ผมเพิ่งอ่านหนังสือ เซ็นกอล์ฟ (ZEN Golf: Matering The Mental Game) ของคุณโจเซฟ พาเรนท์ จบลง จึงเกิดแรงบันดาลใจจะนำเสนอเรื่องราวจากหนังสือเล่มนี้ในบางตอนที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ ในแบบกึ่งลอกกึ่งเรียบเรียง หากจะมีประโยชน์ต่อเพื่อนๆ บ้าง ก็ขอยกประโยชน์ให้แก่ผู้เขียนนะครับ
การเล่นกอล์ฟตามแฮนดิแคปในที่นี้หมายถึงอะไร เฉลยว่าหมายถึงการเล่นโดยมีเป้าหมายจะทำแต้มให้ได้ตามความสามารถของเรา อย่างที่ป๋า ชช. เพิ่งจะยกตัวอย่างการตั้ง "ม้า" ให้แต่ละคนควบเข้าเส้นชัยตามกำลังฝีมือ โดยนอกจากคำนึงถึงฝีมือแล้ว ก็ยังคิดถึงองค์ประกอบอื่นด้วย เช่น ความยากของสนาม การไปสนามนั้นครั้งแรก สภาพอากาศผิดปกติ และสภาพร่างกาย ซึ่งเพื่อนๆ อาจกลับไปอ่านตัวอย่างในกระทู้ "เชี่ยวหลาน" ของป๋าชอฯ ดูอีกครั้งก็ได้
ในทางปฏิบัติของเซ็นกอล์ฟนั้น คุณโจเซฟได้แนะนำให้เราคำนึงถึงตัวแปรดังกล่าวเพื่อกำหนด HC ของเราในวันนั้นสนามนั้น แล้วทำการแก้ไขสกอร์การ์ดของสนาม ให้ "พาร์ของมือ HC 0" กลายเป็น "พาร์ของเรา"
ตัวอย่างเช่น สนามในเมืองไทยแทบทั้งหมดกำหนด "พาร์ของมือ HC 0" ไว้ที่ 72 คือประกอบด้วยพาร์สาม 4 หลุม พาร์ห้า 4 หลุม และพาร์สี่ 10 หลุม หากเป็นดังนั้น "เราผู้มี HC 18" คือถ้าทำแต้ม 90 ก็แปลว่าได้พาร์สนามตามฝีมือของเรา ก็อาจกำหนดเอาง่ายๆ ว่าเรามีพาร์สี่ 4 หลุม พาร์หก 4 หลุม และพาร์ห้า 10 หลุม (4x4 + 6x4 + 5x10 = 90)
แต่การกำหนดเอาง่ายๆ อย่างนี้อาจทำให้บางคนมาค้อนผมอีกแล้วว่า "มันจะไปสนุกตรงไหนฟะ" ผมจึงต้องทำการบ้านเพิ่มขึ้นอีกหน่อยว่า สำหรับผู้เล่น HC 18 นั้น เราอาจแบ่งหลุมทั้งหมดเป็น 3 กลุ่มตาม Handicap Scale (HS) ที่สนามกำหนดไว้ให้บนสกอร์การ์ดแล้ว คือกลุ่มยาก (HS 1-4) กลุ่มปานกลาง (HS 5-14) และกลุ่มง่าย (HS 15-18) แล้วทำการ "บวกสอง" ในหลุมกลุ่มยาก "บวกหนึ่ง" ในกลุ่มปานกลาง และไม่บวกในกลุ่มง่าย (2x4 + 1x10 + 0x4 = 18) จะทำให้เรามีแต้มสำหรับเล่นแต่ละหลุมสมควรแก่ฝีมือพอดี
