เห็นว่าน่าสนใจดี ชัดเจนดีครับว่า
"ไฟฟ้าควรเป็นกิจการที่มุ่งค้ากำไรหรือไม่"
อย่าอ้างเลยว่าจะทำให้มีประสิทธิภาพดีขี้น ตรวจสอบได้
เพราะมีวิธีอี่นที่ดีกว่า ตรงประเด็นกว่าตั้งเยอะสำหรับแก้ไขขัออ้างเหล่านั้น
โดย แก้วสรร อติโพธิ ส.ว. กรุงเทพมหานคร
ถาม - รู้สึกอย่างไรครับ ที่นายหน้าขายหุ้น เจพีมอร์แกน เขาบอกว่าความชะงักงันในการนำ กฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์ในครั้งนี้ทำให้เราสูญเงินลงทุนจากต่างชาติถึงสี่หมื่นล้านบาท
ตอบ - ถ้าเขาทำได้สำเร็จเราก็สูญสินทรัพย์ของบ้านเมืองไปหลายหมื่นล้านเหมือนกัน อย่าหน้าเงินกันมากนักเลย ปัญหาจริงๆ อยู่ที่ว่าเราจำเป็นต้องแปรสินทรัพย์ตัวนี้ไปเป็นทุนหรือไม่ต่างหาก ซึ่งก็ต้องตอบให้ได้ว่าวิสาหกิจไฟฟ้าควรเป็นกิจการที่มุ่งค้ากำไรหรือไม่ ประเด็นแท้จริงมันอยู่ตรงนี้
ถาม - ถ้าไม่มีกำไร แล้วจะขยายกิจการได้อย่างไร
ตอบ - ค่าไฟฟ้าทุกวันนี้ร้อยละ 25 บวกค่าขยายกิจการไว้อยู่แล้ว จะลงทุนอะไรก็ไปกู้ธนาคารเขามาก่อนแล้วเอาค่าไฟส่วนนี้ไปใช้หนี้ สามสี่ปีก็หมดหนี้ทุกครั้งไป แล้วยังเหลือเป็นโบนัสให้พนักงาน เป็นกำไรส่งเข้าหลวงอีกปีละสามถึงห้าพันล้านบาททุกปี กฟผ.จึงไม่เคยมีปัญหาด้านการเงินเลย เป็นลูกหนี้เกรดเอ ที่ธนาคารระดับโลกมาจีบขอให้กู้เงินอยู่มิได้ขาดสายจนทุกวันนี้ รัฐมีภาระแต่เพียงค้ำประกันเงินกู้เท่านั้นเอง ผมยังไม่เห็นปัญหาที่จะต้องระดมทุนจากตลาดหุ้นแม้แต่น้อยเลยจริงๆ
ถาม - ตกลงจะให้ กฟผ.คอยกู้เขาอย่างเดียวใช่ไหม แล้วจะขยายกิจการพัฒนากิจการไปได้อย่างไร
ตอบ -คุณจะให้ขยายไปไหน ขยายไปลงทุนสร้างเขื่อนในลาว ในพม่า ขยายไปสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไฟเหลือก็เอาไปขายจีน อินเดีย ญี่ปุ่น อเมริกา ทำเหมือนฮอนด้า โซนี่ โนเกีย อย่างนั้นหรือ จะแข่งขันครองโลกกับใครไม่ทราบ พ่อคุณเอ๋ย
ถาม - ก็ไม่ถึงขนาดนั้นหรอกครับ เอามาใช้ในประเทศก็พอแล้ว
ตอบ ถ้าแค่นี้ก็กู้ได้อยู่ดี อย่าไปมุ่งโตมุ่งใหญ่ มุ่งให้บริการให้เพียงพอตามความเจริญเศรษฐกิจก็พอแล้ว อย่าไปเอาวิญญาณธุรกิจทุนนิยมมาสวมใส่ จงจำไว้ว่านี่คือบริการสาธารณะไม่ใช่ธุรกิจ ต้องผลิตตามความต้องการที่มีจำกัด ลงทุนให้พอดีมีประสิทธิภาพเป็นสำคัญ ส่วนแหล่งเงินทุนนั้นก็มีอยู่หลายทาง แม้เข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วก็ต้องกู้ธนาคารอยู่ดีจะบ้าเพิ่มทุนมาสร้างโรงไฟฟ้าทุกปีได้อย่างไร แม้ไม่เข้าตลาดก็ยังอาจออกหุ้นกู้หรือออกพันธบัตรในโครงการใหญ่ที่เงินจมนานๆ ก็ได้ และอันที่จริงโครงการใหญ่ๆ อย่างเขื่อนยักษ์ หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นี่ ปัจจุบันก็ไม่ใช่ทางเลือกที่โดดเด่นเท่าใดนัก เงินจะจมอยู่นานมาก ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมก็สูง มีทางเลือกอื่นอีกมาก
ถาม - เช่นอะไรครับ
ตอบ -ถ้าเป็นโรงปั่นไฟ เทคโนโลยีขนาดเล็ก สร้างได้เร็ว คืนทุนเร็ว จะช่วยได้มาก มาตรการประหยัดพลังงานก็ยังใช้กันไม่เต็มที่เลยในทุกวันนี้ มาตรการให้เอกชนลงทุนปั่นไฟเอง เช่น โรงเหล็ก สหวิริยา ก็ไม่ควรที่ชาวบ้านจะต้องแบกภาระร่วมลงทุนด้วย ควรให้เขารับผิดชอบเอง เหลือเท่าใดก็ขายให้ กฟผ.อีกที แม้แต่ศูนย์การค้ายักษ์ ช่วงเมษายนเราจะให้เขาปั่นไฟใช้เองก็ได้ จะช่วยลดความต้องการสูงสุดในช่วงนี้ไปได้นานาประเทศ เขาหันมาจัดการด้านการบริโภคกันนานแล้ว ลดภาระได้มหาศาล แนวทางขยายหรือพัฒนากิจการพลังงานขนาดยักษ์ จึงหาใช่เส้นทางบังคับแต่อย่างใดไม่
ถาม - เฉพาะหน้านี้ ทางรัฐบาลบอกว่าถ้าเข้าตลาดหุ้นช้าไป จะไม่มีเงินมาสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผนเร่งรัดที่วางไว้ และไฟจะไม่พอใช้ ข้อนี้จริงหรือไม่
ตอบ -ประมาณการและกำหนดการดังกล่าวยังไม่มีการตรวจสอบ เท่าที่ผมทราบนั้นโครงการที่มีค่า และทำได้เร็วลงทุนน้อย คือโครงการปรับปรุงโรงไฟฟ้าเดิมของ กฟผ.ถูกรัฐบาลล้มเลิกไป เพื่อบังคับให้สร้างโรงไฟฟ้าใหม่โดยใช้ก๊าซของ ปตท. ปตท.จะได้มีกำไรมากๆ ให้ผู้ถือหุ้นต่อไป และอันที่จริงโรงไฟฟ้าใหม่สี่โรงนี้ถ้าจะสร้างจริงๆ กฟผ.เขาก็พร้อมจะสร้างตั้งนานแล้ว มีธนาคารมาจีบให้เงินกู้อยู่มากมาย แต่รัฐบาลไม่ยอมค้ำประกัน มุ่งจะบีบ กฟผ.ให้ยอมจำนนเข้าตลาดหุ้นให้ได้ ซึ่งก็ทำได้สำเร็จ พอมาสะดุดด้วยคำสั่งศาลปกครองถึงออกมาโวยวายอย่างนี้
ถาม - ยังไงก็ต้องรีบสร้างอยู่ดีไม่ใช่หรือ
ตอบ - ถ้าจำเป็นจริง ก็ต้องลงมือสร้างเสียแต่บัดนี้ไม่มีปัญหาแหล่งเงินทุนแต่อย่างใด เงินสำรองในมือ กฟผ.ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ถึงสามหมื่นล้าน ส่วนมูลค่าโรงไฟฟ้าสี่โรงที่ต้องเร่งสร้างนั้น ก็ประมาณ 6 หมื่นล้าน แม้ขายหุ้นได้ในครั้งนี้ก็ไม่พออยู่ดี แต่ก็มีธนาคารชั้นดีมาเฝ้าจีบจะให้กู้อยู่ทุกวัน ดังนั้น จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้เมื่อใดหรือไม่ก็ไม่ใช่ปัญหาเลย อย่าเอาประชาชนมาเป็นตัวประกันแบบนี้ น่าละอาย น่าอดสูจริงๆ
ถาม - เห็นเขาบอกว่า เมื่อระดมทุนในตลาดไม่ได้ ก็ต้องขึ้นค่าไฟฟ้าด้วย
ตอบ - แท้ที่จริงทุกวันนี้ รายได้ กฟผ.เริ่มลดลงทุกวันแล้ว เพราะถูก กฟผ.ขึ้นค่าก๊าซธรรมชาติโดยไม่หยุดยั้ง จะขึ้นค่าเอฟทีขึ้นค่าไฟฟ้าผลักภาระมาให้ผู้บริโภค ก็ถูกรัฐบาลล็อกไว้ ไม่ยอมให้ขึ้นทั้งหมด ผู้บริหาร กฟผ.เขาก็หวังกันว่าจะเอาเงินค่าขายหุ้นมากู้การเงินการคลังของเขาให้ได้ พอทำไม่ได้ในวันนี้เขาก็จำต้องขอขึ้นค่าไฟฟ้าแน่ๆ อยู่แล้ว เหตุทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะถูก ปตท.กับรัฐบาลกดดันรังแกมาตลอดจนหลังแอ่น เป็นเรื่องที่ต้องเห็นใจและต้องหาทางช่วยเหลือ แต่อย่ามาอ้างปกปิดความจริงว่าขาดเงินลงทุนต้นทุนต่ำมาใช้ลงทุนในอนาคต จึงต้องขึ้นค่าไฟ ข้อนี้เป็นการโกหกคำโต ปัญหาจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่การลงทุนในอนาคต แต่อยู่ที่ปัจจุบันที่ กฟผ.ต้องรับภาระตรึงค่าไฟมาเนิ่นนานท่ามกลางราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งขึ้นตลอดต่างหาก จะหนีไปหาเชื้อเพลิงอื่นที่ถูกกว่าก๊าซ รัฐบาลก็ไม่ยอมเพราะต้องการอุ้ม ปตท.อุ้มจนกำไรเละเทะเช่นทุกวันนี้
ผู้บริหาร กฟผ.ต้องกล้าพูดความจริง และรัฐบาลต้องรับผิดชอบตัดสินใจในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องเซ้ง กฟผ.
ถาม - ถ้าอาจารย์เป็นรัฐบาลจะแก้ปัญหาให้ กฟผ.อย่างไร
ตอบ - ผมจะบังคับให้ ปตท.ลดค่าก๊าซธรรมชาติที่ขายให้ กฟผ.ให้คิดราคาเท่ากับที่ขายให้แก่บริษัทลูกของ ปตท.
ส่วนสัญญาซื้อไฟจากบริษัทเอกชน ต้องถูกเจรจาทบทวนทั้งหมด ด้านผู้ใช้ไฟรายใหญ่ต้องถูกคิดค่าไฟให้แบกรับภาระการลงทุนมากกว่านี้
เมื่อสะสางความเป็นธรรมอย่างนี้แล้ว จำเป็นต้องขึ้นค่าไฟเท่าใดก็ต้องให้ขึ้นไปตามนั้น แล้วลงทุนโหมมาตรการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง ทำให้ครบอย่างนี้แล้วอธิบายให้ประชาชนทราบ ผมว่าประชาชนรับได้ครับ
ประชาชนไม่ใช่คนเห็นแก่ตัว ด้อยสติปัญญา ไร้ความรับผิดชอบ รัฐบางต่างหากที่ไม่เคยพิสูจน์ให้เห็นซึ่งคุณภาพเหล่านี้ และกลับยึดประชาชนเป็นตัวประกัน ลากคอผลักดันให้เข้าไปเป็นเหยื่อของตลาดทุนโดยลุแก่อำนาจเช่นปัจจุบัน
นี่กระมังคือชะตากรรมที่แท้จริงของคนไทยภายใต้เศรษฐกิจทักษิโณมิกส์ และการปกครองแบบทักษิณาธิปไตยในยุคนี้
จากคุณ :
1111
- [
26 พ.ย. 48 03:22:17
A:203.146.9.27 X: TicketID:111667
]