Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    ศาลปกครอง"ไม่เป็นธรรม"กรณีบีทีเอสกับคนพิการ

    ศาลปค.ยกฟ้องคนพิการ ร้องบีทีเอส-เตรียมอุทธรณ์  


    โดย ไทยรัฐ วัน ศุกร์ ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2552 00:00 น.

    ต่อกรณีที่ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ละเลยต่อหน้าที่กรณีไม่ดำเนินการจัดให้ มีลิฟต์ และสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ ขณะที่ ศาลปค. ชี้เป็นการทำสัญญาก่อนที่กฎกระทรวงฉบับที่ 4 พ.ศ. 2542

    ผู้สื่อข่าวรายงานวานนี้ (15 ม.ค.) ว่า ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ นายวชิระ ชอบแต่ง ตุลาการศาลปกครองกลาง พร้อมองค์คณะ นั่งพิจารณาคดีดำที่ 1737/2550 เป็นครั้งแรก เพื่อฟังความเห็นตุลาการผู้แถลงคดีในคดี

    นายสุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ ที่ปรึกษาสภาผู้พิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ซึ่งพิการขาขาดสองข้างกับพวกรวม 3 คนยื่นฟ้อง
    กรุงเทพมหานคร
    นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. (ขณะฟ้องเมื่อปี 2550)
    ผู้อำนวยการสำนักโยธา กทม.
    และบริษัท ขนส่งมวลชน กรุงเทพมหานคร จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 4

    เรื่อง ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า เกินสมควร กรณีไม่ดำเนินการจัดให้มีลิฟต์ และสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นที่วางรถวิลแชร์มี ความกว้างไม่เกิน 120 ซม. สูง 80 ซม.บริเวณทางขึ้นลง

    และไม่ติดสัญลักษณ์คนพิการใน และนอกตัวรถให้แก่ผู้พิการในบริเวณสถานีรถไฟฟ้า บีทีเอส 23 สถานี

    จึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีจัดให้มีลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกข้างต้นทั้ง 23 สถานี

    โดยวานนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม เดินทางมาพร้อมกลุ่มพิการนั่งรถเข็นวิลล์แชร์ กว่า 10 คน

    ขณะที่ฝ่าย กทม. ผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 3 ไม่ได้เดินทางมาร่วมฟังการพิจารณาแต่อย่างใด

    คงมีเพียง นายพิษณุ จงเพียรเลิศ ตัวแทนบริษัท รถไฟฟ้า บีทีเอส เท่านั้นที่เดินทางมาศาล

    ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 แถลงด้วยวาจาต่อศาลสรุปว่า ผู้ฟ้องได้รับความเดือดร้อน ตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าก่อสร้างโครงการเสร็จเมื่อปี 2535 มิใช่เดือนร้อนในห้วงเวลา 90 วัน ที่จะมีอำนาจนำคดีมาฟ้อง และโครงการดังกล่าวถือว่าเป็นบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งประชาชนทุกคนจะต้องได้รับบริการ และยังพบว่ามีผู้พิการใช้บริการรถไฟฟ้ามากกว่าพันคน โดยผู้ฟ้องได้เคยเจรจากับผู้ฟ้องมาโดยตลอด

    แต่ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ไม่มีความกระตือรือร้นจะดำเนินการดังกล่าวตามหลักบริหารบ้านเมืองที่ดี

    ที่ผ่านมามีการจัดลิฟต์ และสิ่งอำนวยความสะดวกไว้เพียง 5 สถานีหลัก ประกอบด้วย สถานีอโศก หมอชิต สยาม ช่องนนทรี และอ่อนนุช เท่านั้น

    จากนั้น นายเสน่ห์ บุญทมานพ ตุลาการผู้แถลงคดี แถลงความเห็นสรุปว่า แม้ข้อเท็จจริงจะพบว่ามีการยื่นคดีเกินกว่า 90 วันตามที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากคดีนี้เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณะ จึงเห็นว่าคดีนี้ผู้ฟ้องมีอำนาจฟ้อง และศาลมีอำนาจรับคดีนี้ไว้พิจารณา

    ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 จะกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตาม พรบ.ระเบียบราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 - 2 จะต้องดูแลรับผิดชอบในการดำเนินการก่อสร้างบริการสาธารณะ และพ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 กำหนดให้ออกกฎกระทรวง เพื่อให้มีการจัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ โดยตรงภายในอาคารสถานที่และยานพาหนะ

