|
วิชิต แย้มบุญเรือง เป็นชาวกรุงเทพ ฯ เกิดวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ เรียนหนังสือจบ ม. ๖ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก่อนมาต่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จบระดับปริญญาตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ M.A. COLUMBIA UNIVERSITY และ M.S. UNIV. OF PITTSBURGH U.S.A.
เมื่ออายุ ๑๓ ปี เริ่มสวมรองเท้าผ้าใบ วิ่งไล่เตะลูกเทนนิสกับเพื่อน ๆ ที่สวนกุหลาบ จนได้เป็นนักฟุตบอลของสถาบัน ตั้งแต่รุ่นเล็ก รุ่นกลาง และรุ่นใหญ่ แม้ว่าจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จร่วมกับทีม "ชมพู-ฟ้า" ในขณะนั้น แต่ วิชิต แย้มบุญเรือง ก็ยังคงหลงกลิ่นสาปลูกหนังเรื่อยมาและก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย คือหนึ่งในนักฟุตบอลประเพณี ของทีมจุฬาลงกรณ์ ฯ ซึ่งได้ร่วมทีมเดินทางไปแข่งขัน ณ ประเทศมาเลเซีย
ต่อมา วิชิต แย้มบุญเรือง ลงเล่นฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานถ้วยน้อย ให้กับสโมสรรวมมิตรและจามจุรี ตามลำดับ ก่อนจะขึ้นชั้นเล่นถ้วยใหญ่ในนามสโมสรธนาคารกรุงเทพ ชุดชนะเลิศถ้วยพระราชทาน ก รวม ๓ สมัย (พ.ศ. ๒๕๐๖, ๒๕๐๗, ๒๕๐๙) และแชมป์ควีนส์คัพ (พ.ศ. ๒๕๑๓)
สำหรับสนามระดับชาติ ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๐ วิชิต แย้มบุญเรือง ขณะอายุเพียง ๑๖ ปี จึงได้ติดธงครั้งแรกในชุดเยาวชนชิงแชมป์แห่งเอเชีย ครั้งที่ ๑ ณ ประเทศมาเลเซีย เพื่อนร่วมทีม อาทิ อนุสิทธ์ สุวรรณเนตร, อัษฎางค์ ปาณิกบุตร, ทวีพงษ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา, อนุรัฐ ณ นคร, ดำรง บุญยสิทธิ์, ประสิทธิ์ ฉายทวีป, นนทรี ชาติกานนท์, แสวง แฉ่งชื่น ฯลฯ
อีก ๒ ปีต่อมา ฟุตบอลกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๒) ณ กรุงเทพ ฯ วิชิต แย้มบุญเรือง จึงก้าวขึ้นสู่ทำเนียบทีมชาติชุดใหญ่ แต่รอบชิงชนะเลิศ ทีมไทย แพ้ ทีมเวียดนามใต้ ๑ - ๓ ได้เพียงเหรียญเงิน หลังจากนั้นอีก ๖ ปี จึงสามารถคว้าเหรียญทองร่วมกับทีมไทยเป็นสมัยแรกสำเร็จ วิชิต แย้มบุญเรือง กล่าวกับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ว่า "ผมจำได้ว่า ตอนทีมไทยได้แชมป์เซียพเกมส์ พ.ศ. 2508 ที่มาเลเซีย ร่วมกับพม่า ในปีนั้น อัศวิน ธงอินเนตร เสียชีวิตระหว่างการฝึกซ้อมก่อนเดินทางไปแข่งขัน ทำให้พวกเราตั้งใจเล่นกันอย่างมากเพื่อจะคว้าเหรียญทองมาให้อัศวิน และเราก็ทำได้สำเร็จ"
ในทศวรรษนั้น วิชิต แย้มบุญเรือง สวมเสื้อตราธงไตรรงค์ลงสนามทัวร์นาเม้นต์สำคัญทั่วทวีปเอเชีย เช่น เมอร์เดก้า ๗ สมัย (พ.ศ. ๒๕๐๒, ๒๕๐๓, ๒๕๐๔, ๒๕๐๕, ๒๕๐๖, ๒๕๐๗, ๒๕๐๘), แหลมทอง ๓ สมัย (พ.ศ. ๒๕๐๒, ๒๕๐๔, ๒๕๐๘), เอเชี่ยนเกมส์ ๓ สมัย (พ.ศ. ๒๕๐๕, ๒๕๐๙, ๒๕๑๓) และคิงส์คัพ ๑ สมัย (พ.ศ. ๒๕๑๓) โดยช่วงเวลาหนึ่ง (พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๑๒) ต้องหยุดรับใช้ชาติเพื่อไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
เมื่อกลับมาเมืองไทย วิชิต แย้มบุญเรือง ก็คงยังได้รับความไว้วางใจ ให้มีชื่อติดทีมชาติอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากความสามารถในขณะนั้นซึ่งเล่นได้ตั้งแต่เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ ฮาล์ฟซ้าย ฮาล์ฟขวา ในซ้ายและปีกซ้าย ก่อนจะแขวนสตั๊ดราวปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ด้วยสถิติการติดทีมชาติไม่น้อยกว่า ๑๐๐ นัด และยิงประตูระดับชาติ รวม ๕ ประตู
ภายหลังจบปริญญาเอก ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง จึงได้รับการแต่งตั้งจากสมาคมฟุตบอล ฯ ให้ทำหน้าที่โค้ชทีมชาติไทยชุดคิงส์คัพ ครั้งที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๑๙) และนำทีมนักเตะเจ้าถิ่น ไชยวัฒน์ พรหมมัญ, อำนาจ เฉลิมชวลิต, สิทธิพร ผ่องศรี, สุรศักดิ์ ตัณฑดิลก, ดาวยศ ดารา, นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ ฯลฯ คว้าแชมป์ร่วมกับ "เสือเหลือง" มาเลเซีย (๑ - ๑) คือความสำเร็จของวงการลูกหนังไทย ที่ได้สัมผัสถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ เป็นสมัยแรก
ทั้งหมดนี้ คือบางส่วนของเรื่องราวตำนานอีกบทหนึ่ง วิชิต แย้มบุญเรือง อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย ผู้ประสบความสำเร็จทั้งในเส้นทางบนสนามลูกหนังและนอกสนามแข่งขัน.
จากคุณ |
:
Manadora
|
เขียนเมื่อ |
:
3 มี.ค. 55 09:31:45
|
|
|
|
|