ปรากฏการณ์ 'แรงเงา' กับสังคมไทย ดูละคร..สะท้อนโลกแห่งความจริง
|
|
หากจะถามว่า วันนี้อะไรคือ Talk of the Town หรือเรื่องที่ถูกพูดถึงในสังคมไทยมากที่สุด เชื่อได้ว่าเกือบทุกคนคงจะต้องตอบว่า..แรงเงา ดังจะเห็นได้จากการสำรวจ ไม่ว่าตามบ้านเรือน ร้านค้า และกระแสความแรงบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นยอดเข้าชมละครย้อนหลังบน Youtubeหรือการพูดคุยผ่าน Social Media ทั้งบน Facebook และเว็บบอร์ดต่างๆ จนบางคนถึงกับเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า วันแรงเงาแห่งชาติ กันเลยทีเดียว
ด้วยเนื้อหาที่เป็นไปตามแบบฉบับของละครยอดนิยมของไทย ที่จะต้องมีเรื่องครอบครัว เรื่องผัวๆ เมียๆ เมียหลวง เมียน้อย ทะเลาะตบตีกัน ซึ่งเนื้อเรื่องแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่อะไรคือสาเหตุที่ทำให้แรงเงา กลายเป็นกระแสที่แรงเป็นพิเศษในปีนี้ วันนี้สกู๊ปหน้า 5 เรามีคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยามาไขข้อข้องใจ ทั้งในแง่ของตัวละคร และปรากฏการณ์ แรงเงาฟีเวอร์ มาให้ทุกท่านได้ทราบกัน แล้วจะรู้ว่า..ละครไม่ได้ไร้สาระอย่างที่คิด
ครอบครัว ผู้ลิขิตชะตามนุษย์
คุณเคยเกิดคำถามขึ้นไหมว่า..ทำไมคนแต่ละคนถึงได้มีความแตกต่างกันทางความคิด บุคลิก อุปนิสัย ได้มากมาย และไม่ใช่เพียงแค่คนที่ไม่เกี่ยวข้องกันเท่านั้น แม้กระทั่งพี่น้องท้องเดียวกันที่คลานตามกันมา หรือแม้กระทั่งพี่น้องฝาแฝดที่รูปร่างหน้าตาเหมือนกันจนแทบจะแยกไม่ออก ในหลายกรณีก็พบว่านิสัยต่างกันอย่างสิ้นเชิง สิ่งเหล่านี้ในทางวิทยาศาสตร์อธิบายว่าไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติ แต่มักจะมาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวคนผู้นั้นที่เป็นตัวกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง..ครอบครัว
ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงสาเหตุของความแตกต่างดังกล่าว ว่าเป็นเรื่องของการเลี้ยงดูภายในครอบครัว ที่แม้จะเป็นพี่น้องกัน แต่หากได้รับความรู้สึกจากพ่อแม่ที่ไม่เหมือนกัน เด็กก็จะซึมซับโดยอัตโนมัติ และกลายเป็นบุคลิกประจำตัวไปในที่สุด โดยยกตัวอย่างของ มุนินทร์ และ มุตา สาวพี่น้องฝาแฝด และเป็นตัวดำเนินเรื่องทั้งหมดในละครเรื่องนี้ ในทางจิตวิทยา กล่าวกันว่า สิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวหล่อหลอมความ เป็นคน เราจะรู้สึกว่าตัวเรามีบุคลิกภาพยังไง ตัวเราใฝ่หา ไขว่คว้าสิ่งใด หรือแม้กระทั่งเรามองตัวเรายังไง อ.ณัฐสุดา กล่าว
