Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    ### เลือด เลือด เลือด ###

    "เลือด" ของเหลวสำคัญที่ไหลเวียนอยู่ทั่วร่างกายเพื่อนำพาออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงเซลล์ของอวัยวะอื่นๆ ตลอดเวลา หากร่างกายสูญเสียเลือดเป็นปริมาณมากจะส่งผลให้ออกซิเจนที่จะไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ มีไม่เพียงพอและเสียชีวิตในที่สุด ทำให้มนุษย์เกิดความคิดที่จะถ่ายเลือดให้แก่กันเพื่อรักษาอีกชีวิตหนึ่งเอาไว้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้เลือดของทุกคนเข้ากันได้ดี แต่ในที่สุดก็สามารถทำได้หลังจากการค้นพบและจำแนกหมู่เลือดได้ครั้งแรกเมื่อร้อยกว่าปีก่อน
         
          วันที่ 14 มิ.ย. ของทุกปีถูกกำหนดให้เป็นวันผู้บริจาคโลหิตโลก (World Blood Donor Day) เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันเกิดของ คาร์ล ลันด์สไตเนอร์ (Karl Landsteiner) นักวิทยาศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลปี 1930 สาขาการแพทย์ผู้ค้นพบและจำแนกหมู่เลือดได้เป็นครั้งแรกในระบบเอบีโอ (ABO system) ซึ่งต่อมามีประโยชน์ทางการแพทย์เป็นอย่างมาก สามารถช่วยชีวิตผู้คนได้มากมาย
         
          คาร์ล ลันด์สไตเนอร์ เกิดเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.1868 ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย บิดาของเขาเป็นทั้งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ นักข่าว และทนายความ ลันด์สไตเนอร์ จบการศึกษาด้านแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวียนนา (University of Vienna) เมื่อปี 1891 ซึ่งต่อมาเขาได้เป็นศาสตราจารย์ด้านพยาธิวิทยานี่ ทว่าลันด์สไตเนอร์เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายขณะทำงานอยู่ในแล็บเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.1943 ด้วยวัย 75 ปี
         
          ความพยายามรักษาผู้ป่วยที่สูญเสียเลือดด้วยการถ่ายเลือดจากคนปกติมาให้ มีมานานแล้วในวงการแพทย์ แต่ยังไม่มีใครได้ทดลองทำ จนกระทั่งริชาร์ด โลเวอร์ (Richard Lower) แพทย์ชาวอังกฤษทดลองถ่ายเลือดจากสุนัขให้สุนัข ในปี 1665 และไม่พบว่ามีอะไรผิดปกติ
         
          ต่อมาในปี 1667 ฌอง แบบติส เดอนีย์ส (Jean Baptiste Denys) แพทย์ชาวฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการทดลองถ่ายเลือดคนแรก โดยนำเลือดจากแกะไปสู่เด็กชายคนหนึ่ง และหลังจากนั้นเดอนีย์สก็ได้ถ่ายเลือดจากแกะให้กับผู้ป่วยชายอีก 2 คน แต่โชคร้ายที่คนหลังเสียชีวิต
         
          ทั้งนี้เดอนีย์สได้บันทึกไว้ว่า ครั้งแรกที่ถ่ายเลือดให้ไม่มีพบสิ่งผิดปกติ ครั้งที่ 2 ผู้ป่วยมีอาการตัวร้อน ชีพจรเต้นเร็ว และปวดหลัง กระทั่งเสียชีวิตหลังจากที่ขาถ่ายเลือดให้เป็นครั้งที่ 3 จนเกิดเป็นคดีความขึ้นมาเพราะเป็นที่เชื่อว่าผู้ตายเสียชีวิตจากการถ่ายเลือด แต่ก็พ้นผิดมาได้เนื่องจากตรวจพบสารหนูในร่างกายผู้ตายด้วย นับแต่นั้นมารัฐบาลฝรั่งเศสและอังกฤษก็ประกาศห้ามมีการถ่ายเลือดโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้เรื่องนี้หยุดชะงักไป
         
          ร้อยกว่าปีต่อมา เจมส์ บลันเดลล์ (James Blundell) สูตินรีแพทย์ชาวอังกฤษต้องการช่วยชีวิตหญิงผู้หนึ่งที่ตกเลือดมากหลังคลอดบุตร จึงถ่ายเลือดจากสามีของเธอให้และช่วยชีวิตเธอไว้ได้ นับเป็นครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จในการถ่ายเลือดจากคนสู่คน ทำให้มีการทดลองถ่ายเลือดจากคนสู่คนต่อมาอีกมาก มีทั้งที่ได้ผลดีและผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตหลังการถ่ายเลือด
         
          อุปสรรคที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นคือ เลือดของผู้ให้มักแข็งตัวก่อนถึงผู้รับ ซึ่งต่อมาไม่นานก็แก้ไขได้โดยใช้โซเดียม ฟอสเฟท (sodium phosphate) ป้องกันการแข็งตัวของเลือด แต่ปัญหาสำคัญที่พบมากกว่าและยังไม่มีวิธีแก้เป็นเวลาหลายสิบปีคือ เกิดปฏิกิริยาที่ทำลายเม็ดเลือดแดงในผู้รับ เป็นผลให้เกิดอาการช็อคและเสียชีวิตในที่สุด
         
          จากปัญหานี้ทำให้แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้นพยายามค้นหาสาเหตุและวิธีแก้ไข รวมทั้งลันด์สไตเนอร์ ซึ่งเป็นทั้งแพทย์และนักชีววิทยาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเวียนนา กระทั่งปี 1900 ลันด์สไตเนอร์ ได้ทดลองเจาะเลือดของผู้ร่วมงานจำนวน 6 คน แล้วนำไปปั่นแยกเม็ดเลือดแดงกับน้ำเหลือง หรือ ซีรัม (Serum) ออกจากกัน จากนั้นทดลองนำเม็ดเลือดแดงและซีรัมที่แยกได้ของแต่ละคนมาทำปฏิกิริยาสลับกันไปมา บางคู่ผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน บางคู่เม็ดเลือดแดงจับกลุ่มกันแล้วตกตะกอน (Agglutination)
         
          ลันด์สไตเนอร์ ตั้งสมมติฐานว่าเลือดของคนเราน่าจะมีคุณสมบัติทางเคมีบางประการแตกต่างกัน และหากมีการให้เลือดที่ไม่ตรงกันจะทำให้เม็ดเลือดแดงจับกลุ่มตกตะกอน เมื่อเขาศึกษาก็พบว่าบนผิวเซลล์เม็ดเลือดแดงมีสารที่เป็นโปรตีนเรียกว่าแอนติเจน (Antigen: Ag) อยู่ 2 ชนิด คือ แอนติเจนเอ (Ag A) และ แอนติเจนบี (Ag B)
         
          ส่วนในซีรัมพบว่ามีโปรตีนที่เรียกว่า แอนติบอดี (Antibody: Ab) อยู่ 2 ชนิดเช่นกัน คือ แอนติบอดีเอ (Ab A) และ แอนติบอดีบี (Ab B) ต่อมาในปี 1901 ลันด์สไตเนอร์ได้สรุปว่าหมู่เลือดของคนเราแบ่งออกเป็น 3 หมู่ คือ เอ, บี และ ซี โดยใช้ชนิดของแอนติเจนที่เกาะอยู่บนผิวเซลล์เม็ดเลือดแดงเป็นตัวจำแนก
         
         
          - หมู่เลือดเอจะมีแอนติเจนเอและแอนติบอดีบี ( หมู่ A : Ag A และ Ab B)
         
          - หมู่เลือดบีจะมีแอนติเจนบีและแอนติบอดีเอ ( หมู่ B : Ag B และ Ab A)
         
          - หมู่เลือดซีนั้นเป็นหมู่ที่ไม่แอนติเจนชนิดใดเลย แต่มีแอนติบอดีทั้งเอและบี (หมู่ C : Ab A และ Ab B)
         
          ต่อมาลันด์สไตเนอร์ได้เปลี่ยนชื่อหมู่เลือดซีเป็นหมู่เลือดโอ เพื่อสื่อถึงความว่างเปล่า เพราะกลัวว่าจะมีคนเข้าใจผิดคิดว่าเลือดหมู่ซีเป็นเลือดที่มีแอนติเจนซีอยู่
         
          อีกหนึ่งปีให้หลัง อัลเฟร็ด ฟอน เดอคาสเตลโล (Alfred von Decastello) และอันเดรียโน สเตอร์ลี (Adriano Sturli) แพทย์ที่ร่วมงานกับลันด์สไตเนอร์ ได้จำแนกหมู่เลือดที่ 4 คือ หมู่เลือดเอบีได้ หลังจากพบว่าบนผิวเซลล์เม็ดเลือดแดงของบางคนมีแอนติเจนทั้ง 2 ชนิดเกาะอยู่ และไม่พบแอนติบอดีใดๆ อยู่ในพลาสมา
         
          จากการค้นพบและจำแนกหมู่เลือดของลันด์สไตเนอร์และเพื่อนร่วมงาน ทำให้การถ่ายเลือดให้ผู้ป่วยในระยะต่อมามีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และส่งผลให้ลันด์สไตเนอร์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี 1930 แต่ยังพบผู้ป่วยบางรายที่มีปฏิกิริยาต่อการถ่ายเลือดแม้ว่าแพทย์จะดำเนินการตามวิธีที่ถูกต้องแล้วก็ตาม
         
          ต่อมาเมื่อปี 1939 ฟิลิป เลวีน (Philip Levine) และอาร์.อี. สเตทสัน (R.E. Stetson) 2 นักวิทยาศาสตร์ได้ถ่ายเลือดให้หญิงผู้หนึ่งที่เสียเลือดมากจากการคลอดบุตรซึ่งบุตรของเธอเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เมื่อพวกเขาศึกษาก็พบว่าเลือดของเด็กที่ตายในครรภ์มีปฏิกิริยากับเลือดของมารดา แต่ตอนนั้นเข้าในว่ามารดาของเด็กที่เสียชีวิตอาจได้รับสารบางอย่างที่ไปทำอันตรายเม็ดเลือดแดงของบุตรในครรภ์
         
          ในปี 1940 ลันด์สไตเนอร์ และเพื่อนร่วมงาน อเล็กซ์ วีนเออร์ (Alex Wiener) ค้นพบหมู่เลือดระบบอาร์เอช (Rh) หลังจากที่ได้ทดลองฉีดเลือดจากลิงเรซัส (Rhesus monkey) เข้าไปในกระต่าย พบว่าน้ำเหลืองของกระต่ายทำปฏิกิริยากับเม็ดเลือดแดงของลิง ซึ่งทำปฏิกิริยากับเม็ดเลือดแดงของคนทั่วไปด้วย ต่อมาพบว่าแอนติเจนที่พบในลิงเป็นชนิดเดียวกับที่พบในคน แต่ไม่มีส่วนสัมพันธ์กับหมู่เลือดระบบเอบีโอ พวกเขาจึงคิดว่าสาเหตุที่ทำให้การถ่ายเลือดในผู้ป่วยบางรายมีปัญหาอาจเป็นเพราะเลือดอยู่หมู่เดียวกันในระบบเอบีโอแต่อยู่อยู่ต่างหมู่ในระบบ Rh
         
          ระบบ Rh จำแนกจากแอนติเจนชนิด Rh บนผิวเซลล์เม็ดเลือดแดง (Rh มาจาก Rhesus) หมู่เลือดอาร์เอชบวก (Rh positive: Rh+) จะมีแอนติเจน Rh และไม่มีแอนติบอดี ส่วนหมู่เลือดอาร์เอชลบ (Rh negative: Rh-) ไม่มีแอนติเจน Rh แต่สามารถสร้างแอนติบอดีขึ้นมาได้เมื่อได้รับเลือด Rh+
         
          การให้เลือดนอกจากจะพิจารณาหมู่เลือดในระบบ ABO แล้ว ยังต้องคำนึงถึงหมู่เลือดในระบบ Rh ด้วย
         
          สำหรับหลักการการให้เลือดมีอยู่ว่า แอนติเจนในเลือดของผู้ให้ต้องไม่ตรงกับแอนติบอดีในเลือดของผู้รับ ฉะนั้น หมู่เลือดโอจึงให้กับผู้รับได้ทุกหมู่แต่จะรับได้จากหมู่เลือดโอเท่านั้น ขณะที่หมู่เลือดเอบีจะให้ได้แต่เฉพาะหมู่เลือดเอบีแต่สามารถรับได้จากทุกหมู่
         
          และเมื่อพิจารณาในระบบ Rh ผู้ที่มีเลือด Rh+ สามารถรับได้ทั้ง Rh+ และ Rh- แต่ผู้ที่มีเลือด Rh- สามารถรับเลือด Rh+ ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เพราะเกิดการสร้างแอนติบอดีขึ้นซึ่งจะเป็นอันตรายมากหากได้รับในครั้งต่อไป
         
          ในคนไทยพบหมู่เลือด Rh- 0.3% ขณะที่พบหมู่เลือดนี้ในชาวยุโรปมากว่า โดยในอังกฤษพบถึง 20% และเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เด็กแรกคลอดที่มีเลือด Rh+ เสียชีวิตได้เมื่อแม่ของเด็กมีเลือด Rh- แต่พ่อมีเลือด Rh+ เรียกว่า โรคอาร์เอช (Rh disease) หรือ อีริโทรบลาสโตซิส ฟีทาลิส (Erythroblastosis fetalis) โรคโลหิตจางที่ทำให้เด็กแรกเกิดเสียชีวิต



    credit : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000068798

    จากคุณ : จิ๊กโก๋ซอย 1+1 - [ 15 มิ.ย. 50 00:11:53 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom