ภาควิชากายวิภาคศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
โรงพยาบาลศิริราช
บางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700
.................................................
วัตถุประสงค์ของการบริจาคร่างกาย
เพื่อให้นักศึกษาแพทย์นำไปศึกษา หรือที่เรียกว่าเป็น อาจารย์ใหญ่
การบริจาคร่างกายแยกออกเป็น 3 แบบ
1. บริจาคเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษา ระยะที่ใช้ในการเรียน 3 ปี
2. บริจาคเพื่อให้แพทย์เฉพาะทางฝึกผ่าตัด
3. บริจาคเพื่อให้ภาควิชาฯ เก็บโครงกระดูกเพื่อการศึกษาตลอดไป
****ในการบริจาคร่างกายนั้นสามารถเลือกได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งค่ะ
เอกสารที่ใช้
รูปถ่ายหน้าตรงขนาด 1 นิ้ว หรือ 2 นิ้ว จำนวน 2 ใบ เขียนชื่อ-นามสกุลที่ด้านหลังรูปให้ชัดเจน
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ใบ (รับรองสำเนาถูกต้อง)
ขั้นตอนการบริจาคร่างกาย
1. กรอกแบบฟอร์ม ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านด้วยตัวบรรจง
2. ระบุ ชื่อ-นามสกุล ผู้แจ้งการถึงแก่กรรม (ผู้แจ้งการถึงแก่กรรมหมายความถึง ผู้ที่เต็มใจจะรับเป็นธุระในการแจ้งให้ภาควิชาฯ ไปรับศพของผู้บริจาคร่างกายเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับมรดกอื่นใดของผู้บริจาคร่างกาย)
3. ส่งแบบฟอร์มที่กรอกแล้วพร้อมรูปถ่ายหน้าตรงขนาด 1 นิ้ว หรือ 2 นิ้ว จำนวน 2 ใบ ทางไปรษณีย์มาที่ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700 เขียนที่มุมซองว่า บริจาคร่างกาย
4. รับบัตรประจำตัวผู้บริจาคได้ภายใน 1 เดือน โดยให้ระบุว่าต้องการรับด้วยวิธีใด
4.1 รับทางไปรษณีย์เป็นจดหมายลงทะเบียน (ต้องมีคนอยู่บ้านเพื่อลงชื่อรับ)
4.2 มารับบัตรด้วยตัวเอง ติดต่อที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-419-7036, 02-419-7588
5. หากทำบัตรหายกรุณาโทรศัพท์แจ้งภาควิชาฯ ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-419-7036, 02-419-7588
6. หากผู้บริจาคเปลี่ยนแปลงที่อยู่กรุณาแจ้งภาควิชาฯ ทราบด้วย
7. ท่านที่ต้องการยกเลิกพินัยกรรมฉบับนี้ ไม่ต้องแจ้งให้ภาควิชาฯ ทราบ จะไม่ถือว่าเป็นความผิดทางกฎหมายแต่ประการใด
****หมายเหตุ***สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มพินัยกรรมบริจาคร่างกายได้ โดยปริ้นท์ออกมาเป็นหน้า-หลัง จำนวน 2 ชุด เนื่องจากทางภาควิชาจะได้เก็บไว้ 1 ชุด และส่งคืนผู้บริจาค 1 ชุด และเหตุที่ต้องปริ้นท์หน้า-หลัง จะได้ทราบว่าเป็นพินัยกรรม เมื่อเวลาผ่านไป
***ผู้บริจาคควรปฏิบัติตามข้อกำหนดในการกรอกและส่งแบบฟอร์มอย่างเคร่งครัด และถูกต้อง มิฉะนั้น ถ้าไม่ได้ข้อมูลครบถ้วน จะถือว่าเป็นโมฆะ
หรือเมื่อส่งใบบริจาคมาแล้วสามารถโทรมาติดตามได้ ตามเบอร์โทรที่ให้ไว้ 02-419-7036, 02-419-7588
แบบที่ 1 บริจาคเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษา
ข้อจำกัด
- ขณะเสียชีวิตอายุต้องไม่เกิน 80 ปี น้ำหนักโดยประมาณไม่ต่ำกว่า 40 กิโลกรัม
- ไม่เป็นศพเกี่ยวกับคดี
- ไม่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง, โรคไต, โรคเบาหวาน และอุบัติเหตุ
- ไม่เป็นศพที่มีสภาพไม่เหมาะสม เช่น ศพเน่าเปื่อย อวัยวะขาดหายไปไม่ครบสมบูรณ์ ยกเว้นกรณีบริจาคดวงตา
- ที่เก็บศพของภาควิชาฯ เต็ม
แบบที่ 2 บริจาคเพื่อให้แพทย์เฉพาะทางฝึกผ่าตัด
ข้อจำกัด
- ไม่เคยผ่าตัดบริเวณข้อต่อต่าง ๆ
- เมื่อเสียชีวิต ญาติต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ภาควิชาฯ ให้มารับศพทันที
- ให้ญาติตัดผม และเล็บของศพใส่โลงเพื่อสวดทำบุญ
- ไม่ฉีดยารักษาศพ
แบบที่ 3 บริจาคเพื่อเก็บโครงกระดูกใช้ในการศึกษา
ข้อจำกัด
- ขณะเสียชีวิตอายุต้องไม่เกิน 55 ปี
- ญาติสามารถนำอวัยวะบางส่วนของศพดอง ไปทำพิธีทางศาสนาได้
- ไม่ฉีดยารักษาศพ เพราะจะทำให้ไม่สามารถเก็บเป็นโครงกระดูกได้
พื้นที่ที่รับบริจาคร่างกาย
รับเฉพาะเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ปทุมธานี นครปฐม สุพรรณบุรี(ไม่รับ อ.ด่านช้าง, อ.หนองหญ้าไซ, อ.เดิมบางนางบวช,อ.สามชุก) พระนครศรีอยุธยา (ไม่รับ อ.ท่าเรือ) ราชบุรี (ไม่รับ อ.สวนผึ้ง, อ.จอมบึง) กาญจนบุรี (รับเฉพาะ อ.เมือง, อ.ท่าม่วง, อ.พนมทวน, อ.ท่ามะกา)
ข้อปฏิบัติเมื่อผู้บริจาคร่างกายเสียชีวิต
- ห้ามฉีดยากันศพเน่า เจ้าหน้าที่ของภาควิชาฯ จะไปฉีดให้
- โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ภาควิชาฯ ภายใน 24 ชั่วโมง ให้ไปตรวจสภาพศพ และฉีดยารักษาสภาพศพ ที่หมายเลข 02-419-7028, 02-419-7030, 02-411-2007
- ญาติเป็นผู้ดำเนินการเรื่องใบมรณบัตร และจัดหาหีบศพเอง
ข้อปฏิบัติเมื่อได้รับศพของผู้บริจาคร่างกาย
- บริการฉีดยา และรับศพหลังเสร็จพิธี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
- ให้ญาติสวดตามประเพณีนิยมได้ไม่เกิน 5 วัน
- ศพของผู้บริจาคร่างกายจะจัดเก็บที่อาคารกายวิทยาทาน ต.ศาลายา จ.นครปฐม
- ออกหนังสือรับรองการรับศพของผู้บริจาคร่างกายภายใน 2 วัน
- จัดส่งใบอนุโมทนาบัตร หลังจากรับศพของผู้บริจาคร่างกายภายใน 1 เดือน
ข้อแนะนำในการเข้าร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพ
- จัดประมาณเดือนเมษายนของทุกปี
- ญาติเข้าร่วมพิธีได้ไม่เกิน 4 คน
- ภาควิชาฯ มีรถบริการให้ญาติที่เข้าร่วมพิธีจากโรงพยาบาลศิริราชไปที่อาคารกายวิทยาทาน ต.ศาลายา จ.นครปฐม
- ญาติสามารถนำศพของผู้บริจาคร่างกายที่ศึกษาเสร็จแล้วไปประกอบพิธีทางศาสนาเองได้
- จัดเก็บอัฐิของผู้บริจาคร่างกายไม่เกิน 5 ปี
เอกสารที่ใช้ประกอบการทำหนังสือที่ระลึกในพิธีพระราชทานเพลิงศพ
- รูปถ่ายของผู้บริจาคร่างกายขนาด 1 นิ้ว หรือ 2 นิ้ว จำนวน 1 ใบ
- ประวัติส่วนตัวของผู้บริจาคร่างกาย
- คำไว้อาลัยของญาติ
http://www.si.mahidol.ac.th/th/department/anatomy/dept_news_detail.asp?n_id=29&dept_id=1