เช่นเดียวกับ ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวเสริมประเด็นนี้เช่นกัน ว่าจริงๆ แล้ว คำว่า เงา ในทางจิตวิทยา หมายถึงบุคลิกภาพที่ผู้อื่นมองเรา กล่าวคือ หากผู้อื่นมองเราอย่างไร เราก็มักจะกลายเป็นคนเช่นนั้น และการแสดงออกในสถานการณ์ต่างๆ ก็จะยึดติดกับรูปแบบที่เราเคยชินจากการหล่อหลอมดังกล่าว เช่น บางคนอาจจะแข็งกร้าว ชอบใช้ความรุนแรง ขณะที่บางคนอาจจะอ่อนแอ ชอบที่จะให้มีใครสักคนเป็นผู้ปกป้องดูแลอยู่เสมอ
พ่อแม่มองมุนินทร์ยังไงคะ มองว่าไม่ใช่ลูกรัก ไม่น่าจะนำความชื่นใจมาให้ใช่ไหม แต่พ่อแม่มารักเอาตอนที่โตแล้ว ตอนที่ประสบความสำเร็จ ตอนที่เอาชนะคนอื่นได้ นี่คือเงาที่สะท้อนบุคลิกภาพ ว่าถ้าตัวชั้นจะดีได้ ก็ต่อเมื่อต่อสู้กับคนอื่น และเอาชนะคนอื่นได้ เราดูละคร เห็นมุนินทร์ประสบความสำเร็จ ทำงานด้าน Computer Design จบปริญญาโทจากต่างประเทศ มีเงินทองมากมาย เราคงคิดว่าถ้าเป็นเราคงรู้สึกดีกับตัวเองนะ แต่เราเห็นมุนินทร์รู้สึกแบบนั้นบ้างมั้ย..ไม่เลยใช่ไหมคะ
แล้วมาดูมุตากันบ้าง ตอนเด็กๆ เป็นที่ยอมรับ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของพ่อแม่ จนกระทั่งมีจุดพลิกผัน ก็พบว่าการยอมรับในตัวเขาเปลี่ยนไป ดังนั้นสิ่งที่มุตาตามหา คือการที่มีคนปกป้องดูแล หมายความว่าเงาของเขาชัดเจน เมื่ออยู่ในการดูแลปกป้องเพราะตลอดเวลามุตาเติบโตมา ก่อนจะเข้าช่วงวัยรุ่นก็จะมีคุณแม่เป็นผู้ปกป้อง คือพ่อแม่นี่สำคัญอันดับหนึ่งเลยต่อการรับรู้ของเราคือพ่อแม่มองเรายังไง เห็นเรามีค่าตอนไหน มุนินทร์จะเห็นว่าต้องเก่งจึงจะถูกยอมรับ ส่วนมุตาถูกมองว่านุ่มนวล อ่อนโยน ก็เลยยึดติดว่าต้องอ่อนโยน นุ่มนวลตลอดเวลา อ.กุลยา กล่าว
ทั้งนี้ไม่เพียงแค่ตัวเอกอย่างฝาแฝด มุนินทร์-มุตา ที่เป็นผลจากครอบครัวมีปัญหา แม้กระทั่ง นพนภา เมียหลวงที่เติบโตมาในครอบครัวร่ำรวย ก็มีปมกับเรื่องของ เงิน โดย อ.กุลยา ตั้งข้อสังเกตว่า นพนภาเติบโตขึ้นมาด้วยคำชมจากทางบ้านว่าเป็นคนเก่ง หาเงินได้มาก ทำให้มองว่า..ปัญหาทุกอย่างแก้ได้ด้วยเงินและอำนาจ เวลานพนภาโกรธ เราจะเห็นประจำว่า นพนภากรี๊ดบ้าง ทุบรถบ้าง ทำลายข้าวของบ้าง คือทั้งเรื่องจ่ายค่าเสียหายไปแล้วไม่รู้เท่าไร จะเห็นว่าเป็นวิธีแบบใช้อำนาจ เพราะถูกทางบ้านบอกว่าหาเงินเก่ง ทำธุรกิจเก่ง พอเวลาโกรธ ก็เลยระบายด้วยการทำร้าย ทำลายสิ่งต่างๆ แล้วก็เอาเงินจ่าย สังคมก็อนุญาตอีก จนกระทั่งตอนสุดท้าย ไปทำร้ายจิตใจลูกสาวตัวเอง ทีนี้เงินแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ซึ่งเรื่องของความรู้สึก ให้มีเงินแค่ไหน ก็เอาคืนมาไม่ได้
