Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    มหาวิทยาลัยออกนอกระบบใครได้ ใครเสีย: ข้อวิพากษ์และเงื่อนงำที่ซ่อนอยู่ในระบบการศึกษาไทย

    จากนักศึกษาด้านสังคมวัฒนธรรม

        เมือ่คืนวันที่14 ธันวาคม ผมได้มีโอกาสชมรายการถึงลูกถึงคนในประเด็น มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่งก็มีข้อโต้แย้งทั้งฝ่ายอธิการบดี กับนิสิตนักศึกษา ต่างก็มีข้อมูลที่น่าสนใจและควรเปิดเผยต่อสาธารณะชนให้มีการทำประชาพิจารณ์ เพื่อตรวจสอบดูผลกระทบ และหาข้อสรุป เนื่องจากนโยบายนี้มีผลกระทบต่อคนทั้งชาติ ในฐานะที่มหาวิทยาลัย เป็นสมบัติของแผ่นดิน เป็นที่บ่มเพาะทางการศึกษาและวิชาชีพชั้นสูงที่ทุกชนชั้นมีสิทธิที่จะรับรู้

    ก่อนอื่นผมเป็นนิสิตนักศึกษาคนหนึ่งจึงมีผลกระทบโดยตรง กับนโยบายนี้ แต่ผมอยากจะชี้แจงในฐานะที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และมิได้รับเงินจากอธิการบดีคนใดให้มาชี้แจง จึงตัดประเด็นไปได้ว่าผมจะอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะชี้แจงคือ ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับสภาพปัญหาของการอุดมศึกษาในประเทศไทยที่สาธารณะชนควรรับรู้ดังนี้

    1.ภาระของรัฐบลาลมีโครงสร้างที่ใหญ่เกินไป และการบริหารของระบบการอุดมศึกษาไม่เกิดประสิทธิภาพ ที่สำคัญการจัดการงบประมาณยังมีปัญหาอยู่มาก เนื่องจากรัฐบาลให้เงินสนับสนุนทางมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อจัดการศึกษาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและพัฒนาบุคลากรเพื่อเป็นทรัพยากรของประเทศที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ เงินจำนวนนี้ได้มาจากภาษีอากรที่รัฐบาลจัดเก็บจึงเป็นภาระของผู้เสียภาษีสู่ภาคการอุดมศึกษา ซึ่งจะมองได้ว่างบประมาณมากกว่า90/ ของรายได้มหาวิทยาลัย รัฐเป็นผู้สนับสนุน จากงานวิจัยของมาร์กเบลาพบว่า หากระดับการศึกษายิ่งสูงเพียงใด ประโยชน์ที่สังคมจะได้รับจะยิ่งน้อยลง(the rate of return to investment in education in thailand,nationnal education council,1971) ดังนั้นรัฐจึงแบกภาระในการใช้จ่ายในระดับอุดมศึกษามากเกินไป และใช้จ่ายในภาคประถมและมัธยมศึกษาน้อยเกินไป ทำให้ไม่น่าแปลกใจว่าโรงเรียนในสังกัดของสพฐ จึงมีสภาพตกต่ำ ซึ่งเหตุผลสำคัญก็คือการได้รับเงินถัวเฉลี่ยต่อคน ที่รัฐสนับสนุนต่ำมาก เมือ่เทียบกับโรงเรียนพิเศษอย่างมหิดลวิทยานุสรณ์ หรือโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงต่างๆ เงินที่รัฐสนับสนุน ถือว่าเราในระดับอุดมศึกษากำลังเอาเปรียบภาคพื้นฐานการศึกษาอยู่ในระดับ1ต่อ40เลยก็ว่าได้ ในขณะที่เรายังพึ่งพาแต่รัฐบาลทำให้งบประมาณแผ่นดินที่ควรจะพัฒนาด้านอื่นกับถูกเบียดบังจากการอุดมศึกษา ซึ่งอาจจะเป้นการลงทุนที่จมเพราะรัฐอาจจะได้ผลตอบแทนทางสังคมน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นการออกนอกระบบจึงเป็นหนทางที่มหาวิทยาลัยจะหาแหล่งงบประมาณจากภายนอก เพื่อนำมาปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารให้มีสภาพที่คล่องขึ้นนอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดิน และมีผลงานวิจัยเพื่อนำไปสู่ภาคเอกชน และความก้าวหน้าทางวิชาการที่สำคัญยังมีอิศระในการทำงานสูงเพราะการผูดติดกับระบบราชการเป็นอุปสรรคต่อการเผยแพร่ ตีพิพิมพ์ผลงานวิจัย ตลอดจนการนำผลงานไปพัฒนา ต่อยอด เพราะเอกชนก็ได้รับประโยชน์จากตรงนี้มันจึงเป็นการขับเคลื่อนที่ก้าวหน้ามากกว่าถอยหลัง เราควรที่จะพยายามเพิ่มโอกาสให้กับภาคส่วนอื่นๆให้นำเงินตรงนี้ไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น

    2.ประเด็นเรื่องค่าหน่วยกิจเพิ่ม ต้องขออธิบายว่า ปัจจุบันค่าเทรอมของมหาวิทยาลัยรัฐต่ำกว่าสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงอยู่มาก ซึ่งเราอาจจะพุดว่าค่าหน่วยกิจเพิ่มขึ้น แต่การเพิ่มขึ้นเป็นไปในลักษณะต่ำ คือไม่ได้เพิ่มแบบพรวดพราด ซึ่งมิได้ต่างจากเดิมมากนัก แต่ก็ยังต่ำกว่าสภาพจริงที่ควรจะจ่ายอยู่ดี เพระาค่าหน่วยกิจบ้านเราต่ำกว่าระดับดุลยภาพ ทำให้อุปสงค์ส่วนเกินหรือหมายถึงความต้องการที่จะเข้ามหาวิทยาลัยมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ในขณะที่อุปทานยังไม่เพิ่มตามสัดส่วนที่ควรจะเป็น ที่จริงแล้วการลงทุนทางการศึกษาเป็นผลประโยชน์ต่อปัจเจก ทั้งการประกอบวิชาชีพต่างๆ จากความรู้ที่ได้รับเพื่อเลี้ยงดูตนเอง และครอบครัว และที่สำคัญต้นทุนทางการศึกษามีภาระรายจ่ายค่อนข้างสูงเช่น ค่าดำเนินการ ทั้งในด้านธุรการ การสอน กิจกรรม การจ้างบุคลากร รวมถึงต้นทุน วัสดุ ตึก อุปกรณ์ทางการศึกษา ทำให้รายได้ที่มีจึงยังไม่เพียงพอกับการพัฒนามหาวิทยาลัยเพียงแค่ประคับประคองเท่านั้น ดังนั้นงานวิชาการบ้านเราจึงยังไม่โดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงโปร หรือมาเลเซีย ทั้งๆที่บุคลากรมีประสิทธิภาพ แต่ขาดงบประมาณที่จะสร้างความเข้มแข็งและเที่ยวบินที่จะพัฒนาองค์กรของตนดังนั้นการจัดเก็บค่าเทรอมจึงควรให้สอดคล้องกับความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกกิจ ตามสภาพการลงทุนของสาขาวิชา การที่มี กยส หรือไอซีแอลจึงเป็นการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น ที่ทำให้คนจนได้มีโอกาสได้ศึกษาต่อ จึงถือว่าเป็นการส่งเสริมตรงนี้ และที่สำคัญงบประมาณที่เพิ่มขึ้นน่าจะไปส่งเสริมทุนขาดแคลนสำหรับนักศึกษายากจนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ต้องทำความเข้าใจว่านักศึกษาที่เข้ามาสู่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ มาจากครอบครัวผู้มีรายได้ปานกลาง และยังสามารถมีเงินจับจ่ายเพื่อการศึกษา ทางมหาวิทยาลัยเองก็ตระหนักดีว่าการขึ้นค่าหน่วยกิจเองมีผลกระทบต่อนักศึกษา จึงจะขึ้นตามความจำเป็นมากที่สุดเพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อการพัฒนาและการใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด คนที่ได้คือนักศึกษาเองที่จะได้รับการบริการทางวิชาการที่ดีขึ้น

    3.สภาพที่ตกต่ำของอาจารย์มหาวิทยาลัย ต้องเข้าใจว่าเสรีชนบ้านเราไม่มีจริงเพระาสถานะภาพอาจารย์มหาวิทยาลัยได้รับเงินเดือนไม่สมกับวิทยฐานะ เมือ่เทียบกับบางประเทศอย่างสิงโปร ญี่ปุ่น หรืออเมริกา จึงเกิดภาวะสมองไหล เพราะขาดแรงจูงใจในการดึงคนที่มีความสามารถสูงเข้ามาสู่มหาวิทยาลัย ตรงนี้จะส่งผลถึงคุณภาพการศึกษาด้วย ปัจจุบันอาจารย์รุ่นใหม่ส่วนใหญ่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยที่มีอัตราจ้างตามเงินเดือนตามระบบราชการ และยังไม่ได้รับประโยชน์จากสวัสดิการที่ควรจะได้รับ ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยถูกสูบตัวไปอยู่ภาคเอกชนมาก และที่สำคัญความเป็นอิศระทางวิชาการ การทำงานวิจัย ยังถูกโครงสร้างราชการปิดกั้นอีก มีอาจารย์ที่ต้องการไปเพิ่มเติมความรู้ยังต่างประเทศเพื่อนำความรู้มายังบ้านเรายังต้องพบอุปสรรคเพราะระบบราชการไใม่เอื้ออำนวย ทั้งในเรื่องการลาพัก หรือความมีอิศระที่จะไปเพิ่มเติมความรู้ อันนี้ดูได้จารย์อดีตอาจารย์ที่ได้รับเลือกเป็นสวท่านหนึ่งที่ท่านมีผลงานระดับโลก และจบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอย่างอิมพีเรียลลคอเคจ และได้มารับใช้ชาติเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในประเทศ แต่ไม่สามารถพัฒนาศักยภาพได้เท่าที่ควรเพราะท่านให้สำภาษณ์ว่าเป็นเพระาระบบราชการนั่นเอง ภาคเอกชนจึงใช้เม็ดเงินเพือ่สูบคนเก่งเข้าไปได้ง่ายกว่า เพราะเชื่อว่าพวกเขาเหล่านี้เป็นปัญญาชนที่มีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาองค์กร อันนี้ต้องดูจากปตท ที่มีคนเก่งเข้าไปสู่องค์กรเป็นจำนวนมาก และยังให้สวัสดิการในแบบที่ว่า กินดีมีสุข สามารถพัฒนางานวิจัยได้เต็มที่ และมีฐานเงินเดือนในระดับสูง คนส่วนใหญ่มักถามว่า ถ้าเป็นอาจารย์ควรที่จะเสียสละเพื่อนิสิต นักศึกษา และไม่ควรเห็นแก่ทรัพย์สิน แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องมีครอบครัว มีภาระรายจ่าย ที่เหมือนกับเราๆ ทำให้บางทีสิ่งเหล่านี้อาจเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อสถานภาพของอาจารย์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน บางทีผมยังขอชอขบพระคุณอาจารย์บางท่านที่ยังเสียสละตนเองในด้านการสอนทั้งที่รู้ว่าผลตอบแทนที่ได้รับมันน้อยนิดมาก ถ้าหากอาจารย์เหล่านี้จะเลือกที่จะไปประกอบอาชีพอื่นที่ได้รับผลตอบแทนสูงกว่า แต่พอสืบภูมิหลังบางทีทำให้ทราบว่าอาจารย์หลายท่านมีฐานะดีพอสมควร แต่อยากทำเพื่อสังคมบ้าง หรือบ้างก็ใจรักในวิชาชีพ มากกว่าจะตีค่าเป็นเงินทอง แต่จะมีอาจารย์ที่ยอมเสียสละตนเองขนาดนี้มกาน้อยเพียงใด ในขณะที่หลายคนก็ต้องเปลี่ยนอาชีพไปเพราะมีรายได้ไม่เพียงพอจริงๆ และยังแอบน้อยใจที่อุตห์ส่าไปร่ำเรียนถึงปริญญาเอกจากต่างแดน หรือในแดน แต่ค่าตอบแทนช่างน้อยนิดมากเมือ่เทียบกับคุณวุฒิที่มีอยู่

    4.การสร้างหลักประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัย ระบบข้าราชการมีปัญหาเรื่องการประเมินอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะกระบวนการและวิธีการที่ซับซ้อนยุ่งยาก จึงทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถพัฒนาตนเองได้เท่าที่ควร ดังนั้นการออกนอกระบบจึงเป็นส่วนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยกำหนดทิศทางและประเมินผล ทั้งในด้านวิชาการ การเรียนการสอน การจัดสรรงบประมาณอย่างมาประสิทธิภาพ ได้ด้วยตัวของตัวเอง เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันทางวิชาการ อันนี้เป็นผลดีต่อนักศึกษาแน่นอน จะได้ลดสภาพความเหลือมลำของระบบการศึกษา เพระามหาวิทยาลัยจะต้องถีบตนเองให้อยู่รอดและเข้มแข็ง ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสู่ภาคสังคมต่อไป เพราะในขณะนี้บัณฑิตในปัจจุบันมีคุณภาพต่ำลง และไม่สอดคล้องกับกับความเป็นจริง ดังนั้นการออกนอกระบบจะต้องมีการประเมินคุณภาพการศึกษาเพื่อรู้จุดอ่อนและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ถ้าหากเราปล่อยให้ระบบราชการเป็นผู้ชี้นำ จะทำให้สภาพการแก้ไขปัญหาล่าช้า และมีประสิทธิภาพต่ำ

