ความคิดเห็นที่ 1
ประสบการณ์ตอนกู้เงินเรียนที่อังกฤษ ผมมี ข้อสังเกต อยู่ว่าทุกครั้งที่ตัวเองเขียนเรื่องที่ไม่ใช่กีฬาหรือฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัพเพเหระส่วนตัวที่ควร/ไม่ควรเล่าหรือทั่วไปชาวบ้าน ๆ ฟีดแบ็ก จากคุณผู้อ่านจะดีมากจนผม แอบคิด ว่า เห็นท่าตรูเลิกเป็นคอลัมนิสต์กีฬาไปเลยจะดีไหมหนอ? เพราะอีเมลจะสอบถามเข้ามามาก เฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเรื่องความเป็นอยู่ใกล้ตัว เช่น เรียนหนังสือต่างแดน, ทำงาน และร้านอาหารไทยในอังกฤษ ฯลฯ ก็เอาเป็นว่า ผมจะพยายามนำเสนอเรื่องลักษณะนี้ที่ไม่ใช่กีฬาให้บ่อยขึ้นนะครับ เอาเป็นว่าเดือนละซัก 1 ครั้งน่าจะไหว และคงต้องให้คุณผู้อ่านช่วย ถาม หรือ แนะนำ เรื่องที่สนใจเข้ามาด้วยนะครับ เผื่อไว้ว่าตอนผมหมดแก๊กก็จะได้หยิบประเด็นจากทุกท่านมานำเสนอ อย่างงานฉบับที่แล้ว ผมได้เขียนคร่าว ๆ เรื่องความฝันสูงสุดของตัวเองที่อยากจะมีส่วนได้ร่วมบริหารจัดการทีมฟุตบอล หรือองค์กรกีฬา แต่ก็ได้ แทรก เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องเรียนปริญญาโท ด้านธุรกิจฟุตบอล (MSc.The Business of Football) ที่เรียนมา 5 ปีเพิ่งจบไว้ด้วย โดยในเนื้อหามีส่วนเล็กกระจิดเดียวที่ผมเรียนไปว่าได้กู้เงิน ธนาคาร บาร์เคลย์ส ของอังกฤษอันเป็นธนาคารผู้ให้การสนับสนุนฟุตบอลพรีเมียร์ลีกมาเรียนเป็นเงินประมาณ 10,000 ปอนด์ หรือ 7 แสนบาท เท่านั้นแหละครับ และโดนเลย เพราะคุณศรุต วงษ์อารี (ขออนุญาตเอ่ยนามนะครับ) ที่เมล์มาบอกว่า เพิ่งเรียนจบปริญญาตรี และอยากจะไปอังกฤษเพื่อศึกษาต่อ พร้อมถามว่าจะ กู้เงิน บ้างได้อย่างไร? ตอบจากประสบการณ์ล่าสุด และที่ทราบมาเลยนะครับว่า สถานการณ์ปัจจุบันในการ กู้เงิน สำหรับนักเรียนนั้นค่อนข้างยาก หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลยหากเทียบกับยุคของผม ผมจำได้ว่า ตัวเองเปิดบัญชีกับบาร์เคลย์สตั้งแต่ปลายปี 1997 โดยมีพี่เจ้าของร้านคนไทยท่านหนึ่งมีพระคุณพาไปเปิดบัญชีให้โดยที่ทำได้เพราะเค้าเป็นเจ้าของกิจการ และมีบัญชีอยู่สาขานั้นอยู่แล้ว ก็คล้าย ๆ กับ ค้ำประกัน ให้แหละครับ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยใช้จดหมายโรงเรียนไปช่วยเปิดบัญชีมาแล้ว 2 หน แต่หลักฐานโน่นหลักฐานนี่ขาดจนเซ็ง และก็มีเพื่อนหลายคนเหมือนกันที่หนีไปเปิดธนาคารอื่น เช่น NatWest เพราะเปิดบัญชีง่ายกว่าเฉพาะอย่างยิ่งกับนักเรียน โดยที่การใช้ภาษาผิด และเปิ่น ๆ เหมือนคนไทยหลาย ๆ คนที่ว่า I would like to open the bank here หรือผมอยากจะขอเปิดธนาคารที่นี่ (แปลแบบไทย) แทนที่จะเป็น I would like to open the account with you หรือผมอยากจะขอเปิดบัญชีกับคุณได้ไหม ซึ่งถูกต้องกว่า ไม่น่าจะเป็นสาเหตุนะ (แหะ ๆ) แต่พอพี่คนนั้นไปด้วย ผมไม่ต้องใช้หลักฐานอะไรเลย และเปิดธนาคาร เอ๊ย...ไม่ใช่ เปิดบัญชีกับธนาคารบาร์เคลย์สได้ทันที ทว่าสมัยนี้ หากไม่ใช่นักเรียน ฟูลไทม์ เรียนมหาวิทยาลัย ธนาคารทุกแห่งของอังกฤษจะไม่เปิดบัญชีให้เหมือนสมัยก่อนโน้น (10 ปีแล้วเนี่ย...เร็วจัง) แล้วครับ แต่ธนาคารจะเปิดบัญชีชั่วคราวที่ผมเดาว่าไม่ต้องมีค่าประกอบ ธุรกรรม มาก เพราะบัญชีจะมีแค่ฝาก และถอนเท่านั้นให้นักเรียนแทน ขณะที่บัตรเอทีเอ็มที่ได้รับก็จะเป็นแค่บัตรธรรมดาไม่ได้มีตราวีซ่า, มาสเตอร์ หรือแม้สัญลักษณ์เดบิตใด ๆ หรือกล่าวได้ว่า เป็นบัตรไว้ถอนเงินเท่านั้น จะไปใช้รูดบัตรซื้อของแทนเงินสดแล้วเซ็นชื่อไม่ได้ ดังนั้นโอกาสจะทำ ธุรกรรม ที่ซับซ้อนกว่านั้นเช่น กู้เงินจึงน่าจะลืมไปได้เลย อันนั้นคือ นักเรียน โรงเรียนภาษานะครับ ขณะที่ใครลงเรียนมหาวิทยาลัยซึ่งต้องใช้เวลา 1 ปีอย่างต่ำ ๆ สำหรับปริญญาโท หรือ 3 ปีสำหรับปริญญาตรีจะสามารถเปิดบัญชีได้ เหตุผลผมว่า เค้ามองที่นักเรียนมหาวิทยาลัยเป็นวัยที่โตกว่า และเงินที่ใช้เรียนนั้นมากกว่ามาก (อาจจะถึง 8-10 เท่า หรือ 10,000 ปอนด์ได้เหมือนกัน) และชีวิตความเป็นอยู่น่าจะมีความจำเป็นต้องทำ ธุรกรรม ทางการเงินมากกว่า กรณีนี้ ผมเชื่อว่าเจ้าของบัญชี เหมือนกับผมเมื่อครั้งกระโน้นสามารถ เดินดุ่ย ๆ เข้าไปคุยกับฝ่ายบุคคลธนาคาร (Personal Banking) ที่จะนั่งอยู่ที่โต๊ะในธนาคารได้เลย (เจ้าหน้าที่อีกประเภทจะอยู่ หลังเคาน์เตอร์ คอยรับฝาก/ถอน/จ่ายตังค์เท่านั้น - Counter service) เจ้าหน้าที่เหล่านี้ บางธนาคาร และบางสาขาอาจต้อง นัด ล่วงหน้า เพราะเค้าอาจยุ่งจนไม่มีเวลาพอ หรือไม่ก็ไม่ต้องการให้ลูกค้ารอ เพราะรายหนึ่ง ๆ อาจต้องปรึกษากันนานหลาย 10 นาที บาร์เคลย์ส สาขา Swiss Cottage ใกล้บ้านเก่าผม และไม่ไกลจากสนามคริกเก็ต Lord's อันเลื่องชื่อของอังกฤษจัดเป็นสาขาใหญ่ และสามารถไปนั่งรอคุยได้เลย เพราะมีเจ้าหน้าที่หลายคน ผมเองจำได้ว่า เดินไปหาคุณเจ้าหน้า ที่ชื่อ แคลร์ อายุสี่สิบกว่าแล้ว และตัดผมสั้น ๆ (ยังจำได้อยู่เลย) ในปี 2001 ช่วงปลายปี เพราะเตรียมจะเรียนปีหน้า 2002 เข้าไปก็บอกเลยว่า เรามีปัญหาต้องใช้เงิน, เหตุผลก็คือต้องการเรียนหนังสือ และอยากให้คุณช่วยตรวจสอบให้หน่อยว่า ผมมีสิทธิจะกู้เงินได้ไหม และหากได้จะด้วยดอกเบี้ยเท่าไหร่ ความงดงามอีกประการหนึ่งของการกู้ที่อังกฤษก็คือ ลูกค้าแต่ละคนจะได้ดอกเบี้ยไม่เท่ากัน (ขอโทษนะครับ ไม่ทราบจริง ๆ ว่าเมืองไทยเป็นหรือเปล่า) และตอนนั้นผมโดนดอกเบี้ยประมาณ 10% ขณะที่คนเครดิตดีมาก ๆ จะได้กู้ตอนนั้นที่ราว ๆ 6-7% เท่านั้น ผมกู้มา 1 หมื่น 2 พันปอนด์ และยังส่งอยู่จนถึงทุกวันนี้เดือนละประมาณ 200 ปอนด์รวม ๆ แล้วก็จะใช้เวลาทั้งหมด 6 ปี แต่ที่ผมกู้แล้วผ่อนได้ยาวก็เพราะผมถือวีซ่า ทำงาน จากสมัยที่เดินทางไปทำข่าวยุคนั้นให้หนังสือพิมพ์ โลกกีฬา เครือวัฏจักรที่ปิดตัวไปแล้ว ทว่าก็มีเพื่อนที่รู้จักอยู่คนหนึ่งที่ปัจจุบันนี้เปิดร้านอาหารอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านพระราม 3 ชื่อ ทวีชัย เดอะ ริเวอร์ นี่แหละวีซ่านักเรียนของแท้ และใช้วิธีเดินเข้าไปกู้ได้เหมือนกัน แต่ระยะเวลาผ่อนชำระจะสั้นกว่า ดังนั้นจึงยืนยันว่า นักเรียนที่สามารถเปิดบัญชีกับธนาคารได้ในตอนแรก หรือใครที่มีบัญชีกับธนาคารในอังกฤษน่าจะมีสิทธิ กู้เงิน ได้หากผ่านเงื่อนไขต่าง ๆ ของธนาคาร ฉะนั้นกับคำถามของน้องศรุต ในปฏิบัติผมจึงมองว่า น้องศรุต หรือใครก็ตามที่สนใจจะไปเรียนที่อังกฤษแล้วจะไป กู้เงิน เรียนมหาวิทยาลัย หรือทำงานไปด้วยแล้วเรียนแค่ภาษาอังกฤษเฉย ๆ ยังไง ๆ ก็ต้องมี เงินก้อน เตรียมไปก่อน เพื่ออย่างน้อยก็ต้องใช้ตอนขอวีซ่าก่อนไปที่เมืองไทย และเป็นค่าเล่าเรียน แต่ไปแล้วค่อยหางานทำตามร้านอาหารไทย หรือขยับขยายเรื่องธนาคารต่อไป ผมเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้ ทว่าทุกอย่างก็ขึ้นกับเหตุการณ์ หรือเคสเฉพาะตัวเช่นกันที่ผมเองก็คง สรุป ให้ไม่ได้ อย่างไรก็ดี กับการต้องการจะ จับเสือมือเปล่า หรือไม่มีเงินไปเลยนั้น ผมไม่แนะนำครับ เฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีใครรู้จักอยู่ที่โน่นด้วยจะยิ่งยากไปใหญ่ มากกว่านั้นกระบวนการขอวีซ่าตั้งแต่เมืองไทยในปัจจุบันก็ทำกันเป็นระบบที่ ข้อมูล เพิ่มเติม ผมอยากให้ลองปรึกษาจาก บริติช เคาต์ซิล หรือเอเย่นต์ตัวแทนส่งนักเรียนไปเมืองนอกดูนะครับ เพราะเค้าคงไม่คิดค่าปรึกษาอยู่แล้ว และขอให้บอกปัญหา + ความต้องการของเราไปตรง ๆ ถ้าได้ก็คือได้ ถ้าไม่ได้ก็ต้องเก็บตังค์สักก้อนก่อนนะครับ และลงคอร์สไม่แพง หรือเริ่มต้น หรือฝันจากความเป็นจริงที่เราน่าจะเอื้อมได้ถึง ทั้งนี้ สมัย 10 ปีที่แล้วก่อนผมจะไปอังกฤษ คำว่า โรบินฮู้ด หรือประมาณว่าขอวีซ่าไปให้ได้ และไปหลบอยู่ที่นั่นทั้งถูก และผิดกฎหมายแล้วเรียน หรือหางานเก็บตังค์ไปด้วยยังถือว่า หมดยุค หรือใกล้จะเป็นไปไม่ได้แล้ว ดังนั้นในยุคดิจิตอลแบบนี้ที่อะไร ๆ ตรวจสอบได้หมด โอกาสของเด็กรุ่นใหม่ที่จะทำแบบนั้นก็จะยากขึ้น ขณะที่ธนาคารเองก็เจอคนคดโกงเยอะแยะ เช่น รูดบัตรเครดิต, กู้เงิน ฯลฯ แล้วหนีกลับประเทศโดยไม่คิดใช้จนเป็นหนี้เสีย ธนาคารเองก็ต้องป้องกันตัวเอง, ประเทศชาติของเค้าก็ต้องมีนโยบายออกวีซ่าที่รัดกุมขึ้นเพื่อให้ได้คนที่เข้าไปตรงตามจุดประสงค์จริง ๆ หวังว่าทุกท่านที่อ่านคงเข้าใจนะครับ และเช่นเคยก็เขียนมาปรึกษากันได้ หรือเช็กที่เว็บไซต์ของสถานทูตอังกฤษในประเทศไทย www.britishembassy.gov.uk ครับผม โชคดีทุกคนครับ... ป.ล.ข้อมูลวันนี้อาจไม่ลึกนักเพราะเขียนจากประสบการณ์ตรง หรือเนื้อหาอาจล่อแหลมไปนิดก็ขอโทษด้วยนะครับ แต่ผมเขียนด้วยความตั้งใจดีจริง ๆ ครับ.
ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=47156&NewsType=2&Template=1
จากคุณ :
Angkor_One
- [
14 ต.ค. 50 17:41:00
]
|
|
|