 |
[แจ้งข่าว]มติคณะรัฐมนตรี: การช่วยเหลือ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม
|
|
มติคณะรัฐมนตรี 25 พฤษภาคม 2553
11. เรื่อง มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ชุมนุม
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ชุมนุม เพิ่มเติมจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2553 ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ ดังนี้
1. มาตรการช่วยเหลือลูกจ้าง คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ลูกจ้างที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 7,500 บาท โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเร่งรัดดำเนินการ (ทั้งนี้ กรณีลูกจ้างที่จะได้รับความช่วยเหลือตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม หากถูกเลิกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน จากกองทุนประกันสังคมร้อยละ 50 ของค่าจ้าง แต่ไม่เกินเดือนละ 7,500 บาท เป็นเวลา 6 เดือน ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม)
2. มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ 2.1 การช่วยเหลือจ่ายค่าจ้างที่ผู้ประกอบการจ่ายให้ลูกจ้างในช่วงที่หยุดประกอบการ 1 เดือน คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการช่วยเหลือในส่วนของเงินเดือน 1 เดือนที่ผู้ประกอบการจ่ายให้ลูกจ้างไปแล้วตามบัญชี เป็นจำนวน 417.3 ล้านบาท 2.2 ค่าเช่า คณะรัฐมนตรีรับทราบว่าคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมอยู่ระหว่างการเจรจาขอลดค่าเช่า
3. มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย รายละ 50,000 บาท
12. เรื่อง การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุม
คณะรัฐมนตรีรับทราบมาตรการเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ ดังนี้
1. มาตรการระยะสั้น 1.1 สนับสนุนพื้นที่โดยไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เพื่อจำหน่ายสินค้าในบริเวณกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ถนนโยธี) ซึ่งจะสามารถรองรับผู้ประกอบการได้ประมาณ 40 ราย 1.2 ร่วมกับภาคเอกชน (บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด) จัดทำหลักสูตรการขายสินค้าบนเว็บไซด์สำหรับ ผู้ประกอบการ หลักสูตรวิทย์ไขได้ : ปันน้ำใจร้านค้าไทยพ้นวิกฤต ระยะเวลาการฝึกอบรม 1 วัน ให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
2. มาตรการระยะกลาง เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันทางความคิดให้แก่ชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร 2,000 แห่ง ให้มีระบบความคิดอย่างมีเหตุมีผลแบบวิทยาศาสตร์ สามารถคิดเป็น คิดชอบ ไม่ถูกมอมเมาจากสื่อต่าง ๆ ได้ง่าย อีกทั้งมีจิตสำนึกในการจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อันสอดคล้องกับแผนปรองดองแห่งชาติ ข้อที่ 1 จึงได้จัดให้มีโครงการ ไทย...นี้รักสงบ ขึ้น โดยในเบื้องต้นจะจัดให้มีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนากระบวนการคิดและพัฒนาอาชีพด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่ชุมชน จำนวน 500 แห่งก่อน
13. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อปรับปรุงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม
คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณจำนวน 88,331,040 บาท จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงพื้นที่จอดรถบริเวณลานจอดรถและถนนซอยต่าง ๆ ในสยามสแควร์หลายแห่งให้เป็นร้านค้ากึ่งถาวรในพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่เดิม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการบริเวณศูนย์การค้าสยามสแควร์ โดยดำเนินการก่อสร้างภายในเวลาประมาณหนึ่งเดือน และงดการเก็บค่าเช่า 1 ปี ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ โดยให้สำนักงบประมาณเป็นผู้พิจารณารายละเอียดด้านการเงินตามที่จ่ายจริงต่อไป