ถึงตรงนี้แล้ว สำหรับมือ HC 18 (แต้มเฉลี่ย 90) ทั้งหลาย อาจเริ่มรู้สึกท้าทายขึ้น และสำหรับผมแล้วนี่คือแนวทางที่จะทำให้ผมเล่นกอล์ฟอย่างมีสติมากขึ้น ว่าการพยายามดันทุรังตีให้ได้สี่ทีลงในหลุม HS 1 (ซึ่งมักเป็นพาร์สี่) แล้วจบลงด้วยการทำทริปเปิ้ลโบกี้ (7) พร้อมด้วยดวงใจที่ห่อเหี่ยวเพื่อจะตีพังต่อไปอีกสามสี่หลุมนั้น เป็นการทำร้ายตัวเองเหมือนเป็นศัตรูคู่อาฆาต
แต่หากผมเล่นในหลุม HS 1 นั้นโดยรู้ว่าหากทำได้ 6 ก็แสดงว่าเราได้พาร์ตามฝีมือของเราแล้ว ผมก็มองเห็นล่วงหน้าได้ว่าผมอาจสามารถทำ "พาร์ 18 หลุม" ด้วยความรู้สึกดีว่าเราเล่นได้ตามฝีมือ และหากทำพาร์แฮนดิแคปได้หลายครั้งติดต่อกันแล้ว ผมก็อาจท้าทายตัวเองด้วยการลด HC ลงเหลือ 16 โดยลดแต้มต่อในหลุมกลุ่มยากและหลุมปานกลางลง แล้วเขียนพาร์บวกสองไว้ 3 หลุม (HS 1-3) พาร์บวกหนึ่ง 10 หลุม (HS 4-13) และปล่อยหลุมที่เหลือโดยไม่บวกไว้ 4 หลุม (2x3 + 1x10 + 0x5 = 16) แล้วแก้ไขสกอร์การ์ดให้เป็นพาร์ของเรา และเล่นแต่ละหลุมอย่างมีสติ ว่าหลุมนี้สำหรับเราคือพาร์เท่าไหร่ เพื่อดูว่าเรายังสามารถทำพาร์ตามเป้าหมายได้ทั้งสิบแปดหลุมอีกไหม
แฮนดิแคปคืออะไรหากไม่ใช่ดัชนีบอกฝีมือของเรา ว่าเรามีพรสวรรค์ พรแสวง เวลา และโอกาส ในการฝึกซ้อมและออกรอบอยู่เท่าไหร่ หากเราไม่เอาแฮนดิแคปตัวเองมาวัดตัวเอง คอยแต่จะเอาแฮนดิแคปของพวก "มือสมัครเล่นที่เก่งที่สุด" (HC 0) มาวัดตัวเอง แล้วทำร้ายตัวเองด้วยการบอกว่าวันนี้เราได้ "พาร์เดียว" อย่างนั้นแล้วเราจะมีแฮนดิแคปเอาไว้ทำแคปหมูไปทำไม
หากท่านใดทดลองใช้วิธีนี้ที่คุณโจเซฟ เสนอไว้ใน "เซ็นกอล์ฟ" แล้วพบอย่างที่คุณโจเซฟเก็บสถิติได้จากบรรดาลูกศิษย์ ว่ามันส่งเสริมความสนใจที่จะพัฒนาเกมการเล่นของตนเอง โดยเมื่อเปรียบเทียบระหว่าง "เราทำห่างจากพาร์อยู่อีก 20 สโตรค" ซึ่งดูเหมือนไม่มีวันที่เราจะได้พาร์ เทียบกับ "อีกสโตรคเดียวก็จะได้พาร์" ซึ่งเป็นการคืบหน้าไปทีละเล็กละน้อยพร้อมกับได้รางวัลไปตลอดเส้นทางนั้น น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่า
โดยเฉพาะหากวิธีนี้ทำให้คุณเล่นได้มีความสุขขึ้น ทำให้คุณเกิดความมั่นคงในจิตใจจนสามารถพัฒนาฝีมืออย่างมีเป้าหมายที่เป็นไปได้ ก็นับว่าหนังสือนี้และบทความนี้ได้ทำให้คุณมี Happy Golf สมดังความมุ่งหมายแล้ว
มีความสุขกับกอล์ฟครับ
จากคุณ :
จุ๊
- [
22 ก.ค. 47 10:21:55
]