 |
ฉบับย่อจากคุณ Mikamura Kaoru http://www.pantip.com/cafe/supachalasai/topic/S11986962/S11986962.html รายรับ (หน่วยเป็นล้านบาท)
ขายลิขสิทธิ์ให้ TrueVisions 80.4 ขายลิขสิทธิ์ให้ NBT 55 เงินสนับสนุนจากผู้สนับสนุน (Sponsor,Yamaha,AIS) 83
รายจ่าย (หน่วยเป็นล้านบาท) ส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ทางทีวี TPL 18ทีม*4=72 ส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ทางทีวี League 1 18ทีม*0.4=7.2 เงินบำรุงทีม TPL+League 1 4 ค่าดำเนินการถ่ายทอดสดทาง NBT 26.86 ค่าดำเนินการถ่ายทอดสดทาง SKTV 12.92 ค่าดำเนินการถ่ายทอดสด League 1 12.92 ค่าดำเนินการถ่ายทอดสด Regional League ทาง SKTV,FBSTV 5.7 ค่าเดินทางกรรมการ+เบี้ยเลี้ยง(จ่ายเพิ่มจาก กกท.) 8.16 ค่าดำเนินการการจัดการแข่งขันของ TPL 15 ค่าผลิต+รื้อถอน+ดูแลป้ายโฆษณาข้างสนาม 15 ค่าใช้จ่ายเบ็ตเตล็ด 5 ค่ามาร์เก็ตติ้ง(ค่านายหน้าสปอนเซอร์) 25.116
รวมรับ 218.4 ล้าน รวมจ่าย 209.882 ล้าน หักกลบลบหนี้แล้วเหลือกำไร 8.517 ล้าน หารครึ่งระหว่างสยามสปอร์ตกับ TPL
ข้างล่างฉบับเต็มครับ =========================== สยามสปอร์ตฯแจงหมดเปลือกก่อนถอนสิทธิ์ไทยลีก สยามสปอร์ตฯ นำเอกสารชี้แจง ถึงรายรับ-รายจ่ายการบริหารสิทธิประโยชน์ฟุตบอลอาชีพ ให้สโมสรสมาชิก และสื่อมวลชนรับทราบอย่างละเอียดยิบ พร้อมชี้แจงถึงที่มาที่ไปอย่างหมดเปลือก ก่อนแถลงถอนสิทธิ์ในการดูแลอย่างเป็นทางการ โดยสมาคมฟุตบอลฯ พร้อมรับ ช่วงต่อ "บังยี" วรวีร์ มะกูดี ยืนยันจะเดินตามแนวทางที่เป็นพันธะสัญญาเดิมจนจบปี 2557 และอนาคตยินดีที่จะให้สโมสรสมาชิกเข้าร่วมบริหาร แต่ต้องมีสัดส่วนที่ชัดเจน
สืบเนื่องจากการที่ บ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ผู้ดูแลลิขสิทธิ์และการบริหารสิทธิประโยชน์ฟุตบอลลีกอาชีพของเมืองไทย ได้ประกาศถอนสิทธิ์ในการดูแลหลังจากที่โดนวิจารณ์ในทางเสียหาย
และเมื่อวันที่ 20 เม.ย. ทางทีมผู้บริหารพร้อมสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และ บ.ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ได้เชิญ 18 สโมสรไทยลีก และสื่อมวลชนแถลงข่าวถึงรายรับ-รายจ่ายที่เกิดขึ้นในการบริหารงานเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมภายในสมาคมฟุตบอลฯ ท่ามกลางความสนใจจากสื่อและสโมสรต่างๆ เข้าฟังจนล้นห้อง
ทั้งนี้ด้านนอกได้มีแฟนบอลจำนวนหนึ่งมาให้กำลังใจสมาคมฟุตบอลฯ และ บมจ.สยามสปอร์ตฯ อยู่ด้วย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคอยดูแลความเรียบร้อยให้ ผู้บริหารสยามสปอร์ตฯเผชิญหน้าเนวิน
เวลา 14.00 น. โดยประมาณ ทางด้าน "บังยี" วรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ได้นำสภากรรมการบริหารส่วนหนึ่ง พร้อม ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง ประธาน บ.ไทยพรีเมียร์ลีก และผู้บริหาร บ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)
นำโดย พงษ์ศักดิ์ ผลอนันต์ ประธานกรรมการบริหาร, อดิศัย วารินทร์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ, โอฬาร เชื้อบาง ผอ.กองบรรณาธิการ, สรายุทธ มหวลีรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บ.สยามสปอร์ตมีเดีย แมเนจเม้นท์ จำกัด เดินทางมาร่วมชี้แจง
ขณะที่บรรยากาศภายในห้องมีสื่อมวลชนมากันเต็ม พร้อมตัวแทนสโมสรจาก เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด, ชลบุรี เอฟซี, โอสถฯ, บางกอกกล๊าส เอฟซี, อินทรีเพื่อนตำรวจ, วัวชน ยูไนเต็ด, บีอีซี เทโรศาสน, เจนิฟู้ด สมุทรสงคราม เอฟซี, พัทยา ยูไนเต็ด, อาร์มี่ ยูไนเต็ด, ทีโอที เอสซี, ทีทีเอ็ม เชียงใหม่ เอฟซี และ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่ทางนายใหญ่ เนวิน ชิดชอบ เดินทางมาด้วยตัวเอง
ชี้แจงละเอียดยิบรายรับ-รายจ่าย
ภายหลังจากที่นายกสมาคมฟุตบอลฯ เปิดการประชุมก็ได้มอบหมายให้ทาง บมจ.สยามสปอร์ตฯ ชี้แจงถึงข้อสงสัยของรายรับและรายจ่ายที่ผ่านมาให้ทุกคนได้รับทราบ
โดยมี อดิศัย วารินทร์ศิริกุล ได้อธิบายถึงการบริหารสิทธิประโยชน์ว่า การดำเนินการที่ผ่านมาจะแบ่งเป็น 3 ส่วนคือสมาคมฟุตบอลฯ ที่กำกับดูแลภาพรวมทั้งหมด, บ.ไทยพรีเมียร์ลีก จะดูแลด้านการแข่งขัน การออกกฎระเบียบ, กำหนดโปรแกรม
และ บมจ.สยามสปอร์ตฯ ที่ดูแลสิทธิประโยชน์ทั้งการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และการจัดหาผู้สนับสนุนเข้ามา รวมทั้งมีการกีฬาแห่งประเทศไทยที่ช่วยด้านการเงินสนับสนุนทีมไทยลีก, ดิวิชั่น 1 และลีกภูมิภาค และเบี้ยเลี้ยงผู้ตัดสินในทุกลีก
ในส่วนของการชี้แจงได้มีการแจกเอกสารประกอบเพื่อความเข้าใจ โดยในส่วนของรายรับที่เข้ามาในไทยลีก 2011 เกิดจากการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดให้กับทางทรูวิชั่นส์ เป็นเงิน 80,400,000 บาท ได้จากค่าโฆษณาที่ถ่ายทอดสดทางช่อง 11 จำนวน 55,000,000 บาท ได้จากไตเติลสปอนเซอร์หลักคือ ไทยพรีเมียร์ลีกเป็น เครื่องดื่มสปอนเซอร์ และลีกภูมิภาคเป็นเอไอเอส จำนวน 83,000,000 บาท รวมยอดทั้งสิ้น 218,400,000 บาท
ส่วนค่าใช้จ่ายแบ่งเป็นค่าการจัดการ คืองบสนับสนุนทีมจากสิทธิประโยชน์ถ่ายทอดสด ทีมไทยลีกรับทีมละ 4 ล้านบาทเป็นเงิน 72,000,000 บาท ทีมในดิวิชั่น 1 ทีมละ 4 แสนเป็นเงิน 7,200,000 บาท งบประมาณในการบำรุงทีม ไทยลีกทีมละ 1 ล้านบาทเป็นเงิน 2,000,000 บาท ทีมดิวิชั่น 1 ทีมละ 1 ล้านบาทเป็นเงิน 2,000,000 บาท
ค่าดำเนินการถ่ายทอดสดทางช่อง 11 เป็นเงิน 26,860,000 บาท ค่าดำเนินการถ่ายทอดสดทางช่องทรู 69 เป็นเงิน 12,920,000 บาท ค่าดำเนินการถ่ายทอดสดดิวิชั่น 1 เพื่อสร้างฐานในอนาคตเป็นเงิน 12,920,000 บาท ค่าดำเนินถ่ายทอดสดดิวิชั่น 2 ทางทรู 69 และ 74 เป็นเงิน 5,700,000 บาท ค่าเบี้ยเลี้ยงผู้ตัดสินที่จ่ายเพิ่มในส่วนของ กกท.รวมค่าเดินทางที่พัก เป็นเงิน 8,166,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีค่าสนับสนุนใช้จ่ายในการบริหารจัดการของ บ.ไทยพรีเมียร์ลีก ที่ดูแลทั้งไทยลีก, ดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 เป็นเงิน 15,000,000 บาท ค่าผลิตป้าย เอ-บอร์ด, ค่าขนส่ง,ค่าติดตั้ง, รื้อถอน, ค่าดูแล ทั้ง 3 ลีกเป็น 15,000,000 บาท และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นๆ 5,000,000 บาท
และค่าใช้จ่ายสุดท้ายคือค่ามาร์เกตติ้งหรือค่าตอบแทนจากการจัดหาผู้สนับสนุนการแข่งขันเป็นเงิน 25,116,000 บาท รวมยอดค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 209,882,000 บาท ทำให้มีผลกำไรสุทธิ 8,517,600 บาท
ประกาศถอนตัวอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ อดิศัย วารินทร์ศิริกุล ได้กล่าวสรุปว่า บมจ.สยามสปอร์ตฯ ได้เคลียร์เรื่องที่ทุกคนค้างคาใจถึงรายรับและรายจ่ายให้รับทราบแล้ว ซึ่งสยามสปอร์ตฯ มีหน้าที่ในการเพิ่มมูลค่าให้ตลาด ถ้าคิดว่าเรายังติดขัดหรือมีข้อเสนอแนะก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี
มาถึงตรงนี้เราขอประกาศถอนตัวและขอส่งมอบงานคืนให้กับทางสมาคมฟุตบอลฯ ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามเดิม ขอบคุณที่ไว้วางใจสยามสปอร์ตฯ ไม่ว่าสมาคมฟุตบอลฯ และสโมสรต่างๆ ยังไงสยามสปอร์ตฯ ยังมีเจตนารมณ์เดิมที่จะมุ่งมั่นพัฒนาวงการกีฬาและพัฒนาให้เป็นอาชีพต่อไป
"บังยี" แถลงรับช่วงดำเนินการต่อ
ด้าน "บังยี" วรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลฯ ได้กล่าวในถึงที่มาที่ไปของฟุตบอลลีกเมืองไทยว่า ในสมัยก่อนสมาคมฯ เน้นจัดแบบทัวร์นาเมนต์ จนปี 2539 ตนเป็นผู้เสนอให้มีการจัดแข่งในแบบลีก ในตอนแรกเราได้ บ.ไอเอ็มจี มาเป็นคู่สัญญา และใช้ชื่อว่า จอนห์นี่ วอล์กเกอร์ ไทยแลนด์ลีก ดำเนินการจัด 2 ปี ก็เปลี่ยนมาเป็น คาลเท็กซ์ ไทยพรีเมียร์ลีก ซึ่งก็ล้มลุกคลุกคลานจนถึงการแข่งขันครั้งที่ 5 ไอเอ็มจีถอนตัวไป
ในไทยลีกครั้งที่ 6 ทางสมาคมฯ ได้เชิญสยามสปอร์ตฯ เข้ามาเป็นคู่สัญญา ก็ร่วมกันดำเนินการจัดการแข่งขัน และใช้ชื่อว่า จีเอสเอ็มไทยแลนด์ลีก โดยมีการทุ่มการประชาสัมพันธ์ การซื้อช่องฟรีทีวีถ่ายทอดสด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องยอมขาดทุนมาตลอด สยามสปอร์ตฯ จึงหยุดการเป็นคู่สัญญา แต่ว่าจะช่วยด้านสื่อให้ สมาคมฟุตบอลฯ รับช่วงดำเนินการจัดต่อมาจนปี 2551 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของ เอเอฟซี มีนโยบายสู่อาชีพเต็มตัว พร้อมตั้ง บ.ไทยพรีเมียร์ลีก ขึ้นมาดูแลเต็มรูปแบบ และได้ทาบทาม บมจ.สยามสปอร์ตฯ มาเป็นพันธมิตรอีกครั้ง
โดยดูแลลิขสิทธิ์และสิทธิประโยชน์ ก่อนลงทุนอย่างมหาศาลในการถ่ายทอดสด จนลีกอาชีพของเราเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกอย่างปฏิเสธไม่ได้คือความร่วมมือจากสโมสร ที่ช่วยกันปรับให้เป็นทีมอาชีพจนมีวันนี้ได้
"ที่ผ่านมาสมาคมฟุตบอลฯ ผ่านวิกฤติร้ายๆ มามากมาย ประสบปัญหากับการขาดทุนตลอด แต่ไม่มีใครพูดถึง แต่ลีกของเรา ก็มาได้ทุกวันนี้ ก็ยอมรับว่าสยามสปอร์ตฯ ถือเป็นพันธมิตรที่ดีกับสมาคมฟุตบอลฯ และไม่เคยทอดทิ้งกัน
เรียนให้ทราบว่าสยามสปอร์ตฯ ได้แสดงสปิริตออกมาแล้วว่าไม่มีผลประโยชน์ใดๆ และได้ประกาศถอนตัวไปแล้ว เนื่องจากโดนโจมตีอย่างหนัก ทำให้ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้พยายามชี้แจงเต็มที่ไป 2 ครั้ง และครั้งนี้คือครั้งที่ 3 รู้สึกเสียใจ ที่เพื่อนคู่ทุกข์คู่ยากต้องจากไป" บังยี กล่าว
จากนั้นนายกลูกหนังก็กล่าวต่อว่า เมื่อสยามสปอร์ตฯ มีการคืนสิทธิ์ สมาคมฟุตบอลฯ ก็จะรับช่วงดูแลต่อไป โดยจะดำเนินการดังนี้
หนึ่งขอแสดงความขอบคุณกับทางสยามสปอร์ตฯ ที่ช่วยเหลือเรามาตลอด เราตระหนักถึงความยากลำบากในการหารายได้ เพราะต้องใช้ทั้งความดี ความคุ้นเคย ความรู้จัก ความสัมพันธ์ต่างๆ นานา จึงจะได้มา
สองสมาคมจะดำเนินการเต็มที่ ในการรั้งให้สยามสปอร์ตฯ เป็นคู่สัญญาต่อไป เพื่อช่วยกันจรรโลงให้วงการก้าวหน้า แต่ถ้าสยามสปอร์ตฯ ยืนยันคืนสิทธิ์ ก็คงต้องให้ช่วยเหลือด้านอื่น
สามเราจะเร่งส่งหนังสือให้ทุกสโมสรรับทราบถึงการตอบรับเข้าร่วมแข่งขันในปีหน้า ซึ่งเรากระทำมาทุกปี ซึ่งทุกสโมสรจะต้องตอบรับว่า พร้อมหรือไม่พร้อม ที่จะส่งทีมเข้าร่วม โดยมีแบบฟอร์มชัดเจนให้ตอบรับ ถ้าไม่พร้อมจะส่ง เราก็จะได้เตรียมบริหารจัดการนำทีมจากดิวิชั่น 1 ขึ้นมาแทน เรื่องนี้จะส่งหนังสือให้เร็วๆ นี้
สี่เราจะดำเนินการแข่งขันไปตามปกติจนจบฤดูกาลนี้ตลอดจนถึงปีหน้า ซึ่งเราจะดำเนินการตามสัญญา ที่เป็นข้อผูกมัดมาแต่แรก ก็จะคงอยู่ตามเดิมทุกประการ
และห้าหวังว่าปีหน้าสปอนเซอร์ต่างๆ ยังจะอยู่กับเรา เพื่อจะได้ดำเนินการแข่งขันได้ตามมาตรฐานต่อไป รวมทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์ ก็ยังจะคงเดิม แต่ว่าเน้นย้ำเรื่องการส่งทีมเข้าแข่งขัน จะมีหนังสือถึงสโมสร เพื่อให้การตอบรับเข้ามา "บังยี" ตอบข้อซักถาม "บิ๊กเน"
จากนั้นได้มีการเปิดให้สโมสรสมาชิกสอบถาม ซึ่ง "บิ๊กเน" เนวิน ชิดชอบ ประธานบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่จุดประกายในเรื่องนี้ ก็ได้ถามว่า ก่อนอื่นตนเข้าใจที่สยามสปอร์ตฯ อธิบาย และตนไม่มีสิทธิ์ที่จะไปตรวจสอบสยามสปอร์ตฯ แต่กับสมาคมฟุตบอลฯ ตนถือเป็นสโมสรสมาชิก จึงมีสิทธิ์ที่จะทราบเพื่อความโปร่งใส เรามีวัตถุประสงค์เพื่อการเติบโตของวงการ
"คำถามแรก สมาคมฟุตบอลฯ เป็นผู้ดูแล ทีพีแอล ใช่หรือไม่"
ทางด้าน นายกวรวีร์ ตอบว่า "เป็นไปตามมติของสภาฯ"
จากนั้น นายเนวิน ถามต่อว่า "การจัดการแข่งขัน เป็นอำนาจของสมาคมฟุตบอลฯ หรือ ทีพีแอล"
นายกวรวีร์ ก็ตอบว่า "แล้วแต่บางเรื่องบางราว ทีพีแอล ก็ดำเนินการเองได้"
นายเนวินถามทันทีว่า "มีการมอบอำนาจสิทธิ์ ในการดูแลให้ใครบ้าง"
นายกลูกหนังก็ตอบว่า "ให้สยามสปอร์ตฯ เจ้าเดียว และจะไปดำเนินการบริหารอย่างไรก็ได้"
นายเนวิน ซักต่อ "จะขอดูหนังสือสัญญาที่กระทำต่อกันได้หรือไม่"
นายกวรวีร์ ชี้แจงว่า "เรื่องนี้แบบนี้ ไม่อยากพูดกันลอยๆ ยังไงให้ทำหนังสือเข้ามาจะดีกว่า ความจริงสมาคมฟุตบอลฯ เป็นเจ้าของสิทธิ์ และเราก็ชี้แจงให้สโมสรทราบแล้วว่า แต่ละปีจะมีงบเท่าไหร่ เป็นอำนาจหน้าที่ของสมาคม ที่เราแจ้งให้ทราบ ส่วนสโมสรจะพอใจหรือไม่ก็แล้วแต่ ยังไงก็ทำหนังสือเข้ามาได้"
ถึงตอนนี้นายเนวิน ก็กล่าวว่า "เราไม่ได้ติดใจเรื่องงบประมาณ แต่เราอยากรู้ว่า จะดูสัญญาได้หรือไม่ได้ เพราะการที่สยามสปอร์ตฯ ยกเลิกสัญญา ก็อยากจะรู้ว่าทำไมถึงเลิก ใครเป็นผู้บอกเลิก สัญญาทำกันแบบไหน ตนไม่ได้ตรวจสอบสยามสปอร์ตฯ แต่สามารถจะทำกับสมาคมฟุตบอลฯ ได้ เพราะเรื่องของเรื่อง มันเกิดจากเรามีการประชุม 18 สโมสร
และที่ผ่านมามี ดร.วิชิต อยู่ด้วย จึงมีการสอบถามท่านว่า ตกลงจะมีการจัดลีกสำรองหรือไม่ ท่านบอกว่าไม่มีเงิน เมื่อไม่มีเงิน ก็เกิดความสงสัยว่าเงินไปไหน มันจึงเป็นที่มาที่ไป และเราก็มีการเชิญท่านนายกด้วย แต่ไม่ได้ไป"
นายกวรวีร์กล่าวว่า "การเชิญเข้าร่วมประชุม ผมไม่เห็นหนังสือเชิญ ก็เพิ่งมีทีมพัทยา ที่เชิญเข้ามา คือการประชุมที่ไม่มีวาระ แล้วถามไปถามมาแบบลอยๆ ไม่เห็นด้วย ยังไงให้ทำหนังสือแจ้งเข้ามาดีกว่า จะได้ตอบเป็นข้อๆ ไปจะดีกว่า คุณเข้ามาตอนที่ลีกมันโต แต่เมื่อก่อนตอนมันยังไม่ดี ไม่เห็นมีใครมาตรวจสอบอะไรเลย ถ้ายังไงแนะนำทำเป็นหนังสือมาดีที่สุด"
ยังสงสัยเรื่องถ่ายทอดสด
เนวิน ชิดชอบ ยังคงสอบถามต่อไป โดยถามถึงเรื่องการถ่ายทอดสด ว่าได้ลิขสิทธิ์จากทรูวิชั่นส์เท่าไหร่ เรื่องนี้นายอดิศัย เป็นผู้ตอบว่า "เรื่องแบบนี้มันเป็นของใหม่ ในบ้านเรา ซึ่งเรามีการเจรจากันหลายรอบมาก จนลีกปี 54 ใกล้จะเปิด จึงตัดสินใจดริวกันที่ 3 ปี
โดยทรูถ่ายทั้งสิ้น 204 แมตช์ ตกแมตช์ละ 3.5 แสนบาท ในปี 55 จะเพิ่มเป็นแมตช์ละ 4.5 แสนบาท และปี 56 เป็นแมตช์ละ 5.5 แสนบาท ตรงนี้ ก็จะนำมาให้กับสโมสรเพิ่มมากขึ้นคือปีนี้ 5 ล้าน และปีหน้าทีมละ 6 ล้านต่อไป
"บิ๊กเน" ยังถามต่อว่าเรื่องยอดเงิน จากถ่ายทอดสดเคเบิล 80.4 ล้าน จะมีในดิวิชั่น 1 ผ่านทาง เอทีพี และ ไอพีเอ็ม ซึ่งมีส่วนที่ขาดไป ตรงนี้ นายสรายุทธก็ชี้แจงว่า จริงๆ แล้วเราไม่อาจนำข้อมูลของคู่สัญญามาเปิดเผยได้ มันจะกระทบกับธุรกิจในอนาคต แต่เพื่อให้กระจ่างก็จะอธิบายว่า ในดิวิชั่น 1 เราขอเขาแค่แมตช์ละ 1 แสนบาท แต่ว่า เอทีพี และ ไอพีเอ็ม เขาจะไปถ่ายทอดเอง โดยการหาโฆษณา แต่สุดท้ายเขาก็หาไม่ได้ ก็ยังมีเงินติดค้างอยู่ที่จ่ายไม่ครบ แต่ว่าเราได้ดำเนินการมอบให้สโมสรดิวิชั่น 1 ไปก่อนแล้ว
เงินที่เหลือก็ยังรออยู่ แต่ก็อยากบอกว่า ตัวเลขทั้งหมดเราแทบจะไม่ได้หักในส่วนของค่าประชาสัมพันธ์เลย นั่นหมายความว่า สยามสปอร์ตฯ ช่วยเหลือเต็มที่ในด้านนี้แล้ว ยังไงก็ฝากขอโทษสปอนเซอร์ต่างๆ ด้วยที่อาจจะต้องนำข้อมูลบางส่วนมาเปิดเผย
นายใหญ่บุรีรัมย์ ยังถามถึงช่อง 11 ที่ถ่าย 68 แมตช์มีเงิน 55 ล้านบาท ส่วนถ่ายทางทรู 69 และ 74 ถึงไม่มีรายรับ
เรื่องนี้ นายสรายุทธ ก็ชี้แจงว่า ทรู 69 กับ 74 ก็เป็นส่วนหนึ่งของทรูวิชั่นส์ ที่เรายกให้เขาไปแล้ว ทรูจะมีสิทธิ์อะไรก็ได้ เราไม่ได้อะไรในส่วนนี้ แต่บิ๊กเน ก็ยังสงสัยว่าเหตุใดจึงมีโฆษณาเข้ามา นายอดิศัย ก็ชี้แจงว่าเป็น โฆษณาแบบเฮาส์ แอด คือไม่มีรายได้จากส่วนนี้
เปลี่ยนเรื่องไม่เสียภาษี
เนวิน ชิดชอบ ยังจี้สมาคมฟุตบอลฯ ต่อไปหลังจากที่ได้รับคำตอบในเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ว่า ในฐานะประชาชน และสมาชิกสมาคมฟุตบอลฯ ก็อดสงสัยไม่ได้ เนื่องจากมีการสืบมาว่า สมาคมไม่ได้ยื่นแบบฟอร์มการเสียภาษีมาหลายปีแล้ว เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
"บังยี" กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาช้านาน และเป็นรายได้ที่เกิดจากการบริจาค ส่วน บ.ทีพีแอล มีการยื่นตามปกติ
ในเรื่องนี้ทาง ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง ก็ย้ำว่า ทีพีแอล มีการยื่นการเสียภาษีชัดเจน และตนเป็นคนลงนามเซ็นเองกับมือ ขอยืนยันได้ รวมทั้งชี้แจง ที่บอกว่าไม่มีเงินจัดลีกสำรอง ก็อธิบายว่างบประมาณพอมี แต่ไม่มากนัก เพียงแต่เราต้องการหาวันเวลาในการแข่งขัน เพื่อให้มัน ลงตัวที่สุด เรื่องนี้มันเกิดปัญหามาจากปีที่แล้ว บางทีมพร้อม บางทีมไม่พร้อม และค่าใช้จ่ายมันสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ก็พอจะมีงบบ้าง แต่ลีกเยาวชนคงไม่ทัน แต่ลีกสำรองมีแน่นอนในปีนี้ พร้อมเปิดให้สโมสรร่วมบริหาร
ในช่วงท้าย เนวิน ชิดชอบ อยากรับทราบแนวทางของสมาคมฟุตบอลฯ ที่จะดำเนินการต่อไป โดยเฉพาะจะรับข้อเสนอ ที่จะให้ตัวแทนสโมสรเข้าร่วมบริหารได้หรือไม่ ทาง "บังยี" ก็กล่าวว่า ความจริงลีกของเราเพิ่งก่อตั้ง จึงไม่อยากให้สโมสรต้องมาเหนื่อย แต่เมื่อทุกอย่าง เข้าที่เข้าทาง ก็ยินดีแต่จะต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขต่อกัน ทั้งนี้เราคงจะต้องมีกติกาว่า จะมีสัดส่วนกันเท่าไหร่ แต่จะมาทั้งหมดคงไม่ได้ แต่คิดว่าเรามาพูดคุยกันได้ในอนาคต
ย้ำคลับไลเซนส์ไม่ต้องห่วง
ทาง ธนศักดิ์ สุระประเสริฐ ตัวแทนชลบุรี เอฟซี ได้สอบถามอีกว่าเรื่องคลับไลเซนซิ่ง ที่เอเอฟซี กำหนดมา จะเอาอย่างไรกันแน่ เพราะกลัวว่าสโมสรจะเตรียมตัวไม่ทัน
"บังยี" ย้ำในที่ประชุมว่า ไม่ต้องห่วง ตนเองเป็นบอร์ด เอเอฟซี และดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว ก็ชี้แจงให้เอเอฟซี ทราบว่า ถ้าจะบังคับกันเลยปีนี้ เราก็คงจะมีไม่กี่ทีม จึงให้อะลุ่มอล่วยกันด้วยการผ่อนปรนไปอีก 2 ปี เราจะได้มีเวลาให้ แต่ละทีมได้เตรียมตัว จึงไม่ต้องกังวล และตนรับประกันว่า เรายังแข่งในรายการของ เอเอฟซี ได้ต่อไป
จากคุณ |
:
ทองแท้ (slayer99)
|
เขียนเมื่อ |
:
20 เม.ย. 55 23:40:15
|
|
|
|
 |