เรื่องจริงสะท้อนปัญหาสังคมคอนโดมิเนียมเมืองกรุง
|
 |
ผมมีเรื่องจริงที่ผมประสบด้วยตัวเอง เกี่ยวกับสังคมเมืองกรุงในคอนโดมิเนียม ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าต่างคนต่างอยู่ แต่ทว่ามีกฏระเบียบและกฏหมายพระราชบัญญัติอาคารชุด ปี พ.ศ.2551 มาบังคับใช้เพื่อความสงบเรียบร้อยในสังคมคอนโดนั้นๆ โดยกำหนดให้ต้องมีการจัดตั้งนิติบุคคลอาคารชุดขึ้นตามกฏหมาย มีผู้จัดการนิติบุคคลทำหน้าที่บริหารจัดการความเรียบร้อยทุกเรื่องในคอนโด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง รปภ.,แม่บ้านทำความสะอาดส่วนกลาง,ช่างดูแลระบบไฟฟ้า ประปา ลิฟต์ ฯลฯ ส่วนเจ้าของร่วมก็ต้องมีการเลือกตั้งคณะกรรมการควบคุมนิติบุคคลอาคารชุดมาเป็นตัวแทนในการควบคุมการทำงานของผู้จัดการนิติบุคคลอีกทีหนึ่ง ฟังดูในแง่กฏหมายเค้าก็กำหนดผู้เกี่ยวข้องส่วนต่างๆไว้ดีอยู่แล้ว แต่ในแง่ปฏิบัติจริง ผมเชื่อว่าคอนโดหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นระดับโลโซจนถึงระดับไฮโซ จะมีซักกี่แห่งที่ปฏิบัติตามกฏหมายอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ผมพบว่าสาเหตุมาจากการมีส่วนร่วมของเจ้าของร่วมมีน้อยมาก ทุกคนดูรีบร้อนกันหมด อ้างว่าไม่มีเวลาเสียสละมาทำงานเพื่อส่วนรวม จึงเป็นช่องว่างให้พวกบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการอาคารชุด ซึ่งปัจจุบันมีอยู่มากมายหลายเจ้า เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวคอนโดทั้งหลาย โดยที่เจ้าของร่วมก็ต้องทนต่อการกระทำของนิติบุคคลอาคารชุด ทั้งที่เค้าไม่ทราบเลยว่าหากรวมตัวกัน สามัคคีกัน พูดจาทำความรู้จักแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องความเป็นอยู่กันบ้างเมื่อมีเวลาว่าง และที่สำคัญคือต้องอ่าน พรบ.อาคารชุดฉบับ ปี2551 กันบ้าง จะได้รู้ว่าเค้ามีสิทธิมีเสียงในการเลือกผู้ที่จะมาทำหน้าที่นิติบุคคลอาคารชุด ไม่จำเป็นต้องอดทนกับนิติบุคคลที่จัดตั้งมาโดยเจ้าของโครงการ มีคอนโดหลายแห่งที่ไม่เคยมีการตรวจสอบแม้กระทั่งการบริหารจัดการเงินกองทุนและเงินค่าส่วนกลาง ถึงแม้จะมีคณะกรรมการควบคุมนิติบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนเจ้าของร่วมทำงานอยู่ แต่ก็อาจรู้ไม่เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของพวก บ.บริหารจัดการอาคารที่มีความรู้และเชี่ยวชาญด้านกฏหมายอาคารชุด ซึ่งอาจใช้ช่องโหว่ของการต่างคนต่างอยู่ของคนกรุง ทุจริตเบียดบังเอาผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง จนเงินส่วนกลางหายไปหมด ที่เห็นฟ้องร้องกันก็หลายคอนโด แต่ก็อาจแพ้คดี เพราะอย่างที่บอกว่าเค้าเตรียมการทุจริตมาเป็นอย่างดี กฏหมายอาจสาวไม่ถึงตัวเค้าครับ ผมไม่ได้ว่าการจ้าง บ.บริหารจัดการอาคารชุด มาทำหน้าที่แทนเราไปซะทุกเรื่องจะไม่ดี บ.ที่ดีก็มีอยู่มาก ที่จริงแล้วก็มีความเหมาะสมและสะดวกดี เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพียงแต่ว่าหากเราซึ่งเป็นเจ้าของร่วม ไม่สนใจติดตามข่าวสารการบริหารจัดการต่างๆในคอนโดของเรา อีกทั้งไม่มีความร่วมมือร่วมใจกัน ปล่อยให้บุคลากรของ บ.บริหารจัดการฯ ทำหน้าที่อย่างสะดวกโยธินและสัมผัสกับเงินส่วนกลางจำนวนมาก มนุษย์ย่อมมีความโลภเป็นกิเลสในใจอยู่แล้ว ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทุจริต
ถึงแม้ว่าผมจะทราบปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับการใช้ชีวิตในคอนโดเมื่องกรุง แต่ด้วยข้อจำกัดหลายด้าน ผมและครอบครัวจึงตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดย่านชุมชนในกรุงเทพฯ และด้วยความที่ผมเป็นวิศวกรเครื่องกล จึงได้อาสาเข้ามาทำหน้าที่คณะกรรมการควบคุมนิติบุคคลชุดแรกๆ และทำหน้าที่มาจนครบวาระเมื่อปีที่ผ่านมา และเมื่อมีคณะกรรมการชุดใหม่มารับช่วงแทน ผมมีความมั่นใจว่าด้วยกฏระเบียบและนโยบายทางด้านการเงินที่กรรมการชุดเดิมวางเอาไว้ จะเป็นกรอบควบคุมให้คณะกรรมการชุดใหม่ทำงานได้อย่างราบรื่น อีกทั้งบุคลากรฝ่ายบริหารจัดการอาคารชุดก็ปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่มีปัญหา ทุกอย่างดูเหมือนว่าจะดี ผมก็วางใจให้คณะกรรมการทำหน้าที่ของเขาไป ไม่ค่อยได้ติดตามรายละเอียดการทำงานของเขามากนัก จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ก็เกิดปัญหาที่ผมไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นกับสังคมคอนโดของผมแห่งนี้จนได้ วันนี้ผมจึงใคร่ขอนำเรื่องราวปัญหาที่เกิดขึ้นมาถ่ายทอดให้ทุกท่านได้รับทราบกันครับ เชิญติดตามกันได้เลยครับ
จากคุณ |
:
chaiyotkk
|
เขียนเมื่อ |
:
3 มี.ค. 55 09:17:31
|
|
|
|