Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ตัวอย่างเหตการณ์ในสเปน เปรียบเทียบกับบอลไทยยุค "ฟุตบอลการเมือง" ติดต่อทีมงาน

ตำนานเอลกลาสิโก้

คำว่า “เอล กลาสิโก้” ได้ถูกบัญญัติมานานแล้ว และถูกขนานนามแทนการพบกันระหว่าง บาร์เซโลน่า และ เรอัล มาดริด สองทีมตัวแทนจากแคว้นกาตาลุนย่า และ กาสตีย่า แน่นอนที่สุดหากใครเป็นคอบอลพันธุ์แท้ย่อมรู้ว่าฟุตบอลเกมนี้ยิ่งใหญ่กว่า ทีมคู่อริในหลายๆประเทศมาพบกัน ด้วยเหตุที่ว่าเกมฟุตบอลคู่นี้มีเดิมพันที่ไม่ใช่ตัวเงิน และเป็นการเดิมพันธุ์ที่มีค่ามากกว่าศักดิ์ศรี แต่มันหมายถึงการเดิมพันธุ์ด้วยชาติกำเนิด การเมือง วัฒนธรรม ประเพณี ภาษา ที่ล้วนแต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและลึกซึ้งเป็นอย่างมาก

ในอดีตนั้น แคว้นกาตาลุนย่า ซึ่งมีบาร์เซโลน่าเป็นเมืองหลวง ได้ถูกทั้งฝรั่งเศส และ สเปน ข่มเหงมาโดยตลอด แต่ก็พยายามต่อสู้ยืนหยัดจนมีทุกวันนี้ได้ ปัจจุบันแคว้นกาตาลุนย่าก็ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลสเปน ให้มีรัฐบาลท้องถิ่นที่สามารถปกครองตนเองได้

คำว่า “กาตาลุนย่า” ก็อาจถือเป็นความขัดแย้งได้เช่นกันระหว่างแคว้นกาตาลุนย่า และ กาสตีย่า ที่มีมาดริดเป็นเมืองหลวง คำว่า “กาตาลุนย่า” ซึ่งเป็นภาษากาตาลันนั้น มีการสันนิษฐานว่ามีรากศัพท์และความหมายเดียวกับ “กาสตีย่า” ซึ่งแปลเป็นไทยแล้วหมายความว่า “เมืองแห่งคฤหาสน์” ซึ่งทำให้พอรู้ได้ว่าในอดีตทั้งสองแคว้นก็มีความเจริญรุ่งเรืองมานานแล้ว

ใน ปี 1928 สมาชิกผู้ก่อตั้งฟุตบอลลีกของสเปน จำนวน 10 ทีม ได้เริ่มแข่งขันฟุตบอลอย่างเป็นทางการครั้งแรกในสเปน และก็เป็นบาร์เซโลน่าที่คว้าแชมป์ไป นั่นก็เป็นการคว้าแชมป์ในรายการที่ใหญ่ที่สุดในแผ่นดินสเปนของทีมที่ก่อตั้ง มานับแต่ปี 1899 หลังจากนั้นก็เป็นการเรืองอำนาจของแอธเลติก บิลเบา ทีมที่เก่าแก่ในลา ลีกาที่ฟาดแชมป์เป็นว่าเล่น

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ไม่คาดฝันของโลกก็เกิดขึ้นเมื่อเกิดสงครามการเมืองของสเปน และก็เป็นฝ่ายเผด็จการของนายพลฟรังโก้ที่ได้ครองอำนาจไป นับแต่ยุคเรืองอำนาจของนายพลฟรานซิสโก้ ฟรังโก้ อดีตผู้นำเผด็จการของสเปน ก็เป็นยุคที่มีการจุดประกายให้ฟุตบอลคู่นี้ดุเดือดเป็นต้นมา เนื่องจากบาร์เซโลน่าถูกนายพลฟรังโก้จ้องทำลายนับแต่ได้เรืองอำนาจภายใต้ นโยบาย “สเปนหนึ่งเดียว” นโยบายนี้ได้พยายามรวมหลายแคว้นให้หลายเป็นสเปนเดียว โดยมุ่งให้แคว้นกาสตีย่าเป็นแดนสวรรค์ แต่นโยบายที่เดินไปผิดทางที่นำหน้าด้วยการกดขี่ข่มเห่งประชาชน การละเมิดสิทธิต่างๆ รวมทั้งการห้ามพูดภาษาท้องถิ่นและห้ามให้ธงประจำแคว้น ทำให้ 2 แคว้นที่มีความเป็นชาตินิยมสูงอย่าง กาตาลุนย่า และ บาสก์ ได้พยายามต่อสู้มาโดยตลอด จนกระทั่งการต่อสู้จบลงด้วยสิ้นลมของนายพลฟรังโก้ และการอัญเชิญกษัตริย์ฮวน การ์ลอส ขึ้นครองราชย์

