 |
คอลัมน์ : ตีท้ายข่าว โดย.. นาร์ซีส์ซัส
มาเลเซีย, แอร์เอเชีย กับ ควีนส์พาร์ค
สัปดาห์นี้ "ทหารเสือราชินี" ควีนส์พาร์ค เรนเจอร์ส สโมสรในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เพิ่งได้เจ้าของใหม่ คือ โทนี่ เฟอร์นานเดส หรือ ตันศรี แอนโธนี่ ฟรานซิส เฟอร์นานเดส นักธุรกิจมาเลเซีย เจ้าของสายการบิน แอร์เอเชีย
ชื่อ-หน้าตา ไม่เหมือนชาวมาเลย์แท้ๆ เพราะมีเชื้อสายอินเดีย กับโปรตุเกส ครอบครัวเป็นเจ้าของบริษัทนำเข้าเครื่องใช้ในครัวเรือน ทัปเปอร์แวร์ เคยศึกษาที่กรุง ลอนดอน จบเศรษฐศาสตร์ เมื่อปี 1987 ทำงานช่วงสั้นๆในฐานะลูกจ้างของ ริชาร์ด แบรนสัน แต่ต่อมาได้ทำธุรกิจทั้งด้านดนตรี โรงแรม, รถแข่ง และสายการบิน เหมือนมหาเศรษฐีชาวอังกฤษคนนี้ แฟร์นานเดส ยังชอบลงทุนด้านกีฬา เป็นประธาน เอเชียน บาสเก็ตบอล ลีก มีทีมรถสูตรหนึ่ง โลตัส-เรย์โนลต์ เคยขอซื้อสโมสร เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ที่เขาเป็นแฟนบอล ช่วงกลางปี 2011 เมื่อถูกปฏิเสธ จึงมาซื้อหุ้น 66 เปอร์เซนต์ของ ควีนส์พาร์ค จาก เบอร์นี่ เอ็คเคิ่ลสโตน ประธานบริหารฝ่ายจัดการแข่งขันรถสูตรหนึ่งชิงแชมป์โลก ด้วยวงเงินประมาณ 58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และได้เป็นประธานบริษัทร่วมทุน คิวพีอาร์ จำกัด เจ้าของสโมสรดังกล่าวอย่างเป็นทางการ แทน อิชาน ศักดิ์เสนา นักธุรกิจชาวอินเดีย
เอ็คเคิ่ลสโตน กับ ฟลาวิโอ บริอาตอเร่ อดีตเจ้าของทีม เรย์โนลต์ เข้าเทคโอเวอร์ ควีนส์พาร์ค เมื่อปี 2007 ต่อมา บริอาตอเร่ ต้องออกจากตำแหน่งในทีม "ทหารเสือราชินี" หลังโดน สหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (เอฟไอเอ) สั่งห้ามยุ่งเกี่ยววงการมอเตอร์สปอร์ตตลอดชีวิต จากช้อหาจงใจให้ เนลสัน ปิเก้ต์ จูเนียร์ นักแข่งของทีม ขับชนกำแพง ช่วยให้ เฟร์นานโด อลอนโซ่ คว้าแชมป์ สิงค์โปร์ กรังด์ปรีซ์ 2008 และกฏของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ไม่ให้ผู้ที่ถูกองค์กรกีฬาใดๆ สั่งแบน เข้าบริหารกิจการของสโมสรในประเทศ แต่ บริอาตอเร่ ยังเป็นผู้ถือหุ้น และศาลกรุงปารีส เพิ่งยกเลิกโทษแบนของเอฟไอเอ เมื่อไม่กี่เดือนก่อนนี่เอง ส่วนหุ้นอีก 33 เปอร์เซนต์ของ ควีนส์พาร์ค ผู้ถือครองคือครอบครัว ลักษหมี มิตตาล มหาเศรษฐีจากธุรกิจเหล็กกล้า ชาวอินเดีย ซึ่งให้ อามิต บาเตีย ลูกเขย กลับมานั่งแทนรองประธานสโมสร หลังออกไปเมื่อ 3 เดือนก่อน
"ฟุตบอลคือธุรกิจชั้นยอด หากทุกอย่างเป็นไปตามเป้า มันคือการสร้างแบรนด์ที่ยอดเยี่ยมสำหรับธุรกิจของเรา สโมสรอยู่ในพื้นที่อันยอดเยี่ยม และมีศักยภาพมากพอจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้อีก ทุกคนรู้ว่าผมเชียร์ เวสต์แฮม มาตลอดชีวิต แต่ก็ยังมีที่ว่างสำหรับ ควีนส์พาร์ค พวกเขาคือหนึ่งในทีมแรกๆที่ตอนเด็ก ผมมาเชียร์ถึงสนาม ผมอยากมีส่วนร่วมในวงการฟุตบอลเสมอ และข้อเสนอของสโมสรจากกรุงลอนดอนเช่นนี้ ก็ดีเกินไปที่จะปฏิเสธ ควีนส์พาร์ค เหมือนเพชรดิบ หวังว่าผมจะสามารถมีส่วนในการเปลี่ยนให้กลายเป็นเพชรที่ล้ำค่า" ประธานสโมสรคนใหม่วัย 47 ปี กล่าว โดยค่ายแห่งนี้เพิ่งคว้าแชมป์ ฟุตบอลลีก แชมเปี้ยนชิพ และเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดครั้งแรก นับตั้งแต่หล่นจาก พรีเมียร์ลีก หลังจบฤดูกาล 1995-96 และเคยร่วงสู่ ลีกวัน ในฤดูกาล 2001-02 กุนซือคนปัจจุบันคือ นีล วอร์น็อค ซึ่งเข้ารับงานต่อจาก มิค ฮาร์ฟอร์ด เมื่อเดือนมีนาคมปีกลาย
"ผมมีเป้าหมายในระยะยาว มันง่ายถ้าบอกว่าเราจะคว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และพรีเมียร์ลีก แต่มันไม่ใช่สไตล์ของผม ผมไม่อยากให้สัญญา หากไม่สามารถรับประกันว่าจะเกิดขึ้นจริง ผมต้องการให้แฟนบอลภูมิใจกับสิ่งที่สโมสรทำ ซึ่งจะเป็นไปตามรูปแบบ และซื่อสัตย์ ผมต้องการสร้างศูนย์เยาวชนที่ดี เพื่อป้อนผู้เล่นเข้าสู่ทีม เราอยู่ในส่วนที่ยอดเยี่ยมของลอนดอน จึงควรมอบโอกาสให้เด็กๆ เราอยากเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่ง และสร้างความแตกต่างในชุมชน คุณคงไม่ลงทุนในโลกกีฬา โดยไม่หวังผลเลิศ แต่สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา ขอให้ผลงานเป็นตัวบ่งบอกทุกอย่างแล้วกัน" เฟอร์นานเดส กล่าว
ควีนส์พาร์ค ยังคงเป็นสโมสรพรีเมียร์ลีกลำดับที่ 10 ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นคนนอกสหราชอาณาจักร นอกเหนือจาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (มัลคอล์ม เกลเซอร์, สหรัฐอเมริกา), เชลซี (โรมัน อบราโมวิช, รัสเซีย), แอสตัน วิลล่า (แรนดี้ เลอร์เนอร์, สหรัฐอเมริกา), ซันเดอร์แลนด์ (เอลลิส ชอร์ต, สหรัฐอเมริกา), แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส (เวนกี้ส์ ลิมิเตด, อินเดีย), ลิเวอร์พูล (เฟนเวย์ สปอร์ตส์ กรุ๊ป, สหรัฐอเมริกา), ฟูแล่ม (โมฮัมเหม็ด อัล ฟาเยด, อียิปต์), แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (มันซูร์ บิน ซาxxx อัล นาห์ยัน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์), อาร์เซน่อล (สแตน โครนเค่, สหรัฐอเมริกา) ศึก ฟุตบอลลีก แชมเปี้ยนชิพ ก็มี 4 แห่ง คือ เลสเตอร์ ซิตี้ (วิชัย รักศรีอักษร, ไทย), เบอร์มิงแฮม ซิตี้ (คาร์สัน หยาง, ฮ่องกง), คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ (ดาตุ๊ค ฉาน เทียน กี, วินเซนต์ ตัน, มาเลเซีย), ดาร์บี้ เคาน์ตี้ (ทอม ริคเก็ตต์ส, แอนดรูว์ แอ็ปเปิ้ลบาย, สหรัฐอเมริกา, เจฟฟ์ มัลเลตต์, ดับเบิ้ลยู. เบร็ตต์ วิลสัน, แคนาดา), เวสต์แฮม ยูไนเต็ด (สเตรามูร์-บูร์ดาราส แบ็งค์, ไอซ์แลนด์), พอร์ทสมัธ (วลาดิเมียร์ อันโตนอฟ, โรมัน ดูบอฟ, รัสเซีย), ฮัลล์ ซิตี้ (อัสเซ็ม อัลลัม, อียิปต์), เซาธ์แฮมป์ตัน (มาร์คุส ลีบแฮร์, สวิตเซอร์แลนด์), มิลล์วอลล์ (จอห์น เบรีลสัน, สหรัฐอเมริกา)
ช่วงหลังสโมสรฟุตบอลในยุโรป กลายเป็นที่ต้องการของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งพยายามซื้อสโมสรที่อาจมีปัญหาการเงิน, อยู่ในลีกสูงสุด หรือพอจะมีศักยภาพเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุด อย่างน้อยก็ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น หรือเปลี่ยนทีมจากที่เคยหนีตกชั้น ไปติดกลุ่มหัวแถว เช่น มาลาก้า คงมีลุ้นเตะฟุตบอลยุโรปหลังฤดูกาลใหม่ หรือไม่นานหลังจาก ชีค อับดุลลาห์ บิน นัสเซอร์ บิน อับดุลลาห์ อัล อาห์เหม็ด อัล ธานี่ จากราชวงศ์กาตาร์ ทรงมาซื้อหุ้น เมื่อเดือนมิถุนายน 2010 ล่าสุดหน่วยลงทุนกาตาร์ เพิ่งซื้อ ปารีส แซงต์แชร์กแมง แห่งลีก เอิง เมื่อ 31 พฤษภาคม 2011 จนน่าจะทำให้กลับมามีลุ้นแชมป์ฝรั่งเศสอีกครั้ง และการคว้านซื้อคงไม่หยุดอยู่แค่นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากยังมีสโมสรที่เจอปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้น และมหาเศรษฐีต่างๆเชื่อว่าพวกเขาสามารถสร้างชื่อเสียง และทำผลกำไรจากวงการลูกหนังยุโรปได้ไม่ยาก
ส่วนจะส่งผลกระทบแค่ไหนต่อสโมสร หากมันไม่ประสบความสำเร็จ หรือเมื่อพวกเขาขายหุ้นทิ้ง การเข้ามาของนักธุรกิจเหล่านี้จะช่วยพัฒนาวงการได้จริงแค่ไหน กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์
http://www.siamsport.co.th/Column/110819_180.html
จากคุณ |
:
เก็บคอ งอเข่า
|
เขียนเมื่อ |
:
20 ส.ค. 54 00:13:32
|
|
|
|
 |