บ้าง 50%บ้าง เหมือนตอนเก็งกำไร ซึ่งเราก็รู้ว่า ทำไม่เคยได้ ก็เลยอยากจะหาวิธีที่ไม่ต้องเดาตลาด จึงมาเลือกวิธีนี้ พอมาเลือกแล้ว จะเดากันอีกทำไม ถ้าอย่างนั้น ก็มาเล่นเก็งกำไรกันให้สนุกสนานเหมือนเดิม แล้วก็ร้องไห้ขายหมู ซื้องูกันต่อไปดีกว่าไหมครับ
ดังนั้น DSMer พันธุ์แท้ ต้องไม่เดาตลาดและไม่สนมูลค่าพอร์ตในช่วงแรกครับ ถึงราคาขายต้องขายตามstep ถึงราคาซื้อ ต้องซื้อตามstep ระยะยาวแล้วเห็นผลเองครับ
Q. ขายไปแล้วซื้อคืนบ่ได้ทำจั๊งได๋ก๋า?
A. ทำไมซื้อคืนไม่ได้รู้ไหมครับ คำตอบคือหุ้นขึ้นไปแล้วไงครับ หุ้นขึ้นไปแล้ว ถึงจุดชอร์ตแล้ว(ต้องมีช่วงห่างของจุดชอร์ตพอควรด้วยนะครับ)ก็ต้องขายไปอีกทีละเสต็ป สมมติว่าซื้อคืนไม่ได้อีก หุ้นไปต่อ ขายอีกทีละเสต็ป ซื้อคืนไม่ได้อีก หุ้นขึ้นต่อ
เห็นไหมครับว่า เราขายหุ้นไปในขณะที่หุ้นขึ้นอ่ะครับ
การที่เราขายหุ้นไปในขณะที่หุ้นขึ้นเนี่ย แสดงว่า เราได้เงินสดกลับมามากกว่ามูลค่าหุ้น ณ เวลาที่เราใส่ใจมูลค่าของมันเมื่อ100% ก่อนการชอร์ตครั้งแรกนะครับ ภาษาเก็งกำไร เขาเรียกว่า ขายได้กำไรครับ(เพิ่มมูลค่าหุ้น ขายไป ได้เงินสดมากกว่าเดิมกลับมา มีแต่เรื่องดีอ่ะ) ไม่เห็นต้องสนใจตัวที่ยังซื้อคืนไม่ได้เลย
ทีนี้มาถึงจุดที่เรา เหลือหุ้นในมืออีกสัก 20-30% ก็แสดงว่าราคาสูงขึ้นมามากแล้ว(สมมติอาจจะสูงกว่าราคาซื้อสัก50ช่องก็แล้วกัน)แล้วถูกไหมครับ ก็แก้ไขโดยการใช้ช่องว่างไงครับ นำเงินที่ได้จากการขายมูลค่าหุ้นที่ล่างๆซึ่งอีกนานกว่าจะซื้อคืนได้ ไปซื้อหุ้นตัวอื่น(ซึ่งเราเล็งไว้แล้วว่าราคาถูกแล้ว ตรงนี้แนะนำด้วยความเห็นส่วนตัวว่าให้หาหุ้นที่เราจับตาราคาของมันอยู่ว่ากำลังลงสู่จุดoversold อ่ะครับ จะได้ผลดีมาก)
Q. ทำไมนำเงินตรงนี้ไปซื้อหุ้นตัวอื่น?
A. ก็เพราะว่า หุ้นขึ้นลง โดยเฉพาะหุ้นพื้นฐานดี จะวิ่งรวดเดียวลงมา50 ช่องนั้นเกิดค่อนข้างนาน ระหว่างนั้น ถ้าเราไม่ทำอะไรกับเงินสดในพอร์ต ก็คือการเสียโอกาสหารายได้(มีหุ้นคือใช้สร้างรายได้ รายได้คือ กสงสฝ กสงสฝ คือรายได้อันเกิดจากการลดลงของมูลค่าสินทรัพย์) ดังนั้นจึงนำเงินส่วนนี้ เข้าซื้อหุ้นที่เล็งไว้
Q.ทำไมการนำเงินส่วนนี้เข้าซื้อหุ้นที่เล็งไว้จะไม่ทำให้กระแสเงินสดเกิดการไม่สมดุลย์?
