 |
ความแตกต่างของเงินในพรีเมียร์ลีก
หลายคนบอกว่าเงินซื้อความสำเร็จได้ แต่จะเป็นอย่างไรหากเงินเฟ้อ เพราะต้นทุนในการลงทุนสูงขึ้น และฉุดให้ความต้องการนักเตะ และโค้ชดีๆเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ซึ่ง พรีเมียร์ลีก รวมถึงอีกหลายประเทศ กำลังเจอภาวะการณ์นั้น
หนังสือพิมพ์ เดลี่เมล ของอังกฤษ ตีพิมพ์เมื่อ 29 ตุลาคม 2011 ว่าตอนนี้ค่าจ้างของนักเตะพรีเมียร์ลีก สูงกว่าในฟุตบอลลีก แชมเปี้ยนขิพ ถึง 5 เท่า ค่าเหนื่อยโดยเฉลี่ยชองแข้งพรีเมียร์ลีกคนหนึ่ง ปัจจุบันอยู่ที่สัปดาห์ละ 22,353 ปอนด์ (ราว 1,079,202 บาท) ไม่รวมโบนัสต่างๆ หรือปีละ 1.16 ล้านปอนด์ (ราว 56 ล้านบาท) แต่ถ้าอยู่แชมเปี้ยนชิพเฉลี่ยได้สัปดาห์ละ 22,353 ปอนด์ (ราว 195,968.บาท) หรือปีละ 211,068 ปอนด์ (ราว 10,190,363 บาท) ส่วนลีก ทู มีค่าจ้างแค่สัปดาห์ละ 747 ปอนด์ (ราว 36,065 บาท) หรือน้อยกว่าพรีเมียร์ลีกประมาณ 30 เท่า ค่าจ้างนักเตะพรีเมียร์ลีกเพิ่มขึ้นกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ นับจากปี 2000 แม้มีภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความยั่งยืนทางการเงินของสโมสร เพราะมันยากลำบากขึ้นเรื่อยๆในการบริหารสภาพคล่อง ไม่น่าเชื่อว่าปี 1992 พรีเมียร์ลีกเคยจ่ายให้นักเตะมากกว่าลีก ทู เพียง 3.7 เท่า
ค่าเฉลี่ยค่าจ้างนักเตะต่อสัปดาห์สูงขึ้นทุกปี แต่พรีเมียร์ลีกแพงกว่าลีกอื่นหลายเท่า
แมนเชสเตอร์ ซิตี้, เชลซี หรือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อาจเป็นสโมสรใหญ่ ฐานะการเงินดี แต่พวกเขาต้องจ่ายค่าจ้างนักเตะแพงขึ้นทุกปี ด้วยความหวังว่าหากประสบความสำเร็จ ก็จะสามารถมีช่องทางในการดึงเงินลงทุนกลับคืนมา แต่มันรับประกันไม่ได้ว่าจะประสบความสำเร็จกันทุกสโมสร ต่อให้มีการลงทุนสูง ทั้งจ้างนักเตะแพงๆ ซื้อพวกฝีเท้าดีเข้ามา เพราะแชมป์มีแค่หนึ่งเดียว หลุดจากอันดับ 3 ไปก็ต้องลุ้นว่าจะหารายได้จากไหนมาทดแทนการอดเตะ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก โดยอัตโนมัติ เพราะเมื่อไม่มีเงินจำนวนมหาศาลก้อนนั้น ที่มาจากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ค่าตั๋ว ฯลฯ ก็ต้องมีเงินมาจ่ายค่าจ้างให้นักเตะทั้งทีมให้ได้อีกฤดูกาล สมมุติสโมสรแห่งหนึ่งมีนักเตะ 20 คน แค่มีค่าจ้างตามค่าเฉลี่ย คือ 22,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ปีหนึ่งจะเสียเงินส่วนนี้ 22.88 ล้านปอนด์ ไม่นับว่าต้องจ่ายเงินเดือนให้บุคลากรอื่น ค่าเดินทางแข่งขัน และอีกมาก
ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด มีส่วนทำให้นักเตะเรียกร้องค่าจ้างจากสโมสรเพิ่มขึ้น
อย่าไปคิดว่ารายรับจากค่าตั๋ว บวกด้วยลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเฉพาะพรีเมียร์ลีก หรือกระทั่งการขายผู้เล่นในทีมออกไป มันจะได้เม็ดเงินกลับมามากมาย เพราะแต่ละสโมสรต้องมีทุนในการเสริมทัพอีก ลำพัง 10 ล้านปอนด์ ตอนนี้อาจซื้อนักเตะดีๆสักคนไม่ได้ด้วยซ้ำ อย่าลืมว่าต้องต่อสัญญา จ่ายโบนัสพิเศษ ให้กับพวกที่ยังอยู่อีกต่างหาก เพราะไม่อย่างนั้นพวกนั้นอาจย้ายฟรี หรือแค่ไม่มีใจอยากอยู่กับเรา ซึ่งกระทบต่อผลงานโดยรวม สมมุติว่านักเตะ นอริช ซิตี้ คนหนึ่ง เล่นดี ค่าจ้างเดิม 22,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ สโมสรก็ต้องเพิ่มให้ ถ้าไม่อยากเสียนักเตะรายนี้ แต่หาก แมนฯซิตี้ หรือแค่ สโต๊ค ซิตี้ เสนอ 80,000 ปอนด์ นอริช มีทางเลือกเพียงขาย หรือเสียฟรี ต่อให้นักเตะซื่อสัตย์ ไม่อยากย้าย แต่คงไม่เกิดขึ้นทุกครั้ง ทุกคน นอริช อาจยอมเพิ่มค่าเหนื่อยให้ แต่มั่นใจได้เพียงใดว่าเพื่อนร่วมทีมไม่ขอเพิ่มค่าเหนื่อยตาม อาจไม่ใช่จำนวนเท่าๆกัน แต่ต้องไม่น้อยกว่าเดิม
ไม่ต้องคิดเลยว่า นอริช จะเอาเงินที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากไหน เมื่ออยู่พรีเมียร์ลีก หากคิดเสริมทัพ คงไม่มีนักเตะคนใดขอค่าเหนื่อยจาก นอริช แค่สัปดาห์ละ 22,000 ปอนด์ ยิ่งถ้าเป็นที่ต้องการของหลายสโมสรด้วยแล้ว พวกเขาก็มีสิทธิ์ขอค่าจ้างมากตามที่ต้องการ ใครจ่ายไม่ไหว ก็แค่ไม่ย้ายไปเล่นให้ นอริช ก็อาจต้องยอมซื้อนักเตะคนอื่นที่ราคาถูกกว่า ค่าจ้างถูกกว่า แต่คุณถาพฝีเท้าก็ต้องต่ำลงไปด้วย เมื่อมีนักเตะเกรดรองเยอะ ก็มีโอกาสทำให้ผลงานแย่ เลวร้ายสุด ถึงขั้นตกชั้น ซึ่งนั่นแปลว่า นอริช ต้องสร้างทีมใหม่ เพราะน้อยคนที่อยากอยู่แชมเปี้ยนชิพ ซึ่งสโมสรมีค่าจ้างให้น้อยลง เพราะรายได้จะน้อยลงด้วย สร้างทีมใหม่บางทีมันก็ไม่ดีพอสำหรับแชมเปี้ยนชิพ อาจหล่นไปถึงลีก วัน เหมือน ลีดส์ ยูไนเต็ด, น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ แม้แต่ แมนฯซิตี้ ก็เคยมีวันนั้นมาแล้ว
ไม่ต้องคิดเลยว่าต่อไปสโมสรเล็กๆจะอยู่กันได้อย่างไร ตราบใดที่ค่าจ้างนักเตะสูงเกินควรแบบนี้
ถ้าไม่ตกชั้น นอริช คงมีนักเตะเกรดรองใช้งานไปเรื่อยๆ และรอวันตกชั้นอยู่ดี ลองดู วีแกน แอธเลติก, เอฟเวอร์ตัน หรือ แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส เป็นตัวอย่าง พวกนี้อยู่พรีเมียร์ลีกหลายปี ได้ค่าตั๋ว บวกด้วยลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมากมาย ขายพวกเก่งๆด้วยก็แล้ว แต่คุณภาพนักเตะไม่ดีขึ้นจากเดิมเท่าไหร่ เพราะไม่สามารถเสี่ยงจ้างใครแพงๆได้ เพราะไม่รู้ว่าจะเอาเงินจากไหนมา อย่างไรรายได้ปีนี้กับปีหน้ามันคงไม่ต่างกันมาก แต่รายจ่ายเพิ่มขึ้นแน่นอน ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ต่อให้จ้างแพงได้ แต่ถ้าต้องแย่งนักเตะกับสโมสรใหญ่ๆ ก็กินแห้วอยู่ดี
ลำพังสโมสรใหญ่ ที่มีแฟนบอล และเงินเยอะ ก็ใช่ว่าจะซื้อแข้งดีๆได้มากมาย เพราะยิ่งเป็นสโมสรใหญ่ ยิ่งโดนเรียกค่าจ้างแพง ถึงขั้น 100,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ไม่ยอมทุ่มให้ มันก็อาจย้ายไปอยู่กับคู่อริ กลายเป็นหอกข้างแคร่ แต่ถ้าจ่าย 100,000 ปอนด์ เพียง 5 ราย ปีหนึ่งต้องจ่าย 26 ล้านปอนด์ ไม่รวมโบนัส นั่นแค่ 5 คนเท่านั้น แต่ทีมหนึ่งควรมีไม่ต่ำกว่า 20 ราย แม้ค่าจ้างไม่เท่ากันหมด แต่คงไม่แตกต่างมากนัก โรบิน ฟาน เพอร์ซี่ อาจรับ 70,000 ปอนด์ เพื่อนร่วมทีมอย่าง คาร์ล เจนกินสัน คงไม่ได้สัปดาห์ละ 7,000 ปอนด์ ในอนาคตอาจขอเพิ่ม แล้วมั่นใจได้แค่ไหนว่า อาร์เซน่อล จะเป็นแชมป์ หรือไปเตะ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ทุกปี แถม อาร์เซน่อล ต้องซื้อนักเตะระดับ 10 ล้านปอนด์ เข้ามาใหม่ทุกปี ผู้เล่นค่าตัว 10 ล้านปอนด์ คงไม่อยากได้ค่าจ้าง 22,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ เช่นกัน
นักเตะระดับลีก ทู ได้ค่าจ้างน้อยกว่าแข้งพรีเมียร์ลีกโดยเฉลี่ย 30 เท่า
นั่นไม่นับว่าสมัยนี้ สโมสรต้องจ่ายโบนัสยิบย่อยให้นักเตะทุกราย เช่นเงินที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนนัดที่ลงเตะ จำนวนประตูที่ยิงได้ หรือจำนวนเกมที่ไม่เสียประตู หากทีมได้แชมป์หรือมีผลงานดี ต้องจ่ายเพิ่ม หากเขาเป็นดาราที่มีผลต่อภาพลักษณ์ของสโมสร ก็มีเงินพิเศษอีกก้อน เพราะการมีนักเตะบางคน สามารถเรียกผู้ชม หรือโฆษณา เข้ามาได้เช่นกัน แต่ใช่ว่าทุกค่ายจะสามารถจ่ายไหว บางสโมสรจ่ายเงินโบนัสให้นักเตะซึ่งพาเป็นแค่รองแชมป์ สูงกว่าจำนวนเงินที่หลายสโมสรจ่ายให้ทั้งทีมหากคว้าแชมป์สำเร็จเสียอีก ความสามารถในการจ่ายโบนัสสูงๆ ไม่ได้ช่วยให้ทีมประสบความสำเร็จเสมอ และน่าตกใจคือเงินส่วนนี้จ่ายตามความต้องการของนักเตะ ซึ่งมีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะในส่วนค่าเหนื่อยที่ได้แน่นอน ถูกจำกัดโดยสหภาพนักเตะ ไว้ไม่ให้เกิน 400,000 ปอนด์ ต่อสัปดาห์ ซึ่งนั่นมากพอจ้างนักเตะลีก ทู ถึง 10 คน ได้ตลอดทั้งปี
แปลว่านักเตะที่เป็นซูเปอร์สตาร์อย่าง ฟาน เพอร์ซี่ มีสิทธิ์ขอโบนัส และรับเงินมากกว่า เจนกินสัน หลายเท่า แม้อยู่ทีมเดียวกัน และมีแต่คนกลุ่มนี้เท่านั้นซึ่งได้ประโยชน์แบบเต็มที่จากภาวะเงินเฟ้อ มองอีกด้านหนึ่ง การต้องจ่ายเงินมากเกินจริง ทำให้มีผู้สนใจลงทุนกับสโมสรฟุตบอลเหล่านี้ลดน้อยลงเรื่อยๆ อย่าแปลกใจที่ยักษ์ใหญ่หลายแห่งต้องเป็นหนี้ ไม่ใช่ว่าไม่มีใครเชื่อว่าพวกนี้จะไม่ทำเงิน แต่กลัวว่าทุนที่ได้มานั้น ต้องนำไปจ่ายกับสิ่งไม่จำเป็น โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าหรือเปล่า แม้แต่สโมสรในแชมเปี้ยนชิพ จ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าในเวลา 5 ปี แต่ยังไม่ถึงค่าเหนื่อยที่ ยาย่า ตูเร่ รับในหนึ่งสัปดาห์ด้วยซ้ำ แต่สมาคมนักเตะอาชีพชองอังกฤษ ปกป้องเรื่องนี้ อ้างว่านี่คือเกมที่เกี่ยวกับผู้เล่น คนจ่ายเงินเข้ามาดูพวกเขา ไม่มีใครดูหนังแล้วบ่นเรื่องค่าจ้างของ แบร็ด พิตต์ ไม่มีใครบังคับสโมสรจ่ายให้คนที่พวกเขาคิดว่าไม่ทำเงินคืนให้พวกเขาได้ด้วย
ครั้งหนึ่ง จอห์น บาร์นส์ เคยมีค่าจ้างสูงสุด แต่ก็เพียงสัปดาห์ละ 10,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์เท่านั้น
ก่อนการมีค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเมื่อปี 1992 หนึ่งในนักเตะที่รับค่าจ้างสูงสุดพรีเมียร์ลีก อย่าง จอห์น บาร์นส์ ก็ได้แค่สัปดาห์ละ 10,000 ปอนด์ แต่จากนั้นค่าเหนื่อยนักเตะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะรู้แล้วฝีเท้าของพวกเขาคือจุดขายที่ทำเงินมหาศาล ปี 2007 จอห์น เทอร์รี่ รับ 130,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ไม่ได้แปลว่าเขาเก่งกว่า บาร์นส์ 13 เท่า แต่หมายถึง เชลซี สามารถหาประโยชน์จากกองหลังคนนี้คุ้มพอจะจ่ายขนาดนั้น ตอนนี้ต่อให้อยู่ลีก ทู นักเตะก็ยังรับค่าจ้างสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ชาวอังกฤษทำเงินได้ทั้งปี (34,000 ปอนด์)
ฟุตบอลคือกีฬาที่มีการเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นเกมระดับโลกอย่างแท้จริง และเป็นผลให้ผู้เล่นชั้นนำ ยังคงเพลิดเพลินกับผลตอบแทนทางการเงินที่สูงเกินมนุษย์ธรรมดา ต่อไปอีกนาน
จากคุณ |
:
ทุ่งเกวียน
|
เขียนเมื่อ |
:
31 ต.ค. 54 06:27:28
|
|
|
|
 |