 |
***********************ไฟแนนเชี่ยล แฟร์ เพลย์ คืออะไร....*********************************
วันที่ 1 มิถุนายนนี้ วงการฟุตบอลยุโรปอาจจะถึงคราวเปลี่ยนแปลงเมื่อสหพันธ์ฟุตบอลแห่งยุโรป ( UEFA ) จะเอากฏที่ชื่อว่าไฟแนนเชี่ยล แฟร์ เพลย์มาใช้ควบคุมสโมสรในลีกสูงสุดทั้ง 660 ทีมใน 53 ประเทศทั่วทั้งยุโรป
อธิบายแบบคร่าว ๆ กฎนี้ก็คือเครื่องมือที่ UEFA จะเอามาใช้ควบคุมไม่ให้สโมสรต่าง ๆ ใช้เงินแบบเกินตัว และถ้าทีมไหนทำตามกฎไม่ได้ก็จะโดนลงโทษซึ่งรวมถึงการโดนตัดสิทธิห้ามลงแข่งขันฟุตบอล UEFA Champions League และ UEFA Ueropa League
คำว่าเกินตัว ก็คือ UEFA กำหนดเลยว่าแต่ละสโมสรที่จะเข้าแข่งขันฟุตบอลยุโรป จะต้องมีรายจ่ายไม่มากไปกว่ารายได้ในส่วนของธุรกิจฟุตบอล อาทิ ค่าผ่านประตู, เงินที่ได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และสปอนเซอร์ผู้สนับสนุน
พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ทีมต้องมีรายได้มากกว่ารายจ่ายนั่นแหละ
อย่างไรก็ตาม UEFA ก็ยังอะลุ้มอล่วยนั่นคือจะนำมาใช้ในวันที่ 1 มิ.ย. นี้ แต่ก็ยังจะไม่ลงโทษทีมต่าง ๆ ทันที แต่จะให้เวลาสโมสรได้ตั้งตัวและแก้ไขสถานะทางการเงินของตัวเอง โดย UEFA กำหนดว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 - 2014 แต่ละทีมจะสามารถขาดทุนได้ไม่เกิน 45 ล้านยูโร ต่อปี ก่อนที่ปี ค.ศ. 2014 - 2017 แต่ละทีมจะสามารถขาดทุนได้ไม่เกิน 30 ล้านยูโร และหลังจากนั้น ทุกทีมจะต้องไม่มีค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่หามาได้อีกต่อไป
สำหรับ บทลงโทษนั้น ทาง UEFA กำหนดไว้คร่าว ๆ ก็คือในฤดูกาล 2014 - 2015 อาจจะมีการตัดสิทธิสโมสรที่มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ไม่ให้ลงแข่งขันฟุตบอลสโมสรยุโรป นั่นหมายความว่า แต่ละทีมมีเวลาอีกประมาณ 3 ปี ที่จะทำบัญชีการเงินของสโมสรให้กลับมาอยู่ในจุดสมดุล
และแน่นอนว่าจากสถานการณ์ในตอนนี้ หลายสโมสรถือว่ามีความเสี่ยงที่จะโดนตัดสิทธิออกจากการแข่งขันในอีก 3 ปีข้างหน้า เรามาลองดูดีกว่าว่าบรรดาทีมยักษ์ใหญ่ของยุโรป แต่ละทีมสถานะทางการเงินเป็นอย่างไรกันบ้าง
โฮม โกรน เพลเยอร์ ในพรีเมียร์ลีก
ฤดูกาลนี้พรีเมียร์ลีกได้เปลี่ยนแปลงกฏใหม่ คือหลังการปิดตลาดซื้อ-ขาย ทุกสโมสรจะต้องมีนักเตะที่ลงทะเบียนไม่เกิน 25 คน และในจำนวนนั้นต้องเป็นนักเตะในประเทศ (home grown players) 8 ราย
หลายคนอาจสงสัยอะไรคือ โฮม โกรน เพลเยอร์? ทำไมต้องมีกฏนี้? ผลที่จะได้เป็นอย่างไร?
มิเชล พลาตินี ประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ชื่นชม 3 ทีมที่เข้ารอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลก 2010 คือ เยอรมัน, ฮอลแลนด์ รวมถึง สเปน ว่าช่วยส่งเสริมนักเตะรุ่นใหม่อย่างจริงจัง โดยเฉพาะดาวรุ่งในประเทศ จนประสบความสำเร็จกับการแข่งขันใหญ่ๆ และระดับเยาวชนตลอดไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งหมดเป็นผลจากความพยายามอย่างยาวนานของสมาคมลูกหนังทั้ง 3 ประเทศ ที่กล้าลงทุนฝึก และให้โอกาสนักเตะเยาวชน ตามนโยบายของยูฟ่าซึ่งมีขึ้นตั้งแต่ปี 2007
เชลซีไม่กระทบกับ โฮม โกรน เพลเยอร์ เพราะมีตัวหลักอย่าง จอห์น เทอร์รี่ (ซ้าย) กับ แฟร้งค์ แลมพาร์ด เป็นชาวอังกฤษอยู่แล้ว
ยูฟ่าอยากให้ส่งเสริมนักเตะท้องถิ่น หลังการเข้ามาค้าแข้งในยุโรปอย่างล้นหลามของนักเตะทั่วโลก หลังมีกฏบอสแมนเมื่อปี 1995 ทำให้ประเทศเจ้าของลีกได้รับผลกระทบ เพราะไม่สามารถปั้นดาวรุ่งขึ้นมาสู่ทีมชาติ หลายแห่งต้องโอนสัญชาติให้แข้งต่างด้าวกันมากขึ้น พลาตินี่จึงคิดให้สโมสรต่าง ๆ คัดเลือกนักเตะอายุต่ำกว่า 23 ปี ที่ผ่านการฝึกฝนในประเทศ ได้มีโอกาสลงเล่นฟุตบอลสโมสรยุโรป โดยยูฟ่ามีข้อกำหนดว่าสโมสรในศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก จะต้องใส่ชื่อนักเตะที่ฝึกอยู่ในท้องถิ่นอย่างน้อย 8 จากทั้งหมด 25 คน
สเปนอาจไม่ได้แชมป์โลกถ้าไม่มี อันเดรส อิเนียสต้า, ชาบี เอร์นานเดซ, อิเคร์ กาซียาส, ดาบิด บีย่า, การ์เลส ปูโยล และ เซร์คิโอ รามอส นักเตะเหล่านี้ก็อาจไม่เก่งเหมือนในปัจจุบัน ถ้าอดีตนั้นไม่ได้โอกาสลงเล่นเพื่อพัฒนาฝีเท้า โดยเฉพาะสโมสรใหญ่ เพราะถ้าบีย่าหรือรามอสไปอยู่ กาดิช หรือ เอลเช่ คงยากจะเอาดีขึ้นมาได้ แต่ เรอัล มาดริด กับ บาร์เซโลน่า คือส่วนหนึ่งของหลายสโมสรที่ให้โอกาสดาวรุ่ง แม้อาจเพราะพวกเขามีซูเปอร์สตาร์หลายคน แค่ 4-5 รายก็จ่ายค่าเหนื่อยแต่ละสัปดาห์เป็นเงินล้าน จึงต้องให้นักเตะเยาวชนขึ้นมาช่วยแบ่งเบาภาระทางการคลัง
เมื่อดาวรุ่งพวกนี้มีโอกาสเล่นกับซูเปอร์สตาร์บ่อยๆ ความมั่นใจ และความสามารถก็เกิดขึ้น ผลที่ตามมาคือทีมชาติของพวกเขาได้นักเตะดีๆเข้ามาช่วยงานมากขึ้น ฟาบิโอ คาเปลโล่ ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษชาวอิตาเลียน และสมาคมฟุตบอลเมืองผู้ดี เคยอ้างว่าที่พวกเขาต้องผิดหวังจาก ฟุตบอลโลก 2010 เป็นเพราะขาดดาวรุ่งขึ้นมารับช่วงต่อเวลาที่ตัวหลักบาดเจ็บ หรือแก่ตัวลง โดยต่อไปจะเน้นให้โอกาสแข้งในประเทศมากขึ้น พรีเมียร์ลีกจึงรับลูกต่อด้วยการเปลี่ยนกฏให้รองรับนโยบายดังกล่าว แต่ดูเหมือนมีอีกหลายจุดที่ยังต้องกังวลกันอยู่
เชส ฟาเบรกาส แข้งทีมชาติสเปน แต่เป็น โฮม โกรน เพลเยอร์ ของอาร์เซน่อล เพราะถูกซื้อก่อนอายุ 18 ปี
เพราะมีการระบุด้วยว่านักเตะอายุ 21 ปี หรือต่ำกว่า ก็สามารถลงเล่นได้โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนอยู่ใน 25 คนนั้น นักเตะในประเทศ 8 คนที่เป็น โฮม โกรน เพลเยอร์ ต้องถูกลงทะเบียนเพื่อเล่นในประเทศอังกฤษมาแล้ว 3 ฤดูกาลก่อนพวกเขาจะอายุครบ 21 ปี ซึ่งถ้ายึดตามนี้แล้วก็จะแปลว่า บางสโมสรอาจใช้นักเตะต่างชาติเป็น โฮม โกรน เพลเยอร์ ก็ได้ ขอให้เป็นพวกที่ซื้อมาแล้ว 3 ฤดูกาล ตั้งแต่อายุไม่ถึง 18 ปี เช่นกรณีของ เชส ฟาเบรกาส, กาแอล กากูต้า หรือ นิโกล่าส์ อเนลก้า ไม่ก็ใส่ชื่อคนท้องถิ่นในบัญชี 8 รายไว้ตามกฏ แต่อาจไม่ถูกใช้ลงสนามจริงๆ
ก่อนมีกฏบอสแมน หลายลีกของยุโรปมีการจำกัดจำนวนผู้เล่นต่างชาติในแต่ละสโมสร และยูฟ่ากำหนดว่าสโมสรสามารถใช้แข้งกลุ่มนี้ได้แค่ 3 คน บวกสองรายที่มาจากทีมเยาวชน หลังกฏบอสแมน ทุกสโมสรมีอิสระใช้นักเตะไม่จำกัด เพราะถ้ามาจากประเทศเครือสหภาพยุโรป (อียู) ด้วยกัน ก็ไม่ถือว่าเป็นต่างชาติ 11 ตัวจริงจึงไม่จำเป็นต้องมีคนท้องถิ่นเลยก็ได้ ขอแค่อย่ามีพวกนอกอียูเกิน 3 รายเท่านั้น หลายสโมสรจึงสามารถตุนแข้งที่ต้องการเป็นหลักร้อย โดยเซ็นไว้ตั้งแต่อายุน้อย อาจมีผลประโยชน์ทางด้านการตลาดกับประเทศบ้านเกิดของดาวรุ่งคนนั้นด้วย แถมไม่ต้องเสียเวลาปั้นนักเตะท้องถิ่น ซึ่งไม่แน่ว่าจะเก่งจริงหรือเปล่า ค่าจ้างพวกต่างชาติยังถูกกว่าอีกต่างหาก เพราะหลายคนขอแค่มีโอกาสหากินในสโมสรชื่อดังก็พอ ให้เงินเท่าไหร่ก็เอา
มันยังทำให้อาชีพนายหน้านักเตะเฟื่องฟู เพราะมีหน้าที่หาแข้งดีๆมาเสนอให้สโมสรที่สามารถจ่ายได้สูงสุด แล้วนำเปอร์เซนต์มาแบ่งกัน โดยแมวมองไม่จำเป็นต้องเห็นฟอร์ม เมื่อไม่จำกัดแข้งต่างชาติ ทุกค่ายจึงต้องแข่งกันทุ่มซื้อเพื่อเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จ ยิ่งมีคนเก่งเยอะยิ่งดี ถ้าเป็นเป้าหมายเดียวกับสโมสรอื่น ก็ต้องเพิ่มเงินให้ทั้งนักเตะ, นายหน้า และต้นสังกัดของเขาคนนั้นให้สูงขึ้น จึงเริ่มมีผู้เล่นราคาเป็นหลัก 10-20-30 ล้าน เมื่อใช้เงินมากขึ้น ทีมลูกหนังก็ต้องไปเรียกคืนจากแฟนบอล เพิ่มค่าตั๋วบ้าง ขายของที่ระลึกให้หลากชนิดมากขึ้น ในราคาที่แพงขึ้น
คริส สมอลลิ่ง (กลาง) จะได้ประโยชน์จากโฮม โกรน เพลเยอร์ อย่างไร เมื่อเจอคู่แข่งอย่าง เนมานย่า วิดิช
ข้ออ้างคือถ้าอยากดูแข้งดังเล่นกับทีมโปรด หรือต้องการให้ประสบความสำเร็จเพราะรวมคนเก่งไว้เยอะๆ (แต่อาจไม่ได้มาจากชาติเดียวกับสโมสร) กองเชียร์ก็ควรจ่ายแพงหน่อย ไปๆมาๆบางลีกจึงรวมตัวกันขอค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขันให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ โดยอ้างเป็นลีกที่รวมซูเปอร์สตาร์ทั่วทุกมุมโลก (แต่ไม่ได้ช่วยให้ดาวรุ่งของประเทศตัวเองมีโอกาสพัฒนาฝีเท้า) พอทุกอย่างมีราคาสูงขึ้น ทุกอย่างจึงเป็นเงินเป็นทอง มีโฆษณาเต็มสนาม แม้มันไม่ได้มาจากชาติตัวเอง หรือวางขายในละแวกที่ตั้งสโมสรนั้นด้วยซ้ำ จนถึงขั้นขายแม้แต่หุ้นของทีมให้ต่างชาติ
นักธุรกิจประเทศไหนมาซื้อสโมสรฟุตบอล ก็อยากให้ดาวรุ่งชาติเดียวกันมีโอกาสมาลงสนาม ไม่เคยมีใครประกาศจะพัฒนาฝีเท้าเด็กในท้องถิ่น เมื่อทุกคนไม่ว่าทั้งผู้บริหาร โค้ช และนักเตะต่างมาเพื่อเงิน จึงไม่ค่อยคิดทุ่มเทเพื่อสโมสรมากเท่ากับตัวเอง พอถึงเวลาตกอับก็ย้ายหนี ทีมที่ให้โอกาสนักเตะดาวรุ่งจริงๆจึงอยู่ในลีกต่ำๆ เพราะไม่มีเงินไปแย่งซูเปอร์สตาร์กับพวกยักษ์ใหญ่ แต่ถึงเวลาปั้นใครเก่งขึ้นมาได้ ก็ต้องขายไปให้พวกนั้นเช่นกัน ดาวรุ่งที่มาจากลีกต่ำๆ มักลงเอยด้วยการนั่งสำรองในทีมระดับบิ๊กเนม และตัวจริงส่วนมากก็คือชาวต่างชาติ ไม่ก็เป็นแข้งดังอายุเยอะ
ของเหล่านี้เห็นๆกันอยู่ ถ้าท่านผู้อ่านเป็นโค้ช แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะเลือกใครลงสนาม ระหว่าง คริส สมอลลิ่ง หรือ เนมานย่า วิดิช ความเป็นจริงนั้นขนาด เบน ฟอสเตอร์ ต้องย้ายเพราะสู้ โทมัสซ์ คุซซัค และ เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ ไม่ได้ หรือ "ปีศาจแดง" ไม่อยากเสี่ยงก็ไมรู้ ทำไม ลิเวอร์พูล ต้องซื้อ ราอูล เมยเรเลส รวมถึง คริสเตียน โพลเซ่น ทั้งๆมี เจย์ สเปียริ่ง อาจเป็นเพราะเสี่ยงเกินไปถ้าจะปั้นดาวรุ่งในประเทศ แต่ล้มเหลวกับการแข่งขัน เพราะความคาดหวังเรื่องการคว้าแชมป์ของสโมสร มาก่อนเรื่องอนาคตของนักเตะชาติตัวเอง
ถ้าลิเวอร์พูลปั้น เจย์ สเปียริ่ง (ซ้าย) เหมือน เจมี่ คาร์ราเกอร์ เพื่ออนาคตของอังกฤษ ก็อาจทำให้ชนะคู่แข่งลำบากกว่าเดิม
การมีกฏโฮม โกรน เพลเยอร์ เป็นเรื่องดี แต่คงหวังผลเลิศลำบากในยุคที่ทุกอย่างเป็นธุรกิจ พรีเมียร์ลีกทำอะไรได้ไม่มาก เพราะค่าลิขสิทธิ์ที่รับกันอยู่ส่วนหนึ่งก็มาจากเรื่องการมีซูเปอร์สตาร์ทั่วทุกมุมโลก เรื่องมากนักเดี๋ยวทีมใหญ่แยกไปตั้ง ยูโรลีก แล้วก็จะหนาว
ประวัติฟุตบอล ความเป็นมาของฟุตบอล ที่มาที่ไป
ฟุตบอล (Football) หรือซอคเก้อร์ (Soccer) เป็นกีฬาที่มีผู้สนใจที่จะชมการแข่งขันและเข้าร่วมเล่นมากที่สุดในโลก ชนชาติใดเป็นผู้กำเนิดกีฬาชนิดนี้อย่างแท้จริงนั้นไม่อาจจะยืนยันได้แน่นอน เพราะแต่ละชนชาติต่างยืนยันว่าเกิดจากประเทศของตน แต่ในประเทศฝรั่งเศสและประเทศอิตาลี ได้มีการละเล่นชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "ซูเลอ" (Soule) หรือจิโอโค เดล คาซิโอ (Gioco Del Calcio) มีลักษณะการเล่นที่คล้ายคลึงกับกีฬาฟุตบอลในปัจจุบัน ทั้งสองประเทศอาจจะถกเถียงกันว่ากีฬาฟุตบอลถือกำเนิดจากประเทศของตน อันเป็นการหาข้อยุติไม่ได้ เพราะขาดหลักฐานยืนยันอย่างแท้จริง ดังนั้น ประวัติของกีฬาฟุตบอลที่มีหลักฐานที่แท้จริงสามารถจะอ้างอิงได้ เพราะการเล่นที่มีกติการการแข่งขันที่แน่นอน คือประเทศอังกฤษเพราะประเทศอังกฤษตั้งสมาคมฟุตบอลในปี พ.ศ. 2406 และฟุตบอลอาชีพของอังกฤษเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2431
วิวัฒนาการด้านฟุตบอลจะเป็นไปพร้อมกับความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ตลอดมา ต้นกำเนิดกีฬาตะวันออกไกลจะได้รับอิทธิพลมาจากสงครามครั้งสำคัญๆ เช่น สงครามพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ได้นำเอา "แกลโล-โรมัน" (Gello-Roman) พร้อมกีฬาต่างๆ เข้ามาสู่เมืองกอล (Gaul) อันเป็นรากฐานส่วนหนึ่งของกีฬาฟุตบอลในอนาคต และการเล่นฮาร์ปาสตัม (Harpastum) ได้ถูกดัดแปลงมาเป็นกีฬาซูเลอ
วิวัฒนาการของฟุตบอล
ภาคตะวันออกไกล ขงจื้อได้กล่าวไว้ในหนังสือ "กังฟู" เกี่ยวกับกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาที่ใช้เท้าและศีรษะในสมัยจักรพรรดิ์ เซิงติ (Emperor Cneng Ti) (ปี 32 ก่อนคริสตกาล) มีการเล่นกีฬาที่คล้ายกับฟุตบอลซึ่งเรียกว่า"ซือ-ซู" (Tsu-Chu) ซึ่งหมายถึงการเตะลูกหนังด้วยเท้า กีฬาชนิดนี้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ซึ่งนักประพันธ์และนักประวัติศาสตร์ในสมัยนั้นได้ยกย่องผู้เล่นที่มีชื่อเสียงให้เป็นวีรบุรุษของชาติ และในสมัยเดียวกันได้มีการเล่นคล้ายฟุตบอลในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
ภาคตะวันออกกลาง ในกรุงโรม ความเจริญของตะวันออกไกลได้แผ่ขยายถึงตะวันออกกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอิทธิพลของสงครามโดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช การเล่นกีฬาชนิดหนึ่งเรียกว่า ฮาร์ปาสตัม เป็นกีฬาที่นิยมของชาวโรมันและชาวกรีกโบราณวิธีการเล่นคือ มีประตูคนละข้าง แล้วเตะลูกบอลไปยังจุดหมายที่ต้องการ เช่น จากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง การเล่นจะเป็นการเตะ หรือการขว้างไปข้างหน้าฮาร์ปาสตัม หมายถึงการเหวี่ยงไปข้างหน้า การเล่นกีฬาฮาร์ปาสตัมในกรุงโรมดูเหมือนจะเป็นต้นกำเนิดของกีฬาซึ่งมีการเล่นในสมัยกลาง
ในการเล่นฮาร์ปาสตัม ขนาดของสนามจะเล็กกว่าสนามกีฬาซูเลอ แต่จุดประสงค์ของกีฬาทั้งสองคือ การนำลูกบอล ไปยังแดนของตน แต่เนื่องจากมีเสียงอึกทึกโครมครามจากการวิ่งแย่งลูกบอล ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้มากมาย อันเป็นข้อห้ามของพระเจ้า จึงมีพระบรมราชโองการในนามของพระเจ้าแผ่นดินห้ามเล่นกีฬาดังกล่าวในเมือง ผู้ฝ่าฝืนมีโทษถึงจำคุก นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามซึ่งออกในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.1892 ขอให้เล่นยิงธนูในวันฉลองต่าง ๆ แทนการเล่นเกมฟุตบอล ในโอกาสต่อมากีฬาฟุตบอลได้จัดให้มีการแข่งขันกันอีกครั้ง ซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างทีมต่างๆ ที่อยู่ห่างกันประมาณ 3-4 ไมล์ ( 5-6.5 กิโลเมตร- )
ในปี พ.ศ. 2344 กีฬาชนิดนี้ได้ขัดเกลาให้ดีขึ้น มีการกำหนดจำนวนผู้เล่นให้เท่ากันในแต่ละข้าง ขนาดของสนามอยู่ในระหว่าง 80 - 100 หลา (73-91 เมตร) และมีประตูทั้งสองข้างที่ริมสุดของสนามซึ่งทำด้วยไม้ 2 อัน ห่างกัน 2-3 ฟุต
ในปี พ.ศ. 2366 ได้จัดให้มีการเล่นฟุตบอลในรูปแบบของการเล่นใน ปัจจุบัน William Alice คือผู้เริ่มวางกฎบังคับต่างๆ สำหรับกีฬาฟุตบอลและรักบี้ ในปี พ.ศ. 2393 ได้มีการออกระเบียบและกฎของการเล่นไปสู่ ดินแดนต่างๆ ให้ปฏิบัติตาม โดยจำกัดจำนวนผู้เล่นให้มีข้างละ 15-20 คน
ในปี พ.ศ. 2413 มีการกำหนดผู้เล่นให้เหลือข้างละ 11 คน โดยมีผู้เล่นกองหน้า 9 คน และผู้เล่นรักษาประตู 2 คน โดยผู้รักษาประตูใช้เท้าเล่นเหมือน 9 คนแรกจนกระทั่งให้เหลือผู้รักษาประตู 1 คน แต่อนุญาตให้ใช้มือจับลูกบอลได้ในปี พ.ศ. 2423
ในปี พ.ศ. 2400 สโมสรฟุตบอลได้ก่อตั้งเป็นครั้งแรกที่เมืองเซนพัสด์ประเทศอังกฤษ และต่อมาในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2406 สโมสรฟุตบอล 11 แห่งได้มารวมกันที่กรุงลอนดอนเพื่อก่อตั้งสมาคมฟุตบอลขึ้น ซึ่ง ถือเป็นรากฐานในการกำเนิดสมาคมแห่งชาติ จนถึง 140 สมาคม และทำให้ผู้เล่นฟุตบอลต้องเล่นตามกฎและกติกาของสมาคมฟุตบอล จนเวลาผ่านไปจากคำว่า Association ก็ย่อเป็น Assoc และกลายเป็น Soccer ขึ้นในที่สุด ซึ่งนิยมเรียกกันในประเทศอังกฤษ แต่ชาวอเมริกันเรียกว่า Football หมายถึง American football
ภายนอกเกาะอังกฤษ พวกกะลาสีเรือ ทหาร พ่อค้า วิศวกร หรือแม้แต่นักบวชได้นำกีฬาชนิดนี้ไปเผยแพร่ ประเทศเดนมาร์กเป็นประเทศที่ 2 ในยุโรป
ในอเมริกาใต้ สโมสรแรกได้ถูกตั้งขึ้นในประเทศอาร์เจนตินา เมื่อพี่น้องชาวอังกฤษ 2 คน ได้ลงข้อความโฆษณาในหนังสือพิมพ์ของเมืองบูเอโนสไอเรส (Buenos Aires) เพื่อ หาผู้อาสาสมัคร ในปี พ.ศ. 2427 กีฬาฟุตบอลก็กลายมาเป็นวิชาหนึ่งในโรงเรียนของเมืองบูเอโนสไอเรส การแข่งขันระดับชาติครั้งแรกในทวีปอเมริกาใต้ คือ การแข่งขันระหว่างอาร์เจนตินากับอุรุกวัย ในปี พ.ศ.2448 แต่อเมริกาเหนือเริ่มแข่งขันเมื่อปี พ.ศ. 2435
ในอิตาลี ฮาร์ปาสตัมเป็นต้นกำเนิดจิโอโค เดล คาลซิโอ ผู้เล่นกีฬาจะเป็นผู้นำทางสังคม หรือแม้แต่ผู้นำชั้นสูงของศาสนา เช่นสันตปาปา เกลาเมนต์ที่ 7 ลีออนที่ 10 และเออร์เบนที่ 7 เป็นถึงแชมเปี้ยนในกีฬาฟลอเรนไทน์ฟุตบอล ต่อมาชาวโรมันได้ดัดแปลงเกมการเล่นฮาร์ปาสตัมเสียใหม่ โดยกำหนดให้ใช้เท้าแตะลูกบอลเท่านั้น ส่วนมือให้ใช้เฉพาะการทุ่มลูกบอล ซึ่งนักรบชาวโรมัน นิยมเล่นกันมาก
กีฬาฮาร์ปาสตัมซึ่งมีต้นกำเนิดจากสมัยโรมันได้ถูกแปลงมาเป็นกีฬาซูลอหรือซูเลอ กีฬาชนิดนี้เหมือนกับฮาร์ปาสตัม คือ นำลูกบอลกลับไปยังแดนของตน แต่สนามมีขนาดกว้างกว่ามาก การเล่นซูเลอมักจะมีขึ้นในบ่ายวันอาทิตย์หลังการสวดมนต์เย็น จะมีการแข่งขันสำคัญในช่วงเวลาดีคาร์นิวาล กีฬาชนิดนี้เป็นที่นิยมมากในเขตปริตานีและมอร์ลังดี กีฬานี้ได้ถูกเผยแพร่ไปยังอังกฤษโดยผู้ติดตามของวิลเลี่ยมผู้พิชิตภายหลัง การรบที่เฮสติ้ง (Hasting)
เมื่อ 900 ปีกว่ามาแล้ว ประเทศอังกฤษได้ตกอยู่ในความปกครองของพวกเคนส์ เชื้อสายโรมัน ซึ่งยกกองทัพมาตีหมู่เกาะอังกฤษตอนใต้ และได้ปกครองเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 1589 อังกฤษเริ่มเข้มแข็งขึ้น และสามารถขับไล่พวกเคนส์ออกจากประเทศได้ หลังจากนั้น 2-3 ปี อังกฤษจึงเริ่มปรับปรุงประเทศเป็นการใหญ่ มีการขุดอุโมงค์ตามพื้นที่หลายแห่ง ซึ่งในการขุดอุโมงค์คนงานคนหนึ่งได้ขุดไปพบกะโหลกศีรษะในบริเวณที่เคยเป็นสนามรบ และเป็นที่ฝังศพของพวกเคนส์มาก่อนทุกคนในที่นั้นแน่ใจว่าเป็นกะโหลกศีรษะของพวกเคนส์ อารมณ์แค้นจึงเกิดขึ้นทันทีเมื่อต่างคนต่างคิดถึงเหตุการณ์ที่ถูกพวกเคนส์กดขี่ทารุณจิตใจคนอังกฤษในสมัยนั้นด้วยเหตุผลนี้ คนงานคนหนึ่งจึงเตะกะโหลกศีรษะนั้นทันที ส่วนคนอื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณนั้นก็พากันหยุดงานชั่วคราว แล้วหันมาเตะกะโหลกศีรษะเป็นการใหญ่ เพื่อระบายอารมณ์แค้นที่เก็บไว้อย่างสนุกสนาน ผลที่สุดเมื่อพวกนี้หากะโหลกศีรษะเตะกันไม่ได้ก็เอาถุงลมของวัวมาทำเป็นลูกกลมขึ้นเตะแทนกะโหลกศีรษะ ปรากฏว่าเป็นที่รื่นเริงสนุกสนามกันมาก
ต่อมาชาวโรมันได้นำเกมนี้ไปเล่นในอังกฤษ จากนั้นชาวอังกฤษก็ได้ปรับปรุงวิธีการเล่น เทคนิคการเล่น ตลอดจนกติกาให้เหมือนในสมัยปัจจุบัน คือเกมฟุตบอลที่ใช้เท้าเล่น แต่ในระยะแรกของการเล่นฟุตบอลจะเล่นกันเป็นกลุ่มๆ เฉพาะพวกคนธรรมดาเท่านั้น ไม่มีการจำกัดจำนวนผู้เล่น ประตูจะห่างกันเป็นไมล์ และใช้เวลาในการเล่นหลายชั่วโมง จะเป็นการเล่นระหว่างทหารใหม่ที่ถูกเกณฑ์ นักบวช คนที่แต่งงานแล้ว คนโสด และพวกพ่อค้า เกมชนิดได้กลายเป็นสิ่งฉลองในงานพิธีต่างๆ เช่น ในวันโชรพ ทิวส์เดย์ (Shrove Tuesday) จะมีฟุตบอลนัดสำคัญให้คนได้ชม เกมในสมัยนั้นจะเล่นกันอย่างรุนแรงและมีการบาดเจ็บกันมาก
ในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 1857 พระเจ้าเอ๊ดเวิร์ดที่ 2 ได้ทรงออกพระราชกฤษฎีกา เนื่องจากมีเสียงอึกทึกครึกโครมจาการวิ่งแย่งลูกบอล ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุมากมาย อันเป็นข้อห้ามของพระเจ้า โดยห้ามเล่นกีฬาดังกล่าว ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุก
ฟุตบอลได้เริ่มแข่งขันภายใต้กฎของสมาคมแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2412 ระหว่างทีมรัตเกอร์กับทีมบรินท์ตัน จากนั้นกิจการฟุตบอลได้เจริญขึ้นช้าๆ ในต่างจังหวัดจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มีการตั้ง สมาคมฟุตบอลต่างจังหวัดขึ้นในปี พ.ศ. 2450 และมีการฝึกสอนในปี พ.ศ. 2484
ในทวีปเอเชีย อินเดียเป็นประเทศแรกที่เริ่มเล่นฟุตบอล ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยกัลกัตตา เป็นผู้นำสำเนากฎหมายการเล่นมาเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2426 และในปี พ.ศ. 2435 ได้มีการแข่งขันชิงถ้วยรางวัลเป็นครั้งแรก ในทวีปซึ่งยังไม่มีชื่อเสียงในด้านการเล่นฟุตบอล กีฬาชนิดนี้ก็ได้เริ่มมีการเล่นมาก่อนร่วมร้อยปีแล้ว เช่น สมาคมฟุตบอลแห่งนิวเซาท์เวลส์ ได้ถูกตั้งขึ้นในออสเตรเลีย ปี พ.ศ. 2425 และสมาคมฟุตบอลของนิวซีแลนด์ได้ถูกตั้งขึ้นหลังจากนั้น 9 ปี
ในแอฟริกา สมาคมระดับชาติแห่งแรกได้ถูกตั้งขึ้นในประเทศแอฟริกาใต้ แต่อียิปต์เป็นประเทศแรกที่มีการแข่งขันระดับชาติในปี พ.ศ. 2467 คือ 3 ปี หลังจากที่ได้ก่อตั้งสมาคมขึ้น และอียิปต์สามารถเอาชนะฮังการีได้ 3-0 ในกีฬาโอลิมปิกที่ปารีส
การแข่งขันระดับชาติเป็นการแข่งขันระหว่างอังกฤษกับสกอตแลนด์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2415 และในปีแรกของศตวรรษที่ 20 โดยประเทศยุโรปอื่นๆ อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2447 กลุ่มประเทศต่างๆ ในแถบนี้ได้ประชุมกันที่ปารีสเพื่อตั้งสมาคมฟุตบอลนานาชาติขึ้น ในครั้งแรกก่อนการจัดตั้งสหพันธ์ 20 วัน สเปนและเดนมาร์กไม่เคยร่วมการแข่งขันระดับชาติมาก่อน และ 3 ประเทศใน 7 ประเทศที่เข้าร่วมประชุมยังไม่มีสมาคมฟุตบอลในชาติของตน แต่ฟีฟ่าก็แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยมา โดยมีสมาชิก 5 ชาติ ในปี พ.ศ. 2481 และ 73 ชาติ ในปี พ.ศ. 2493 และในปัจจุบันมีสมาชิกถึง 146 ประเทศ ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมของฟีฟ่า ทำให้ฟีฟ่าเป็นองค์การกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลก
สมาพันธ์ประจำทวีปของสมาคมฟุตบอลแห่งแรกที่ตั้งขึ้นคือ Conmebol ซึ่งเป็นสมาพันธ์ของอเมริกาใต้ สมาพันธ์นี้ได้ถูกจัดขึ้นเพื่อจัดตั้งเพื่อจัดการแข่งขันชิงชนะเลิศภายในทวีปอเมริกาใต้ ในปี พ.ศ. 2460 เกือบครึ่งศตวรรษ ต่อมาเมื่การแข่งขันภายในทวีปได้แพร่หลายมากขึ้น จึงได้มีการจัดตั้งสมาพันธ์ในทวีปอื่นๆ ขึ้นอีกคือสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป ในปี พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นปีเดียวกับการจัดตั้งในทวีปเอเชีย และ 2 ปี ก่อนการจัดตั้งสมาคมฟุตบอลยุโรป ในปี พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นปีเดียวกับการจัดตั้งสหพันธ์ฟุตบอลแห่งแอฟริกา (Concacaf)หรือสหพันธ์ฟุตบอลแห่งอเมริกากลาง อเมริกาเหนือ และแคริบเบี้ยน ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2504 และน้องใหม่ในวงการฟุตบอลโลกคือ สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งโอเชียนเนีย (Oceannir)
สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ
สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (Federation International Football Association FIFA) ก่อตั้งขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2447 โดยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศฝรั่งเศส และประเทศที่เข้าร่วมก่อตั้ง 7 ประเทศคือ ฝรั่งเศส เบลเยียม เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ สเปน สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
สมาพันธ์ฟุตบอลที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ 1. Africa (C.A.F.) เป็นเขตที่มีสมาชิกมากที่สุด ได้แก่ ประเทศแอลจีเรีย ตูนิเซีย แซร์ ไนจีเรีย และซูดาน เป็นต้น
2. America-North and Central Caribbean (Concacaf) ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก คิวบา เอติ เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา และฮอนดูรัส เป็นต้น
3. South America (Conmebol) ได้แก่ ประเทศเปรู บราซิล อุรุกวัย โบลิเวีย อาร์เจนตินา ชิลี เวเนซุเอลา อีคิวเตอร์ และโคลัมเบีย เป็นต้น
4. Asia (A.F.C.)เป็นเขตที่มีสมาชิกรองจากแอฟริกา ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง เลบานอน อิสราเอล อิหร่าน จอร์แดน และเนปาล เป็นต้น
5. Europe (U.E.F.A.) เป็นเขตที่มีการพัฒนามากที่สุด ได้แก่ ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฮังการี อิตาลี สกอตแลนด์ รัสเซีย สวีเดน สเปน และเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น
6. Oceannir เป็นเขตที่มีสมาชิกน้อยที่สุดและเพิ่งจะได้รับการแบ่งแยก ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิจิ และปาปัวนิวกินี เป็นต้น ซึ่งประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกต้องเสียค่าบำรุงเป็นรายปี ปีละ 300 ฟรังสวิสส์ หรือประมาณ 2,400 บาท
สหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย
ในทวีปเอเชียมีการจัดตั้งสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเอเชีย (A.F.C.) เพื่อดำเนินการด้านฟุตบอล ดังนี้
พ.ศ. 2495 มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ โดยมีนักกีฬาและเจ้าหน้าที่จากประเทศในเอเชียเข้ามาร่วมการแข่งขันด้วย จึงได้ปรึกษาหารือกันในการจัดตั้งสหพันธ์ฟุตบอลเอเชียขึ้น
พ.ศ. 2497 มีการแข่งขันเอเชียนเกมส์ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ก็ได้เริ่มตั้งคณะกรรมการจากชาติต่างๆ ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก 12 ประเทศ
พ.ศ. 2501 มีการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้มีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก และมีประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกรวมเป็น 35 ประเทศ
พ.ศ. 2509 ฟีฟ่าได้มองเห็นความสำคัญของ A.F.C. จึงได้กำหนดให้มีเลขานุการประจำในเอเชีย โดยออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด รวมทั้งเงินเดือน และคนแรกที่ได้รับตำแหน่งคือ Khow Eve Turk
พ.ศ. 2517 ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ที่เตหะราน ประเทศอิหร่านได้มีการประชุมประเทศสมาชิก A.F.C. และที่ประชุมได้ลงมติขับไล่อิสราเอล ออกจากสมาชิก และให้จีนแดงเข้าเป็นสมาชิกแทน ทั้งๆ ที่จีนแดงไม่ได้เป็นสมาชิกของฟีฟ่า นับว่าเป็นการสร้างเหตุการณ์ที่ประหลาดใจให้กับบุคคลทั่วไปเป็นอย่างมากทั้งนี้เนื่องจากเหตุผลทางการเมือง
พ.ศ. 2519 มีการประชุมกันที่ประเทศมาเลเซีย ปรากฏว่าประเทศสมาชิกได้ลงมติให้ขับไล่ประเทศไต้หวันออกจากสมาชิก และให้รับจีนแดงเข้ามาเป็นสมาชิกแทน ทั้งๆ ที่ไต้หวันเป็นประเทศที่ร่วมกันก่อตั้งสหพันธ์ขึ้นมา
งานของสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย 1. ดำเนินการจัดการแข่งขันและควบคุม Asian Cup 2. ดำเนินการจัดการแข่งขันและควบคุม Asian Youth 3. ดำเนินการจัดการแข่งขันและควบคุมฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 4. ดำเนินการจัดการแข่งขันและควบคุม Pre-Olympic 5. ดำเนินการจัดการแข่งขันและควบคุม World Youth 6. ควบคุมการแข่งขัน Kings Cup, President Cup, Merdeka, Djakarta Cup นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากฟีฟ่าจัดส่งวิทยากรมาช่วยดำเนินการ
สรุปวิวัฒนาการของฟุตบอล ก่อนคริสตกาล - อ้างถึงการเล่นเกมซึ่งเปรียบเสมือนต้นฉบับของกีฬาฟุตบอลที่เก่าแก่ที่ได้มีการค้นพบจากการเขียนภาษาญี่ปุ่น-จีน และในสมัยวรรณคดีของกรีกและโรมัน
ยุคกลาง - ประวัติบันทึกการเล่นในเกาะอังกฤษ อิตาลี และฝรั่งเศส ปี พ.ศ. 1857 - พระเจ้าเอ๊ดเวิร์ดที่ 3 ทรงออกพระราชกฤษฎีกาห้ามเล่นฟุตบอล เพราะจะรบกวนการยิงธนู ปี พ.ศ. 2104 - Richardo Custor อาจารย์สอนหนังสือชาวอังกฤษกล่าวถึงการเล่นว่า ควรกำหนดไว้ในบทเรียนของเยาวชน โดยได้รับอิทธิพลจาการเล่นกาลซิโอในเมืองฟลอเร้นท์ ปี พ.ศ. 2123 -Riovanni Party ได้จัดพิมพ์กติการการเล่นคาลซิโอ ปี พ.ศ. 2223 -ฟุตบอลในประเทศอังกฤษได้รับพระบรมราชานุเคราะห์จากพระเจ้ชาร์ลที่ 2 ปี พ.ศ. 2391 -ได้มีการเขียนกฎข้อบังคับเคมบริดจ์ขึ้นเป็นครั้งแรก ปี พ.ศ. 2406 -ได้มีการก่อตั้งสมาคมฟุตบอลขึ้น ปี พ.ศ. 2426 -สมาคมฟุตบอลจักรภพ 4 แห่ง ยอมรับองค์กรควบคุม และจัดตั้งกรรมการระหว่างชาติ ปี พ.ศ. 2429 -สมาคมฟุตบอลเริ่มทำการฝึกเจ้าหน้าที่ที่จัดการแข่งขัน ปี พ.ศ. 2431 -เริ่มเปิดการแข่งขันฟุตบอลลีก โดยยินยอมให้มีนักฟุตบอลอาชีพ และเพิ่มอำนาจการควบคุมให้ผู้ตัดสิน ปี พ.ศ. 2432 -สมาคมฟุตบอลส่งทีมไปแข่งขันในต่างประเทศ เช่น เยอรมันไปเยือนอังกฤษ ปี พ.ศ. 2447 - ก่อตั้งฟีฟ่า ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงปารีส เมื่อ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2447 โดยสมาคมแห่งชาติคือ ฝรั่งเศส เบลเยียม เดนมาร์ก สเปน สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ ปี พ.ศ. 2480 - 2481 -ข้อบังคับปัจจุบันเขียนขึ้นตามระบบใหม่ขององค์กรควบคุม โดยใช้ข้อบังคับเก่ามาเป็นแนวทาง ข้อมูลจาก SIAMSPORT OFFICIAL WEBSITE
จากคุณ |
:
ทุ่งเกวียน
|
เขียนเมื่อ |
:
31 ม.ค. 55 20:36:01
|
|
|
|
 |