 |
Abu Dhabi เมืองที่รวยที่สุดในโลก Business & Society : ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ chodechai@fpo.go.th กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2550
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้มีโอกาสพบกับผู้บริหารระดับสูงของกองทุนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นั่นคือ บรรษัทเพื่อการลงทุน แห่งเมือง Abu Dhabi หรือ The Abu Dhabi Investment Authority (ADIA) ด้วยเงินทุนจำนวน 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 35 ล้านล้านบาท ภายใต้การบริหารจัดการโดยส่วนใหญ่นำไปลงทุนในต่างประเทศ เงินมากมายมหาศาลดังกล่าว ได้มาจากการขายน้ำมันในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดประเทศจีน กำลังจัดตั้งบรรษัทเพื่อการลงทุนแห่งชาติ เพื่อนำเงินสำรองระหว่างประเทศจำนวน 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ มาบริหารจัดการเพื่อลงทุนในต่างประเทศเช่นกัน
Abu Dhabi เป็นเมืองหลวงของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates) และเป็นเมืองที่รวยที่สุดในโลก ด้วยพลเมือง 4 แสน 2 หมื่นคน ซึ่งเป็นเจ้าของแหล่งน้ำมัน 10 เปอร์เซ็นต์ ของโลก ประชาชนแต่ละคน จึงมีส่วนร่วมในสินทรัพย์คิดเป็นคนละ 17 ล้านดอลลาร์ Abu Dhabi จึงมีความมั่งคั่งมากกว่า Dubai ที่เรารู้จักคุ้นเคยกันมากกว่า
ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีรายได้จากน้ำมัน 37 เปอร์เซ็นต์ และที่ไม่ใช่น้ำมัน 63 เปอร์เซ็นต์ โดยภาคการผลิตคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP ภาคการค้าส่งค้าปลีกคิดเป็น 17 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP ภาคอสังหาริมทรัพย์คิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP และภาคการขนส่งและสื่อสารคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP ที่เหลือเป็นภาคอื่นๆ ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโต 9.3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจจะโต 6.2 เปอร์เซ็นต์
ในปัจจุบัน 6 ประเทศในกลุ่ม Gulf Arab อันได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต กาตาร์ บาห์เรน และโอมาน ซึ่งมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดที่เรียกว่า Gulf Cooperation Council (GCC) มีแผนที่จะรวมกลุ่มทางการเงิน (Monetary Union) โดยใช้เงินสกุลเดียวร่วมกัน (single currency) ในวันที่ 1 ม.ค. 2553 โดยที่ในขณะนี้ทุกประเทศ ใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่โดยตรึงกับค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งในขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง จึงมีข่าวลือว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงค่าเงินที่อิงกับเงินดอลลาร์ ซึ่งผู้นำของกลุ่มประเทศ GCC ได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว แต่ก็ยอมรับว่าการใช้เงินสกุลเดียวกันให้ทันในปี 2553 ต้องใช้ความพยายามมากขึ้น
Abu Dhabi มีสำรองน้ำมัน 90 เปอร์เซ็นต์ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และได้เริ่มปฏิรูปครั้งใหญ่หลังจากการเสียชีวิตของ Sheikh ZAYED bin Sutltan ในปี 2004 โครงการลงทุนแรกๆ ได้แก่ การก่อตั้งสายการบิน Ethihad Airways แห่ง Abu Dhabi เพื่อแข่งขันกับสายการบิน Emirates แห่ง Dubai และถัดมาสร้างโรงแรมในสไตล์อาหรับชื่อว่า Emirates Palace มูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์ ด้วยอัตราค่าที่พัก 1,000 ดอลลาร์ สำหรับห้องพักธรรมดา และ 10,000 ดอลลาร์ สำหรับห้องสวีต เพื่อที่จะแข่งขันกับโรงแรมรูปเรือใบระดับ 7 ดาวแห่งแรกของโลกของ Dubai ที่ชื่อว่า Burj Al Arab (การเข้าชมโรงแรมต้องจองและเสียค่ากาแฟอย่างน้อย 1,700 บาทต่อคน) นอกจากนั้นก็สร้างโอเอซิสกลางทะเลที่ชื่อว่า Saadiyat Island มูลค่า 30 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งประกอบไปด้วยโรงแรม 29 แห่ง สนามกอล์ฟ 2 แห่ง และที่อยู่อาศัยสำหรับคน 150,00 คน นอกจากนั้นมีแผนที่จะเป็นศูนย์กลางของศิลปะและวัฒนธรรมด้วยการร่วมมือกับ Guggenheim Museum และแหล่งบันเทิงด้วยการสร้างสนามแข่งรถฟอร์มูลล่าวัน และFerrari Them Park ซึ่ง Abu Dhabi ถือหุ้น 5 เปอร์เซ็นต์ในบริษัท Ferrari
ปัจจุบัน Abu Dhabi ขาดแคลนแรงงานอย่างมากต้องนำเข้าจาก ปากีสถาน อินเดีย ฟิลิปปินส์ และประสบปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัย โดยค่าเช่าเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ต่อปี Abu Dhabi พยายามแข่งขันกับDubai โดยใช้คนละแนวทาง ในขณะที่ Dubai เน้นภาคการค้าและการท่องเที่ยวจากประเทศในยุโรป แต่ Abu Dhabi พยายามเน้นภาคการค้าการท่องเที่ยวจากนักธุรกิจ และเศรษฐีในกลุ่มประเทศอาหรับ
ในขณะที่ Abu Dhabi กำลังสร้างความเจริญจากการนำรายได้เงินตราต่างประเทศ เข้ามาลงทุน ด้วยการบริหารจัดการเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มสากล เช่น Dubai จัดตั้ง Dubai Holding และ Dubai Investment ซาอุดีอาระเบีย คูเวต เกาหลี สิงคโปร์ และล่าสุดจีน ได้จัดตั้งบรรษัทเพื่อการลงทุนแห่งชาติไปแล้ว ประเทศไทยเราจะบริหารจัดการอย่างไร กับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นทุกขณะจนในปัจจุบันมีมูลค่าเกือบ 80 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างความเจริญและประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยต่อไปในอนาคต
จากคุณ |
:
ทุ่งเกวียน (ทุ่งเกวียน)
|
เขียนเมื่อ |
:
26 ก.ย. 54 19:20:30
|
|
|
|
 |