A.เพราะว่า ตอนที่เราขายหุ้นตัวแรกไปนั้น เราได้เงินสดมากกว่าตอนที่เราซื้อมันเข้ามาอ่ะครับ ดังนั้นการทำบัญชีว่า กระแสเงินสดที่เกิดขึ้นมีมากกว่าเดิมหรือไม่ จะทำให้เรากันเงินออกมาซื้อหุ้นตัวอื่นได้ในปริมาณที่เราสบายใจว่า กระแสเงินจะเกิดการชอร์ตได้น้อยมากครับ
Q ระบบบัญชีไม่ทำได้หรือเปล่า?
A ได้ครับ แต่เจ๊งแน่นอน ฮี่ๆ
Q ทำไมต้องมีการแบ่งส่วน กสงสฝ ก่อนการขยายพอร์ต(25%ใช้สำรอง,25%ใช้กินเที่ยว,50%ใช้ขยายพอร์ต)
A ป้องกันกระแสเงินสดชอร์ตครับ ทำสักระยะ จะรู้ว่า เมื่อเราขยายงานมากๆ กระแสเงินสดไม่พอบ่อยเลยครับ อีกอย่าง เราต้องกินต้องใช้นะเออ
Q ควรซื้อเพิ่ม เวลาไหนครับ?
A นี่สิครับ จุดสำคัญมากที่สุดของการเพิ่มมูลค่าและปริมาณหุ้นในพอร์ต พี่เด่นศรีบอกว่า ให้ซื้อตัวที่หุ้นในมือเหลือน้อยที่สุด ก็คือหุ้นที่แข็งกว่าตลาดนั่นเอง ถ้าทำตามวิธีของพี่ก็คือว่า หุ้นที่ขึ้นมาเยอะแล้ว มีโอกาสที่จะลงมาก ถ้าลงมาแล้ว เราจะมี กสงสฝ มากมายเลยครับ(อยู่ที่แนวคิดไงครับ เรื่องเนี้ย)
แต่ผมขอเลือกทำอีกแบบหนึ่งนะครับพี่ครับ
ผมจะเลือกซื้อตัวที่เข้าสู่จุด oversold เป็นหลักครับ เพราะหุ้นจะมีโอกาสเพิ่มมูลค่าได้มากกว่า ซึ่งการขยายงาน(เพิ่มปริมาณหุ้น)ของพอร์ต อาจจะช้ากว่า แต่มูลค่าของหุ้นจะลดลงน้อยกว่า และเพิ่มขึ้นเข้าสู่จุดคุ้มทุนเร็วกว่าครับ จะได้สบายใจเร็วๆอ่ะ
Q. ไม่ขายขาขึ้นทีละน้อยๆดีกว่า หรือขายดีกว่าคะ คุณน้องขา?
A. อันนี้แล้วแต่ความถนัดครับ สำหรับผม ผมว่าไม่ขายดีกว่าครับ ถ้าผมขายทีละ1% ล่ะก็ ผมแบ่งพอร์ตออกมาส่วนหนึ่ง เล่นเก็งกำไรไปเลยเต็มๆดีกว่าอ่ะ มันกว่าด้วย แต่ต้องเก็บเรคคอร์ดเพื่อเปรียบเทียบนะครับ
Q. ไม่มีเวลาดูหุ้นทำอย่างไรดีครับ คุณพี่ครับ?
A. ก็เปิดตลาดทั้งเช้า-บ่ายดูเสียหนึ่งรอบ ท้ายตลาดดูเสียอีกหนึ่งรอบ(เป็น4รอบ) ขายได้เท่าไร ขายไป ซื้อได้เท่าไรซื้อมา ถ้าระหว่างวัน ราคาปิด และเปิดห่างกันพอควร คุณได้ กสงสฝ ไม่น้อยหรอกครับ ดังนั้นต้องเลือกหุ้นราคาปิดเปิดที่วิ่งพอสมควรครับ
