Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
หู จิ่น เทา vs บารัค โอบามา - เมื่อ "พญามังกร" ท้าทาย "พญาอินทรีย์" ติดต่อทีมงาน

ความเสี่ยงจากระเบียบโลกใหม่
January 27, 2011
โดย สุรศักดิ์   ธรรมโม
การเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาของประธานาธิบดีจีน นายหู จิ่นเทาโดยได้รับเกียติยศการต้อนรับจากประธานาธิบดีสหรัฐ นายโอบามาในระดับรัฐพิธีและการปฏิบัติของสหรัฐอเมริกาต่อจีนในฐานะประเทศที่เท่าเทียมกัน เป็นสัญญาณอย่างชัดเจนว่าโลกได้เข้าสู่ระเบียบโลกใหม่อย่างแท้จริง
ก่อนหน้านั้น หลังการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินและสหภาพโซเวียต นักวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศได้เชื่อว่าโลกเข้าสู่ประวัติศาสตร์ใหม่แล้ว  รวมทั้งอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ นายจอร์จ บุช ซีเนียร์  ได้ประกาศระเบียบโลกใหม่โดยได้นำค่านิยมทางสังคมของสหรัฐเป็นหลักการสากลที่บังคับใช้ไปทั่วทั้งโลก  ได้แก่ คุณค่าของระบบประชาธิปไตยและหลักการค้าเสรี แต่ในความเป็นจริง หลังการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินหรือแม้แต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต พบว่า ศูนย์กลางของการตัดสินใจในเรื่องของเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ยังคงรวมศูนย์อยู่ที่กลุ่ม G-7 เพียงแต่เพิ่มรัสเซียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลางกำหนดเศรษฐกิจและการเมืองโลก ในนามของ G-8
การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงของศูนย์กลางอำนาจโลกนั้นเกิดขึ้นหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2551 ที่ศูนย์กลางได้ย้ายจากกลุ่ม G-8 เป็นกลุ่ม G-20  โดยชาติที่โดดเด่นที่สุดในกลุ่ม G-20 คือ จีน บราซิลและอินเดีย ซึ่งได้เข้าไปมีบทบาทอย่างแข็งขันในการร่วมแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจโลก  และขอสิทธิในการโหวตในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)  รวมทั้งการที่บราซิลและอินเดียได้เริ่มต้นในการขอที่นั่งถาวรในคณะมนตรีความมั่งคงแห่งสหประชาชาติ
หลังจากนั้นแล้ว จะเห็นได้ว่าถ้าไม่ได้ฉันทานุมัติจาก จีน อินเดีย และบราซิลแล้ว  เป็นการยากที่ข้อตกลงระหว่างประเทศนั้นๆ   จะเป็นข้อตกลงสากลระหว่างประเทศได้ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การเจรจาการค้าเสรีโลกรอบโดฮาที่ล้มไป รวมทั้งข้อตกลงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) ที่จีนขัดขวางอย่างเต็มที่จนไม่สามารถบรรลุได้
การผงาดขึ้นมาของประเทศอื่นๆเช่น จีน อินเดียและบราซิลในเวทีเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศนั้น เป็นการลดบทบาทของกลุ่ม G-7 และ G-8 อันมีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำอย่างชัดเจนที่สุด  ผลคือโลกเข้าสู่ระเบียบโลกใหม่ตามที่กล่าวในข้างต้นแต่ในขณะเดียวกันโลกในปัจจุบัน  ไม่มีแกนนำหลักอย่างสหรัฐอเมริกาที่สามารถบงการวาระเศรษฐกิจและการเมืองโลกอย่างเบ็ดเสร็จ ดังเช่นในอดีตได้  ภาวะเช่นนี้ บริษัทยูเรเซีย (Eurasia Group) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกด้านความเสี่ยงการเมืองระหว่างประเทศเรียกว่า G-Zero หรือ G-0 นั่นเอง
ภาวะ G-0 เป็นภาวะที่บริษัทยูเรเซียประเมินว่านี่คือความเสี่ยงสูงสุดของการเมืองระหว่างประเทศในปี 2554 เพราะภาวะดังกล่าวนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศที่สำคัญได้เลย โดยเฉพาะความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geo-Politics) เช่นปัญหาการท้าทายทางทหารของเกาหลีเหนือต่อเกาหลีใต้และญี่ปุ่น  ปัญหาการสั่งสมศักภาพอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อน กองทัพอากาศของอิสราเอลนั้นจะเข้าโจมตีโรงงานของอิหร่านโดยไม่รีรอด้วยการสนับสนุนทางการเมืองและการทหารจากสหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ กลับต้องอาศัยการเจรจาซึ่งยากต่อการหาข้อสรุปให้เป็นที่พอใจแก่ทุกฝ่าย     ทว่าในขณะเดียวสะท้อนอำนาจของชาติอื่นๆในการท้าทายอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาได้เป็นอย่างดี
โดยสรุปแล้ว แม้ว่า  สหรัฐจะยังคงเป็นชาติที่มีศักยภาพทางการทหารมากที่สุดในโลกแต่การที่สหรัฐและชาติพันธมิตรในยุโรปเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจโลก ผลคืออำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐนั้นลดลงอย่างมหาศาล เห็นได้ว่าศักยภาพทางเศรษฐกิจมีบทบาทในการกำหนดอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศในระดับสูง นอกจากนั้น การที่จีนได้เพิ่มศักยภาพทางการทหารด้วยการพัฒนาเครื่องบินรบล่องหนขึ้นมาตลอดจนเรือรบและเรือฟรีเกตที่สามารถปฏิบัติการณ์ในทะเลลึกเป็นการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจมายกระดับการพัฒนาศักยภาพทางทหารอย่างรวดเร็วมากกว่าที่ชาติอื่นๆประเมินไว้
การที่จีน กำลังจะเป็นมหาอำนาจที่ท้าทายสหรัฐ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการทหาร ผลคือสหรัฐได้เริ่มสนับสนุนอินเดียเพื่อคานการขยายตัวของจีน ซึ่งไม่ว่ากลยุทธของสหรัฐจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม สิ่งสำคัญที่ชัดเจนคือ เอเชียได้ทวีระดับการเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกและเพิ่มบทบาทในการเมืองระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ประการสำคัญคือ ความเสี่ยงของภูมิรัฐศาสตร์ของโลกนั้นอยู่ในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกาหลีเหนือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน ดังนั้น การจับตาและเข้าใจแนวโน้มเอเชียจะเห็นภาพแนวโน้มของโลกได้ดีเช่นกัน
หมายเหตุ:บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์  โพสท์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 28 มกราคม 2554
http://www.siamintelligence.com/new-risk-from-new-order/

..............

ได้มีโอกาสอ่านเจอบทความนี้ คิดว่าคงมีประโยชน์เพื่อเป็นแนวทางมองเศรษฐกิจและการเมืองระดับโลกไว้บ้างน่ะค่ะ เลยอยากเอามาแบ่งปันกัน

ปกติแล้วเราไม่เห็นผู้นำจีนเดินทางออกไปเยือนใครโดยเฉพาะประเทศที่ประชาธิปไตยเบ่งบานอย่าง อเมริกา ซึ่งก็ถือว่า หมากนี้เป็นก้าวย่างที่สำคัญของประเทศจีน ทำไมนายกรัฐมนตรีจีน ต้องเดินทางไป ไปแล้วได้อะไร ใครได้หรือใครเสียมากกว่ากัน

ตั้งแต่โอบามาชนะเลือกตั้งเป็นต้นมา นโยบาย We need Change ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากมายนัก ในแง่รูปธรรม คะแนนเสียงของโอบามาพักหลังก็ถดถอยลงไป

ตอนนี้ทั่วโลก ไม่รู้ว่าสินค้า Made in USA หรือ ว่า Made in China จะมากกว่ากันนะคะ

เมื่อสองยักษ์ใหญ่ขยับตัวแบบนี้ ประเทศไทยของเราจะได้รับผลกระทบทางด้านไหนบ้าง เชิญแสดงความเห็นกันได้ตามสบายค่ะ

จากคุณ : หวัดดีจ้ะ..ฉิงฉิง
เขียนเมื่อ : 28 ม.ค. 54 11:59:34




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com