ความคิดเห็นที่ 6 |
พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘
มาตรา ๑๑ ผู้จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลจะอนุญาตให้ผู้มีสัญชาติไทยผู้ใดร่วมใช้ชื่อสกุลของตนก็ได้ โดยยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร การอนุญาตตามมาตรานี้ จะสมบูรณ์ต่อเมื่อนายทะเบียนท้องที่ได้ออกหนังสือสำคัญแสดงการอนุญาตให้ใช้ชื่อสกุลให้แก่ผู้ที่จะใช้ชื่อสกุลนั้น ในกรณีที่ผู้จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลตายแล้ว ให้ผู้สืบสันดานของผู้จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลในลำดับที่ใกล้ชิดที่สุดซึ่งยังมีชีวิตอยู่และใช้ชื่อสกุลนั้นมีสิทธิอนุญาตตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๑๒ คู่สมรสมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามที่ตกลงกัน หรือต่างฝ่ายต่างใช้ชื่อสกุลเดิมของตน การตกลงกันตามวรรคหนึ่ง จะกระทำเมื่อมีการสมรสหรือในระหว่างสมรสก็ได้ ข้อตกลงตามวรรคหนึ่ง คู่สมรสจะตกลงเปลี่ยนแปลงภายหลังก็ได้
มาตรา ๑๓ เมื่อการสมรสสิ้นสุดลงด้วยการหย่าหรือศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรส ให้ฝ่ายซึ่งใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งกลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตน เมื่อการสมรสสิ้นสุดลงด้วยความตาย ให้ฝ่ายซึ่งยังมีชีวิตอยู่และใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิใช้ชื่อสกุลนั้นได้ต่อไป แต่เมื่อจะสมรสใหม่ ให้กลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตน
ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการทะเบียนชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๕๑
หมวด ๔ การเปลี่ยนชื่อสกุลโดยการสมรส
ข้อ ๑๗ คู่สมรสที่ประสงค์จะใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือใช้ชื่อสกุลเดิมของตน ให้ยื่นคำขอตามแบบ ช. ๑ ต่อนายทะเบียนท้องที่ ณ สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอหรือที่ว่าการกิ่งอำเภอที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และให้นายทะเบียนท้องที่ดำเนินการดังนี้ (๑) เรียกตรวจบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำขอ (๒) เรียกตรวจหลักฐานการสมรส (๓) เรียกบันทึกข้อตกลงตามเงื่อนไขการสมรส กรณีใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่ง (๔) ตรวจสอบคำขอกับรายการทะเบียนบ้านในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรและฐานข้อมูลทะเบียนครอบครัว เมื่อนายทะเบียนท้องที่เห็นว่าถูกต้อง ให้สั่งอนุญาตในคำขอแล้วให้บันทึกในทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุลตามแบบ ช. ๕/๑ และให้ออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุลตามแบบ ช. ๕
ข้อ ๑๘ กรณีคู่สมรสเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในการใช้ชื่อสกุลในภายหลัง ให้คู่สมรสยื่นคำขอตามแบบ ช. ๑ ต่อนายทะเบียนท้องที่ ณ สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอหรือที่ว่าการกิ่งอำเภอ ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และให้นายทะเบียนท้องที่ดำเนินการตามข้อ ๑๗ วรรคหนึ่ง เมื่อนายทะเบียนท้องที่เห็นว่าถูกต้องให้สั่งอนุญาตในคำขอแล้วให้บันทึกในทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุลตามแบบ ช. ๕/๑ และให้ออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุลตามแบบ ช. ๕ ฉบับใหม่ และเรียกแบบ ช. ๕ ฉบับเดิมคืน ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
ข้อ ๑๙ กรณีคู่สมรสฝ่ายใดจะกลับมาใช้ชื่อสกุลเดิมของตน ให้ยื่นคำขอตามแบบ ช. ๑ ต่อนายทะเบียนท้องที่ ณ สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอหรือที่ว่าการกิ่งอำเภอ ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและให้นายทะเบียนท้องที่ดำเนินการตามข้อ ๑๗ วรรคหนึ่ง (๑) (๒) และ (๔) เมื่อนายทะเบียนท้องที่เห็นว่าถูกต้องให้สั่งอนุญาตในคำขอแล้วให้บันทึกในทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุลตามแบบ ช. ๕/๑ และให้ออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุลตามแบบ ช. ๕ ฉบับใหม่ และเรียกแบบ ช. ๕ ฉบับเดิมคืน ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
หมวด ๕ การเปลี่ยนชื่อสกุลเมื่อการสมรสสิ้นสุดลง
ข้อ ๒๐ เมื่อการสมรสสิ้นสุดลงโดยการหย่า หรือโดยคำพิพากษาของศาล ให้คู่สมรสซึ่งใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งต้องกลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตนโดยยื่นคำขอตามแบบ ช. ๑ ต่อนายทะเบียนท้องที่ ณ สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอหรือที่ว่าการกิ่งอำเภอ ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และให้นายทะเบียนท้องที่ดำเนินการดังนี้ (๑) เรียกตรวจบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำขอ (๒) เรียกตรวจหลักฐานการสมรส และการสิ้นสุดการสมรส เช่น ใบสำคัญการสมรส ใบสำคัญการหย่า หรือคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล แล้วแต่กรณี (๓) ตรวจสอบคำขอกับรายการทะเบียนบ้านในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร และฐานข้อมูลทะเบียนครอบครัว เมื่อนายทะเบียนท้องที่เห็นว่าถูกต้องให้สั่งอนุญาตในคำขอแล้วให้บันทึกในทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุลตามแบบ ช. ๕/๑ และให้ออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุลตามแบบ ช. ๕ ฉบับใหม่และเรียกแบบ ช. ๕ ฉบับเดิมคืน
จากคุณ |
:
ผู้สังเกตการณ์
|
เขียนเมื่อ |
:
28 ก.ค. 52 19:50:03
|
|
|
|