 |
ในปี 1997 แฮมมัมได้ขายสโมสรให้กับนักธุรกิจชาวนอร์เวย์ Kjell Inge Røkke and Bjørn Rune Gjelsten พร้อมกับเสนอขายสนามเพลาจ์ เลน ในราคา 8 ล้านปอนด์ เพื่อสร้างเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต ขณะเดียวกันก็ได้มีแผนการที่จะย้ายที่ตั้งของสโมสรใหม่ โดยมีทั้งที่ไม่ไกลจากลอนดอนนักอย่าง Basingstoke, Gatwick หรือแม้กระทั่งไปยังที่อื่นอย่างดับลิน, เบลฟาสต์, คาร์ดิฟฟ์ แม้แต่ในสก็อตแลนด์ และแฮมมัม (ตอนนั้นถึงจะขายทีมไปแล้วแต่ยังเป็นประธานสโมสรอยู่) ก็มีแผนจะย้ายทีมไปที่ดับลินในไอร์แลนด์ แต่ถูกคัดค้านโดยสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ขณะเดียวกันก็มีสโมสรรอบกรุงลอนดอน 7 สโมสรได้เสนอตัวให้วิมเบิลดันเช่าสนาม รวมถึงแฮมมัมยังมีแผนที่จะขอซื้อสนามเซลเฮิร์สท์ ปาร์ค จากคริสตัล พาเลซ เป็นการถาวร แต่ข้อเสนอก็ตกไป
ในเวลานั้นเอง แผนการที่จะย้ายสโมสรไปอยู่เมืองมิลตัน คียน์ ก็ถูกปัดฝุ่นนำมาพิจารณาอีกครั้ง ในช่วงปลายปี 2000 กลุ่ม Milton Keyne Stadium Consortium (ขอเรียกย่อ ๆ ว่ากลุ่ม MK) ได้เสนอสร้างสนามขนาด 3 หมื่นที่นั่งในเมือง และมีความประสงค์ที่จะนำสโมสรในฟุตบอลลีกเข้ามาเล่นที่นี่ (ก่อนหน้านี้ในเมืองมีสโมสรฟุตบอลท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่อยู่แค่ในระดับแปดของปิระมิดฟุตบอลอังกฤษ) โดยตอนแรกมีแผนที่จะดึงทีมลูตันซึ่งอยู่ใกล้ เมืองมิลตัน คียน์ เข้ามา แต่ถูกยับยั้งจากสมาคมฟุตบอลลีกว่า ทุกสโมสรต้องตั้งอยู่ในท้องถิ่นของตัวเอง ("all clubs must stay in their own area") ต่อมาจึงได้มุ่งเป้าไปยังทีมในลอนดอน เช่น บาร์เน็ต, วิมเบิลดัน รวมถึงคริสตัล พาเลซ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
กระทั่งในเดือนมกราคม 2001 Charles Koppel ได้ซื้อหุ้นสโมสรวิมเบิลดันจากนักธุรกิจชาวนอร์เวย์ และได้เห็นชอบด้วยกับแผนที่จะย้ายที่ตั้งไปยังเมืองมิลตัน คียน์ โดย Koppel กล่าวว่าการย้ายที่ตั้งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้สโมสรต้องยุบทีม ในเวลานั้น ทางกลุ่ม MK ได้เจรจากับสโมสรควีนส์ปาร์ค เรนเจอร์ อีกหนึ่งทีมในลอนดอนตะวันตก แต่ล้มเหลวเนื่องจากควีนส์ปาร์คต้องการให้คงชื่อสโมสร, ชุดแข่ง รวมถึงถูกต่อต้านจากแฟนฟุตบอลของสโมสรด้วย ทำให้กลุ่ม MK ต้องหันกลับมาคุยกับวิมเบิลดันอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2001 และอีกสองเดือนต่อมา Koppel ก็ออกมาประกาศว่า ทีมรับข้อเสนอที่จะย้ายไปอยู่มิลตัน คียน์ โดยจะเปลี่ยนชื่อทีมใหม่เป็น มิลตัน คียน์ ดอนส์ และได้นำข้อเสนออย่างเป็นทางการเสนอให้สมาคมฟุตบอลลีกอนุมัติ
ข้อเสนอในการย้ายที่ตั้งของสโมสรได้รับการต่อต้านจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะจากแฟนฟุตบอลของสโมสรวิมเบิลดันที่โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ รวมถึงสมาคมฟุตบอลลีกและสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (อังกฤษมีสมาคมฟุตบอลสองสมาคม สมาคมฟุตบอลลีกจะดูแลฟุตบอลลีกอาชีพ ปัจจุบันเหลือเดอะแชมเปี้ยนชิพ, ลีกวัน, ลีกทู และถ้วยลีกคัพ ส่วนสมาคมฟุตบอลอังกฤษแต่ก่อนดูแลเฉพาะทีมชาติและถ้วยเอฟเอคัพ เดี๋ยวนี้ได้สิทธิ์จัดลีกสูงสุดอย่างพรีเมียร์ลีกมาด้วย) ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ไม่นานจะเคยมีการย้ายที่ตั้งของสโมสรฟุตบอลในสก็อตแลนด์มาสองสโมสรแล้วก็ตาม แต่สมาคมฟุตบอลลีกอังกฤษก็ไม่เห็นด้วย และกล่าวกับกลุ่ม MK ควรจะไปพัฒนาทีมไต่เต้าขึ้นมาจากระดับล่างดีกว่า และปฎิเสธแผนการของวิมเบิลดันอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยกล่าวว่ามันคือ หายนะ ของวงการฟุตบอล
ทางวิมเบิลดันได้ยื่นอุทธรณ์ในเดือนมกราคม 2002 ทำให้ต้องมีการตั้งคณะอนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดในเรื่องนี้ Winkleman ประธานกลุ่ม MK ก็ได้กล่าวว่าแม้แผนการย้ายสโมสร (วิมเบิลดัน) จะล้ม แต่พวกเขาก็พร้อมจะ เปิดประตูต้อนรับทุกทีมที่มีปัญหา และในที่สุด คณะอนุญาโตตุลาการก็ได้ชี้ขาดว่าคำตัดสินเดิมนั้น ไม่มีเหตุผลเพียงพอทางกฎหมาย และขั้นตอนการพิจารณาก็ไม่เป็นธรรม ข้อชี้ขาดดังกล่าวเป็นการเปิดทางให้แผนการย้ายที่ตั้งของสโมสรวิมเบิลดันเกิดขึ้นได้อีกครั้ง จากคำตัดสินนี้ ทำให้คณะกรรมการสมาคมฟุตบอลลีกต้องประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 17 เมษายน 2002 เพื่อพิจารณาข้อเสนอในการย้ายที่ตั้งของสโมสรวิมเบิลดันอีกครั้ง และในที่สุดก็ได้ตกลงเห็นชอบให้สโมสรวิมเบิลดันสามารถย้ายที่ตั้งสโมสรใหม่ได้ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2002
แก้ไขเมื่อ 13 ม.ค. 55 19:21:45
จากคุณ |
:
เกียรตินำ
|
เขียนเมื่อ |
:
13 ม.ค. 55 19:13:31
|
|
|
|
 |