ด้วยอากาศที่บางเกินไปนี่เองทำให้เฮลิคอปเตอร์ไม่สามารถใช้การได้มากนัก ทำให้ต้องมีการจ้างชาวบ้านที่มีความชำนาญพื้นที่ประมาณ 350 คน เพื่อปฏิบัติงานแทน โดยใช้เวลาในการปีนเขาราว 10 วัน และต้องตั้งแคมป์ที่พักในระดับความสูงถึง 5,000 เมตร
จากที่นั่น อาสาสมัครซึ่งประกอบด้วยนักเรียน-นักศึกษา ทหารที่ปลดประจำการ และชาวบ้านทั่วไป ต้องทำงานในพื้นที่ธารน้ำแข็งที่มีระดับน้ำลึกประมาณหัวเข่า
โดยใช้เครื่องมือเพียงไม่กี่ชิ้นเพื่อขุดลอกทางน้ำและสร้างกำแพงเพื่อเสริมกำลังของทะเลสาบ ซึ่งอุปสรรคที่พบในทุกปีคือการมาถึงของฤดูหนาว
อย่างไรก็ดี การมาถึงของเทคโนโลยีก็ช่วยทำให้เรื่องที่ยากดังกล่าวดูง่ายลง นายประทีป มูล วิศวกรประจำศูนย์พัฒนาภูเขาแบบผสมผสานนานาชาติ กรุงกาฏมัณฑุ ประเทศเนปาล กล่าวว่า เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม ทำให้สามารถประเมินพื้นที่ที่มความเสี่ยงได้รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะชี้ชัดได้ว่าเหตุร้ายจะเกิดขึ้นที่ใดหรือเวลาไหน
นักวิจัยใช้ปัจจัยหลายประการในการพิจารณาถึงความเสี่ยงที่จะเกิดGLOFซึ่งรวมถึงการทำแผนที่และพรรณนาภูมิประเทศ, ความเป็นไปได้ที่น้ำอาจมีปริมาณมหาศาลกระทั่งล้นพื้นที่ทะเลสาบ, ความแข็งแกร่งของพนังกั้นน้ำตามธรรมชาติของทะเสลาบธารน้ำแข็ง และปริมาณน้ำทั้งหมดในทะเลสาบ
สาเหตุของน้ำท่วมที่เกิดจากธารน้ำแข็ง เกิดจากปัจจัยหลายประการและเป็นเรื่องยากที่จะประเมินได้ทั้งหมด ประกอบกับพื้นที่ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลค่อนข้างมากและสภาพอากาศที่ เปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วตลอดเวลา ทำให้การเก็บข้อมูลในพื้นที่จริงอาจเสี่ยงต่ออันตราย
นายโดว์ชู ดุ๊กปา วิศวกรที่ทำงานร่วมกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมของภูฏาน เปิดเผยว่า นักวิทยาศาสตร์มักประสบปัญหาในการวัดระดับน้ำในทะเลสาบธอร์ธอร์มี เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ โดยครั้งหนึ่งกระแสลมแรงจัดเกือบทำให้เรือที่บรรทุกนักวิจัยล่มกลางทะเลสาบ