Q. ฉันอยากรู้ว่า ฉันเหมาะเป็น DSMers หรือเปล่า?
A. ก่อนทดสอบต้องทำดังต่อไปนี้ก่อน
-อ่านพ่อรวยเล่ม พ่อรวยสอนลงทุน และเกษียณเร็วเกษียณรวย ดูว่าเห็นด้วยกับแนวคิดอิสรภาพทางการเงินหรือไม่
-อ่านกระทู้หลักๆในหมู่บ้านเสียก่อน และทดสอบความเข้าใจของตัวคุณเอง กับคนที่สนใจวิธีนี้อย่างจริงจัง และทดลองปรับใช้ดู
ถ้าคุณทำมาได้ถึงตอนนี้ และยังอยากทำต่อ คุณก็เป็นDSMers ในแนวคิดมาครึ่งตัวแล้ว(เพราะอ่านหนังสือมาเป็นเล่ม อ่านกระทู้มาเป็นหน้ายังอยากทำได้ แสดงว่ามีใจให้กันจริงๆ ฮี่ๆ)
วิธีทดสอบคือ
แบ่งพอร์ตของคุณเป็นสองส่วนจะด้านละกี่เปอร์เซนต์ก็ได้ ตามใจจะกล้าเสี่ยง หรือจะเปิดสองพอร์ตก็ได้ แล้วใช้เงินนั้น เข้าซื้อหุ้นตัวเดียวกัน ด้านหนึ่งใช้ DSM เต็มตัว(ทั้งใจ วิธีการและระบบบัญชี) อีกด้านหนึ่งเก็งกำไรเต็มตัว เก็บเรคคอร์ดทั้งหมด ทำอย่างต่ำ 1 ปี แล้วเปรียบเทียบเปอร์เชนต์ของมูลค่าและการเติบโตของพอร์ตระหว่างกันครับ
ข้อดีอีกอย่างก็คือ ระหว่างทางสนุกดีครับ เพราะมีเก็งกำไรด้วย และบางครั้ง เรายังแอบโยกย้ายระหว่างพอร์ตได้อีกด้วย(ลองทำแล้วจะเข้าใจเองครับ)
ณ ปัจจุบัน หุ้นเป็นขาขึ้นเสียมาก พอร์ตเล่นเก็งกำไรควรจะได้มากกว่าครับ แต่อย่าเพิ่งได้ใจ หุ้นมีรอบของมันครับ เดี๋ยวก็ต้องลง ตอนนั้น เรายังสามารถทำกำไรจากมันได้อยู่หรือไม่?
DSM จะอยู่กับหุ้นตัวนั้นตลอดเวลาครับ หุ้นขึ้นหรือลง เราอยู่กับมันตลอด มันเหมือนการเติมน้ำลงไปในแก้วหลายแก้วที่มีก้นเดียวกันครับ บางครั้งแก้วนี้เราเติมมาก(หุ้นขึ้น)หน่อย แก้วนั้นเราเติมน้อย(หุ้นลง)หน่อย พอถึงเวลามันก็จะไหลลงไปที่ก้นเดียวกัน จนปริมาณน้ำในแต่ละแก้วค่อยๆเพิ่มปริมาณขึ้นพร้อมๆกัน ขออย่างเดียวอย่าให้แก้วแตก(หุ้นเจ๊ง) แต่ถ้าเก็งกำไร คุณเลือกแก้วมาหลายใบ น้ำแก้วนี้คุณเติมมาก แก้วนี้คุณเติมน้อย ถ้าคุณเติมน้อย มากกว่าเติมมาก สุดท้ายคุณจะมีน้ำน้อยลงครับ(เก็งกำไร ถ้าเก่งจริง คุณรวยที่สุดอยู่แล้วครับ นั่นคือคุณต้องเติมน้ำได้มากกว่าเดิมตลอดเวลาครับ)
วิธีทดสอบนี้ ระหว่างทาง อุปนิสัยของคุณ การมองโลกของคุณ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของคุณ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเทรดของคุณเอง และในไม่ช้า คุณอาจจะค้นพบวิธีที่ทำให้ทั้งสองด้าน มารวมกันเป็นเนื้อเดียวได้ก็เป็นได้ครับ
อย่าเชื่อผมมากนะครับ
แค่เสนอแนวทางหนึ่งให้ฟังครับ
ขอบคุณพี่เด่นศรี อาจารย์ทางการเงินคนแรกของผมอีกครั้งครับ
ขอให้มีความสุขมากๆครับ
จากคุณ :
ทรงกฤษฎิ์
- [
6 ต.ค. 47 09:04:14
]