ความคิดเห็นที่ 32
ขอบคุณมากค่ะน้องพยัคฆ์สมุทรที่เข้ามาตอบ แม้จะช้าแต่ก็ดีใจค่ะที่เข้ามาคุยกัน
ส่วนที่น้องอธิบายมาเรื่องก้าแลว ก้าลาย พี่คิดว่าน้องเข้าใจผิดอยู่นะคะ ก้าแลว คือ การฟ้อนดาบค่ะ ส่วนก้าลาย คือการฟ้อนโดยไม่มีดาบ ส่วนศิลปะการต่อสู้จะเรียกว่า "ลาย" หรือจะเรียกว่า "ก้าลาย" คือเรียกรวมกับการฟ้อนเลยก็ได้ค่ะ แต่ลายหรือศิลปะการต่อสู้เนี่ยก็จะแยกย่อยออกไปเป็น "ลายคู" และ "ลายแค่น(หรือลายแซ้น)" เหมือนที่ได้อธิบายไว้ข้างบนน่ะค่ะ
คำว่า "แลว" ก็คือ ดาบค่ะ บางครั้ง อาจจะใช้คำว่า "หลาบ" ก็ได้ แต่ผู้รู้ด้านไทใหญ่ท่านหนึ่งเคยบอกพี่ว่า คำว่าแลวกับหลาบ อาจจะแตกต่างกันตรงลักษณะ อาจจะเป็นดาบสั้น ดาบยาวหรืออะไรแบบนั้น แต่ท่านไม่แน่ใจในเรื่องลักษณะของดาบนัก แต่ท่านค่อนข้างมั่นใจว่าแลวกับหลาบจะมีลักษณะต่างกัน
ส่วนในการใช้ดาบ ส่วนใหญ่จะใช้คำว่า "แลว" มากกว่า "หลาบ" (คนไทใหญ่ไม่มีคำที่ออกเสียงนำด้วย "ด" น่ะค่ะ จึงออกเสียงเป็น "ล" ไปทั้งหมด เช่น ดอกไม้ = มอกไม้, ดี = หลี, ดาวเดือน = หลาวเหลิน เป็นต้น) แต่อย่างไรก็ดี เท่าที่พี่เคยเรียนวิชาดาบกับพ่อครูไทใหญ่ท่านหนึ่ง (พ่อสล่าปุ้น) ท่าต่างๆ ในการใช้ดาบก็มีทั้งแลวและหลาบ เช่น "ชักแลวออกเป๋นลาย" และ "สล่าเจ้าหลาบ" ดังนั้น คำว่า แลว กับ หลาบ ถ้าใครต้องการรู้ให้ละเอียดคงต้องไปสอบถามกับพ่อครูไทใหญ่หลายๆ ท่านดูค่ะ
ส่วนการฟ้อนนก ทางล้านนาทั่วไปจะเรียกว่า ฟ้อนนกกิงกะหร่า ซึ่งเรียกตามแบบพม่า กิงกะหร่าก็มาจากคำว่า กินรากินรี นั่นเอง แต่ถ้าเป็นไทใหญ่จะเรียกว่า "ก้านางนก" ค่ะ ไม่ว่าผู้ฟ้อนจะเป็นหญิงหรือชายจะเรียกเหมือนกัน โดยมากมักจะฟ้อนคู่กับการเต้นโต
อ้อ...อีกประการหนึ่ง คำว่า ตบบ่าผาบ เป็นคำเรียกของการใช้มือตบไปตามร่างกายนะคะ ไม่ใช่เรียกรวมศิลปะการต่อสู้ เรามีคำเรียกคือ "เชิง" ค่ะ อ่านว่า เจิง มีความหมายเดียวกันกับ "ลาย" ของไทใหญ่ค่ะ
ถ้าเป็นวิชาการต่อสู้ที่ใช้ดาบจะเรียกว่า "เชิงดาบ" ถ้าเป็นการต่อสู้ที่ใช้พลอง จะเรียกว่า "เชิงไม้ค้อน" ถ้าเป็นการต่อสู้มือเปล่าจะเรียกว่า "เชิงมือ" ถ้าเป็นการต่อสู้โดยใช้หอก เรียกว่า "เชิงหอก"
และขอยืนยันว่า คำว่าตบบ่าผาบ เป็นขั้นตอนหนึ่งของการฟ้อนเชิงในล้านนา การก้าลายของไทใหญ่ไม่นิยมตบบ่าผาบ ค่ะ
จากคุณ :
[NostalgiA]
- [
27 ก.ย. 47 09:22:35
]
|
|
|