    ซึ่งข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ได้ทำสัญญาโครงการระบบขนส่งมวลชนกับผู้ถูกฟ้องที่ 4 เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2539 ซึ่งเป็นการทำสัญญาก่อนที่กฎกระทรวงฉบับที่ 4 พ.ศ. 2542 จะบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2542 ประกอบกับพบว่า หลังจากมีการก่อสร้างโครงการแล้วผู้ถูกฟ้องที่ 4 ได้จัดให้มีลิฟต์ใน 5 สถานี ตามที่ผู้ฟ้องกล่าวอ้าง ทั้งที่ในสัญญาสัมปทานไม่ได้กำหนดให้ต้องทำ

    เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า ไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ 4 ต้องดำเนินการดังกล่าวอีก ภายหลังจากที่พ.ร.บ.ฟื้นฟูฯ บังคับใช้ จึงเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ไม่ได้ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

    จึงเห็นควรที่องค์คณะจะพิพากษายกฟ้อง

    ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับความเห็นตุลาการผู้แถลงคดี ถือการทำความเห็นภายในเสนอต่อองค์คณะ ฯ ตามกระบวนพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งความเห็นดังกล่าวจะไม่มีผลผูกพันต่อการมีคำพิพากษาของตุลาการเจ้าของ สำนวน โดยหลังจากนี้ องค์คณะจะประชุมเพื่อตรวจสำนวนที่จะมีคำพิพากษา และจะแจ้งวัน นัดฟังคำพิพากษาให้คู่ความต่อไป

    http://news.sanook.com/social/social_336958.php

    ต่อเรื่องที่คนพิการเคยฟ้อง รถไฟฟ้าที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ลิฟท์
    , บริเวณสำหรับรถเข็น หรือมีลิฟท์ก็มีเพียง 5สถานีนั้น ล่าสุด ตามข่าว ศาลยกฟ้องเนื่องจากสัญญารถไฟฟ้าและการก่อสร้างเสร็จเมื่อปี '39 ก่อนกฏกระทรวงจะมีผลเมื่อปี '42 (ว่าต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการและคนชรา)
    น่าสนใจมากตรงที่ ศาลใช้ตัวเลขปีในการอ้างอิง พิจารณาการปฏิบัติตามกฎหมาย แล้วสิ่งที่ไม่มีในปัจจุบัน ก็ควรต้องไม่มีต่อไปงั้นหรือ???

    - ถึงแม้มีการอุทธรณ์แต่หากยังเล่นกันแค่ตัวเลขปีก็ดูความหวังริบหรี่

    - แล้วเรื่องสิทธิมนุษยชน อยู่ที่ไหน

    - เท่าที่เข้าใจ กฎหมายคือขั้นต่ำสุดที่มนุษย์ใช้ตกลงกัน ถึงแม้รถไฟฟ้าไม่ได้ทำไว้ ก็สามารถทำภายหลังจากที่มีกฎหมายได้ แก้ไขได้

    - คนทั่วไปเองก็เดือดร้อน เช่น คนท้อง, รถเข็นเด็ก, ฝรั่งใช้กระเป๋าแบบลากฯลฯ ก็ต้องการใช้เช่นกัน

    - ต้องรวมกันเป็นมวลชน (MOB) หรือไม่ เพื่อให้เห็นว่ามีคนที่ถูกละเมิดสิทธิจริงๆ

    ข้อความนี้ได้ส่งไปให้กลุ่มคนทำงานเรื่องสิทธิ, เรื่องความพิการ, หนังสือพิมพ์ สื่อทีวี, คนทำงานกับกทม., นักการศึกษา นักวิชาการ และกำลังจะถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษถึงเครือข่ายนักวิจัยที่มอง"คน"เป็นทรัพยากรสำคัญในการพัฒนา

    - เสียงของคนพิการอาจดังไม่พอ ตอนนี้ใครก็ตามที่อยู่ในสังคมเดียวกัน แยกปัญหากันแก้ไม่ได้แล้วนะคะ ขอช่วยแสดงความคิด-เห็น หรือเพื่อนๆที่เป็นทนาย ถ้าต้องว่ากันตามกฎหมายจริงๆ ต้องทำอย่างไรค่ะ

    รบกวนทุกคนด้วยค่ะ
    นับถือ
    วิว

    แก้ไขเมื่อ 04 ก.พ. 52 12:33:57

    จากคุณ : mean2523 - [ 4 ก.พ. 52 12:30:35 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป


Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com