Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ถ้าไม่มีรถส่วนตัว ท่านต้องเดินทางจากบ้านไปที่ทำงานหรือโรงเรียนหรือที่อื่นๆ ด้วยขนส่งสาธารณะกี่ต่อกันบ้าง ติดต่อทีมงาน

นพ.ธนะพงษ์ จินวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

 


ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลก 1.3 ล้านคนต่อปี ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกประเทศกำลังเผชิญร่วมกัน แต่เมื่อองค์การอนามัยโลก สำรวจ 178 ประเทศทั่วโลก กลับพบความไม่เท่าเทียมในเรื่องความปลอดภัย กว่าร้อยละ  90  ของการตายบนท้องถนน เกิดขึ้นในประเทศยากจนและมีรายได้ปานกลางส่วนใหญ่คือผู้ที่เดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ รถโดยสารสาธารณะ คนเดินถนน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งที่ประเทศยากจนเหล่านี้มียานพาหนะจดทะเบียนรวมกันไม่ถึงครึ่งหนึ่งของยานพาหนะของทั้งโลก 

 

 

ประเทศไทยก็เช่นกัน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 60-70 เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์  ร้อยละ 11 ของผู้บาดเจ็บอายุน้อยกว่า 15 ปีและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น  อะไรคือต้นเหตุให้คนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนต้องหันมาพึ่งรถจักรยานยนต์เป็นหลัก ทั้งๆ เป็นยานพาหนะที่มีความเสี่ยงสูงกว่าประเภทอื่นๆ

 

 

 

ขณะที่รัฐบาลมีโครงการ “เรียนฟรี 15 ปี” ซึ่งฟรีทั้งในเรื่อง “หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน” แต่เรื่อง “ความปลอดภัยในการเดินทางไปโรงเรียน”  กลับต้องเป็นภาระของผู้ปกครอง

ผลสำรวจของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า สัดส่วนของการใช้รถจักรยานไปโรงเรียนลดลงไม่ถึงร้อยละ 5 แต่สัดส่วนของการใช้รถจักรยานยนต์กลับเพิ่มสูงขึ้น ถ้าจะมองหาโรงเรียนที่จะมีสวัสดิการ “รถนักเรียน ที่มีมาตรฐาน” แทบจะไม่ให้เห็น ต่างกับข่าว “รถนักเรียน เกิดอุบัติเหตุ หรือ เด็กนักเรียนเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์” กลับมีอยู่บนพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำ

 

 

ระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกและปลอดภัย ทั้งที่อยู่ในเมือง และระหว่างเมือง ถือเป็นหน้าที่และบทบาทสำคัญของรัฐ ในการลดช่องว่างความไม่เป็นธรรมในการเดินทาง ระหว่างคนมีฐานะ มีทางเลือกในการเดินทาง (ทั้งเครื่องบิน รถส่วนบุคคล ฯลฯ) กับคนชั้นกลางและคนจน ที่ต้องใช้รถโดยสาร รถจักรยานยนต์เป็นทางเลือกหลัก เพราะปัจจุบันรัฐมุ่งลงทุนระบบขนส่งสาธารณะให้กับเมืองหลวงเป็นหลัก ไม่ได้กระจายงบลงไปสู่ต่างจังหวัดอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม

 

 

ปัจจุบันรถโดยสารสาธารณะที่วิ่งรับผู้โดยสาร ร้อยละ 23 มีอายุการใช้งานเกินกว่า 20 ปี สำหรับรถโดยสารระหว่างจังหวัด เป็นรถในความดูแลของ บขส. มีประมาณ 700 คัน ในขณะที่อีก 3,000 กว่าคันเป็นรถร่วมบริการ  ทั้งนี้มีข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารที่บ่งชี้ว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้ที่โดยสารรถร่วมบริการจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่โดยสารรถ บขส.ถึง 10 เท่า

 

 

สะท้อนว่า แม้จะเป็นรถโดยสารประจำทางเหมือนกัน แต่ก็ยังมีความไม่เสมอภาคในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ยังไม่รวมถึงเหยื่อที่เป็นผู้โดยสาร (ผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ) กลับถูกผลักภาระให้ต้องมาต่อรอง และ เรียกร้องความเป็นธรรมกับบริษัทประกัน เปรียบเทียบกับประกันภัยการเสียชีวิตจากการเครื่องบิน แตกต่างกันมากกว่า 10 เท่า หรือเป็นเพราะชีวิตของคนมีค่าแตกต่างกัน???

 

 

ที่ผ่านมา  ภาครัฐมุ่งลงทุนก่อสร้างขยายถนนเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล  มีการสนับสนุนงบประมาณส่วนใหญ่ในการก่อสร้างและซ่อมบำรุงถนนอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนงบประมาณด้านการขนส่งทางบกของกระทรวงคมนาคมมากกว่า 3 ใน 4 ถูกจัดสรรให้แก่หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านถนนโดยตรง

 

 

 

ในขณะที่การลงทุนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ขนคนได้จำนวนมากๆ เช่น รถไฟ รถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทางยังไม่เพียงพอ ตั้งแต่ปี 2535 – 2552  มีการตัดเส้นทางรถไฟเพิ่มเพียง 704  กิโลเมตร แต่ในช่วงเวลาเดียวกันมีทางหลวงเกิดขึ้นมาถึง 16,083 กิโลเมตร

 

 

ด้วยการพัฒนาระบบการคมนาคมที่มุ่งเน้นการขนรถมากกว่าขนคน ตอบสนองผู้ใช้รถใช้ถนนที่ใช้รถส่วนตัว  เห็นได้จาก ถนนจำนวนมากไม่มีไหล่ทางสำหรับรถจักรยานยนต์ การก่อสร้างและปรับปรุงถนน มักลืมคิดถึงคนเดินเท้า

ทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่ต้องลงมาเดินบนถนน เพราะหลายเส้นทางไม่มีทางเท้า หรือที่มีอยู่ก็ไม่ได้รับการดูแล ทางเดินเท้าถูกแปลงไปเป็นที่ขายของ ที่ทำกิจการของร้านค้า หรือแม้แต่เป็นที่จอดรถ ทำไมสิทธิในความปลอดภัยของคนเดินทางเท้า ถึงถูกลิดรอนไป???

 

 

ทางออกเพื่อกำจัดความไม่เป็นธรรมในการใช้รถใช้ถนน ด้วยการสร้างความเสมอภาคในการเดินทาง ด้วยการเร่งปรับปรุงการเข้าถึงและคุณภาพของขนส่งสาธารณะอย่างจริงจัง เพิ่มการอุดหนุนของภาครัฐในระบบขนส่งมวลชน และออกแบบก่อสร้างถนนเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกกลุ่ม ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน สร้างกระแสและกระตุ้นจิตสำนึกเพื่อนำไปสู่การปรับทัศนคติ และสร้างสำนึกทางวัฒนธรรมความปลอดภัยในทุกภาคส่วนของสังคมไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมในการใช้รถใช้ถนนของคนไทย .

 
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1292317185&grpid=&catid=02&subcatid=0200

 

จากข่าวข้างต้น

คิดแล้วช่างน่าปวดหัวกับการเดินทางต่างๆ ...การใช้รถใช้ถนน เพื่อ เดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน-โรงเรียน  ปัญหาระหว่างการเดินทางคงมากมาย ไม่ว่าจะ การจราจรที่ติดขัด รถเมล์ที่แน่นเอี้ยด ไหนจะความปลอดภัยในการจราจรอีก ไม่ว่าทางบก-ทางน้ำ

ถ้าไม่มีรถส่วนตัว คงลำบากในการเดินทางกันน่าดูครับ

ถ้าไม่มีรถส่วนตัว เราคงต้องอาศัย ขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถไฟ รถตู้ เรือ

 

ถ้าเป็นไปได้ เราน่าจะมีระบบขนส่งสาธารณะในแบบที่ว่า เดินออกจากบ้านปุ้บ มาปากซอย มีรถพาเราไปถึงที่หมายได้เลย(หรืออาจจะแบบไปถึงใกล้ๆแล้วต่อรถอีกนิดก็ยังดี) 

จึงทำให้คิดถึงคำถามตามกระทู้ครับ "ถ้าไม่มีรถส่วนตัว ท่านต้องเดินทางจากบ้านไปที่ทำงานหรือโรงเรียนหรือที่อื่นๆ ด้วยขนส่งสาธารณะกี่ต่อกันบ้าง "  ครับ

 
 

จากคุณ : อุบลแมน
เขียนเมื่อ : 14 ธ.ค. 53 19:32:02




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com