ข้อเท็จจริง ศูนย์การค้าสยามสแควร์เป็นพื้นที่เขตพาณิชย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับความเดือดร้อน เสียหายจากการชุมนุม และได้มอบให้สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการตามนโยบาย และเสนอแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากอัคคีภัยเป็นการด่วน โดยได้ดำเนินการเบื้องต้นแล้ว ดังนี้ 1. จัดให้มีการลงทะเบียนผู้ประกอบการในบริเวณสยามสแควร์ทุกรายที่ได้รับความเสียหายเมื่อวันที่ 21-23 พฤษภาคม 2553 โดยแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถค้าขายได้เนื่องจากการชุมนุม และกลุ่มที่ได้รับความเสียหายจากการกรณีเพลิงไหม้ ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนแล้วประมาณ 650 ราย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะรับลงทะเบียนต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ 2. จัดทำมาตรการเยียวยาในระยะหนึ่งเดือน เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการในบริเวณสยามสแควร์ที่ได้รับความเสียหายจากอัคคีภัย บริเวณโรงภาพยนตร์สยาม พื้นที่ทางเดินรอบโรงภาพยนตร์สยามและร้านค้าย่อย อาคารพาณิชย์รอบโรงภาพยนตร์สยาม รวม 63 คูหา อาคารพาณิชย์ด้านถนนพระรามที่ 1 ติดธนาคารกรุงเทพ รวม 6 คูหา และติดธนาคารนครหลวงไทย รวม 5 คูหา รวมพื้นที่พาณิชย์ที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้นประมาณ 20,060 ตารางเมตร มูลค่าความเสียหายที่ประเมินเบื้องต้น ประมาณ 189.11 ล้านบาท
14. เรื่อง การปรับปรุงแก้ไขหลักการของมาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ย่านราชประสงค์ และพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขหลักการมาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ย่านราชประสงค์ และพื้นที่ใกล้เคียง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
1. การขยายกลุ่มเป้าหมาย : จากที่จำกัดเฉพาะย่านราชประสงค์และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นยึดตามกรอบพื้นที่ที่คณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ซึ่งมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้กำหนดไว้ส่วนพื้นที่อื่นที่ได้รับผลกระทบแต่ไม่ได้อยู่ในความครอบคลุมของคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบการฯ ให้พิจารณาจากเขตพื้นที่ที่กรุงเทพมหานครประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติและต้องได้รับความเสียหายทางทรัพย์สินและมีเอกสารการแจ้งความ
2. ขยายระยะเวลาการกู้ยืมและระยะเวลาปลอดชำระคืนเงินต้น : ขยายระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดจาก ไม่เกิน 5 ปี เป็น ไม่เกิน 6 ปี และระยะเวลาปลอดชำระคืนเงินต้น ( Grace period ) จาก 1 ปี เป็น 2 ปี
3. อัตราดอกเบี้ย : ลดอัตราดอกเบี้ยจากเดิมกำหนดที่ MLR ลบ 3 ต่อปี เป็นธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนานย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เรียกเก็บจากผู้กู้อัตราร้อยละ 2 ต่อปีตลอดระยะเวลาการกู้ยืม โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ ธพว. ผ่านสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ตลอดอายุโครงการ
4. วงเงินกู้ยืมสูงสุดสำหรับการกู้ที่ไม่มีหลักประกัน (Clean loan) ธพว. : สามารถให้กู้แบบไม่มีหลักประกันได้ โดยให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย 1 ปี 300,000 บาทแรก มีวงเงินกู้ต่อรายสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท และคิดอัตราดอกเบี้ยถัดจากปีแรกจากลูกค้าร้อยละ 3 ต่อปี โดย สสว. ชดเชยให้ ธพว. ร้อยละ 2 เช่นกัน ทั้งนี้ สำหรับหลักเกณฑ์อื่น ๆ ในรายละเอียด คณะกรรมการบริหารโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs ย่านราชประสงค์ และพื้นที่ใกล้เคียง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ซึ่งกระทรวงการคลังแต่งตั้งขึ้น จะร่วมกับ ธพว. กำหนดเพิ่มเติม โดยจะเน้นให้มีความคล่องตัวในทางปฏิบัติและสามารถดำเนินโครงการได้โดยเร็ว โดยได้มอบหมายให้ ธพว. ดำเนินการปล่อยสินเชื่อตามโครงการนี้ในลักษณะ Fast Track ให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันนับแต่วันที่ ธพว. ได้รับเอกสารครบถ้วน
15. เรื่อง ขอขยายพื้นที่การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ขยายพื้นที่การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมจนต้องหยุดกิจการหรือไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติตามมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการชั่วคราว อันเนื่องมาจากการชุมนุม ให้ครอบคลุมในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้งหมด ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ
จากคุณ |
:
ผู้สังเกตการณ์
|
เขียนเมื่อ |
:
26 พ.ค. 53 00:10:53
|
|
|
|  |