Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
สุราไม่ได้แปลว่าเหล้า การขายปลีก และเวลาห้ามขาย ติดต่อทีมงาน

ข้อเขียนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา เกี่ยวกับใบอนุญาตขายปลีกสุรา และเวลาห้ามในการขายสุรา

ผมไม่ได้มีเจตนาส่งเสริมให้มีการขายสุรา หรือดื่มสุราแต่อย่างใด



พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓

มาตรา ๑๗ ห้ามมิให้ผู้ใดขายสุราหรือนำสุราออกแสดงเพื่อขาย เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานสรรพสามิต

มาตรา ๒๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ ๓ หรือประเภทที่ ๔ จะขายสุรา ได้แต่เฉพาะภายในเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง


กฎกระทรวงกำหนดเวลาขายสุราฯ พ.ศ. ๒๕๔๘

ข้อ ๒. ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ ๓ หรือประเภทที่ ๔ ขายสุราได้เฉพาะภายในเวลา
ตั้งแต่ ๑๑.๐๐ นาฬิกา ถึง ๑๔.๐๐ นาฬิกา และตั้งแต่ ๑๗.๐๐ นาฬิกา ถึง ๒๔.๐๐ นาฬิกา





สุรา ไม่ได้แปลว่า “เหล้า” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ และ พ.ศ. ๒๕๒๕ แต่แปลว่า  “น้ำเมาที่กลั่น”

เพิ่งจะมาแปลว่าเหล้าในฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้วแปลคำว่า “เหล้า” หมายความว่า  “น้ำเมาที่กลั่นหรือหมักแล้ว”

เหล้า คือ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ชนิดเอทิลแอลกอฮอล์ เป็นส่วนประกอบสำคัญ ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง

ผู้ดื่มเหล้าปริมาณไม่มาก จะรู้สึกผ่อนคลาย และเพลิดเพลิน เนื่องจากแอลกอฮอล์ไปกดจิตใต้สำนึกที่คอยควบคุมตนเอง

ทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้น แต่ถ้าดื่มปริมาณมากจะกดสมองบริเวณอื่น ๆ ทำให้เสียการทรงตัว พูดไม่ชัด และอาจหมดสติหรือตายได้


พรบ.สุราฯ ได้ให้คำนิยามคำว่า “สุรา” ไว้สองชนิดคือ สุราแช่ กับ สุรากลั่น

"สุราแช่" หมายความว่า สุราที่ไม่ได้กลั่นและให้หมายความรวมถึงสุราแช่ที่ได้ผสมกับสุรากลั่นแล้ว แต่ยังมีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกินสิบห้าดีกรีด้วย

"สุรากลั่น" หมายความว่า สุราที่ได้กลั่นแล้วและให้หมายความรวมถึงสุรากลั่นที่ได้ผสมกับสุราแช่แล้ว แต่มีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่าสิบห้าดีกรีด้วย

สุราแช่ (สุราที่ไม่ได้กลั่น) เกิดจากการหมัก หรือกรรมวิธีอื่น เช่น อุ สาโท กะแช่ น้ำตาลเมา น้ำขาว เบียร์ ไวน์ แชมเปญ และสาเก เป็นต้น

สุรากลั่น คือสุราที่เกิดจากการกลั่นแล้วเท่านั้น เช่น เหล้าขาว เหล้าสี เชี่ยงชุน วิสกี้ บรั่นดี รัม เตกิลา ยิน วอดก้า และลิเคียว เป็นต้น


ตามมาตรา ๑๗  ห้ามขายสุรา หรือนำสุราออกตั้งโชว์เพื่อขาย หมายถึงสุราทุกชนิดทั้งแช่และกลั่น เว้นแต่จะขออนุญาต และได้รับใบอนุญาต

การขายสุราในร้าน หรือในตลาดนัดซึ่งเป็นการขายเร่ ควรต้องขออนุญาตขายสุราทั้งประเภทที่ ๓ และประเภทที่ ๔ จากเจ้าพนักงานสรรพสามิต

ใบอนุญาตประเภทที่ ๓ สำหรับการขายสุราทุกชนิด ครั้งหนึ่งเป็นจำนวนต่ำกว่าสิบลิตร (ขายปลีกสุราทุกชนิด)
ใบอนุญาตประเภทที่ ๔ สำหรับการขายสุราที่ทำในราชอาณาจักร ครั้งหนึ่งเป็นจำนวนต่ำกว่าสิบลิตร (ขายปลีกสุราที่ทำในไทย)
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2493/A/016/346.PDF


กำหนดเวลาห้ามขายสุรา  คือตั้งแต่เวลา ๒๔.๐๐ น. ถึง ๑๑.๐๐ น. และ ๑๔.๐๐ ถึง ๑๗.๐๐ น.

ให้ผู้มีใบอนุญาตฯขายสุราได้เฉพาะภายในเวลาตั้งแต่ ๑๑.๐๐ น. ถึง ๑๔.๐๐ น. และตั้งแต่ ๑๗.๐๐ น. ถึง ๒๔.๐๐ น.
http://www.thaiantialcohol.com/th/images/law/07law6_1.pdf



ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา

และวันเข้าพรรษา ยกเว้นการขายในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม”
http://www.ddc.moph.go.th/law/showimg5.php?id=128

จากคุณ : ปรานยิ่งดี
เขียนเมื่อ : 14 พ.ค. 54 16:20:57




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com