Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ภัยพิบัติเกิดแล้วอย่าให้เกิดใจวิบัติขึ้นอีกเลย :สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล FB ติดต่อทีมงาน

เอามาฝากจากมติชนออนไลน์ครับ ตรงกระทู้พอดี
********************************************
ภัยพิบัติไม่เท่ากับใจวิบัติ ...บทเรียนจากอุทกภัย
วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 14:30:49 น.
 โดย สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล


กรณีเกิดน้ำท่วมในประเทศเป็นวงกว้างในหลายจังหวัดขณะนี้ ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลไปทั่ว ความสูญเสียมากมายเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าที่น้ำท่วมไปถึง เรือกสวนไร่นา ข้าวของเครื่องใช้ ทรัพย์สิน และจนถึงชีวิตที่ต้องสังเวยไปในคราวนี้

บางคนถึงกับ "สิ้นเนื้อประดาตัว"

 ประมาณการความเสียหายคงหลายหมื่นล้านบาท เฉพาะรัฐบาลตั้งวงเงินไว้ช่วยเหลือด้านการเกษตรในเบื้องต้นประมาณ 8 พันล้านบาท อาจดูมาก แต่หากเทียบกับความรู้สึกของผู้คนที่สูญเสียนาข้าวที่รอเกี่ยวในอีก 2-3 วันข้างหน้า ข้าวของเครื่องใช้น้ำพัดพาเอาไป ลูกหลานเด็กเล็ก ทั้งหมดจมน้ำจมโคลนไปต่อหน้าต่อตา หากเลือกได้คงไม่อยากให้ใครต้องมาเจอะเจอเรื่องทุกข์สะเทือนใจแบบนี้

 8 พันล้าน หากเทียบกับความเสียหายด้านการเกษตรที่เกิดขึ้นและเยียวยาสภาพจิตใจ ไม่มากเลย

 นอกไปจากเรื่องดังกล่าว ปัญหาประตูระบายน้ำที่บางโฉมศรี พระงาม พลเทพ ฯลฯ กลายเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

การกั้นพื้นที่ต่างๆ ที่เราเคยเห็นผู้คนมาช่วยกรอกทรายใส่กระสอบคนละไม้ละมือ แบบร่วมแรงร่วมใจ กลางวันพักเหนื่อยกินข้าวคุยกันไป แม้จะเหนื่อย หนัก แต่บรรยากาศแห่งการร่วมแรงร่วมใจมีอยู่เต็มเปี่ยม  ไม่เหมือนกันเลยกับปัจจุบันต้องมีคนมาคอยถือปืนเฝ้ากระสอบกั้นน้ำเพราะกลัวคนมาทำลาย สองฝั่ง ฝั่งหนึ่งน้ำท่วม อีกฝั่งยังไม่ท่วม ยกพวกมาประจันหน้าพร้อมห้ำหั่นกัน

 สิ่งเหล่านี้บอกให้รู้ว่าจิตใจคนแปรเปลี่ยนไปจากอดีตค่อนข้างเยอะ จากหน้ามือเป็นหลังมือ
 
บ้านตัวเองท่วม อยากให้บ้านคนอื่นท่วมด้วย อยากให้เกิดความเท่าเทียมกันแม้จะไม่ทำให้น้ำที่บ้านตนลดลง ระดับน้ำไม่ลดลง ขอเพียงแต่คนอื่นเสียหายเหมือนตน ถึงจะพอใจ

 คำถามคือ นาข้าวนับล้านไร่ที่ถูกน้ำท่วม เมื่อเทียบกับการได้รับเงินชดเชย 2 พันกว่าบาท กับเงินเยียวยาโครงการประกันรายได้อีก พันบาทเศษ แค่นี้ยังเจ็บปวดไม่พอหรือ

 เรายังอยากเห็นเพื่อนบ้านของเราที่บางคนเคยกินข้าวด้วยกัน เคยทำงานกอดคอทุกข์ยากมาด้วยกัน เราอยากเห็นนาเพื่อนจะต้องจมน้ำไปต่อหน้าชดเชยให้เราอีกหรือจึงจะพอใจ

 นี่หรือเมืองแห่งรอยยิ้ม เมืองไทย เมืองพุทธ สิ่งเหล่านี้หายไปไหน

 ตอนเกิดสึนามิที่จังหวัดมิยางิ เกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น มีคนตายมากมายเต็มเมือง ตึกรามบ้านช่องพังทลายเกือบหมด ครอบครัวแตกกระจัดกระจาย อาหารการกินต้องแบ่งกันเป็นรายคนๆ ละเท่าๆ กัน