    5.ประเด็นเรื่องการครอบงำของภาคเอกชน ภาคธุกิจ และการแสวงหาผลกำไร จากธุรกิจการศึกษา อันนี้เราต้องเข้าใจก่อนว่าภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชนย่อมต้องมีส่วนที่สัมพันธ์กันเพราะทุกส่วนจะต้องขับเคลื่อนเพื่อให้เดินต่อไปข้างหน้า รัฐต้องสนับสนุนภาคเอกชน และประชาชนเพื่อให้สองส่วนเข้มแข็งและเอ๊าพุดมาสู่รัฐ การที่ภาคเอกชนจะไปกำหนดนโยบายของมหาวิทยาลัยคงทำไม่ได้

    เพราะคณาจารย์คงมิได้ไปจดทะเบียนมหาวิทยาลัยสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้นักธุรกิจเข้ามาบริหารแต่ในความคิดของผมน่าจะเป็นการร่วมมือทางวิชาการกับภาคอุตสาหกรรมมากกว่า ทางภาคอุตสาหกรรมน่าจะให้เงินเพื่องานวิจัยและพัฒนา ทางอาจารย์ นิสิตก็เร่งที่จะสร้างผลิตกรรม ทำให้สองส่วนได้รับประโยชน์ในแง่ของผลงานทั้งคู่ และยังทำให้การพัฒนาเติบโตเร็วขึ้น ส่วนใหญ่ภาคเอกชนจะให้เงินในรูปแบบการบริจาค หรือเงินทุน เพือ่สร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถกลับสู่ภาคเอกชน และรัฐ เพราะอย่างน้อยองค์กรก็ได้ มหาวิทยาลัยก็ได้ รัฐก็ได้ ต้องเข้าใจว่าเราผลิตบัณฑิตเพื่อแรงงานในแต่ละภาคส่วน ดังนั้นจึงควรมีการกำหนดทิศทางร่วมกันเพื่อได้บัณฑิตที่ตรงกับความต้องการของทุกฝ่าย ที่สำคัญการออกนอกระบบยังอยู่ในกำกับของรัฐ แต่แค่รัฐลดระบบปฏิบัติราชการที่ยุ่งยากซับซ้อนลง เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถจัดการกับระบบภายได้เร็วและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น เท่าที่ผ่านมาการศึกษายังไม่พัฒนาเท่าที่ควรอันเนื่องมากจากโครงสร้างรัฐที่เป็นตัวปัญหา ทั้งในฝ่ายบริหาร อำนาจการเมือง และการเปลี่ยนแปลงระบบ จึงทำให้มหาวิทยาลัยตกอยู่ภายใต้การชี้นำมาตลอดทุกยุคทุกสมัยจากรัฐบาล

    เราต้องทำความเข้าใจว่าบ้านเราคงไม่เหมือนฝรั่งเศส หรือบางประเทศในยุโรป ที่สามารถให้เงินสนับสนุนด้านการศึกษาที่เรียกได้ว่า แทบจะออกให้ทั้งหมด เพระาโครงสร้างภาษีที่ต่างกัน ทำให้สวัสดิการต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือเราต้องศึกษาการออกนอกระบบมีผลกระทบอย่างไร อย่างพึ่งเชื่อหรือตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ควรดูผลกระทบและผลที่จะได้รับทั้งด้านบวกและลบ ทั้งสองด้านและลองช่างใจดูว่าตัวอย่างของการออกนอกระบบดีหรือเลวร้ายอย่างไร เพือ่การกำหนดนโยบายของชาติที่ได้รับประโยชน์สูงสุดสู่ภาคประชาชน

                        บทความนีต้องขอขอบพระคุณ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อาจารย์ทางด้านเศรฐศาสตร์ ที่แต่งตำรา เรือ่ง การศึกษา ทุนนิยม และโลกานุวัตร ซึ่งบางตอนที่ตัวผู้เขียนได้หยิบยก และเป็นข้อมูลที่อ้างอิงสำคัญ ผู้ใดสนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้

                ขอน้อมรับความผิดพลาดทุกประการที่ได้พิมพ์เผยแพร่ไป อาจมิได้กลั่นกรองทางภาษาและการอ้างอิงที่ดีพอ และต้องการคำติชมที่จะน้อมนำไปแก้ไขต่อไป

    จากคุณ : ส่องสร้างสังคม - [ 14 มี.ค. 50 15:44:30 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom