CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    มองวอร์แรนท์ใกล้หมดอายุ ผ่านทฤษฎีเกม

    หลายคนคงจะสงสัยว่า ทำไม วอร์แรนท์ใกล้หมดอายุบางตัว ถึงมีการทำราคากันอย่างสนั่นหวั่นไหว
    เขาไม่กลัวกันบ้างหรือว่า เมื่อเล่นไปแล้ว จะขาดทุนบรรลัย ทั้งคนทำราคา และคนเล่นรายย่อย รายฝุ่น รายละออง
    เพราะวอร์ฯหลายๆตัว ผลประกอบการก็ไม่ดีเลย แต่ก็ยังเล่นกันเข้าไปได้
    และในท้ายที่สุด วอร์ฯ กับแม่ที่ไม่สามารถทำราคาขึ้นไปจนถึงราคาใช้สิทธิอย่างสมเหตุสมผลได้ ก็จะมีค่าเป็นเพียง wall paper

    ผมจะลองอธิบายดูว่า ทำไม การเล่นวอร์ฯใกล้หมดอายุ ถึงเกิดขึ้นได้อย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ต้องดูพื้นฐานบริษัทเลยด้วยซ้ำ แต่ต้องดูว่า วอร์ตัวนั้น สามารถเรียกผู้เล่นเข้าไปร่วมในเกมได้มากพอหรือไม่ก็พอแล้ว กรอบการพิจารณาใช้ game theory นะครับ

    ดังนี้

    เมื่อวอร์ฯตัวหนึ่ง ใกล้หมดอายุ
    รายใหญ่(เจ้าของ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ อินไซเดอร์ใกล้ชิดผู้บริหาร ผู้ที่มีปริมาณหุ้นแม่ และวอร์ฯอยู่ในมือ(ทั้งของตัวเอง หรือ nominee เยอะๆ ฯลฯ) จะมีทางเลือกคือ จะเล่น หรือไม่เล่น
    เช่นเดียวกับรายย่อย คือมีทางเลือกคือ เล่นกับไม่เล่น

    กรณีที่๑ รายใหญ่เลือกเล่น รายย่อยเลือกเล่น
    ในส่วนของรายใหญ่ ถ้าเลือกที่จะเล่น ผลตอบแทนจากการเล่นครั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการชักจูงให้รายย่อยเข้ามาเล่นให้ได้(ข่าวลือ อำนาจซื้อนำ ความสามารถต่างๆในการกระตุ้นความโลภ ฯลฯ)
    และในเวลาเดียวกัน ถ้าสามารถทำราคาตัวแม่ให้ขึ้นไปจนมากกว่าราคาใช้สิทธิของตัวลูกได้พอสมควร ก็จะมีคนนำวอร์ฯตัวนั้น มาแปลง เป็นตัวแม่ มีเงินเข้ามาในบริษัทเพิ่มขึ้นอีกทางด้วย ดังนั้นจึงเป็นผู้ได้ประโยชน์มากที่สุด สมมติให้มีค่าผลตอบแทนเป็น +๑๐๐
    ในส่วนของรายย่อย ถ้าเลือกที่จะเข้าสู่เกม และสามารถออกได้ทัน จะได้ผลตอบแทนเป็นบวกด้วยเช่นกัน แต่จะน้อยกว่ารายใหญ่ สมมติให้ค่าผลตอบแทนเป็น +๕๐

    กรณีที่๒ รายใหญ่เลือกเล่น แต่รายย่อยไม่ตาม
    กรณีนี้ อาจเกิดได้กับหุ้นที่ไม่ดึงดูด ไม่มีสภาพคล่อง ไม่เล่นข่าวลือ อำนาจซื้อนำไม่พอ ฯลฯ เมื่อรายใหญ่เลือกเล่น แต่ไม่มีรายย่อยตาม ผลตอบแทนของรายใหญ่ เมื่อทำราคาขึ้นไปสูงๆ ทั้งวอร์และตัวแม่แล้ว จะเป็นแค่การเรียกใช้สิทธิของวอร์ฯ เพื่อเพิ่มเงินสดในบริษัท และหลังจากนั้นรายใหญ่จะประคองราคาตัวแม่ไว้ เมื่อเกิดการแปลงลูกเข้ามา แล้วทยอยรินขายตัวลูกที่แปลงเป็นแม่แล้วอีกด้วย ในที่สุดอาจได้ผลลัพธ์เป็นกำไรเล็กน้อย หรืออย่างแย่ น่าจะไม่ได้ไม่เสียเท่าไร จึงสมมติให้ค่าผลตอบแทนเท่ากับ ๐ ก็พอ ซึ่งน่าจะเป็นกรณีแย่ที่สุด
    ส่วนรายย่อย ก็ไม่ได้ไม่เสียเช่นกัน เพราะไม่เล่น จึงมีค่าเท่ากับ ๐ ด้วย

    กรณีที่๓ รายใหญ่ไม่เล่น รายย่อยเล่น
    กรณีนี้ ไม่มีประโยชน์สำหรับทั้งสองฝ่าย เพราะถ้ารายใหญ่ไม่เล่น โอกาสที่วอร์ฯ กับตัวแม่ จะมีค่าเหมาะสมกับราคาแปลงสิทธิจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะกำลังซื้อของรายย่อยไม่เพียงพอในการทำราคาเอง จึงเป็นแค่ทำกำไรกันระยะสั้น และรายใหญ่ก็จะไม่ได้ขายวอร์ที่ค้างอยู่ในมือ จนหมดมูลค่าไป รวมทั้งไม่ได้เงินเข้ามาในบริษัทอีกด้วย แต่มีโอกาสขายได้ในราคาที่สูงก่อนหมดมูลค่า ให้รายย่อยไปถือแทน สมมติว่ามีผลตอบแทนเป็น -๕๐
    ส่วนรายย่อย รายฝุ่นรายละออง สุดท้ายแล้วน่าจะขาดทุนมากกว่า เพราะไม่สามารถดึงผู้เล่นเข้ามาในเกมได้ และพร้อมจะถูกรายใหญ่ขายยัดให้เสมอ สมมติผลตอบแทนเป็น -๑๐๐

    กรณีที่๔ รายใหญ่ไม่เล่น รายย่อยไม่เล่น
    กรณีนี้ เช่นกันรายใหญ่ จะเสียโอกาสในการใช้สิทธิแปลงเป็นแม่ และดึงเงินสดเข้าบริษัทจากค่าแปลงสิทธิ และจะไม่มีโอกาสขายใส่มือรายย่อยตอนที่รายย่อยกล้าลากด้วย จนวอร์ฯหมดอายุคามือไปฟรีๆ สมมติผลตอบแทนที่ได้เป็น -๑๐๐
    ส่วนรายละออง ไม่เล่นก็ไม่ได้ไม่เสีย คือเท่ากับ ๐

    ตีตาราง ผลตอบแทนได้ดังนี้

    รายย่อย,รายฝุ่น,รายละออง
    ----------------------------------------------------------
    เล่น///////////////////////ไม่เล่น
    -------------------------------------------------------
    รายใหญ่ เล่น/ (+๑๐๐,+๕๐) /////////////// (๐,๐)
    ------------------------------------------------------------
    ไม่เล่น/ (-๕๐,-๑๐๐) /////////////////// / (-๑๐๐,๐)
    ------------------------------------------------------------
    (ตารางจะดูยากหน่อยนะครับ เพราะผมจัดหน้ากระดาษไม่ได้
    อธิบายว่า เลขแรกเป็นของรายใหญ่ เลขถัดไปเป็นของรายย่อย
    ค่าที่ ๑ คือ เล่น/เล่น ค่าที่ ๒ คือ เล่น/ไม่เล่น
    ค่าที่ ๓ คือ ไม่เล่น/เล่น ค่าที่ ๔ คือ ไม่เล่น/ไม่เล่น

    จะเห็นว่า รายใหญ่มี dominant strategy คือ เล่นวอร์ฯใกล้หมดอายุดีกว่า เพราะ ไม่ว่ารายย่อยจะเลือกเล่นหรือไม่เล่น รายใหญ่เมื่อเลือกเล่น จะได้ผลตอบแทนมากกว่าไม่เล่นเสมอ คือกรณีที่รายย่อยไม่เล่น รายใหญ่จะได้ผลตอบแทนจากการเล่น ที่ ๐ ต่อ ไม่เล่น -๑๐๐
    กรณีที่รายย่อยเล่น รายใหญ่จะได้ผลตอบแทนจากการเล่น +๑๐๐ ต่อไม่เล่น -๕๐

    ดังนั้น ไม่ว่ารายย่อยจะเลือกเล่นอะไร รายใหญ่จะเลือกเล่น อยู่ดี เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากกว่าเสมอ

    ส่วนรายละออง ไม่มี dominant strategy คือ ไม่มีอันไหนที่ถ้าเลือกทำแล้ว จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเสมออย่างรายใหญ่
    แต่ในฐานะรายฝุ่น เมื่อเรารู้ว่า รายใหญ่ มีโอกาสที่จะเล่นมากกว่าไม่เล่น เพราะเป็น dominant strategy ของรายใหญ่
    ดังนั้น เพื่อให้ได้ ผลตอบแทนที่สูงสุดเสมอ เราจึงควรเล่นกับรายใหญ่ด้วย(เพราะสามารถคาดเดาได้ว่ารายใหญ่พร้อมจะเล่นเกมนี้เสมอ)

    ดังนั้น จุดสมดุลที่ยอมรับได้ของทั้งสองฝ่าย จึงอยู่ที่ รายใหญ่ และรายย่อยร่วมเล่นเกมนี้ครับ คือ +๑๐๐ ต่อ +๕๐ ครับ

    ส่วนจะเข้ากันที่ราคาไหน เมื่อไร หรือขายที่ราคาเท่าไรนั้น ต้องไปดูกันเองในสนามอีกที และแน่นอนว่าจะมีแมงเม่าเพื่อนตายตู ตายเป็นเบืออีกเช่นเคยครับ เพราะไม่ว่าอย่างไร แมงเม่ากลุ่มนี้ จะได้รับผลตอบแทนเป็น -๑๐๐ เสมอ ฮ่าๆ

    อ่านเอามันส์ เฉยๆครับ

    จากคุณ : แมงเม่ามือใหม่ - [ วันรัฐธรรมนูญ 23:24:41 A:58.136.66.170 X: TicketID:080268 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป