ความคิดเห็นที่ 4
30 ปี เบียร์ไทย ในอังกฤษ เรื่องสัปดาห์นี้ ผมจะไม่เขียนก็คงไม่ได้ เพราะหาไม่แล้ว ผมอาจจะพลาดการ สะท้อน มุมมองบางมุมจากประเทศอังกฤษในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่ทำงานด้านสื่อไป กล่าวก็คือ ผมมีความรู้สึกว่า 99% ยามบ้านเรา ไทยแลนด์ ตกเป็นข่าวในอังกฤษ ส่วนใหญ่จะหนีไม่พ้นเรื่องใน แง่ลบ เช่น คนอังกฤษมาเสียชีวิตบ้านเรา อาจจะถูกฆ่า หรือประสบอุบัติเหตุแบบไม่ควรเช่น เรือล่ม หรือล่าสุดก็คือ โศกนาฏกรรม เครื่องบินที่เกาะภูเก็ต หรือข่าวหญิงไทยถูกหลอกไปขายบริการ ฯลฯ และ ฯลฯ ที่ไม่ได้ช่วยสร้าง ภาพลักษณ์ เมืองไทยในสายตาฝรั่งตะวันตกอย่างอังกฤษเสียเท่าไหร่ นี่ยังดีนะครับที่เดี๋ยวนี้ พ.ศ.นี้ ฝรั่งเดินทางมาพักผ่อนบ้านเรามากขึ้น และมากขึ้น ดังนั้นพอฝรั่งเหล่านี้ได้มาเปิดหูเปิดตาเจอประเทศที่งดงามทางวัฒนธรรม และความเป็นกันเอง+เฟรนด์ลีย์ของคนไทยเข้าไป ความประทับใจก็เกิดขึ้น และนำไป บอกต่อ เหมือนตอนที่เรา ๆ ท่าน ๆ บอกต่อ ว่าสินค้านี้ดี หรือร้านอาหารนี้อร่อยนั่นแหละครับ ดังนั้น การ บอกต่อ หรือ Word of mouth จึงจัดเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่มีอานุภาพมากที่สุด และถูกที่สุด หากจะว่ากันแล้ว เมื่อรู้อย่างนี้ก็อย่าลืม เอื้อเฟื้อ ฝรั่งนักท่องเที่ยวหน่อยนะครับ และหากทำอะไรไม่ได้ก็ขอให้ ยิ้มสยาม เข้าไว้ก่อนเป็นดีครับ (แฮ่ ๆ) ทีนี้...หากไม่ใช่ ข่าวลบ ข้างต้น ประเทศไทยจะมีอะไร ชูธง ให้ฝรั่งอังกฤษได้นึกถึงได้บ้างในตอนนี้? และมันคงจะไม่เกินเลยไปจริง ๆ หากจะบอกว่า การ เทคโอเวอร์ ของคุณทักษิณ ชินวัตร และชื่อเรียก แฟรงค์ ของเค้าน่าจะติดอันดับต้น ๆ บนริมฝีปากคนอังกฤษเวลานี้ นอกจากชื่อคุณทักษิณแล้ว อีกหนึ่งชื่ออย่าง เบียร์สิงห์ หรือที่ฝรั่งผู้ดีอ่านออกเสียงว่า สิงหา (ตามตัวสะกดภาษาอังกฤษ Singha) น่าจะเป็นอีกชื่อในอันดับต้น ๆ ผมเองตอนเสิร์ฟอาหารในร้านอาหารไทยซึ่งก็ทำอยู่หลายปี ตัวเองก็จะคอย แก้คำ ให้ฝรั่งประจำ และจะบอกว่า คนไทยออกเสียงว่า สิงห์ ไม่ใช่ สิงหา นะ แต่ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะตัวสะกด (Alphabet) ภาษาไทย เวลาแปลงเป็นภาษาอังกฤษแล้วมันเทียบได้เช่นนั้น ทว่าหากออกเสียงให้ถูกเหมือนเจ้าของภาษาอย่างไอจริง ๆ พวกคุณต้องอ่านว่า สิงห์ แก๊กแบบนี้ ฝรั่งชอบครับ เพราะเค้าไม่มีทาง เข้าใจ และรู้ได้เลยว่า ที่ถูก/ผิดนั้นเป็นเช่นไรหากไม่ได้รับการแก้ไขจากเจ้าของภาษา ซึ่งก็เหมือนกับตอนเราพูดภาษาอังกฤษนั่นแหละครับที่จะไม่มีทางรู้เลยว่า พูดผิด กระทั่งโดนเจ้าของภาษาแก้ให้ ผมเองมีคำง่าย ๆ เช่น Orange juice หรือน้ำส้มคั้นที่ควรออกเสียงว่า ออร์เรนจ์ จูซ แต่ผมไปพูดเป็น ออร์เรนจ์ จุซ ตอนเสิร์ฟอาหารอยู่ประมาณ 3 ปีกระทั่งวันหนึ่งแขกอังกฤษของร้านท่านหนึ่ง (มาบ่อยจนเริ่มสนิทกันก็ช่วยแก้ให้) ทั้งนี้ ผมเองก็ต้องเข้าใจว่า คนอังกฤษนั้น Reserved หรือจะไม่ค่อยแสดงออก หรือออกความเห็นตรง ๆ นัก แต่จะเลือกเก็บความรู้สึกมากกว่า การที่จะ เอ่ยปาก แนะนำได้จึงต้องเป็นคนที่เอ็นดู หรือสนิทกับเราจริง หรือไม่เราก็ต้องถามเอง หาไม่แล้วก็คงเลยตามเลย อีกคำหนึ่งที่นึกได้ก็คือคำว่า จุดโทษ หรือ Penalty ที่ผมออกเสียงโดยเน้นเสียงสูงที่พยางค์ที่ 2 อยู่หลายปีก่อนนักข่าวรุ่นพ่อจาก เดลี เมล์ หนังสือพิมพ์อังกฤษจะช่วยแก้ให้ว่าต้องเน้นที่พยางค์แรก ...นอกเรื่องซะนาน มาต่อที่เรื่องเบียร์สิงห์ดีกว่า เพราะว่าปีนี้ (2007) ก็คือปีที่ 30 ของเบียร์สิงห์ในประเทศอังกฤษนับจากการนำเข้ามาทดลองตลาดของ คุณพันทิพา ปาลีวงศ์ เทอร์เรล จำนวน 500 ลังในปี ค.ศ.1976 ที่ผมหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะนิตยสาร ไทยสไมล์ ที่ตัวเองเป็นบรรณาธิการอยู่ที่อังกฤษมีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณพันทิพา และทีมบริหารของ เบียร์สิงห์ ลงแมกกาซีนฉบับเดือนกันยายน 2007 พอดี และเหลือเชื่อว่า จากวันนั้นกระทั่งวันนี้ เบียร์สิงห์ในอังกฤษเติบโตระดับมีป้ายบิลบอร์ด, ป้ายโฆษณาชื่อเต็มของกรุงเทพมหานครในสถานีรถไฟใต้ดิน, ป้ายข้างรถเมล์, รถแท็กซี่ และอื่นๆ และจะมีตามมาอีกในทุก ๆ เดือนตลอด 12 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ในซูเปอร์มาร์เกตชั้นนำอย่าง Sainsbury's, Tesco, Waitrose และในอนาคตอันใกล้ที่ Asda รวมถึงบริษัทในกลุ่มเบียร์ (ตามผับดัง)ได้แก่ JD Wetherspoons, Punch Taverns, Young &Co, Fuller Smith & Turner Public houses. ก็ยังหาซื้อ เบียร์สิงห์ ได้ ที่น่าสนใจก็คือ เบียร์สิงห์ ในอังกฤษมียอดเติบโตปีละ 30% และขายได้มากกว่ายอดรวม เบียร์สิงห์ ทั่วยุโรปรวมกันเสียอีก ผมเองเขียนเรื่องนี้เพราะทึ่งกับความสำเร็จในวันนี้ของ เบียร์สิงห์ ในอังกฤษที่คุณพันทิพาเป็นคนบุกเบิก และดีใจที่ประเทศไทยก็มีอะไรอีกหนึ่งอย่างให้ฝรั่งนึกถึง และดีใจเหมือนอยู่บ้านที่ตามซูเปอร์มาร์เกต หรือผับผู้ดีมีสินค้าไทยอย่างน้อย ๆ 1 แบรนด์อยู่บนหิ้ง เขียนแบบนี้ไม่ใช่ว่าโฆษณาให้เบียร์สิงห์ หรือคุณพันทิพานะครับ เพราะแม้จะรู้จักกันแต่ก็ไม่ได้สนิทสนมอะไร ขณะที่ เบียร์ช้าง ก็อย่าน้อยใจเป็นอันขาด เพราะฝรั่งรุ่นใหม่ ๆ หน่อยก็จะถามถึง เบียร์ช้าง ไม่น้อยเหมือนกันในปัจจุบัน อย่างน้อย ๆ ก็คือชื่อ ช้าง นั้นเรียกง่ายกว่าสำหรับฝรั่งครับ และก็กำลังเติบโตเรื่อย ๆ ในอังกฤษเหมือนกัน แต่คงต้องใช้เวลา เพราะเบียร์ Chang เพิ่ง โก อินเตอร์ จากทวีปเอเชียสู่ โกลบอล ผ่านสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันได้ไม่นาน สุดท้ายคือขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ คุณวชิระ เงยไพบูลย์ พี่ชายคุณปู กอบโชค เงยไพบูลย์ แห่งร้านอาหาร สราญรมย์ ด้วยครับ ที่เสียชีวิตกะทันหันบนเครื่องบินระหว่างบินกลับประเทศไทยเมื่อต้นเดือนกันยายน 2550 ที่ผ่านมา ร้าน สราญรมย์ คือร้านอาหารไทยติดริมแม่น้ำเทมส์ ลอนดอน ที่จัดว่าเชิดหน้าชูตาที่สุดของชาวไทยในอังกฤษตอนนี้ครับ และเหมือนกับเป็นอีกสัญลักษณ์ของเมืองไทยได้เหมือนกัน พูดถึงร้านอาหาร จริง ๆ ก็มีอีกหลายร้านไทยที่สร้างชื่อเสียงให้อาหารไทย และเมืองไทยนะครับ เช่น ร้าน Blue Elephant หรือไทยสแควร์ เขียนไปเขียนมาก็รู้สึกว่า อังกฤษมีอะไรหลายอย่างของคนไทยที่เชิดหน้าชูตาเยอะเหมือนกัน และผมคงตกหล่นอะไรไปอีกเยอะครับ อาทิ วัดไทยชื่อดังอย่าง วัดพุทธปทีป วิมเบิลดัน (ครบรอบ 42 ปีไปเมื่อ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา) อันเป็นวัดไทยแห่งแรกในสหราชอาณาจักร และยุโรป เอาไว้ว่าง ๆ นาน ๆ ทีแบบนี้ ผมค่อยมานอกเรื่องกีฬาให้ฟังกันอีกแล้วกันครับ.
ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=46120&NewsType=2&Template=1
จากคุณ :
Angkor_One
- [
2 ต.ค. 50 11:02:27
]
|
|
|