เหนื่อยแล้วสบายตลอดไป ดีกว่าสบายแล้วเหนื่อยตลอดไป
|
 |
ความดี สิ่งดี ๆ ที่ทำให้มนุษย์เรามีชีวิตเจริญขึ้น เช่น การตื่นแต่เช้า การทำงานบ้าน การเป็นคนขยัน ไม่ด่าว่าคนอื่น การไม่โกรธ ไม่ถือตัว ไม่พูดร้าย ๆ ให้ใครได้ยิน การไม่พูดตลกล้อเล่นไร้สาระทีเป็นบาป การไม่เที่ยวกลางคืน การเว้นจากการเสพอารมณ์ทางเพศ และยังมีอีกมากมาย สิ่งเหล่านี้ บางครั้ง กิเลสก็หลอกเราว่า ทำแล้วลำบากเหลือเกิน ควรจะนอน ฟังเพลง เที่ยว ดูหนัง ส่องกระจกแต่้งตัวทั้งวัน ว่างก็สำเร็จความใคร่ตามอารมณ์กิเลส พูดไร้สาระตามปากดีกว่า ไม่พูดแล้วเหมือนมีอะไรค้างคาใจ พอให้ทำอะไรตามใจแต่ไม่ดี เต็มใจทำ แต่สิ่งดี ๆ ที่ทำแล้วไม่เสียใจกลับไม่มีแรงทำ ทั้งที่ทำแล้ว จะให้ผลดีกลับมา ทำแล้วไม่เสียเวลา ไม่เสียใจ แต่กลับคิดว่าบางสิ่งบางอย่าง ที่ทำด้วยการไม่คิด การไม่พิจารณา น่าทำกว่า เพราะสบายกว่า
บางสิ่งบางอย่าง เช่นความปล่อยปละละเลย ทำแล้วสบายตอนแรก แต่ต้องมานั่งทุกข์ทีหลัง แต่ความตั้งใจกับบางอย่าง ลำบากในทีแรก แต่ผลคือความสุขมากกว่าความสุขอย่างแรกเป็นแสนเป็นล้านเท่า คนที่คิดได้เท่านั้นที่จะเลือกข้อนี้
แทบทุกลมหายใจที่คนเราต่างทำแต่สิ่งที่ทำแล้วเสียใจทีหลัง เพราะการปล่อย ความเลินเล่อ ทั้งที่รู้ว่า สิ่งไม่ดีทุกอย่างทั้งสิ้น จะพาใคร หรือแม้แต่ตัวเขาเองไปสู่จุดไหน เพราะไม่ยอมพิจารณาให้เห็นว่า โทษของสิ่งไม่ดี ที่แสดงออกทางกาย วาจา ใจ เป็นอย่างไร ทำสิ่งที่ดี หมดแรง แต่ทำสิ่งที่ไม่ดี ทำได้
ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ สามสี่ชั่วโมงก็เหนื่อย แต่ให้เล่นเกมส์ค่อนวันก็ไม่เหนื่อย
อ่านหนังสือก็ง่วงนอน แต่ดูหนังสือโป๊อ่านได้ตลอด
ช่วยงานแม่ ไม่ยอม ง้อแม่ ไม่ยอม นวดแม่ให้แม่หายเมื่อย ไม่ยอม และยังทำให้แม่โกรธบ่อย ๆ แต่แฟนโกรธนิดเดียว ง้อจะเป็นจะตาย ร้องห่มร้องไห้ ให้ทำอะไรก็ยอม
มนุษย์เรา เวลาที่ทำงานเหนื่อย ๆ ก็บ่นอยากพัก
แต่หลายครั้ง เมื่อได้พักแล้วก็นอนเฉย ๆ หรือประมาท ไม่ทำอะไรให้เกิดประโยชน์
เมื่อเวลา ที่เป็นโอกาสดี ๆ เหล่านั้นผ่านไป ปุถุชนก็จะถามอีก ว่า เมื่อไหร่จะได้พัก
หลายครั้งที่ปล่อยจิตให้คิดเรื่องเพศ แอบชายตามองเพศตรงข้ามตามสบาย นั่งตามสบาย กินตามสบาย พูดตามสบาย นอนตามสบาย แต่เมื่อสุดท้าย ถึงเวลาที่เดือดร้อนก็ไม่มีที่พึ่ง เพราะไม่ได้สร้างกุศลไว้ ไม่ได้ฝึกจิตให้สำรวมไว้
ความสุขลวก ๆ ที่ปุถุชนเสพแล้วคิืดว่าไม่เป็นไร ปล่อยไปก็ได้ เป็นของไม่มีแก่นสาร ไม่ยั่งยืน เมื่อปุถุชนเสพความสุขใด ความสุขนั้นก็จะสลายไปในที่สุดเพราะความไม่เที่ยง ไม่ใช่ของตน แล้วความทุกข์ ก็จะกลับมาหาเขาอีกครั้ง ถึงเวลานั้น ก็จะพบกับทรมานอีก วนเวี่ยนเป็นวัฏจักรที่ไม่มีดี
ตรงกันข้าม หากสละความสุข มาพบกับความยากลำบากในการ ปรับจิตของตนเอง ให้สูงขึ้นจากความสุขเหล่านั้น เมื่อใช้ความพยายามความตั้งใจให้จิตพ้นจากสุขลวก ๆ อย่างนั้นแล้ว มีจิตที่สมบูรณ์ขึ้น มองสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจน มีความมั่นคงทางใจมากขึ้น ย่อมจะได้รับความสุขมากขึ้น และไม่ต้องไปเสพสุขไร้สาระแล้วตามมาด้วยปัญหาอย่างที่เคยเสพมา
ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับเรา ว่าเราจะยอมแลก ความสุขที่ไม่จริง ซึ่งพาเราไปเจอความทุกข์จริง ๆ
กับการพบความทุกข์บ้าง ที่จะพาเราไปเจอความสุขจริงๆ
