เข้าใจว่า ข่าวตามกระทู้ น่าจะต่อเนื่องกับกระทู้นี้
http://www.pantip.com/cafe/social/topic/U11568370/U11568370.html
กรณี นายกอบต.ในขณะนั้น ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับธนาคาร ว่า อบต.เป็นหนี้ และศาลพิพากษาตามยอมถึงที่สุดไปแล้วก็จริง
แต่ในเมื่อ การทำสัญญาประนีประนอมฯดังกล่าว เป็นการกระทำไปโดยไม่มีอำนาจของนายกอบต.ดังคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาตามกระทู้เดิม
ในความเห็นส่วนตัวผมเห็นว่า ทาง เทศบาล(เดิมเป็นอบต.) น่าจะร้องขอเข้าไปในคดีเดิมนั่นแหละ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสีย(การพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมฯ) ตาม ปวิแพ่ง ม.๒๗
มาตรา 27 ในกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวล กฎหมายนี้ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในเรื่องการเขียน และการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ หรือในการพิจารณา คดี การพิจารณาพยานหลักฐาน หรือการบังคับคดี เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอน การพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไข หรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควร
ข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้น คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกขึ้นกล่าว ได้ไม่ว่าในเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวัน นับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็น มูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้คู่ความฝ่ายนั้นต้องมิได้ดำเนินการอันใด ขึ้นใหม่ หลังจากที่ได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือต้องมิได้ให้ สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้น ๆ
ถ้าศาลสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบใดๆ อันมิใช่ เรื่องที่คู่ความละเลยไม่ดำเนินการพิจารณาเรื่องนั้นภายในระยะเวลา ซึ่งกฎหมายหรือศาลกำหนดไว้เพียงเท่านี้ไม่เป็นการตัดสิทธิคู่ความ ฝ่ายนั้น ในอันที่จะดำเนินกระบวนพิจารณานั้น ๆ ใหม่ให้ถูกต้อง ตามที่กฎหมายบังคับ
///////////
และตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3593/2549
โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยหลอกลวงโจทก์ให้ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความและเอกสารหลายฉบับที่ยังไม่ได้กรอกข้อความเพื่อให้จำเลยนำไปถอนฟ้อง แต่จำเลยกับ อ. กลับสมคบกันกรอกข้อความในใบแต่งทนายความดังกล่าวเป็นว่าโจทก์แต่งตั้ง อ. เป็นทนายความมีอำนาจประนีประนอมยอมความแทนโจทก์ แล้วจำเลยกับ อ. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์กล่างอ้างมาในคำฟ้อง กระบวนพิจารณาที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความของศาลชั้นต้นย่อมเป็นการไม่ชอบ เพราะโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เป็นตามนั้นด้วยแต่อย่างใดจึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย มิได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันเป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 27 ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงชอบที่จะยกขึ้นว่ากล่าวกันในคดีเดิมที่อ้างว่ามีการพิจารณาที่ผิดระเบียบจะมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่หาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้
///////////////////////
แต่ผลของคดีจะเป็นเช่นไร คงต้องแล้วแต่พยานหลักฐานและดุลยพินิจของศาลต่อไปครับ
ขอร่วมแสดงความเห็นเพียงเท่านี้ครับ