คุณเห็น คุณค่า ของตัวเองหรือเปล่า
จากสมมุติฐานในหัวข้อข้างต้น อ.ณัฐสุดา พบว่าคนที่เคยชินในสถานะ ถูกรักอย่างมีเงื่อนไข กล่าวคือจะต้องสำเร็จเท่านั้น จึงจะรู้สึกว่าตนเองมีค่า ซึ่งในความเป็นจริงคงไม่มีใครที่จะประสบความสำเร็จ หรือชนะไปเสียทุกครั้ง โดยคนประเภทนี้ ลึกๆ แล้วจะมีความหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลา ว่าวันนี้จะทำได้ไหม วันหน้าจะทำได้หรือเปล่า ซึ่งมักจะพัฒนาไปสู่ขั้นที่รุนแรงกว่า คือจากความกลัว กลายเป็นความหวาดระแวง อย่างที่นพนภากลัวอยู่ตลอดเวลา ว่าเจนภพผู้เป็นสามี..จะไม่รักเธอ
ขออนุญาตใช้ภาษาฝรั่งสักหน่อย คือนพนภาเนี่ย รู้สึกตลอดเวลาว่า I am not OK คือรู้สึกว่าพ่อแม่จะรักก็ต่อเมื่อทำอะไรๆ สำเร็จ แต่ในความเป็นจริงคงไม่มีใครทำอะไรสำเร็จไปทุกอย่าง จึงแอบกลัวอยู่ลึกๆ ว่าวันนี้ทำได้ วันหน้าจะทำได้หรือเปล่าทีนี้พอเราไม่ OK ไม่เชื่อใจตัวเอง เราจะเชื่อใจคนอื่นหรือเปล่าคำตอบคือไม่เชื่อเลย เพราะถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่ OK เราก็จะรู้สึกว่าคนอื่นไม่ OK แล้วจะทำทุกอย่างเพื่อขัดขวาง เพราะกลัวว่าเขาจ้องทำร้ายเรา ตรงนี้เป็นเรื่องน่ากลัวมาก ทีนี้หลายคนสงสัย นพนภาก็ดูหรูหรา ดูไฮโซ ดูมั่นใจนะ มีอะไรไม่ OK หรือ ก็ให้ดูเข้าไปข้างใน เราจะสังเกตเห็น เวลาที่เขาอยู่กับคนอื่น แล้วคนอื่นไม่รู้สึก OK เขาจะพยายามยืนยันว่าตัวเองมีค่า ด้วยการกดคนอื่นให้ต่ำลง หรือปิดโอกาสไม่ให้คนอื่นได้ลุกขึ้นมา อ.ณัฐสุดา กล่าว
ข้อคิดจากละครถึงผู้ชม
อย่างที่อาจารย์ทั้ง 2 ท่านได้เน้นย้ำ ถึงปมของตัวละครที่เกิดจากการเลี้ยงดูของครอบครัว จนกลายมาเป็นบุคลิกภาพที่แสดงออก ไม่ว่าจะเป็นความแข็งกร้าว ชอบเอาชนะอย่างมุนินทร์กับนพนภา หรือความอ่อนแอ ต้องการใครสักคนมาปกป้องดูแลอย่างมุตาดังนั้นประเด็นแรกที่อยากฝากถึงผู้ชมละครเรื่องนี้ คือบทบาทที่เหมาะสมของพ่อแม่ ว่าพร้อมที่จะเลี้ยงลูกอย่างเข้าใจหรือไม่
ถ้าอนาคตเราจะมีครอบครัว แล้วสมมุติว่าเราทำตัวกรี๊ดสลบ ตบแหลกแบบนพนภา ถามว่าครอบครัวจะเป็นยังไง ดูอย่างลูกๆ ของนพนภา ละครพยายามให้เราเห็นชัด ว่าแบบแผนมันถ่ายทอดจากการเลี้ยงดู ถ้าเราไม่หยุดและตระหนักถึงแบบแผนนี้ลูกก็จะเรียนรู้ว่าถ้าจะแก้ปัญหา ก็จะแก้เหมือนเรา อ.ณัฐสุดา กล่าว
ประเด็นที่ 2 ซึ่งหลายคนอาจจะมองข้าม คือบริบทของสังคมที่อยู่รอบๆ ตัวละครหลัก หรือแม้แต่ตัวของผู้ชมละครก็เช่นกัน ว่าเสพติดความรุนแรงเกินไปหรือไม่ โดย อ.กุลยา ตั้งข้อสังเกตถึงฉากในละครที่มีการตบกัน ว่านอกจากคนที่มุงดูจะไม่เข้าไปห้ามแล้ว หลายคนยังซ้ำเติมด้วยการถ่ายคลิปวีดีโอ ซึ่งก็ตรงกับหลายเหตุการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริง ที่เวลาเห็นคนอื่นมีเรื่องมีราว หลายคนแทนที่จะห้าม แต่กลับยั่วยุ เติมเชื้อไฟให้มีเรื่องบ้าง หรือถ่ายรูป ถ่ายคลิปวีดีโอไปอวดกันในสังคมออนไลน์บ้าง ลองนึกถึงเวลาเราถูกทำร้าย แล้วไม่มีใครช่วยเลย มีแต่คนถ่ายวีดีโอ แล้วจะรู้สึกยังไง คือเจ็บตัวไม่เท่าไร แต่มันเจ็บใจ เสียใจว่าคนอื่นไม่ได้เห็นอกเห็นใจเราเลยหรือ คือมันเหมือนความเป็นคนของเราหายไป
ประเด็นสุดท้าย ฝากถึงผู้ชมละคร ที่อาจจะรู้ตัวว่ามีพฤติกรรมบางอย่างที่ แรง แล้วอยากจะลด ละ เลิก แต่รู้สึกว่าทำได้อย่าง เมื่อต้องเจอกับสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ที่ยั่วยุพฤติกรรมดังกล่าวตลอดเวลา จนมักจะพูดติดปากว่า ฉันไม่มีทางเลือกอื่น ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป แท้ที่จริงแล้ว เราสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น จนเกิดความภูมิใจในตัวเอง โดยที่ไม่ต้องเอาชีวิต เอาคุณค่าของตนไปฝากไว้กับผู้อื่นได้เสมอ หากแต่ต้องอดทน และพยายามกันมากหน่อยเท่านั้น ในการต่อสู้กับสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ที่จะเข้ามาขัดขวาง
ถ้าต้องอยู่กับสิ่งแวดล้อมเดิมๆ จะทำยังไง ก็ต้องยืนหยัดเข้าไว้ และต้องตระหนักรู้ให้มาก ว่าสิ่งแวดล้อมกำลังกระตุ้นให้เรากลับไปอยู่ในแบบแผนเดิมๆ ที่อาจทำร้ายตัวเราเอง และถ้าเราไหลตามมัน เราก็จะกลับไปอยู่แบบเดิมๆ อันนี้ต้องใช้เวลานะคะ แต่ถามว่าเปลี่ยนได้ไหม เปลี่ยนได้ เรารู้ว่าสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพล แต่เราก็เลือกได้ว่าเราจะดำรงชีวิตแบบไหน อ.ณัฐสุดา กล่าวทิ้งท้าย
จะเห็นได้ว่า หากเราเลือกที่จะดูละครอย่างใช้ความคิดพิจารณา จะพบว่าเนื้อหาในละคร มักจะแฝงประเด็นบางอย่างให้ผู้ชมได้รับเสมอ อย่างที่คำโบราณได้กล่าวว่า ดูละครแล้วย้อนดูตัว หรือ บทประพันธ์ใดๆ มักมีเค้าโครงมาจากความจริง
ซึ่งคุณค่าดังกล่าว มีความหมายมากกว่าฉากบู๊ ฉากอารมณ์แรงๆ ที่เป็นเพียงเปลือกนอกเท่านั้น
SCOOP@NAEWNA.COM
ืที่มา :
http://www.naewna.com/scoop/31585
จากคุณ |
:
Siam Shinsengumi
|
เขียนเมื่อ |
:
26 พ.ย. 55 20:18:58
A:204.45.133.74 X: TicketID:360979
|
|
|
|