อยู่ที่ตัวเราเองเลือกเท่านั้น
ขณะที่ทำกุศล อาจเหนื่อยบ้าง แต่เป็นความเหนื่อยที่ไม่เสียกำลังของลูกผู้ชาย (หรือลูกผู้หญิง)
กิเลส เหมือนศัตรู คนที่นอนในสนามรบจะมีโอกาสเดียวเท่านั้นคือตาย แต่ในทางตรงกันข้าม หากว่าเราลุกขึ้นสู้ เราจะไม่ตาย
ในสนามรบ การรบอาจมีแพ้ มีชนะบ้าง แต่การรบกับกิเลส เราต่างมีอาวุธอัศจรรย์ เมื่อใครได้นำมาใช้แล้ว จะมีกำลัง มีเวทย์มนต์เอาชนะศัตรูได้เด็ดขาด ได้แก่ ธรรมะของพระพุทธเจ้า การต่อสู้กับกิเลส บางครั้งอาจจะอ่อนล้า เหน็ดเหนื่อย ท้อแท้ อยากตาย เครียด ร้องไห้
แต่ไม่ควรยอม น้อยใจ หรือร้องไห้ ศัตรูล้อมเราไว้ รอบด้าน ทั้งเกิดแก่เจ็บตาย เหนื่อยกับทำมาหาเลี้ยงชีพจากที่เกิดมา เหนื่อยกับความร้อนเร่าเพราะรักโลภโกรธหลง มีทางเอาตัวรอดทางเดียวเท่านั้นคือ "สู้"
เพราะเมื่อเรา "สู้" เสร็จแล้ว ศัตรูก็จะไม่มีอีก หลังจากนั้น เราจะนอนหลับสบายทุกคืน ไม่ร้องไห้ ไม่เจ็บปวดเพราะถูกศัตรูแทง
"พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เทวทหวรรค ๑. เทวทหสูตร (๑๐๑)
[๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
เมื่อเราอยู่ตามสบาย อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมย่อมเสื่อม แต่เมื่อเราเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบาก อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง
อย่ากระนั้นเลย เราพึงเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากเถิด เธอจึงเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบาก
เมื่อเธอเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากอยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง
สมัยต่อมา เธอไม่ต้องเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากแล้ว ข้อนั้นเพราะเหตุไรดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุนั้นเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบาก เพื่อประโยชน์ใดประโยชน์นั้นของเธอ เป็นอันสำเร็จแล้ว ฉะนั้น สมัยต่อมา เธอจึงไม่ต้องเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนช่างศร ย่างลนลูกศรบนข่าไฟ ๒ อัน ดัดให้ตรงจนใช้การได้ เพราะเหตุที่ลูกศรเป็นของอันช่างศรย่างลนบนข่าไฟ ๒ อัน ดัดให้ตรงจนใช้การได้แล้ว สมัยต่อมา ช่างศรนั้นไม่ต้องย่างลนลูกศรนั้นบนข่าไฟ ๒ อัน ดัดให้ตรงจนใช้การได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะช่างศรนั้นพึงย่างลนลูกศรบนข่าไฟ ๒ อันดัดให้ตรงจนใช้การได้ เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นของเขาเป็นอันสำเร็จแล้ว ฉะนั้น สมัยต่อมา ช่างศรจึงไม่ต้องย่างลนลูกศรบนข่าไฟ ๒ อัน ดัดให้ตรงจนใช้การได้ ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เมื่อเราอยู่ตามสบาย อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมย่อมเสื่อม แต่เมื่อเราเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบาก อกุศลธรรมย่อมเสื่อมกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง
อย่ากระนั้นเลย เราพึงเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากเถิด เธอจึงเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบาก เมื่อเธอเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากอยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง สมัยต่อมา เธอไม่ต้องเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุนั้นเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบาก เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นของเธอ เป็นอันสำเร็จแล้วฉะนั้น สมัยต่อมา เธอจึงไม่ต้องเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากแล ดูกรภิกษุทั้งหลายความพยายามมีผล ความเพียรมีผล แม้อย่างนี้ ฯ "
แม้หนทาง จะดูยาวไกล คืนวันผ่านไป พยายามแล้วเหมือนจะไม่ได้อะไรเลย ก็ไม่ควรท้อใจ เพราะแม้แต่พระโพธิสัตว์เมื่อทรงเสวยพระชาติเป็นพระมหาชนก ทรงว่ายน้ำกลางมหาสมุทรไม่เห็นฝั่ง เพราะเรือแตกกลางทะเล ก็มิได้ทรงเห็นแก่เหนื่อยแล้วถอดใจจมน้ำตาย แต่ทรงว่ายจนนางมณีเมขลาผู้รักษามหาสมุทรต้องหันมามอง
นางมณีเมขลาเมื่อจะทดลองพระมหาสัตว์ จึงกล่าวคาถาแรกว่า
"นี้ใคร เมื่อแลไม่เห็นฝั่ง ก็อุตสาหะพยายามว่ายอยู่ ท่ามกลางมหาสมุทร ท่านรู้อำนาจประโยชน์อะไร จึงพยายามว่ายอยู่อย่างนี้นักหนา"
ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า เราว่ายข้ามมหาสมุทรมาได้เจ็ดวันเข้าวันนี้ ไม่เคยเห็นเพื่อนสองของเราเลย นี่ใครหนอมาพูดกะเรา. เมื่อแลไปในอากาศก็ทอดพระเนตรเห็นนางมณีเมขลา จึงตรัสคาถาที่สองว่า
ดูก่อนเทวดา เราไตร่ตรองเห็นปฏิปทาแห่งโลกและอานิสงส์แห่งความเพียร เพราะฉะนั้น ถึงจะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็ต้องพยายามว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร.
นางก็ยังเหมือนไม่เข้าใจ ว่าว่ายทำไม ในเมื่อมองไม่เห็นฝั่งจึงบอกกับพระโพธิสัตว์ว่า พยายามแบบนี้คงจะตายเปล่า ท่านกลับตอบนางว่า
"บุคคลเมื่อกระทำความเพียร แม้จะตายก็ชื่อว่า ไม่เป็นหนี้ในระหว่างหมู่ญาติเทวดา และบิดามารดา
อนึ่ง บุคคลเมื่อทำกิจอย่างลูกผู้ชาย ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง"
ความพยายาม ทำให้เกิดสุข เมื่อยอมเสียสละความสุข เล็ก ๆ น้อย ๆ อันไร้สาระ กับเรื่องกาม เรื่องโลก เรื่องกิเลสบางอย่าง มาพบกับความทุกข์บ้างจากความอดอลั้น จากการรักษาศีล สำรวมอินทรีย์ เว้นจิตห่างจากบาป เป็นต้น ความเคยชินของกิเลสที่ได้เสพของเดิม ๆ อาจทำให้เกิดความทุกข์เพราะมาทำสิ่งที่ฝืนอยู่บ้าง แต่ก็เป็นความทุกข์ ที่จะำทำให้ความทุกข์หายไป
ก็ย่อมดีกว่าไม่เสียสละความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วต้องจำใจอยู่กับความ"สุขกล้ำกลืน" ของกิเลส ที่วิ่งวุ่นไม่รู้จักเหนื่อย จนเราเหนื่อย
ทิ้งความสุข ที่ไม่เข้าท่า
มามีความสุข ที่มันมีความหมา่ยจริง ๆ
เป็นการสละความ "สุขนิดหน่อย" เพื่อให้ได้พบกับ "ความสุขที่สุด"
มันคุ้ม ที่จะแลก แม้่ด้วยชีิวิต
ไม่ใช่หรือ ?
มตฺตาสุขปริจฺจาคา ปสฺเส เจ วิปุลํ สุขํ จเช มตฺตาสุขํ ธีโร สมฺปสฺสํ วิปุลํ สุขํ.
ถ้าใครได้เห็นสุขอันเต็มเปี่ยม เพราะสละสุขนิดหน่อยแล้ว, ผู้มีปัญญา เมื่อเห็นสุขอันเต็มเปี่ยมแล้วก็ให้ทิ้งความสุขนิดหน่อยเสีย ไ้ด้พักกาย ได้พักใจ อย่างเป็นนิรันดร์
*******************
เทวทหสูตร http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=1&Z=511&pagebreak=0 ศึกษาอรรถกถา(คำอธิบาย)พระสูตรนี้ ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=1
แก้ไขเมื่อ 25 ธ.ค. 54 14:29:43
จากคุณ |
:
Serene_Angelic
|
เขียนเมื่อ |
:
25 ธ.ค. 54 14:28:48
|
|
|
|