CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    เห็นด้วยไหมที่ การฟ้องมาตรา157 ป.อาญาจะเป็นสิทธิโดยเฉพาะของพนักงานอัยการ

      เห็นด้วย (1 คน)
      ไม่เห็นด้วย (2 คน)

    จำนวนผู้ร่วมโหวตทั้งหมด 3 คน

     33.33%
     66.67%


    บันทึกหลักการและเหตุผล

    ประกอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..)

    พ.ศ. ....

                         



    หลักการ

    แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ดังต่อไปนี้

    (๑)  กำหนดบทนิยามคำว่า “เจ้าพนักงาน” (เพิ่มมาตรา ๑ (๑๖))

    (๒) ปรับปรุงบทบัญญัติความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต โดยกำหนดให้การฟ้องคดีในความผิดฐานดังกล่าวเป็นอำนาจของพนักงานอัยการโดยเฉพาะแต่ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายในการเป็นโจทก์ร่วม (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๕๗)

    (๓) กำหนดความผิดเกี่ยวกับศพ (เพิ่มลักษณะ ๑๓ ความผิดเกี่ยวกับศพ
    ในภาค ๒ ความผิด มาตรา ๓๖๖/๑ มาตรา ๓๖๖/๒ มาตรา ๓๖๖/๓ มาตรา ๓๖๖/๔ และมาตรา ๓๖๖/๕)

    (๔)   กำหนดความผิดเกี่ยวกับการคุกคาม (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๓๙๗)



    เหตุผล

    โดยที่มาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม โดยบุคคลมีสิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง นอกจากนี้ บุคคลมีสิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม  และมาตรา ๓๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนความเป็นอยู่ส่วนตัวไว้ด้วย  แต่ปัจจุบันข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “เจ้าพนักงาน” ในการพิจารณาคดีมีมาก เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้กระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความล่าช้า และมีการกลั่นแกล้งฟ้องร้องเจ้าพนักงานในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้เจ้าพนักงานไม่กล้าตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่เป็นผลให้บุคคลไม่ได้รับความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมของ
    เจ้าพนักงานดังกล่าว สมควรกำหนดบทนิยามคำว่า “เจ้าพนักงาน” ไว้ให้ชัดเจน เพื่อลดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “เจ้าพนักงาน” และแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติความผิดฐานเป็น
    เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเพื่อคุ้มครองเจ้าพนักงานโดยให้พนักงานอัยการเท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีในข้อหาดังกล่าว แต่ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายในการเป็นโจทก์ร่วม ประกอบกับยังไม่มีกฎหมายกำหนดความผิดเกี่ยวกับศพ อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ และชื่อเสียงตามรัฐธรรมนูญหลายประการ ได้แก่ การกระทำชำเราศพ การกระทำอนาจารศพ การกระทำ
    ให้ศพเสียหาย และการดูหมิ่นเหยียดหยามศพ สมควรให้มีบทบัญญัติความผิดดังกล่าว
    เพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ และชื่อเสียงตามรัฐธรรมนูญ  นอกจากนั้น เพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลในความเป็นอยู่ส่วนตัว ตามมาตรา ๓๕ ของรัฐธรรมนูญ
    แห่งราชอาณาจักรไทย การกระทำต่อผู้อื่นอันเป็นการรังแก ข่มเหง รบกวน รบเร้า คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ไม่ว่าจะกระทำในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัล หรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ หรือเป็นการกระทำโดยอาศัยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำ อันเนื่องจากความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น อันเป็นการกระทำซึ่งละเมิดต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติคุ้มครองไว้ สมควรกำหนดให้เป็นความผิด  
    จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้







    ร่าง

    พระราชบัญญัติ

    แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..)

    พ.ศ. ....

                         



    .................................

    .................................

    .................................



    .......................................................................................................................................



    โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา

    .......................................................................................................................................



    มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....”



    มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน
    ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป



    มาตรา ๓  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑๖) ของมาตรา ๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา

    “(๑๖) “เจ้าพนักงาน” หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็น
    เจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่”



    มาตรา ๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

    “มาตรา ๑๕๗  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
    โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
    โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
    หรือทั้งจำทั้งปรับ

    การฟ้องคดีตามมาตรานี้ให้เป็นอำนาจของพนักงานอัยการโดยเฉพาะ
    แต่ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะเข้าร่วมเป็นโจทก์”



    มาตรา ๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๖๖/๑ มาตรา ๓๖๖/๒
    มาตรา ๓๖๖/๓ มาตรา ๓๖๖/๔ และมาตรา ๓๖๖/๕ ของลักษณะ ๑๓ ความผิดเกี่ยวกับศพ
    ในภาค ๒ ความผิด แห่งประมวลกฎหมายอาญา

    “ลักษณะ ๑๓

    ความผิดเกี่ยวกับศพ



                         





    มาตรา ๓๖๖/๑  ผู้ใดกระทำชำเราศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี
    หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของศพ หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของศพ

    มาตรา ๓๖๖/๒  ผู้ใดกระทำอนาจารแก่ศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี
    หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    มาตรา ๓๖๖/๓  ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งศพหรือส่วนของศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี
    หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    มาตรา ๓๖๖/๔  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    มาตรา ๓๖๖/๕  ความผิดในหมวดนี้ นอกจากความผิดตามมาตรา ๓๖๖/๔
    เป็นความผิดอันยอมความได้”



    มาตรา ๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๙๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา
    และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

    “มาตรา ๓๙๗  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง รบกวน รบเร้า คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

    ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำในที่สาธารณสถาน
    หรือต่อหน้าธารกำนัล หรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ
    ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

    ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสองเป็นการกระทำโดยอาศัยเหตุที่ผู้กระทำ
    มีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำ อันเนื่องจากความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา นายจ้าง
    หรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกิน
    หนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”



    ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ





    ....................................

    นายกรัฐมนตรี


    ที่มาhttp://www.krisdika.go.th/comment_x_01.jsp?head=5&item=1&billCode=11


    สำหรับผมนะครับ
    ข้อดีคือ  เป็นการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อาจจะถูกกลั่นแก้ลง โดยการให้นักกฎหมายของรัฐช่วยพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง

    ข้อเสีย อาจเป็นช่องทางให้ข้าราชการช่วยเหลือพวกพ้อง และหาประโยชน์ในทางไม่ชอบ(เช่นตำรวจแกล้งทำสำนวนอ่อนจน อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือ อัยการอาจโดนติดสินบนจนสั่งไม่ฟองผู้เสียหายก็หมดสทธิแล้ว)

    จากคุณ : อี้จับสี่ - [ 13 ก.ค. 51 22:22:38 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | PanTown.com | BlogGang.com