สหประชาชาติ 'เชิดชู' 'โครงการดอยตุง' โมเดลพัฒนาของโลก
|
 |
โครงการพัฒนาดอยตุง เป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ แทนการปลูกพืชยาเสพติด ไม่ใช่แค่การปลูกพืชทดแทน เรากำลังพูดถึงการพัฒนาทางเลือกที่หลากหลายในการดำรงชีวิตที่ทำได้จริง ไม่ได้พูดถึงแค่การปลูกพืชอย่างใดอย่างหนึ่งทดแทนเท่านั้น ดร.อันโทนิโอ มารีอา คอสต้า รองเลขาธิการสหประชาชาติ และ ผอ.บริหารสำนักงานควบคุมยาเสพติดและป้องกันอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ กล่าวในการประชุมคณะกรรมาธิการด้านยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 51 ที่ผ่านมา ณ กรุงเวียนนา ออสเตรีย แสดงให้เห็นว่า โครงการนี้ไม่ได้เป็นที่ยอมรับแค่ในประเทศเท่านั้น แต่เป็นการยอมรับในระดับโลกด้วย ทำให้แต่ละปีมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง องค์กรแม่ของโครงการดอยตุง ต้องต้อนรับคณะนักศึกษาที่มาดูงานถึงปีละกว่า 700 คณะ 6 หมื่นกว่าคน โดยเฉพาะ 3-4 ปีที่ผ่านมา มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เช่น นิวยอร์กยูนิเวอร์ซิตี้ ฮาร์เวิร์ด โคลัมเบีย รวมทั้ง จุฬาฯ, ธรรมศาสตร์, มหิดล ฯลฯ หลั่งไหลเข้ามาเรียนรู้การทำงานของโครงการดอยตุงด้วยสายตาตนเอง จนหลายคนมีโลกทัศน์เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะโครงการพัฒนาดอยตุงเป็นต้นแบบที่มีการพัฒนาอย่างบูรณาการ ไม่ได้ทำเป็นแท่ง ๆ แต่นำทุกหน่วยงานมาร้อยเรียงกัน จึงทำสำเร็จและแตกต่างจากคนอื่น คำว่าบูรณาการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงยังหมายถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของคนในพื้นที่หมื่นกว่าคนบนดอยตุง ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์กล่าว นับแต่โครงการดอยตุงได้ก่อกำเนิดขึ้นจากพระราชดำริของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จย่า ของคนไทย เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ด้วยทรงสังเกตเห็นว่าชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ ที่ทรงเสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียนมีชีวิตยากลำบาก ทั้งหมดมาจากความไม่รู้และความยากจนแร้นแค้น ชาวบ้านมักทำไร่เลื่อนลอยย้ายที่ปลูกพืชไปเรื่อย ๆ ทำให้ป่าหมดไป พอป่าหมดก็ไม่มีน้ำ ไม่มีน้ำก็ปลูกพืชไม่ขึ้น หรือถึงปลูกพืชได้ก็ไม่มีถนนจะไปอีก ไม่รู้จะขายอะไร ก็ต้องปลูกฝิ่นในที่สุด ขายฝิ่นง่ายกว่าเพราะมีคนไปซื้อถึงที่ เงินที่ขายฝิ่นได้ไม่ได้ทำให้รวยอย่างที่เราเข้าใจ แต่เขาซื้อข้าวกินได้ 6-7 เดือนเท่านั้น นี่ทำให้ชีวิตเขาแร้นแค้นมาก วัน ๆ หนึ่งไม่ต้องคิดอะไร แค่คิดว่าจะกินอะไรจะดีกว่า สมเด็จย่า จึงรับสั่งว่า ต้องช่วยเขาให้ช่วยตัวเองได้ นี่เป็นจุดที่ทำให้เรารู้ว่าเป็นจุดรอด คือทำยังไงให้รอดพ้น เอาโครงการเข้าไป ปลูกต้นไม้ ปลูกกาแฟ แมคคาเดเมีย ทอผ้า ทำสวนเพิ่มมูลค่า ปลูกดอกไม้สวย ๆ เอาไปขายได้ 10 บาท แต่ถ้าเอามาลงสวน คนเวียนกันมาดูหลายรอบ ทำให้คุ้มค่ากว่า มีรายได้เพิ่ม เมื่อมีรายได้ก็ซื้อของกินได้ ตอนที่เขาไม่มีอะไรเลยเขาต้องกู้มากิน เมื่อมี เขาไม่ต้องกู้ ไม่ต้องค้ายา ไม่ต้องขายลูกสาวกิน เฟสแรกที่ทำให้เขารอดใช้เวลา 6 ปี เฟส 2 หรือกลางน้ำให้พอมีพออยู่ ใช้หนี้ได้ มีบ้าน มีทีวี ผ่อนมอเตอร์ไซค์ได้ จนมีอาชีพยั่งยืน มีเงินส่งลูกเรียน รวม 15 ปี คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา ผอ.โครงการพัฒนาดอยตุง กล่าวถึงแนวทางปฏิบัติที่ สมเด็จย่า ได้ทรงมอบไว้เป็นมรดกในการทำโครงการดอยตุง จนกลายเป็นแบบอย่างพัฒนาที่นานาชาติให้การรับรอง จากจุดเริ่มต้นมาถึงตอนนี้ โครงการพัฒนาดอยตุงฯ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้พัฒนาส่งเสริมธุรกิจให้ประชาชน 4 ประเภทด้วยกัน คือ 1. ธุรกิจกาแฟ ภายใต้แบรนด์ ดอยตุง มีร้านทั้งหมด 25 สาขา กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย และแมคคาเดเมียดอยตุง 2. งานหัตกรรม ภายใต้ร้านดอยตุงไลฟ์สไตล์ มีผลิตภัณฑ์กระดาษสา เครื่องแต่งบ้าน พรม ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำเกิดผลกระทบบ้าง แต่ไปดีที่ตลาดต่างประเทศ ใช้วัตถุดิบพวกฝ้าย กก เป็นของทำเองหมด 3. ธุรกิจท่องเที่ยว มีที่พักบนดอยตุง มีที่พักจำนวน 80 ห้อง คนจะมาเที่ยวสวน ดูพระตำหนัก มีนักท่องเที่ยวปีละประมาณ 1 ล้านคน เป็นที่ที่อากาศดี อาหารสด ที่พักราคาไม่แพง และ 4. ธุรกิจการเกษตร เช่นดอกไม้ พืชผักต่าง ๆ เป็นต้น ธุรกิจทั้ง 4 อย่างทำรายได้ในปีที่ผ่านมา 450 ล้านบาท สามารถเลี้ยงโครงการได้พอควร เพราะมีตลาดรองรับที่ดี แต่เราอยากผลักดันให้ดีกว่านี้ ยิ่งธุรกิจไปได้ดี ชาวบ้านที่ร่วมโครงการก็ยิ่งมีรายได้มากขึ้น แต่ไม่ได้มองเรื่องเงินเป็นหลัก สำคัญคือทำยังไงให้ชาวบ้านเลี้ยงตัวเองได้ เราต้องดูความพร้อมของเขาด้วย พร้อมจะทำไหม ค่าแรงก็ให้น้อยไม่ได้ ต้องให้เขาพออยู่ ถือสินค้าเป็นส่วนในการพัฒนาคน ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สีที่เป็นพิษ อย่างกาแฟดอยตุง บอกได้เลยตรวจสอบละเอียด ไม่มีเชื้อราไม่มีแบคทีเรียอะไรทั้งสิ้น เนื่องจากเราเป็นโครงการในพระนามสมเด็จย่า ต้องระวังเป็นพิเศษ เป็นศักดิ์ศรี ต้องให้ของที่มีคุณภาพกับผู้บริโภคค่ะ คุณหญิงพวงร้อยสำทับ จากความสามารถเชิงช่าง ทำให้ อีเกีย เฟอร์นิเจอร์สัญชาติสวีเดนชื่อดัง ก็เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของดอยตุงเป็นส่วนประกอบในชิ้นงานของตนด้วย และเพื่อพัฒนาช่องทางการตลาด ดอยตุงได้พัฒนาเว็บไซต์เพื่อซื้อขายทางอีคอมเมิร์ซด้วย ใครสนใจดูได้ที่ www.doitung.com เลือกชมเลือกซื้อหาสินค้าที่น่าสนใจได้ นอกจากสวยแล้ว ราคาก็ยุติธรรมด้วย เหนืออื่นใด เป็นการกระจายรายได้ให้คนไทยอีกหลายหมื่นชีวิตที่ร่วมในโครงการนี้ วงจรการเรียนรู้ กำลังขยายขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางปัญหาที่รุมเร้าโลกใบนี้มากมาย ไทยเรามีของดีแสนยอดเยี่ยม หนึ่งในนั้นคือ โครงการพัฒนาดอยตุง ของ สมเด็จย่า ที่กำลังกลายเป็นต้นแบบการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ ให้พึ่งตนเองได้ อย่างยั่งยืน.
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=23&contentId=166533
จากคุณ |
:
หมาป่าดำ
|
เขียนเมื่อ |
:
30 ก.ย. 54 15:12:47
|
|
|
|