ความคิดเห็นที่ 43
อังกฤษในมุม "คนในอยากออกคนนอกอยากเข้า" ผมไม่ได้จะพูดถึงการ แต่งงาน นะครับ แต่จะเป็นเรื่องการย้ายถิ่นฐานตัวเองไปอยู่ต่างประเทศของคนอังกฤษ และของคนต่างชาติที่ย้ายสวนทางเข้าไปอยู่เกาะอังกฤษซะมากกว่า พอดีได้อ่านหนังสือพิมพ์ นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ ลูกพี่ของ เดอะ ซัน เมื่อวันอาทิตย์ก่อนแล้วพบตัวเลขที่น่าสนใจ เลยนึกถึงคุณผู้อ่าน เดลินิวส์ ขึ้นมา สืบเนื่องก็เพราะ คุณผู้อ่านที่นี่จำนวนมากเลยทีเดียวสนใจเรื่องที่ไม่เกี่ยวกีฬา อาทิ การศึกษา, การใช้ชีวิต, การทำงาน ฯลฯ ที่อังกฤษกันมากอันสังเกตได้จาก ฟีดแบ็ก ที่ผมได้รับจากอีเมล ฉบับนี้ ได้จังหวะจึงหยิบ ตัวเลข อย่างเป็นทางการจากรัฐบาลอังกฤษมาฝากว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ชาวผู้ดี 250,000 คนเลือกตัดสินใจหนีอังกฤษไปตั้งรกรากที่อื่น หรือเทียบได้กับ 684 คนต่อวัน หรือ 1 คนต่อทุก ๆ 2 นาทีเลย ทีเดียว... ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2006 ถึง 21% (207,000 คน) หรือเกือบ 70% จากตัวเลข 149,000 ในปี ค.ศ.1997 และก็แน่นอนว่าปีนี้ 2008 ตัวเลขจะยิ่งเพิ่มขึ้นอีก โดยจุดหมายปลายทางยอดฮิตของคนเหล่านี้ก็คือ ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ฝรั่งเศส และสเปน เฉพาะอย่างยิ่ง 2 ประเทศแรกนั้นพูดภาษาอังกฤษด้วย ส่วน เหตุผล หลักที่คนเหล่านี้เลือกหนีประเทศบ้านเกิดไปอยู่ที่อื่นก็เพราะ เซ็งกับระบบ ภาษี แพงหูฉี่ ชนิดหามาเท่าไหร่ก็จ่ายภาษีจนน่าท้อแท้ หรือระหว่าง 10-40% ของรายได้ โดยรายได้ไม่ถึง 2,230 ปอนด์/ปี จะเสีย 10%, 2,231-34,600 ปอนด์/ปี จะเสีย 22% และมากกว่า 34,600 ปอนด์/ปี จะเสียถึง 40% ด้วยกัน ซึ่งเขียนถึงตรงนี้ก็ทำให้นึกถึงนักเตะไทย 3 คนที่เพิ่งได้เงินเดือนย้อนหลังกับแมนฯ ซิตีหลังผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายไทย และของสโมสรเรือใบสีฟ้าเคลียร์กันเรียบร้อยแล้วขึ้นมาทันที ตามรายงานลับ ๆ แต่พอทราบได้จากตัวนักเตะเองก็คือ แต่ละคนน่าจะได้เงินเดือน กันประมาณ 3 แสนบาท/ ต่อเดือน หรือราว ๆ 4,500-5,000 ปอนด์/เดือน หรือก็คือราว ๆ 54,000- 60,000 ปอนด์/ปี ดังนั้น เงินเดือนจำนวนนี้ที่เป็นเงินก่อนหักภาษีจะต้องโดนหักภาษี 40% แน่นอนตามกฎหมายอังกฤษ ข้างต้น อันจะทำให้เงินเดือนเหลือแค่ประมาณ 35,000 ปอนด์/ปี หรือแค่ 3,000 ปอนด์/เดือน หรือราว ๆ 1 แสน 9 หมื่นบาท/เดือน (หากใช้เรต 1 ปอนด์ = 65 บาท) หากคิดเป็นเงินไทยนั้นยังเยอะอยู่ครับ แต่หากคิดว่า สุรีย์ สุขะ, เกียรติประวุฒิ สายแวว และธีรศิลป์ แดงดา ต้องเสียภาษีกันคนละกว่า 1 ล้าน 5 แสนบาทต่อปี ผมคิดว่า ทุกท่านน่าจะเข้าใจได้ว่า ทำไมจึงมีคนอังกฤษที่ต้องทำงานหนัก และเสียภาษีมากจำนวนไม่น้อยคิดอยากจะหนีบ้านเกิดเพิ่มขึ้น ๆ ในแต่ละปี จริง ๆ แล้วหากจะมองว่า ภาษีที่รัฐได้ไปคือเงินที่จะนำไปใช้บำรุงประเทศก็อาจจะ ยุติธรรม ดีอยู่ แต่ปัญหาก็คือ คนเหล่านี้คิดว่า พวกเค้าเสียเปรียบ และไม่ได้คิดว่า ภาษีที่เสียไปมีประโยชน์กับตัวเค้ามากพอ ค่าครองชีพต่าง ๆ ก็สูงขึ้นทุกปีรวมถึง ค่าเดินทาง, อาหารการกิน, ที่พัก ขณะที่สาธารณูปโภคก็ไม่ได้อย่างใจ เช่น เข้าคิวรักษาตัวในโรงพยาบาลนานเป็นชั่วโมง, ขาดหมอฟันรักษา, รถไฟใต้ดิน/บนดิน ดีเลย์ สกปรก และบริการไม่คุ้มค่าตั๋ว ฯลฯ และ ฯลฯ ตามด้วยปัญหาคนนอกอยากเข้า หรือต่างชาติมี ตัวเลข เข้ามาตั้งรกรากในอังกฤษมากขึ้น ๆ เฉพาะอย่างยิ่งจากชาติในยุโรปตะวันออกที่ปัจจุบันนี้อยู่ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ที่ไม่ต้องใช้ วีซ่า ในการเดินทางเข้ามา โปแลนด์ซึ่งมีแรงงานชั้นล่างมากมาย อย่างเช่น ซ่อมประปา/ไฟฟ้า, ก่อสร้าง หรืองานสารพัดช่างซึ่งมีค่าแรงแพงจึงอพยพมาหากินกันมาก และสร้างปัญหาให้เจ้าบ้านที่ต้องแบกรับภาระแทนพอดู โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานับจาก ค.ศ.1997 ที่ผมเองเดินทางไปทำข่าว และเรียนที่ลอนดอนเป็นครั้งแรก ตัวเลขชาวต่างชาติปักหลักในอังกฤษมีเพิ่มขึ้นถึง 90% หรือจาก 327,000 เป็น 620,000 คนในปีที่ผ่านมา คนต่างชาติเฉพาะอย่างยิ่ง คนชั้นกลางลงไป (ผมไม่ได้ ดูถูก นะครับ) มักจะมี ทัศนคติ เข้ามาเพื่อกอบโกยเสียเป็นส่วนใหญ่ การเข้ามาเพื่อกอบโกยก็เช่น ทำงานในตลาดมืดด้วยการรับจ้างแล้วรับค่าแรงเป็น เงินสด อันเป็นการหลีกเลี่ยงระบบภาษีประเทศ กลุ่มคนประเภทนี้ แต่ก่อนก็มีเยอะอยู่แล้วแบบผิดกฎหมาย ทว่าเมื่อเปิดประเทศมากขึ้น คนกลุ่มนี้ยิ่งมากขึ้น และเข้ามาอยู่แบบที่เราก็คงต้อง เข้าใจ ในฐานะ เจ้าบ้าน เพราะประเทศไทยก็เจอปัญหาแบบนี้กับ แรงงานต่างด้าว เหมือนกัน ธรรมชาติของแรงงานต่างด้าวทั้งถูก/ผิดกฎหมายก็คือ ทำงานเก็บเงินแล้วจะกลับ/ไม่กลับประเทศนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่จะอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นสังคม อย่างแรงงานโปแลนด์ ผมจะเห็นยืนอยู่ริมถนน แฮมเมอร์สมิธ ฟูแลม เป็นประจำตั้งแต่เช้า ๆ เรื่อยไปเพื่อ ขายบริการ แรงงานที่จะมีนายหน้า หรือลูกค้ามารับไปทำงาน เช่น ตัดหญ้า หรืองานจิปาถะทุกชนิด ผมเองไม่ใช่เจ้าของประเทศ (อังกฤษ) แต่เห็นแล้วก็อดคิดว่า บรรยากาศ ประเทศนั้นเสียไปไม่ได้ ยิ่งคนเหล่านี้ได้ใช้ถนนหนทาง, รักษาพยาบาล, เรียนหนังสือ ฯลฯ ได้ฟรีเหมือนเจ้าของประเทศที่เสียภาษี อาการเซ็งของเจ้าของประเทศย่อมมี และเข้าใจได้ ไม่นับที่อังกฤษเป็นประเทศอากาศไม่ดี เพราะธรรมชาติเป็นเกาะ ฝนเลยตกทั้งปี หลาย ๆ คนก็ไม่ชอบในจุดนี้ และขอไปอยู่ประเทศอากาศสวย ๆ อย่าง ออสเตรเลีย, สเปน, ฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา ดีกว่า เพราะค่าครองชีพก็ถูกกว่า เฉพาะอย่างยิ่งหากได้งานตามสายงานตัวเอง นอกจากนี้ที่ผมจะไม่พูดไม่ได้คือ ที่พัก ที่อังกฤษราคาแพงมาก ชนิดสามารถแลก Studio Flat หรือคอนโดฯห้องเดียว 30 กว่าตารางเมตรแบบบ้านเรากับ คฤหาสน์ ในต่างแดนได้เลย ดังนั้น จึงเข้าใจได้ในมุมคนในอยากออกนะครับ ขณะที่คนนอกอยากเข้าที่ดีก็มีเยอะครับ เฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนที่อังกฤษยังเป็นดินแดนสวรรค์ให้แสวงหา และเรียนรู้อันดับต้น ๆ ของโลก ขณะที่แรงงานชั้นดี เช่น หมอ, วิศวกร, โปรแกรมเมอร์, กราฟิกดีไซเนอร์ ฯลฯ ที่มีรายได้ดีก็คงไม่รังเกียจที่จะอยู่อังกฤษ หรือที่ใดในโลก เพราะ รายได้ ของอาชีพเหล่านี้สูงพออยู่แล้ว สรุป : ผมหวังว่าเรื่องวันนี้จะเป็น อีกมุม ที่สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศอังกฤษในอีกด้านอาจไม่คุ้นกันนักนะครับ.
ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์ topdogfootball@yahoo.co.uk http://www.dailynews.co.th/
จากคุณ :
Angkor_One
- [
2 ก.พ. 51 14:17:53
]
|
|
|