สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับการร้องเรียนจากนางศลิษา จันทร์วัฒนพงษ์ ซึ่งเป็นลูกค้าที่เปิดบัญชี (พอร์ต) ซื้อขายหุ้นกับ บล.ฟาร์อีสท์ว่า เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ตนได้โอนหุ้นจากโบรกเกอร์แห่งหนึ่ง มาเข้าพอร์ตที่เปิดไว้ที่ บล.ฟาร์อีสท์ 9 หลักทรัพย์ มูลค่า 3,000,000 บาท แต่ไม่เคยได้รับรายงานสรุปสถานะหุ้นในพอร์ตประจำเดือนจากฟาร์อีสท์แม้ แต่เดือนเดียว เมื่อสอบถามไปยังมาร์เก็ตติ้งที่ดูแลพอร์ต ได้รับการบ่ายเบี่ยงโดยอ้างว่าระบบการส่งเอกสารของบริษัทมีปัญหา แต่ตนเอะใจจึงสอบถามไปยังฝ่ายทะเบียนหุ้น ตลาดหลักทรัพย์ จึงได้ทราบว่า หุ้นในพอร์ตได้อันตรธานไปหมด เหลือตัวเดียว คือหุ้น ITV แถมยังเหลือเพียง 5,000 หุ้น จากเดิมที่มี 50,000 หุ้น และมีหุ้นตัวอื่นที่ไม่เคยได้สั่งซื้อ เข้ามาอยู่ในพอร์ตอีก 1 ตัว ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนหายไปกว่า 2,000,000 บาท
ตนจึงร้องเรียนฝ่ายตรวจสอบภายในของฟาร์อีสท์ และขอดูรายการซื้อขายหุ้นพบว่า มาร์เก็ตติ้งได้นำหุ้นไปขายจนหมดเกลี้ยง แถมยังมีรายการซื้อขายหุ้นที่ตนไม่เคยรับรู้ ผ่านพอร์ตมากถึง 30 ตัว โดยแต่ละวันมีรายการซื้อๆขายๆเป็นสิบๆรอบ และล้วนเป็นหุ้นปั่นหุ้นเก็งกำไรแทบทั้งสิ้น เพราะความเชื่อใจและไว้ใจในบริษัทและ มาร์เก็ตติ้ง จึงไม่เคยตรวจเช็กเพราะไม่ได้ซื้อขาย ทุกวันนี้เป็นมนุษย์เงินเดือน เห็นว่าดอกเบี้ยแบงก์ต่ำจึงนำเงินออมมาลงทุนในหุ้น แต่ภาวะตลาดไม่ดี เมื่อหุ้นตัวไหนขาดทุนก็จะทิ้งไว้ ถือลงทุนยาวรอจนกว่าได้กำไรจึงจะขาย แต่เมื่อจะขายก็พบว่าไม่มีหุ้นในพอร์ตแล้ว
นายประทีป โชติศุภราช กรรมการผู้จัดการ บล. ฟาร์อีสท์ กล่าวว่า บริษัทได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วโดยขอเวลาตรวจสอบ 7 วัน คาดว่าจะได้ข้อสรุป 22 พ.ย.นี้ ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นกรณีแรกที่เกิดขึ้นร้ายแรง ที่ผ่านมาจะเป็นการผิดเล็กๆน้อยๆ และสามารถแก้ไขได้ แต่ต้องยอมรับว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางการเงิน ไม่เฉพาะแค่หลักทรัพย์ที่เจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมไม่สุจริต ซึ่งบริษัทพร้อมรับผิดชอบความเสียหายหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นความผิดพนักงาน ซึ่งลูกค้ายังสามารถแจ้งความคดีอาญาได้
ผู้บริหารระดับสูงวงการหลักทรัพย์กล่าวว่า ช่วงที่ตลาดหุ้นซบเซาราคาหุ้นปรับตัวลง นักลงทุนมือใหม่ที่ขาดทุนหรือ ติดหุ้น มักจะปล่อยหุ้นทิ้งไว้ในพอร์ต โดยไม่ซื้อขาย ทำให้มาร์เก็ตติ้งแย่ๆบางคนฉวยโอกาสใช้พอร์ตลูกค้าซื้อขายหุ้น เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ค่อยตรวจสอบจำนวนหุ้นและจำนวนเงินที่อยู่ในบัญชี ดังนั้น นักลงทุนต้องไม่ไว้ใจมาร์เก็ตติ้งมากเกินไป
นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการตลาดหุ้น เตือนนักลงทุนว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้มีไม่มาก แต่ถือเป็นอุทาหรณ์ ซึ่งวิธีที่จะปกป้องตัวเองเบื้องต้นคือ นักลงทุนต้องตรวจสอบสรุปรายงานการซื้อขาย ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ทุกโบรกเกอร์จะต้อง ส่งรายงานเอกสารให้นักลงทุนทุกเดือน หากไม่ได้รับต้องทวงถาม เพราะถือว่าผิดปกติ ขณะที่ฝ่ายตรวจสอบภายในของโบรกเกอร์เอง ก็ต้องตรวจสอบกรณีบางบัญชี มีการซื้อขายถี่ผิดปกติ และควรโทร.ไปยืนยันการซื้อขายกับลูกค้าโดย ไม่ผ่านมาร์เก็ตติ้งให้บ่อยขึ้น ด้านนายวิชัย พูลวรลักษณ์ นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย กล่าวว่า ได้รับร้องเรียนจากนักลงทุนกรณีเช่นนี้บ่อยมาก เพื่อปกป้องนักลงทุน หลังจากนี้สมาคมจะหามาตรการช่วยดูแลและให้ความรู้นักลงทุนมากขึ้น.
จากคุณ :
Jack Wealth
- [
17 พ.ย. 48 10:08:49
]