เหตุการณ์จุดชนวน ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1936 เมื่อโฆเซป ซูโยล อดีตประธานสโมสรของบาร์เซโลน่า ถูกลูกสมุนในกองทัพของนายพลฟรังโก้ลอบสังหาร นั่นเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้แฟนฟุตบอลสะเทือนใจเป็นอย่างมาก นอกจากนี้นายพลฟรังโก้ได้แต่งตั้งคนใกล้ชิดเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสโมสร บาร์เซโลน่าเพื่อที่จะทำลายสโมสรฟุตบอลแห่งนี้ จนเกือบทำให้สโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้เกือบล้มละลายเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์สโมสร อย่างไรก็ตามคนสนิทของนายพลฟรังโก้ก็ทนแรงกดดันของชาวกาตาลุนย่าไม่ไหว ยอมหลีกทางให้กับเอนริค ปีเนย์โร่ เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน สำหรับชื่อของคนสนิทนายพลฟรังโก้นั้นในอดีตสโมสรเคยจารึกชื่อไว้ว่าดำรง ตำแหน่งประธานสโมสร แต่ปัจจุบันได้มีการลบทิ้งไปแล้ว ส่วนปัญหาการเงินของบาร์เซโลน่าในเวลานั้นก็ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศ เม็กซิโกทำให้รอดพ้นวิกฤตทางการเงินคราวนั้น ทุกวันนี้บาร์เซโลน่าก็ยังไม่ลืมบุญคุณของชาวเม็กซิกัน

ในแง่ของการย้ายทีมจากบาร์เซโลน่าไปเรอัล มาดริด จากประวัติศาสตร์แล้ว มีนักเตะเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ชาวเบลากราน่ายังอ้าแขนต้อนรับอยู่ แม้ว่าจะย้ายไปอยู่กับเรอัล มาดริด ที่แฟนบอลทีมอื่นต่างตราหน้าว่าเป็น “ทีมรัฐบาล” เนื่องจากนายพลฟรังโก้พยายามทำทุกวิถีทางที่ทำให้เรอัล มาดริด ได้แชมป์ลา ลีกา นักเตะคนเดียวที่ว่านั้นคือ โฆเซป ซามิติเอร์ อดีตมิดฟิลด์ ที่ถูกรัฐบาลของนายพลฟรังโก้ทรยศหลังจากย้ายไปเรอัล มาดริด ด้วยการเนรเทศไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส หลังจากนั้นโฆเซป ซามิติเอร์ ก็ได้กลับมาช่วยบาร์เซโลน่าด้วยการทำหน้าที่ผู้จัดการทีมในช่วง 1944-1947 รวมทั้งเป็นแกนนำในการพาตัวลาดิสเลา คูบาล่า ตำนานของบาร์เซโลน่าให้มาค้าแข้งในรั้วเลือดหมู-น้ำเงิน


ตอนที่ 2


หากว่าชาวเบลากราน่าจะคิดว่าชาวกาสตีย่าได้ทำให้แฟนบาร์เซโลน่าขุ่นเคือง ใจ โกรธแค้น เกลียดชังฝ่ายเดียวเลยหรือ? คำตอบจริงๆของเรื่องนี้คือ ไม่ใช่ ชาวกาตาลุนย่าก็เคยทำให้แฟนบอลมาดริดโกรธแค้นเช่นกัน เพียงแต่เมื่อเทียบเหตุการณ์และความรุนแรงแล้วนั้น บาร์เซโลน่าเป็นฝ่ายถูกกระทำบ่อยครั้งกว่าและรุนแรงกว่ามาก

เหตุการณ์ ที่ชาวกาตาลุนย่าทำให้แฟนเรอัล มาดริดโกรธแค้นก็คงจะมี 2 เหตุการณ์หลักๆ คือ ในปี 1916 มีรายงานจากทางการสเปนว่านักเตะรายหนึ่งของเรอัล มาดริด ถูกยิงเสียชีวิตในแผ่นดินกาตาลุนย่า แต่ก็ไร้หลักฐานว่าถูกยิงด้วยสาเหตุใด เหตุการณ์ต่อมาเกิดขึ้นในปี 1930 ในเกมฟุตบอลถ้วยรอบชิงชนะเลิศระหว่างเรอัล มาดริด พบกับ แอธเลติก บิลเบา ผลคือเรอัล มาดริดพ่ายทีมเลือดข้นจากแคว้นบาสก์ไปด้วยน้ำมือของผู้ตัดสินชาวกาตาลัน และนี่คือเรื่องจริงที่กรรมการชาวกาตาลันคนนั้นได้ตัดสินอย่างไม่เป็นธรรม อย่างน่าเกลียด

ในยุคสมัยของนายพลฟรังโก้ ผู้นำเผด็จการรายนี้พยายามที่จะเชิดชูทีมจากเมืองหลวงเพื่อจะเป็นสัญลักษณ์ ในการประชาสัมพันธ์นโยบาย “สเปนหนึ่งเดียว” แต่การดำเนินนโยบายนั้นเน้นการใช้ความลำเอียงเป็นหลัก แม้ว่าในช่วงแรกเรอัล มาดริดจะไม่ได้รับการเหลียวแลจากนายพลฟรังโก้เท่าที่ควรเนื่อจากอดีตผู้นำ สเปนให้ความสำคัญกับแอตเลติโก มาดริด มากกว่า

แต่สายน้ำได้เปลี่ยน กระแสชนิดที่ไม่มีวันไหลย้อนกลับเมื่อเรอัล มาดริดได้มีผู้นำที่ชื่อซานติอาโก้ เบอร์นาเบว อดีตประธานสโมสรผู้ยิ่งใหญ่ของเรอัล มาดริด จนทำให้สโมสรได้ตั้งชื่อสนามเหย้าของตัวเองเป็นชื่อของอดีตประธานท่าน นี้ ในปี1945 เบอร์นาเบวได้เข้ารับตำแหน่งผู้นำสูงสุดของทีมราชันชุดขาว นายพลฟรังโก้จึงหันมาสนับสนุนเรอัล มาดริดเป็นการตอบแทนความดีความชอบที่ประธานในตำนานคนนี้เคยร่วมรบเคียงบ่า เคียงไหล่กับนายพลฟรังโก้สมัยสงครามกลางเมืองสเปน หลังจากนั้นเป็นต้นมาเรอัล มาดริดก็ได้รับการสนับสนุนอย่างออกนอกหน้า

ต่อ จากนี้คือเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงระหว่างอดีตจนถึงปัจจุบันที่ทำให้บาร์เซโล น่าโกรธแค้นเรอัล มาดริดชนิดที่ไม่อาจลืมได้จนถึงปัจจุบัน ด้วยพฤติกรรมที่หลอกหลวงของผู้นำเรอัล มาดริด

เมื่อซานติอาโก้ เบอร์นาเบว เป็นใหญ่ในเรอัล มาดริด เหตุการณ์สำคัญครั้งแรกที่เขาได้ทำคือ การส่งสาสน์แสดงความรู้สึกต่อบาร์เซโลน่า ทีมคู่อริตลอดการ เนื้อหาในสาสน์นั้นกล่าวในทำนองที่ว่า เขาหวังว่าความสัมพันธ์ระหว่างเรอัล และ บาร์เซโลน่า จะดีขึ้นในเร็ววัน อย่างไรก็ตามคำพูดกับการกระทำของผู้นำเรอัล มาดริด มักจะเป็นเรื่องตรงกันข้ามเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำหลายทีมต่างรู้กันเป็นอย่างดี และบาร์เซโลน่าก็เป็นทีมที่รู้เรื่องดีที่สุดเสมอ

ในปี 1953 มาร์ตี้ การ์เรตโต้ อดีตประธานสโมสรบาร์เซโลน่าเดินทางไปเจรจากับทีมมิลิโอนาริออส ทีมจากประเทศโคลัมเบีย เพื่อเจรจาคว้าตัวอัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน่ แต่ด้วยข้อตกลงที่บรรลุผลยากเหลือเกินจึงทำให้ใช้เวลานานกว่าการเจรจาจะ สำเร็จ ด้วยเหตุที่ว่าดิ สเตฟาโน่ ได้ติดหนี้กับต้นสังกัดอยู่จึงทำให้มีปัญหาวุ่นวายหลายเรื่องในการเจรจา มิลิโอนาริออสจึงยื่นคำขาดด้วยค่าตัว 2 หมื่นเหรียญสหรัฐ แต่ประธานบาร์เซโลน่าต้องการจ่าย 1 หมื่นเหรียญยูโรพร้อมกับปลดหนี้ของดิ สเตฟาโน่ทั้งหมด แม้ว่าราม่อน ตริอาส ฟรากาส ประธานของมิลิโอนาริออสจะไม่เต็มใจสักเท่าไหร่ แต่ก็ตกลงรับเงินจำนวนดังกล่าว เนื่องจากริเวอร์เพลทหุ้นส่วนในตัวดิ สเตฟาโน่ก็เห็นด้วยในการรับข้อเสนอ

เหตุการณ์วุ่นๆได้เกิดขึ้นเมื่อ ดิ สเตฟาโน่เซ็นสัญญากับบาร์เซโลน่าเรียบร้อย และฟีฟ่าได้อนุมัติการย้ายทีมในครั้งนี้ อย่างไรก็ตามสหพันธ์ฟุตบอลสเปนในการควบคุมของนายพลฟรังโก้ไม่ยอมรับการย้าย ทีมดังกล่าว พร้อมจัดการเจรจาให้เรอัล มาดริด กับ มิลิโอนาริออส แต่ติดที่ว่าดิ สเตฟาโนเซ็นสัญญากับบาร์เซโลน่าไปแล้ว ทางสหพันธ์ฟุตบอลสเปน ซึ่งในเวลานั้นนายพลมอสการ์โด ลูกน้องของนายพลฟรังโก้เป็นใหญ่อยู่ได้ออกกฎหมายห้ามซื้อนักเตะต่างชาติขึ้น เพื่อสกัดการย้ายร่วมทีมของดิ สเตฟาโน่

แน่นอนที่สุดบาร์เซโลน่า ย่อมไม่พอใจเป็นอย่างมาก ที่ถูกสหพันธ์ฟุตบอลสเปนแทรกแซงและกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรม จนทำให้สโมสรและแฟนบอลออกมาประท้วงสหพันธ์ฟุตบอลสเปน ทางสหพันธ์จึงแก้เกี้ยวด้วยการประกาศว่าบาร์เซโลน่า และ เรอัล มาดริดบรรลุข้อตกลงในตัวของดิ สเตฟาโน่ ด้วยระยะเวลา 4 ปี แต่เป็นสัญญาการเล่นกับเรอัล มาดริด 2 ปีแรก และบาร์เซโลน่า 2 ปีหลัง ทำให้มาร์ตี้ การ์เรตโต้ ต้องแสดงสปิริตลาออกด้วยความเอือมระอาต่อทางการสเปนและเรอัล มาดริด หลังจากนั้นไม่นานบาร์เซโลน่าจึงประกาศด้วยศักดิ์ศรีว่าทางสโมสรยอมสละ สิทธิ์ในตัวของดิ สเตฟาโน่ เนื่องจากทางสโมสรรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางเรอัล มาดริดจึงสบโอกาสใช้คำพูดนี้ยืนยันกระต่ายขาเดียวเสมอมาว่า “บาร์เซโลน่าสมัครใจสละสิทธิ์เอง”

เหตุการณ์การย้ายทีมพิลึกพิลั่น แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย จนฟีฟ่าได้ทำเรื่องศึกษาการย้ายทีมครั้งนี้ว่าเป็น “กรณีศึกษาเรื่องการย้ายทีม” ด้วยเหตุผลที่ว่าการเมืองแทรกแซงเกมกีฬา และนั่นก็เป็นการย้ายทีมครั้งประวัติศาสตร์ที่มีการจารึกไม่เลือนในวงการ ฟุตบอลสเปน และในพงศาวดารของบาร์เซโลน่า และ เรอัล มาดริด หลังจากนั้นดิ สเตฟาโน่ก็คว้าแชมป์กับเรอัล มาดริดเป็นกอบเป็นกำ แต่ก็ไม่มีใครกล้าเถียงว่าความสำเร็จนั้นได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล

รัฐบาล สเปนในสมัยนายพลฟรังโก้ ได้พยายามกดขี่ข่มเหงแคว้นที่ไม่ให้ความร่วมมือ หรือ แม้แต่แคว้นที่ยังให้ความสำคัญกับภาษา วัฒนธรรม สัญลักษณ์ของแต่ละแคว้น แน่นอนที่สุดทีมฟุตบอลที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักคือแอธเลติก บิลเบา และ บาร์เซโลน่า ในส่วนของบาร์เซโลน่านั้นถูกบังคับให้เปลี่ยนชื่อสโมสรจาก Futbal Club Barcelona เป็น Spanish Club de Futbal Barcelona (ชื่อแบบเต็ม) ทำให้แฟนบอลชาวกาตาลันไม่ชอบใจกับคำว่า “สแปนิช” แต่ก็ต้องจำยอมเพราะมิฉะนั้นอาจจะถูกอำนาจมืดทำลายสโมสร แม้ว่าภายหลังจะมีการเปลี่ยนชื่อกลับตามเดิมก็ตาม แต่ความทรงจำอันเลวร้ายก็ยังไม่อาจลืมเลือนในหัวของชาวเบลากราน่า

นายพลฟรังโก้ ก็เคยห้ามบาร์เซโลน่าลงเล่นในสนามเหย้าของตนเองมาแล้วหลังจากที่แฟนบอลบาร์ เซโลน่าโห่ใส่เพลงชาติสเปนจึงทำให้ทางการสเปนแสดงความไม่พอใจออกมาด้วยการ สั่งปิดสนามเหย้าเป็นเวลา 6 เดือนด้วยกัน นอกจากนี้ทางการสเปนยังเคยวางระเบิดในสมาคมแฟนบอลของบาร์เซโลน่า (สมาคมนี้ไม่เกี่ยวกับบอยซอส โนอิส) จึงทำให้เกิดความเสียหายและผู้คนบาดเจ็บ ผลที่ตามมาคือยอดสมาชิกอย่างเป็นทางการของสโมสรได้ลดลงอย่างน่าใจหาย ด้วยความหวาดกลัวที่ว่าหากเป็นสมาชิกของสโมสรแล้วจะถูกทางการสเปนลอบทำร้าย

โจน กัมเปร์ ผู้ก่อตั้งสโมสรบาร์เซโลน่าย่อมหลีกหนีไม่พ้นเรื่องเลวร้ายแบบนี้เช่นกัน อดีตประธานสโมสรชาวสวิสได้ถูกบีบบังคับให้ออกจากการเป็นประธานและบอร์ด บริหารของบาร์เซโลน่า กอปรกับปัญหาส่วนตัวและปัญหาทางการเงิน โจน กัมเปร์จึงตัดสินใจจบชีวิตของตนเองลงในปี 1930

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในพงศาวดารของบาร์เซโลน่าได้ถูกจารึกไว้ในปี 1943 ในศึกโกปปา เดล เรย์ รอบรองชนะเลิศ เกมนัดแรกในสนามเลส กอร์ต (อดีตสนามเหย้าของบาร์เซโลน่า) ผลปรากฏว่าบาร์เซโลน่าเอาชนะไปได้ 3-0 ในเกมที่สองนั้นต้องกลับไปเล่นที่สนามเหย้าของเรอัล มาดริด นายพลฟรังโก้ได้ประกาศทั่วแผ่นพร้อมพูดอย่างเป็นลางว่า “ฟุตบอลคู่นี้ได้ถูกจัดขึ้นเพราะความกรุณาของทางการ” นั่นเป็นสัญญาณบอกเหตุว่าเกมคู่นี้ไร้ความยุติธรรมอย่างแน่นอน

และผล การแข่งขันก็เป็นไปอย่างที่บาร์เซโลน่าคาดการณ์ นายพลฟรังโก้ส่งผู้ปกครองแคว้นกาสตีย่ามาต้อนรับบาร์เซโลน่าด้วยกำลังทหาร ถึงในห้องเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว และมันก็เป็นอีกครั้งที่ “ฟุตบอลการเมือง”มีอิทธิพลเหนือเกมฟุตบอลที่ยุติธรรม ฟุตบอลโคตรมหาโกงครั้งนี้มีทั้งทหาร กรรมการ เด็กเก็บบอล แฟนบอล ผู้เล่นมาดริด ต่างมีเอี่ยวทั้งสิ้น ผลจบด้วยการปราชัยต่อมาดริด 11-1 แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือเรอัล มาดริด จารึกแมตช์อัปยศในวงการฟุตบอลได้อย่างสวยหรู มีการกล่าวขานชัยชนะในนัดนี้ว่า “ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่” ส่วนผู้เล่นเรอัลในเกมนั้นต่างถูกเรียกว่า “ฮีโร่” ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดกับความรู้สึกของแฟนบอลสเปนเป็นอย่างมาก

ที่มา  http://www.realmadridfanclub.net/forum/index.php?topic=2702.0;wap2

จากคุณ : iMewipop
เขียนเมื่อ : 28 ธ.ค. 53 13:42:03




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com