CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangGameRoom


    พูดจาภาษาเทนนิสกับ "แฟรงค์ เกวสต้า" ผู้พิชิตหัวใจ "ยู่ยี่"

    จากมติชน
    http://www.matichon.co.th/matichon/matichon.php?s_tag=01spo25160248&show=1&sectionid=0114&day=2005/02/16

    ---------------------------------------------

    พูดจาภาษาเทนนิสกับ "แฟรงค์ เกวสต้า" ผู้พิชิตหัวใจ "ยู่ยี่"


    เป็นอีกครั้งที่แขกรับเชิญในหน้ากีฬาไม่ใช่คนไทย แต่พร้อมจะปักหลักอยู่ในเมืองไทยด้วยเหตุผลเพียงไม่กี่ประการ และนี่จึงเป็นที่มาของการพูดคุยกับ แฟรงค์ หรือ ฟรานซิสโก เกวสต้า ฝรั่งตาน้ำข้าวชาวสเปนในวันนี้

    ความน่าสนใจของชายหนุ่มร่างใหญ่คนนี้ ไม่ใช่เพราะเขามีสถานะเป็น "สามี" ของดารานางแบบสาวสุดเซ็กซี่อย่าง "ยู่ยี่" อลิสา อินทุสมิต หรือ ชัชชญา เกวสต้า แต่เป็นเพราะหนุ่มคนนี้มีดีกรีเป็นถึงโค้ชสอนเทนนิสจากสถาบันชื่อดัง "นิค บอลเล็ตเทียรี่ เทนนิส อคาเดมี่" ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา และทำหน้าที่โค้ชมานาน 16 ปี ทั้งที่เพิ่งผ่านพ้นวัย 30 กะรัตมาไม่กี่ปี

    *******************

    อย่างที่ทราบกันดีว่าสถาบันสอนเทนนิสของ นิค บอลเล็ตเทียรี่ ผลิตนักหวดชั้นนำระดับโลกมาแล้วหลายคน ซึ่งรวมถึง จิม คูเรียร์,อังเดร อากัสซี่,โมนิก้า เซเลส และมาเรีย ชาราโพว่า สาวฮ็อตคนล่าสุดแห่งวงการเทนนิสโลกด้วย

    แฟรงค์ เกวสต้า เป็นนักเทนนิสรุ่นเยาว์อีกคนหนึ่งที่เกือบจะเป็นผลผลิตชิ้นเยี่ยมจากสถาบันแห่งนี้ เพราะเคยคว้าแชมป์เทนนิสเยาวชนมาแล้ว ถ้าไม่เป็นเพราะเขาได้รับอุบัติเหตุอย่างหนักที่หัวเข่าซ้ายเสียก่อน

    แม้ว่าอาการเจ็บกับนักกีฬาจะเป็นของคู่กันที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หลายต่อหลายครั้งที่อาการบาดเจ็บเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นักเทนนิสบางคนต้องตัดสินใจแขวนแร็กเกตก่อนเวลาอันควร เหมือนเช่นที่ มาร์ติน่า ฮินกิส อดีตนักหวดมือ 1 โลก ประกาศเลิกเล่นเทนนิสอาชีพด้วยวัยเพียง 22 ปี เพราะมีอาการเจ็บที่ข้อเท้าทั้ง 2 ข้าง

    กรณีของแฟรงค์ก็ไม่ต่างกัน เพราะหลังจากกระดูกแตกในครั้งนั้น เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดและดามเหล็กเอาไว้ ประกอบกับต้องใช้เวลาพักฟื้นนานร่วม 1 ปี ทั้งๆ ที่กำลังไปได้ดีในฐานะนักหวดดาวรุ่ง โดยช่วงที่ยังเป็นนักหวดเยาวชนเคยทำอันดับโลกสูงสุดอยู่ที่ 178 ของโลกมาแล้ว

    *******************

    แต่แล้วความใฝ่ฝันในเส้นทางนักหวดอาชีพของหนุ่มรายนี้ ก็ต้องปิดฉากลงอย่างรวดเร็วชนิดที่เจ้าตัวไม่ทันได้ตั้งตัว เมื่อนิค บอลเล็ตเทียรี่ บอกว่า อนาคตในการเล่นเทนนิสระดับอาชีพของเขาคงจบลงเพียงแค่นี้

    "จริงๆ แล้วไม่ได้อยากเป็นโค้ช แต่นิคบอกว่าคงจะเป็นนักเทนนิสอาชีพไม่ได้แล้ว เพราะว่าต้องใช้เวลานานกว่าจะรักษาหาย และกลับมาเล่นอีกครั้งก็อาจจะไม่เหมือนเดิม"

    หลังจากนั้นนิคจึงชักชวนให้แฟรงค์ลองผันตัวเองมาเรียนโค้ชแทนในช่วงที่กำลังพักฟื้นจากอาการบาดเจ็บ เพื่อจะได้เป็นการสร้างอาชีพให้กับตัวเองในภายหลัง ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุเพียงแค่ 16-17 ปีเท่านั้น

    ในเมื่อมีทางเลือกเพียงแค่ 2 อย่าง คือ เลิกเล่น หรือเรียนโค้ช แฟรงค์จึงตัดสินใจมุ่งมั่นกับการเป็นโค้ชตามคำแนะนำของกูรูดังอย่างนิค แต่การเป็นโค้ชให้กับสถาบันสอนเทนนิสชื่อดังไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เพราะในสหรัฐอเมริกา ผู้ที่จะเป็นโค้ชต้องเรียนในระดับมหาวิทยาลัยนานถึง 5 ปี และมีประกาศนียบัตรรับรองด้วยจึงจะเป็นโค้ชได้

    *******************

    การเลือกอนาคตของตัวเองด้วยการเป็นโค้ชตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มวัยรุ่น ทำให้แฟรงค์ได้เปรียบในเรื่องประสบการณ์ที่มากกว่าโค้ชในวัยเดียวกัน เพราะนับมาถึงวันนี้ เขาทำหน้าที่สอนเทนนิสมานาน 16 ปีแล้ว โดยอยู่ในค่ายนิค บอลเล็ตเทียรี่ นานถึง 11 ปีจนได้ขึ้นมาเป็น 1 ใน 8 โค้ชระดับมาสเตอร์หรือระดับสูงสุดของสถาบัน และเคยเป็นโค้ชให้กับนักหวดที่เป็นมืออันดับ 3 ของโลกมาแล้ว

    แต่หลังจากตัดสินใจมาใช้ชีวิตในเมืองไทย การเป็นโค้ชให้กับสถาบันนิค บอลเล็ตเทียรี่ก็ต้องยุติลง แต่โค้ชหนุ่มวัย 34 ปียังคงเดินทางไปมาระหว่างสหรัฐอเมริกากับเมืองไทย โดยก่อนหน้านั้นแฟรงค์เคยสอนเทนนิสมาแล้วในหลายประเทศ ทั้ง ออสเตรีย,เยอรมนี,สวีเดน และอาร์เจนตินา ก่อนจะมาปักหลักใช้ชีวิตคู่กับ "ยู่ยี่" นางแบบเซ็กซี่และมีพยานรักด้วยกัน 1 คน คือ "น้องตาเป้" สาริศ เกวสต้า ซึ่งวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาถือเป็นวันครบรอบแต่งงานปีที่ 2 ของทั้งคู่ด้วย

    *******************

    เมื่อย้ายมาอยู่ในเมืองไทย แฟรงค์ยังคงยึดมั่นกับอาชีพโค้ชเทนนิสของตัวเอง เพียงแต่ไม่ได้ก่อตั้งเป็นโรงเรียนหรือสถาบันสอนเทนนิสอย่างเต็มรูปแบบ แต่รับสอนอยู่ที่อาคารชำนาญ เพ็ญชาติ ให้กับทีมซิกกี้ และสอนเป็นการส่วนตัวที่สนามเทนนิสในหมู่บ้านโฮม เพลส ที่ครอบครัวพำนักอยู่

    การสอนเทนนิสของโค้ชชาวสเปนใช้หลักการเดียวกับที่นิค บอลเล็ตเทียรี่ จึงค่อนข้างเข้มงวดในหลายเรื่อง เพราะแฟรงค์มองว่า การเป็นนักเทนนิสที่ดีไม่ได้หมายความว่าเล่นได้ดีเฉพาะเวลาที่อยู่ในคอร์ตเท่านั้น แต่ต้องมีปัจจัยอื่นๆ มาเป็นส่วนประกอบด้วย

    วีรภัทร ดอกไม้คลี่ นักหวดเยาวชนมือ 1 ของไทยเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แฟรงค์บอกว่า เป็นนักหวดที่ฝีมือดี แต่ไม่มีคนดูแลเรื่องอื่นให้ ทำให้มีรูปร่างที่อ้วนจนเกินไป ซึ่งไม่ใช่สรีระที่เหมาะสมสำหรับการเป็นนักเทนนิส

    ทุกวันนี้ แฟร้งค์จะสอนเทนนิสให้กับนักเทนนิสเยาวชนเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยมีเงื่อนไขว่า นักหวดที่เขาจะสอนให้ต้องมีพื้นฐานการเล่นที่ดีอยู่แล้ว

    "ผมจะสอนให้เฉพาะคนที่เล่นได้ในระดับที่ดีอยู่แล้ว ไม่สอนคนที่เพิ่งเริ่มหัดเล่น แต่จะสอนคนที่มีแววว่าสามารถไปต่อในระดับอาชีพได้และชอบเทนนิสจริงๆ"

    *******************

    ด้วยความที่สอนเทนนิสมานานนับ 10 ปี ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างเด็กไทยกับเด็กต่างชาติไม่ใช่เรื่องของสรีระหรือเทคนิคที่สู้ชาติอื่นไม่ได้ แต่แฟรงค์กลับมองว่า สิ่งที่แตกต่างคือมุมมองของ "ผู้ปกครอง" ที่กลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการพัฒนาเด็กไปเป็นนักหวดอาชีพ


    "ผู้ปกครองของเด็กมักอยากจะเป็นโค้ชเสียเอง อยากเป็นคนบริหารเอง กลายเป็นวัฒนธรรมเทนนิสในเมืองไทย"


    แต่ในความเป็นจริงพ่อแม่ของเด็กเหล่านั้นไม่ได้มีความรู้เรื่องเทนนิสอย่างถ่องแท้ ทำให้มีความคิดสวนทางกับโค้ชมืออาชีพในหลายๆ เรื่อง ในที่สุดต้องโบกมือลากันไปหลายราย ทั้งที่เด็กบางคนสามารถส่งเสริมให้พัฒนาฝีมือไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ แต่ก็มีปัญหาจนต้องเลิกกลางคัน

    ขณะที่เรื่องของ "ภาษา" กลับไม่เป็นอุปสรรคในการสื่อสารแต่อย่างใด แม้ว่าแฟรงค์จะมีกฎเหล็กห้ามนักเรียนของตัวเองพูดภาษาไทย และให้พูดภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียว

    "เดือนนึงก็คุยกันรู้เรื่องแล้ว เพราะเด็กไทยสามารถอ่าน และเขียนภาษาอังกฤษได้ดี แต่ไม่กล้าพูด และเทนนิสก็เป็นภาษาสากลอยู่แล้ว"

    *******************

    นอกจากจะรับสอนเทนนิสให้กับนักเยาวชนรุ่นเยาว์แล้ว แฟรงค์ยังหวังผลักดันนักหวดเยาวชนที่มีแววเข้าสู่วงการนักหวดอาชีพด้วย เพียงแต่เด็กและผู้ปกครองต้องยอมรับเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเท่านั้น จึงจะรับเข้าไว้ในความดูแลของตนเองโดยที่ตัวเด็กและพ่อแม่ไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเรียนใดๆ ทั้งสิ้นตลอดระยะเวลา 5 ปี แต่ผู้ปกครองจะไม่มีสิทธิเข้ามายุ่งเกี่ยวเรื่องแนวทางการสอนของเขาอย่างเด็ดขาด เพื่อตัดปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น

    ที่ผ่านมามีผู้ปกครองหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้เวลานี้มีแค่ "แบล๊คกี้" (ชื่อที่แฟรงค์ตั้งให้ ปาริชาติ เจริญสุขพลอยพล) นักหวดสาววัย 14 ปีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เซ็นสัญญา โดยมียู่ยี่ทำหน้าที่แปลสัญญาให้ผู้ปกครองฟังเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ซึ่งต่อไปยู่ยี่จะต้องสอนในเรื่องการพูดภาษาอังกฤษให้กับน้องปาริชาติด้วย เพราะถ้าจะไปแข่งในต่างประเทศ ก็จำเป็นต้องพูดและเข้าใจภาษาอังกฤษได้ดี

    อย่างไรก็ตาม การปั้นนักหวดไทยไปสู่ระดับอาชีพเหมือนอย่างภราดร ศรีชาพันธุ์ และแทมมารีน ธนสุกาญจน์ 2 นักหวดมือ 1 ของไทย บางคนอาจมองว่าเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า เพราะยังไม่เห็นทางว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่แฟรงค์กลับมองว่าเป็นความท้าทายที่อยากลอง และเมื่อใดก็ตามที่สามารถผลักดันนักหวดในสังกัดไปแข่งขันในรายการชิงเงินรางวัลระดับอาชีพได้สำเร็จ ก็ถึงเวลาที่เขาจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์จากเงินรางวัลของนักหวดตามกฎกติกา

    และหากวันนั้นมาถึงจริงๆ เราอาจได้เห็นโค้ชที่ชื่อ "แฟรงค์ เควสต้า" นั่งอยู่ข้างสนาม เวลาที่นักหวดไทยลงแข่งในรายการระดับอาชีพก็เป็นได้!

    ---------------------------------------------


    ไปเรียกน้องเค้าว่าแบล็คกี้
    ดูจากรูปในนสพ. ผิวน้องเค้าคล้ำมากไปหน่อยเท่านั้นเอง

    จากคุณ : sleepless.cs - [ 16 ก.พ. 48 09:32:39 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป