ความจริงข้อแรกที่ต้องยอมรับ
ทุกวันนี้บางทีดูเผินๆ เหมือนคนยก สเปน ว่าเป็นแม่แบบของโลกฟุตบอลในสนาม และยกให้ เยอรมัน คือแม่แบบของโลกฟุตบอลนอกสนาม
ถ้ามองในแง่ของ "เศรษฐกิจพอเพียง" อันนี้โมเดลของบุนเดสลีกาตอบโจทย์ได้ตรงที่สุด กิจการของพวกเค้าคงยากมากที่จะประสบปัญหา "นอกสนาม"
แต่จะบอกว่า นั่นคือ "เป้าหมายสูงสุด" ของแฟนบอล ของการเป็นสโมสรฟุตบอล อันนี้ต้องตีความให้ออก แยกแยะสักเล็กน้อย เพราะมันอาจจะถูกแค่ครึ่งเดียวก็เป็นได้
อาเซน่อล และ อาแซน เวนเกอร์ ก็ถูกแฟนบอลก่นด่ามานานเรื่องการเป็น "ยอดผู้บริหาร" รักษาระเบียบวินัยทางการเงิน
จนแฟนบอลบอกว่า "อยากได้ถ้วยแชมป์ แลกกับการเป็น 'ยอดกิจการฟุตบอล' "
ตรงนี้ถึงได้บอกว่า ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ เพราะโมเดลของบุนเดสลีกาสโมสรน้อยใหญ่จะประสบความสำเร็จในแง่ของกิจการ แต่เห็นชัดเจนว่า "ล้มเหลว" ในแง่ของการเป็นสโมสรฟุตบอล โดยเฉพาะหากเทียบกับนานาชาติ พวกเค้ามีกำไร แต่ไร้ถ้วยแชมป์
ว่าแล้วตรงนี้หลายๆ คนจับแพะชนแกะ เอาไปโยงกับผลงานทีมชาติ
อังกฤษจะห่วย เยอรมันจะเก่ง สเปนจะเทพ ไม่ได้เกี่ยวกับผลประกอบการของสโมสรภายในประเทศนะ แต่เรื่องนี้หลายๆ ท่านก็ทราบดีว่ามันมีหลายปัจจัย
อาทิเช่น นโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาเยาวชน, ความเป็นรูปธรรม/ทิศทาง ของการพัฒนาเยาวชน, โอกาสและรากฐานที่สนับสนุนนักเตะท้องถิ่น, โค้ช วิธีการฝึกสอน ไปจนถึงการสร้างทัศนคติที่มีต่อการเล่นในสนาม
และอีกมากมาย
บุนเดสลีกา
เปิดโอกาสให้นักเตะท้องถิ่นมากกว่าพรีเมียร์ลีก ทั้งยังมีการพัฒนาระบบเยาวชนที่ดีกว่า = ผลงานทีมชาติที่ดีกว่า
นโยบายการเงินที่เข้มงวด สโมสรไม่ขาดทุน = ประสบความสำเร็จในแง่กิจการ
แต่ไม่สามารถดึงดูดนักเตะชั้น = ล้มเหลวในสนาม ในระดับนานาชาติ
พรีเมียร์ลีก
เปิดรับเงินทุนจากต่างชาติ นำมาซึ่งนักเตะชั้นดีจากต่างชาติ = ผลงานของ "สโมสร" ในระดับนานาชาติ ดีกว่า บุนเดสลีกา
นักเตะจากต่างชาติ แย่งโอกาสในการลงเล่นของนักเตะท้องถิ่น = ทีมชาติล้มเหลว
การลงทุนจากต่างชาติ มาพร้อมความเสี่ยง = สโมสรมีหนี้
มันก็ได้อย่างเสียอย่างล่ะครับ
ว่าไปแล้ว ลีกไทย สโมสรไทย จู่ๆ จะไปลอกของคนอื่นมาดื้อๆ โดยไม่ดูโครงสร้าง ไม่ดูพื้นฐานเลยก็ไม่ได้
ลีกเยอรมัน มีมาตรฐานของนักเตะในท้องถิ่นใกล้เคียงกับหลายๆ ประเทศในทวีป และมีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีคุณภาพนักเตะดีกว่า แถมเป็นแค่เคสๆ ไปอีกด้วย
ไทย มีมาตรฐานคุณภาพนักเตะในประเทศ ต่ำ เมื่อเทียบกับมาตรฐานส่วนใหญ่ของโลก ดังนั้นผลกระทบของการมีนักเตะต่างชาติของ ไทยลีก กับ บุนเดสลีกา จึงต่างกัน
บุนเดสลีกา ไม่จำเป็นต้องง้อนักเตะต่างชาติ เพราะกล้าพูดได้มาตรฐานตัวเองดีอยู่แล้ว และอาศัยการพัฒนานักเตะตัวเองแทนที่
ไทย การมีนักเตะต่างชาติในปริมาณที่พอดี จะช่วยยกระดับคุณภาพฝีเท้าได้ แต่ย้ำว่าต้องพอดี
คุณไม่มีทางรู้ว่าตัวเองเก่งแค่ไหน หากเล่นอยู่แต่ในบ้านตัวเอง
การได้เล่นเคียงข้าง หรือแม้แต่ ได้แข่ง กับคนที่เก่งกว่า เหมือนนึกภาพว่าได้เล่นเคียงข้าง ซีดาน, เมสซี่, ฟิโก้, โรนัลโด้ ฯลฯ ต่างๆ เหล่านี้จะยกระดับฝีเท้าของนักเตะได้ ไม่มากก็น้อย
ก็เหมือนการที่เราพูดกันตลอดว่า หากได้มีประสบการณ์ ไปเจอคู่แข่งหินๆ อย่าง ญี่ปุ่น, เกาหลี ฯลฯ เราก็จะแกร่งตามไปด้วย
ถึงได้บอกว่า จะ copy&paste เลยโดยไม่มององค์ประกอบอื่นๆ เลยไม่ได้เด็ดขาด
ตรงนี้ถึงได้บอกว่า บุนเดสลีกา ใช้โมเดลนี้ได้เพราะเขาไม่ง้อเงิน เพื่อมาซื้อนักเตะต่างชาติ (และนำมาซึ่งความล้มเหลวในเวทียุโรปของสโมสร) แต่ทีมชาติไม่กระทบ เพราะคุณภาพฝีเท้าของนักเตะเยอรมันดีอยู่แล้ว
ซึ่งต่างกับกรณีของ ไทย นั่นเอง
ไทยลีก กำลังโต และจะโตอย่างรวดเร็ว
ส่วนตัว ผมยังอยากให้ไทยลีกเปิดกว้างให้การโตแบบก้าวกระโดด เพราะมองว่าถ้ามอง "ไทยลีก" ในแง่ของสินค้าตัวหนึ่ง มันก็ยังมี potential ให้โตอีกมาก
ส่วนสำคัญที่ทำให้ ไทยลีก ณ วันนี้เวลานี้ โอกาสจะล้มแบบพรีเมียร์ลีกนั้นยากมากก็เพราะ "พฤติกรรมผู้บริโภค" หรือในที่นี้ก็คือ แฟนบอล
ไทยลีก ยังโตได้ แต่ยังเปราะบางในจุดนี้
ที่บอกว่าล้มยากก็เพราะว่า คนส่วนใหญ่อาจจะมองว่าธุรกิจฟุตบอลลีกในบ้านเรากำลังมีมูลค่ามหาศาล ใช่ แต่มันยังไม่มั่นคง ไม่ใช่เรื่องโมเดลทางธุรกิจ แต่เป็นฐานผู้บริโภค ซึ่งก็คือ แฟนบอล ที่ของไทยยังไม่ "หนักแน่น" เท่าในยุโรป
นักลงทุน อยากมีส่วนร่วมในไทยลีก ในสโมสรไทย อยากเป็นสปอนเซอร์ สนับสนุน แต่จะให้กู้เงินมาเทคโอเว่อร์แล้วขึ้นค่าตั๋ว ยังเป็นอะไรที่น้อยคนจะกล้าเสี่ยง
เพราะ "มันไม่คุ้ม"
ค่าเทคโอเวอร์สโมสรไทยโดยเฉพาะทีมใหญ่ๆ ตอนนี้น่าจะแตะหลักร้อยล้านบาท ซึ่งตัวสโมสรเองอยู่ได้เพราะตั้งมานาน แต่ถ้ามีนักลงทุนจะมาแสวงหากำไร โดยการเทคโอเวอร์ ขึ้นค่าตั๋ว ก็ต้องบอกว่าคงต้องใช้เวลาแทบจะ 7 ชั่วโคตรถึงจะได้กำไร
นั่นคือถ้าโชคดี แฟนบอลไม่หนีไปก่อนด้วยซ้ำไปน่ะนะ
ต้องให้เวลากับสโมสรไทย ลีกไทย ได้ "ฝังราก" ลงไปในวิถีชีวิต "ผู้บริโภค" ก็คือคนไทย แฟนบอลไทย ให้ได้มากกว่านี้อีก ถึงจะรับประกันว่าถ้าจู่ๆ เกิดไปขึ้นค่าตั๋วมั่วซั่วแล้วแฟนบอลจะไม่หนี
แฟนบอล แมนฯยูไนเต็ด หนึ่งในหลายๆ คนที่ไปที่ ลุซนิกิ สเตเดี้ยม มอสโคว์ ในปีที่ปีศาจแดงได้แชมป์ UCL เคยโพสต์ในเน็ตว่า ตัวเขาทำงาน part-time เก็บเงินอยู่เกือบปีสำหรับค่าใช้จ่ายในการไปดู แมนฯยูไนเต็ด ถึง มอสโคว์
และกลับมายังต้องเป็นหนี้ ทำงานย้อนหลังกันอีกบาน
ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ จะยังไม่เกิดในแฟนบอลชาวไทยในอีกเร็ววัน ซึ่งนั่นเสี่ยงเกินไปสำหรับคนนอกหากคิดจะเข้าไปแตะสโมสรไทยมั่วซั่วโดยหวังผลกำไร
ทุกวันนี้หากว่ากันจริงๆ ลีกไทย เมื่อเทียบกันตรงๆ ทางด้านเศรษฐกิจ เราก็มีกำลังไม่มาก อาจหมายถึงสนามเล็กๆ กับนักเตะแถบ ASEAN อีกประปรายเท่านั้นเอง
* หากว่ากันตรงๆ แล้ว ลักษณะการเข้ามาแบบ พรีเมียร์ลีก ก็เกิดขึ้นในไทยไปเรียบร้อยแล้วด้วยซ้ำ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด หากกางสมุดบัญชีขึ้นมาดูแล้วยังไม่แน่ว่าจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปีถึงจะสมดุลในลักษณะของ กิจการฟุตบอล
ซึ่งที่ผ่านมาต้องขอบคุณ เนวิน ชิดชอบ เพราะหากไม่มีชายคนนี้ หากพึ่งพิงการเติบโตแบบ บุนเดส-โมเดล ว่ากันตรงๆ บุรีรัมย์อาจยังไม่สามารถแม้แต่จะสร้างสนามขนาดนั้นได้ด้วยซ้ำ
ถึงได้บอกว่า บางทีการ "อัดฉีด" มันก็พอรับได้
ถามว่าเพราะอะไร นั่นก็เพราะมองแบบไม่เข้าข้าง "บิ๊กเน" ก็ต้องบอกว่าฐานแฟนบอลไทยลีกยังโตได้อีกมาก นั่นหมายความว่าการฉีกกฏทางการเงินในตอนแรกแม้จะเสี่ยง แต่ถ้ามี "แบ็คดี" ก็เดินหน้าไปได้
ทุกวันนี้ไม่มีแฟนบอลบุรีรัมย์คนไหนถามถึงสถานะทางการเงินของสโมสร เพราะได้เห็นความสำเร็จ ถ้วยแชมป์ รวมไปถึงการได้เล่นในถ้วยเอเชีย แค่นี้มันก็สุขสุดๆ แล้ว
อีกด้านหนึ่งของ พรีเมียร์ลีก-โมเดล ก็คือ ความสำเร็จที่สโมสรได้มาผ่านการลงทุนและเป็นหนี้จนเป็นที่ดูถูกของชาติอื่น มันยังนำพาเงินทองและชื่อเสียงกลับมาด้วย
พูดง่ายๆ ก็คือ การเอาเงินฟาดหัวของสโมสรในพรีเมียร์ลีก ก็ใช่ว่าจะสูญเปล่า ล้มเหลวเสียทีเดียว
ในขณะที่แฟนบอลในสนามของบุนเดสลีกามากกว่าลีกอื่นๆ ในยุโรป แต่จำนวนแฟนบอล "ทั้งโลก" บุนเดสลีกากลับมีน้อยกว่าทั้ง ลา ลีกา และยิ่งห่างชั้นจาก พรีเมียร์ลีก
แชมป์ UCL และความสำเร็จต่างๆ ของสโมสรอังกฤษที่ถูกปรามาสว่ามาพร้อมกับเงินทุนและหนี้ ไม่ได้ต้องแลกกับค่าตั๋วที่แพงขึ้นของแฟนบอลอย่างเดียว แต่การประสบความสำเร็จในเวทีนานาชาติ มันทำให้ชื่อเสียงของ "แบรนด์" สัญชาติอังกฤษนี้ขจรขจายไปไกลด้วยเช่นกัน
ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่า ชื่อเสียง ที่แบรนด์ปกติต้องได้มาผ่านการเสียเงินโฆษณา แต่ทีมจากอังกฤษได้เงินจากมัน แมนฯยูไนเต็ด เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเช่นกัน
การเป็นที่รู้จักมาก ชื่อเสียงมาก ก็นำมาซึ่งเงินทอง ผ่านจำนวนของสปอนเซอร์ที่ทิ้งห่างบุนเดสลีกาทั้งในแง่ของจำนวนและยอดเงินที่ได้ รวมไปถึงแฟนบอลต่างถิ่นที่หมุนเวียนกันเข้ามา
ยังต้องตอบคำถามแฟนบอลให้ได้อีกว่า ที่บอกว่า พอใจ ดีใจ ที่ทีมไม่เป็นหนี้ แต่เรื่องในสนามกลับประสบความสำเร็จได้เพียงในประเทศ ถามจากใจจริงว่าแฟนบอลจะพอใจหรือไม่?
คำตอบสุดท้ายไม่ใช่ที่ว่า โมเดลไหนที่ที่สุดแบบเด็ดขาดไปเลย แต่มันควรจะเป็นการประยุกต์ใช้ทั้ง 2 โมเดลให้เหมาะสม
พรีเมียร์ลีก-โมเดล นำมาซึ่งการก้าวกระโดดของบรรดาสโมสรอย่าง เชลซี, แมนฯซิตี้ และแม้ค่าตั๋วจะแพง แต่เชื่อว่าถ้าจบฤดูกาลนี้แล้วซิตี้ได้แชมป์ แฟนก็คงไม่บ่น
มันดึงดูดไม่เฉพาะ แฟนบอลต่างถิ่น, สปอนเซอร์ แต่ยังรวมถึงอภิมหาเศรษฐีที่อยาก "เล่น" อย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่น โรมัน, ชีค ซึ่งคนแบบนี้แม้จะแหกกฏการเงินโดยสิ้นเชิงแต่ก็จะยอมแบกรับภาระไว้เอง ต่างกับ "กลุ่มทุน" แบบเกลเซอร์ หรือ ฮิคส์-ยิลเล็ต ที่เข้ามาในแง่ของผลประกอบการ กำไร-ขาดทุน ซึ่งจะยอมทำทุกอย่างเพื่อครอบครองสโมสรก่อนหาทางถอนทุนคืน
โรมัน กับ ชีค ยอมเทกระเป๋าไม่อั้น ทั้งที่รู้ว่าอาจต้องใช้เวลาอีก 10 ชั่วโคตรกว่าจะถอนทุนคืนได้ แต่สิ่งที่พวกเค้าต้องการไม่ใช่ "กำไร" แต่เป็น "ความสำเร็จ" ต่างหาก
ซึ่งมีแต่ลีกเปรี้ยวปรี้ดแบบพรีเมียร์ลีกเท่านั้นที่ดึงดูดต่างๆ เหล่านี้ได้
เราจะหมุนตามโลก หรือโลกต้องหมุนตามเรา ก็อาจจะแล้วแต่ปัจจัยและเงื่อนไขต่างๆ จะเปิดหรือปิด จะโมเดลไหนของใคร ขอแค่ไม่ "ลอกดื้อๆ" แต่ศึกษาปัจจัยแวดล้อมให้ดีๆ ก่อนตัดสินอะไร ก็โอเคแล้ว
อย่างที่บอกครับ "ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ"