 |
การค้นหาตัวตนใหม่ทางวัฒนธรรมของอังกฤษเคยเกิดขึ้นในทศวรรษ 90s ผ่านกระบวนการเคลื่อนไหวที่ปัจจุบันถูกขนานนามว่า Cool Britannia ซึ่งสอดคล้องกับจังหวะการขึ้นมาเรืองอำนาจของรัฐบาลพรรคแรงงานที่นำโดยอดีตนายกโทนี่ แบลร์ ที่ลุกขึ้นมาปฏิวัติภาพลักษณ์ “สุภาพบุรุษอังกฤษอันน่าเบื่อหน่าย” ของรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมที่ครองอำนาจมานาน 18 ปี ด้วยภาพลักษณ์คนรุ่นใหม่ กล้าที่จะแหกกรอบปฏิบัติเดิมๆ
กระแสวัฒนธรรม Cool Britannia เริ่มมาจากโลกดนตรีที่มีดนตรีตระกูลบริทป๊อป (Brit Pop) เป็นตัวชูโรง วงดนตรีอย่าง OASIS, Suede และ Blur กลายเป็นวงกำหนดเทรนด์ของโลกดนตรีตะวันตกในช่วงทศวรรษ 1990 จากนั้นเราก็พบอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมแบบใหม่ๆ ของอังกฤษผุดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็น “สาวซ่าสมัยใหม่” อย่าง Spice Girls, กระแสภาพยนตร์ทางเลือกจากอังกฤษที่รูปแบบการนำเสนอต่างไปจากฮอลลีวู้ด (เรื่องที่คนไทยคุ้นเคยที่สุดน่าจะเป็น Love Actually และ Bridget Jones’s diary), ฟุตบอลพรีเมียร์ชิพอังกฤษที่นำกระแสโดยเดวิด แบ็คแฮม, นิยายชุดพ่อมดน้อยแฮร์รี พ็อตเตอร์
ในเชิงเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลอังกฤษสามารถหยิบฉวยประโยชน์จากกระแสวัฒนธรรมใหม่ของอังกฤษได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยส่งออกสินค้าเชิงวัฒนธรรมเหล่านี้ไปยังตลาดโลก ผ่านนโยบาย Creative Economy ที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ (อ่านรายละเอียดได้ในบทความเก่าหมวด Creative Economy ที่ SIU นำเสนอมาโดยตลอด)
ส่วนในเชิงวัฒนธรรมและสังคม โดยเฉพาะการสร้าง “อัตลักษณ์” ของอังกฤษ ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้มีนโยบายชัดเจนนัก สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภววิสัยที่เกิดขึ้นโดยความเคลื่อนไหวของสังคมอังกฤษเอง (organic movement) ที่ร่วมกันหล่อหลอมอัตลักษณ์ใหม่ของชาติอย่างต่อเนื่อง และเวทีโอลิมปิก 2012 ครั้งนี้ก็เป็นความเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรมของรัฐ โดยหยิบฉวยเอาอัตลักษณ์ใหม่ๆ ที่ถูกผลิตขึ้นในรอบ 20 ปีให้หลัง มาวางโชว์ให้ชาวโลกเห็นและรับรู้ว่า “นี่แหละคืออังกฤษแห่งศตวรรษที่ 21″ อังกฤษภายใต้อัตลักษณ์ใหม่ไม่ได้มีแต่ตู้โทรศัพท์แดง ผู้ชายสูทดำถือร่ม ทหารเปลี่ยนกะ อัศวินใส่เกราะ หรือปราสาทหินยุคกลาง ดังที่ชาวโลกคุ้นเคยมานาน แต่อังกฤษสมัยใหม่เองก็ไม่ใช่การเนรมิตอารยธรรมขึ้นมาใหม่หมด เป็นนครไฮเทคเต็มไปด้วยตึกระฟ้าดังที่ชาติเกิดใหม่หลายแห่ง (ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์หรือดูไบ) พยายามนำเสนอ
สิ่งที่ “รัฐอังกฤษใหม่” ต้องการจะเป็นคือการผสมผสานเอาวัฒนธรรมเก่า มาผนวกกับอัตลักษณ์ใหม่ๆ ผ่านการตีความแบบใหม่ๆ ที่พยายามฉีกตัวเองไปจากกรอบอนุรักษ์นิยมแบบเดิมๆ สิ่งที่เราเห็นในพิธีเปิดโอลิมปิกครั้งนี้จึงเป็น
* ภาพที่ซ้อนกันของ “ของเก่า” อย่างทาวเวอร์ออฟลอนดอนกับ “ของใหม่” อย่างลอนดอนอาย * ภาพที่ซ้อนกันของ “ทาวเวอร์บริดจ์สีทึมเทา” กับ “สปีดโบ๊ทเรืองแสง” ของเดวิด แบ็คแฮม * ภาพที่ซ้อนกันของ “เป็ดแม่น้ำเทมส์” กับ “รถไฟความเร็วสูง” และ “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” * ภาพที่ซ้อนกันของ “บ้านไม้ชนบท” กับ “วัยรุ่นหน้าใส” ที่สามารถไปยืนอยู่ในเมืองสมัยใหม่ได้อย่างไม่ขัดเขิน
**บ้านอิฐหน้าแคบแบบอังกฤษ ปะทะ Mini Cooper แสดงวิถีชีวิตร่วมสมัย (ภาพจาก London2012.com)
จากคุณ |
:
Modster
|
เขียนเมื่อ |
:
31 ก.ค. 55 15:49:51
|
|
|
|
 |