 หากเทียบกับบ้านเราตอนนี้คงหนักกว่าหลายเท่า แต่คนญี่ปุ่นที่ประสบอุบัติภัยเหล่านั้นช่วยกัน ทำอย่างไรจะไม่ให้ความเสียหายขยายขอบเขตมากขึ้น  เมื่อเกิดที่มิยางิแล้วทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดกับจังหวัดต่อไป ไม่ให้ลุกลามจากหนึ่งเป็นสอง จากสองกลายเป็นสาม เพราะสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับทุกคนก็หนักพอแล้ว 

แต่พอเหลียวกลับมามองบ้านเรา ต้องยอมรับว่าอุบัติภัยที่เกิดไม่เหมือนญี่ปุ่นเอาเสียเลย ไม่ช่วยกัน ถ้าบ้านกูเป็น บ้านคนอื่นก็ต้องเป็น ถ้าจังหวัดกูเป็น จังหวัดข้างเคียงก็ต้องเป็นด้วย น้ำท่วมทีไรดูเหมือนว่าเรื่องแบบนี้กำลังจะเกิดขึ้นเป็นปกติ และกำลังจะเป็นสิ่งที่มากับภัยพิบัติในบ้านเรากระนั้นหรือ

บ้านเราเทียบกับที่จังหวัดมิยางิไม่ได้เลย ระเบียบวินัยมาก่อนเรื่องอื่น ช่วยเหลือกันแม้จะประสบความยากลำบาก เชื่อว่าอีกไม่นานนักญี่ปุ่นจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเพราะความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน คนมีความซื่อสัตย์ต่อส่วนรวม มิใช่เพียงแค่ซื่อสัตย์ต่อตนเองเท่านั้น เห็นประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตัว 

น้ำท่วมครั้งนี้ ทำความเสียหายให้พื้นที่การเกษตรไปกว่า 7 ล้านไร่ น้ำก็ยังไม่ลดลง ประตูระบายน้ำพระงาม ประตูระบายน้ำบางโฉมศรีที่แนวคันดินพังทลายลง หรือการทำลายแนวกระสอบทรายกั้นน้ำที่ประตูระบายน้ำพลเทพ ทั้งหมดไม่ทำให้ระดับน้ำลดลงแม้แต่น้อย

แต่ทำให้เราเห็นว่าอารมณ์คนแปรเปลี่ยนไปจากเดิม จิตใจคนเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ไม่มองประโยชน์ส่วนรวม ภัยพิบัติไม่เท่ากับใจวิบัติ

น้ำท่วม ปี 2538 ปี 2549 ซึ่งนับเป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศที่ยังจำภาพความเสียหายได้ติดตาจนถึงทุกวันนี้ และก็ยังจำได้ดีอีกว่าจิตใจของผู้คนที่อยู่ท่ามกลางเหตุการณ์น้ำท่วมคราวนั้นยังไม่เหมือนที่เห็นทุกวันนี้

 ในครั้งนั้น น้ำมากกว่านี้และคนเดือดร้อนไม่ได้น้อยไปกว่าครั้งนี้เลย แต่แทบจะทุกคนออกมาช่วยกันกั้นน้ำ ขนของ หารือแนวทางแก้ไขปัญหาที่จ่ออยู่ตรงหน้าร่วมกัน ที่จำได้ชัดมากคือรอยยิ้มที่มีให้กัน ซึ่งหมายถึงมิตรภาพ ความเป็นพี่เป็นน้อง คนหัวอกเดียวกัน และพร้อมที่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือกัน

ครั้งนี้ มีบางคนออกมาพูดโจมตีว่าที่นี่ท่วมหมดแล้ว ทำไมที่นั่นไม่ท่วม ทั้งพูดโจมตีตัวบุคคลและหน่วยราชการ กรมชลประทานตกเป็นจำเลยของสังคม ทั้งที่คนกรมชลประทานทุกคนทำงานหนักไม่ได้หยุดหย่อน ช่วงหน้าแล้งก็เก็บกักน้ำไว้แล้วค่อยระบายมาให้พี่น้องเกษตรกรได้ทำมาหากินในพื้นที่ชลประทาน

ยามหน้าน้ำก็ต้องคอยวางแผนการควบคุมน้ำร่วมกับหลายหน่วยราชการในภาพรวม มีการประเมินผลได้ผลเสียตลอดเวลา จะระบายน้ำไปทางนี้มีนาข้าวมีบ้านคนอยู่กี่มากน้อย จะเปิดประตูระบายทางนั้นจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่ใช่ว่าเปิดกันเองได้ตามชอบใจ

 แต่สิ่งที่ได้รับยามน้ำท่วมไร่นาแทนที่จะเป็นดอกไม้กลับเป็นก้อนอิฐ

 และเป็นเรื่องแปลกมากๆ ที่หากมีพื้นที่ใดสามารถป้องกันน้ำไว้ได้ แทนที่จะชื่นชมในความสำเร็จของการวางระบบป้องกันอุทกภัยซึ่งสามารถควบคุมน้ำได้อย่างใจสั่ง หลายคนกลับมองว่าเห็นแก่ตัวไม่ยอมให้น้ำท่วมพื้นที่ตัวเอง
แปลกหรือไม่ลองคิดดู

 ทำไมจะควบคุมน้ำไม่ได้ เพราะในบางพื้นที่เขาทำงานกันอย่างจริงจัง ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องจึงสามารถเข้าใจสภาพปัญหาที่แท้จริง ทั้งเส้นทางน้ำ การคาดการปริมาณน้ำ ระบบการผลิตการเกษตร และระบบที่จะรับมือกับปัญหา และที่สำคัญคือการทำงานต่อเนื่องกันมานานนับสิบปี ไม่ใช่เพิ่งมาแก้ปัญหากันวันนี้พรุ่งนี้แบบที่ท่วมกันอยู่ในปัจจุบัน

วันนี้กรมชลประทานสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำไว้เพื่อประโยชน์ใช้ทางด้านการเกษตร ด้านพลังงานและด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งสร้างเขื่อนริมน้ำเพื่อป้องกันน้ำกัดเซาะริมตลิ่งพังทลาย พร้อมๆ กับเป็นคันกั้นน้ำป้องกันอุทกภัยในพื้นที่เศรษฐกิจไปในคราวเดียว

 แต่กลับกลายเป็นว่าเจตนารมณ์ของกรมชลประทานในเรื่องนี้กลายเป็นสิ่งผิด เพราะไม่สามารถทำให้คนสูญเสียเหมือนกันหมดทุกคนได้ เป็นเรื่องที่แปลกซ้ำเข้าอีก

 อุทกภัยเป็นภัยจากธรรมชาติ หลายครั้งที่เราร่วมมือกันรับมือได้ดี หลายครั้งที่เกินการคาดการณ์เสียหายมากมายก็มีไม่น้อย แต่บนความทุกข์ยาก บนสิ่งที่เรียกว่าวิกฤตต้องไม่ทำวิกฤตให้เป็นปัญหาที่ขยายตัวลุกลามไปสร้างปัญหาใหม่ไม่รู้จบ เมื่อเกิดวิกฤตแล้วทำอย่างไรเราจะค้นพบโอกาสที่ซ่อนตัวอยู่ในวิกฤตเหล่านั้นได้

 
ทำไมคนญี่ปุ่นที่จังหวัดมิยางิเมื่อโดนสึนามิถล่ม จึงสามารถร่วมแรงร่วมใจก้าวผ่านความยากลำบากแบบแสนสาหัสมาได้ หลายคนเห็นแล้วยังอดทึ่งไม่ได้ว่าคนญี่ปุ่นผ่านเหตุร้ายมาได้อย่างไร แต่อุทกภัยในไทยครั้งนี้หลายคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม จิตสาธารณะที่หดหายไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา ทำให้เกิดปัญหาตามที่กล่าวมากระนั้นหรือ

 วันนี้ ยังมีโอกาสที่พบเห็นได้ในวิกฤตอุทกภัย ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และจิตสาธารณะที่เห็นแก่ส่วนรวมก่อนเรื่องส่วนตัว คือหัวใจของการเอาชนะภัยพิบัติทุกๆ อย่างที่จะเกิดขึ้น

 หากผู้คนขาดสองสิ่งนี้เมื่อใด ภาพความขัดแย้งจะก่อตัวเกิดขึ้นในทุกโอกาส และจะบ่อนทำลายสังคมไทยของเราอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้สามารถทำได้สร้างได้ โดยกระทรวงศึกษาธิการต้องเข้ามาเป็นหัวเรือใหญ่ ทำหน้าที่บ่มเพาะอบรมเด็กๆ วางหลักสูตรสร้างคนที่มีคุณภาพมากกว่านี้

 เอาเรื่องน้ำท่วมครั้งนี้เป็นอุทาหรณ์

 ภัยพิบัติเกิดแล้วอย่าให้เกิดใจวิบัติขึ้นอีกเลย

จากคุณ : ผึ้งน้อยพเนจร
เขียนเมื่อ : 13 ต.ค. 54 02:20:11




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com