Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ลูกของใครในแง่มุมกฎหมาย

โดย สราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม


เรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตร ซึ่งมีความสำคัญตั้งแต่แรกเกิด ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติระหว่างกันและกันมากมาย


ที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ สิทธิในการดูแลบุตร เนื่องจากยุคสมัยได้เปลี่ยนไปบางครอบครัวจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย


ในขณะเดียวกันก็มีหลายครอบครัวที่บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ดังนั้น เมื่อมีบุตรจึงเกิดปัญหาว่าใครเป็นผู้มีสิทธิในการดูแลบุตร


กรณีที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในการดูแลบุตรมากที่สุด คือ ในกรณีเด็กเกิดจากบิดามารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน


กฎหมายที่นำมาบังคับใช้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิในการดูแลบุตรได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งในกรณีนี้สิทธิของมารดากฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนใน มาตรา 1546 ว่า


“เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น”


หมายความว่า ในกรณีที่หญิงไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับชายแต่เกิดตั้งครรภ์และคลอดบุตรออกมา เด็กที่เกิดนี้ถือว่า เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้นแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ถือเป็นหลักที่ว่าบุตรเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาเสมอไม่ว่าในกรณีใดๆก็ตาม


ตรงกันข้ามกับการเป็นบิดาของเด็กที่เกิดโดยบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์และมีปัญหายุ่งยากในการพิสูจน์



การทำให้เด็กที่เกิดนอกสมรสกลายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา ซึ่งมาตรา 1547 กำหนดว่า “เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่า เป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร”


หมายความว่า เด็กที่เกิดจากหญิงที่ไม่ได้สมรสกับชายนั้นให้ถือว่า เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น แม้ชายจะมาอยู่กินกันฉันสามีภริยากับหญิงโดยเปิดเผยก็ไม่ถือว่า เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย


จากมาตราดังกล่าวข้างต้นการทำให้เด็กที่เกิดนอกสมรสกลายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา สามารถทำได้ 3 วิธี คือ


1. บิดามารดาสมรสกันในภายหลัง


2. บิดาจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร


และ3. ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย


กรณีที่มีความซับซ้อนและยุ่งยากมากที่สุด คือ กรณีบิดาจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร  กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ในการจดทะเบียนไว้ในมาตรา 1548 ว่า “บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก


ในกรณีที่เด็กและมารดาเด็กไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียนให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนของบิดาไปยังเด็กและมารดาเด็ก ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายในหกสิบวันนับแต่การแจ้งนั้นถึงเด็กหรือมารดาเด็กให้สันนิษฐานว่า เด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอกประเทศไทยให้ขยายเวลานั้นเป็นหนึ่งร้อยแปดสิบวัน


ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่า ผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดาหรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล


เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้”


เมื่อบิดาจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรตามมาตรานี้แล้ว ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับบุตรทำให้เด็กกลายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายโดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนสมรส


นอกจากการจดทะเบียนรับรองบุตรแล้วยังมีกรณีที่เด็กสามารถฟ้องคดีขอให้ชายรับตนเป็นบุตรของชายด้วย เหตุในการฟ้องคดีกฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 1555 ที่กำหนดว่า “ในคดีฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้


(1) เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่าหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดา โดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้


(2) เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาว หรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้


(3) เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน


(4) เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น


(5) เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้


(6) เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น


(7) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร


พฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตรนั้น ให้พิจารณาข้อเท็จจริงที่แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรซึ่งปรากฏในระหว่างตัวเด็กกับครอบครัวที่เด็กอ้างว่า ตนสังกัดอยู่ เช่น บิดาให้การศึกษา ให้ความอุปการะเลี้ยงดูหรือยอมให้เด็กนั้นใช้ชื่อสกุลของตนหรือโดยเหตุประการอื่น


ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ถ้าปรากฏว่า ชายไม่อาจเป็นบิดาของเด็กนั้นได้ ให้ยกฟ้องเสีย” เป็นหน้าที่ของฝ่ายชายที่ถูกอ้างว่า เป็นบิดาของเด็กจะต้องพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวข้างต้น


ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1649/2534 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้ร่วมประเวณีกับโจทก์หลายครั้งจนโจทก์ตั้งครรภ์และคลอดบุตรออกมาคือเด็กหญิง ธ. โดยโจทก์ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับชายอื่น ดังนี้ เด็กหญิง ธ. จึงเป็นบุตรที่เกิดจากจำเลย จำเลยจึงต้องรับเด็กหญิง ธ. เป็นบุตร


เห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้นละเอียดอ่อนและซับซ้อน เพราะถ้าเป็นเรื่องง่ายๆคงไม่เป็นประเด็นตามที่เป็นข่าวพาดหัวมาเป็นสัปดาห์ จากที่กล่าวมาข้างต้น



สรุปได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมารดากับบุตรนั้น กฎหมายถือว่า เด็กเกิดจากหญิงใดย่อมเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้นไม่ว่าในกรณีใดๆทั้งสิ้น


แต่สำหรับการเป็นบิดากับบุตรนั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์และมีปัญหายุ่งยากในการพิสูจน์จะอาศัยข้อเท็จจริงตามธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียวไม่พอจึงมีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดความเป็นบิดาไว้ทั้งในกรณีบุตรในสมรสและบุตรที่บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน.

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1286449993&grpid=&catid=02



เห็นว่าบทความนี้น่าสนใจและตรงกับข่าวดังที่เกิดขึ้นในขณะนี้เลยขออนุญาตนำมาแบ่งปันเพื่อนสมาชิกครับ

จากบทความพอสรุปได้ว่า

กรณี ชาย-หญิง มีความสัมพันธ์ทางเพศกัน แล้ว มีลูกออกมา  ถ้าชาย-หญิงจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องอยู่แล้ว  ย่อมไม่เป็นปัญหา  ลูกที่เกิดมาย่อมเป็นลูกของเขาทั้งสอง"โดยชอบด้วยกฏหมาย"

แต่...ถ้าชาย-หญิง มีความสัมพันธ์ทางเพศกัน  โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส แล้ว มีลูกออกมา   ผลคือ  ลูกที่เกิดมาให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิง  ตาม ม.1546

และถ้าจะทำให้ลูกที่เกิดมาโดย ชาย-หญิง นั้นๆไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฏหมายของฝ่ายชายด้วย  จะต้องปฏิบัติตามนัย ม.1547  ซึ่งมี 3 วิธี

1. บิดามารดาสมรสกันในภายหลัง


2. บิดาจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร


และ3. ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย


ซึ่งการเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฏหมายนอกจากอำนาจในการปกครองบุตรแล้ว  ผลกระทบที่น่าสนใจอีกประการ ในทางกฏหมายคือ สามารถรับมรดกของบิดามารดาได้(กรณีถึงบิดามารดาแก่กรรม)  ซึ่งต่างกับกรณีเป็นบุตรโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย หากกรณีมีปัญหาเรื่องรับมรดกของบิดา จะต้องพิสูจน์ว่าเป็นบุตรนอกกฎหมายแต่บิดารับรองแล้ว ซึ่งเป็นการรับรองโดยพฤติการณ์ หมายความว่า ให้ใช้นามสกุล หรือ เปิดเผยต่อบุคคลภายนอกว่าเป็นบุตรของตน ซึ่งบุตรในกรณีนี้มีสิทธิรับมรดกของบิดาของตนซึ่งเป็นเจ้ามรดก  

พูดง่ายๆว่า การเป็นบุตรนอกกฏหมายจะทำให้ การใช้สิทธิต่างๆที่สืบเนื่องหรือเกี่ยวข้องกับบิดา  ยุ่งยากขึ้นและบางครั้งอาจถึงกับเสียสิทธิไปเลยทีเดียวครับ

นี่คงเป็นหนึ่งในความสำคัญของ"การจดทะเบียนสมรส"ครับ

แก้ไขเมื่อ 08 ต.ค. 53 10:26:22

จากคุณ : อุบลแมน
เขียนเมื่อ : 8 ต.ค. 53 10:24:00




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com