ปวิอ.ม. ๗๑ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้ว ในระยะใดระหว่างสอบสวนไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตามมาตรา ๘๗ หรือ มาตรา ๘๘ ก็ได้ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๖๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม..."
ปวิอ.ม. ๖๖ บัญญัติว่า "เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้
(๑) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ
(๒) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี"
//////////////////
จากข้อกฏหมายข้างต้น แม้ข้อหาฉ้อโกงจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี แต่ ศาลยังสามารถออกหมายขังจำเลยได้ โดยใช้ดุลยพินิจตามม.66(2) ครับ ซึ่งตามตัวบทจะให้อำนาจศาลไว้กว้างๆ
เหมือนตั้งแต่ตอนจับนั่นแหละครับที่ใช้ม.66 เพียงแค่พอมีเหตุควรเชื่อ ศาลก็ออกหมายจับได้แล้ว คือขอแค่น่าเชื่อซัก 50% ขึ้นไป ศาลก็น่าจะออกหมายจับให้แล้ว ตามนัยข้อบังคับของประธานศาลฎีกาฯดังนี้ครับ
ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๔๘
ข้อ ๑๘ ในการรับฟังพยานหลักฐานเพื่อพิจารณาอนุญาตให้ออกหมายจับหรือหมายค้น ผู้พิพากษาไม่จำต้องถือเคร่งครัดเช่นเดียวกับการรับฟังพยานหลักฐานที่ใช้พิสูจน์ความผิดของจำเลย
ข้อ ๔๓ ก่อนที่ศาลจะออกหมายขังตามข้อ ๓๙ หรือกรณีที่ศาลจะขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณาจะต้องปรากฏพยานหลักฐานตามสมควรที่ทำให้เชื่อได้ว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้นั้นจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ผู้พิพากษาจะออกหมายขังนั้นเป็นผู้ซึ่งศาลได้ออกหมายจับไว้หรือต้องขังตามหมายศาลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีผู้ร้องขอหรือไม่ ผู้พิพากษาจะออกหมายขังผู้นั้นต่อไปโดยไม่ต้องไต่สวนตามวรรคหนึ่งก็ได้
ข้อ ๔๔ ให้นำหลักเกณฑ์ในการรับฟังพยานหลักฐานและการออกคำสั่งตามข้อ ๑๗ ถึงข้อ ๑๙ มาใช้บังคับแก่การออกหมายขังด้วย โดยอนุโลม
/////////
นั่นคือ ศาลน่าจะใช้ดุลยพินิจตามม.66(2)ว่าจำเลยมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น จึงได้ออกหมายขังจำเลยไว้นั่นเองครับ
ซึ่งข้อหาฉ้อโกงเงินไปเป็นจำนวนกว่า 7 แสนบาท ถือเป็นเงินจำนวนสูง หากให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยไปโดยไม่มีหลักประกัน ศาลคงเห็นว่าจำเลยอาจหลบหนีตามนัยม.66(2)ครับ
ยังไงก็ลองฟังความเห็นของสมาชิกท่านอื่นดูอีกทีนะครับ
ขอร่วมแสดงความเห็นเพียงเท่านี้ครับ