 |
ล้วงลึกชีวิต "สนฉัตร-สรรค์ชัย รติวัฒน์" แฝดสยามแห่งวงการเทนนิสไทย
จากมติชน http://www.matichon.co.th/matichon/matichon.php?s_tag=01spo30070348&show=1§ionid=0114&day=2005/03/07
---------------------------------------------
ล้วงลึกชีวิต "สนฉัตร-สรรค์ชัย รติวัฒน์" แฝดสยามแห่งวงการเทนนิสไทย
หากเอ่ยชื่อของ สนฉัตร-สรรค์ชัย รติวัฒน์ ในชั่วโมงนี้ เชื่อว่าคงไม่มีแฟนกีฬาคนไหนปฏิเสธว่าไม่รู้จักอย่างแน่นอน เพราะทั้งคู่เพิ่งจะคว้าแชมป์เทนนิสชายคู่ในระดับชาลเลนเจอร์ "2005 ชาลเลนเจอร์ ฟอร์ด แชร์บูร์ก อ็อกเตอวิลล์" ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อนจะหอบถ้วยรางวัลชายคู่รายการที่ 12 ของพวกเขากลับมาเมืองไทยในวันที่ 1 มีนาคม และบินต่อไปประเทศปากีสถานในวันเดียวกัน เพื่อลงทำศึกเดวิสคัพให้ทีมชาติไทย
แม้ว่าจะมีเวลาพักผ่อนอยู่ที่เมืองไทยแค่ไม่กี่ชั่วโมง แต่ 2 นักหวดฝาแฝดก็ยินดีเปิดบ้านให้เราไปนั่งคุยอยู่นานร่วมชั่วโมงถึงเรื่องราวของทั้งคู่ ก่อนที่จะเดินทางมาถึงความสำเร็จในขั้นหนึ่งที่พวกเขาวางไว้ขณะที่มีอายุได้ 23 ปีเต็ม
*****************
ด้วยความที่เป็นนักเทนนิสฝาแฝดทำให้ สนฉัตร(ต้น) และสรรค์ชัย(ต้อง) แตกต่างจากนักหวดคนอื่นๆ อยู่บ้าง เพราะมีไม่มากนักที่พี่น้องฝาแฝดจะเลือกทางเดินในสายเดียวกันเหมือนเช่นที่ทั้งสองคนเป็น และดำเนินชีวิตแบบตัวติดกันมาตั้งแต่อยู่ในท้องของคุณแม่สายพิณ รติวัฒน์ จวบจนกระทั่งถึงวันนี้
ต้นและต้องเรียนและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันมาตลอด เพราะอยู่โรงเรียนเดียวกันตั้งแต่เล็กจนถึงปัจจุบันที่พวกเขามีสถานภาพเป็นนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จะมีแยกกันบ้างก็แค่ช่วงที่เรียนมัธยมปลายซึ่งอยู่กันคนละห้อง แต่พอถึงช่วงพักก็ยังมาขลุกอยู่ด้วยกัน เพราะมีเพื่อนอยู่ก๊วนเดียวกันมาตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น
จุดเริ่มต้นของการเล่นกีฬา และชอบกีฬาชนิดเดียวกันของฝาแฝดคู่นี้จึงเกิดขึ้นไม่ยากนัก เมื่อคุณพ่อฉัตรชัย รติวัฒน์ พาทั้งคู่ไปหัดว่ายน้ำตั้งแต่มีอายุแค่ 5 ปี พอเห็นแววก็ส่งเข้าแข่งขันในรายการต่างๆ บ้าง ซึ่งระหว่างนั้นก็เล่นเทนนิสควบคู่ไปด้วย เพราะคุณพ่อเคยเป็นนักเทนนิสมาก่อน
แต่พออายุได้ 8 ขวบ ต้นและต้องเริ่มหันมาจริงจังกับเทนนิสเพียงอย่างเดียว โดยลงแข่งขันเทนนิสพัฒนาฝีมือทุกรายการที่จัดขึ้นในบ้านเรา ซึ่งมีจัดแข่งเฉพาะประเภทเดี่ยวเพียงอย่างเดียว ทำให้ทั้งคู่ยังไม่มีโอกาสได้ลงเล่นประเภทคู่ด้วยกัน
*****************
กว่าจะมีโอกาสได้ลงแข่งประเภทคู่ด้วยกัน ก็ต้องไปทัวร์แข่งในระดับเยาวชนของสหพันธ์เทนนิสนานาชาติ(ไอทีเอฟ) ซึ่ง "ต้น" แฝดผู้พี่บอกว่า "เยาวชนไอทีเอฟเป็นตัวจุดประกายให้กับนักหวดรุ่นเยาว์ทุกคน เพราะลักษณะการแข่งขันจะเหมือนกับการแข่งเทนนิสอาชีพ "เอทีพี ทัวร์" เพียงแต่ไม่มีเงินรางวัลให้เท่านั้น ซึ่งทำให้เด็กเคยชินกับระบบตรงนั้น และใครที่ติดอันดับท็อป 50 ได้ ก็ต้องคิดอยู่แล้วว่าตัวเองน่าจะทำได้ดีในระดับอาชีพ"
ผลงานในตอนนั้นของทั้งคู่ถือว่าค่อนข้างน่าพอใจ โดยเฉพาะในประเภทคู่ที่จับคู่เล่นด้วยกันจนทะยานขึ้นไปอยู่มืออันดับ 20 ของโลก(ระดับเยาวชน) ขณะที่ประเภทเดี่ยวอยู่ 100 อันดับแรก
จากที่คิดแค่เพียงเล่นออกกำลังกายสนุกๆ นักหวดหนุ่มทั้งสองเริ่มจริงจังมากขึ้น ด้วยการขยับไปแข่งขันในระดับอาชีพ โดยเริ่มไต่จากการแข่งขันระดับฟิวเจอร์ก่อนเป็นลำดับแรกขณะที่มีอายุได้ 18 ปี ก่อนจะขึ้นมาเล่นระดับชาลเลนเจอร์ในปัจจุบัน
*****************
การตัดสินใจครั้งสำคัญของทั้งคู่ มีคุณพ่อเป็นผู้ผลักดันอยู่เบื้องหลัง เพราะการกระโจนเข้าสู่การแข่งขันในระดับอาชีพ นอกจากจะต้องมีปัจจัยสำคัญอยู่ที่ตัวผู้เล่นแล้ว ยังต้องมีเงินทุนเพียงพอที่จะตระเวนไปแข่งขันรายการต่างๆ ในต่างประเทศด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ ครอบครัว "รติวัฒน์" จึงต้องคิดหนักเป็นพิเศษ เนื่องจากครอบครัวไม่ได้มีฐานะร่ำรวยพอที่จะนำเงินไปใช้ฟุ่มเฟือยได้ แต่หลังจากได้ปรึกษาหารือกันแล้วว่าต้นและต้องซึ่งขณะนั้นมีอายุแค่ 19 ปีจะเอาดีทางด้านนี้แน่ คุณพ่อฉัตรชัยจึงตัดสินใจลาออกจากงานรัฐวิสาหกิจก่อนถึงกำหนดเกษียณ(เออร์ลี่รีไทร์) เพื่อรับเงินก้อนใหญ่ และนำเงินส่วนหนึ่งที่ได้มามอบให้ลูกทั้งสองคนจำนวน 500,000 บาท ไว้ใช้เป็นทุนในการต่อยอดไปให้ถึงฝั่งฝัน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะไม่รู้ว่าต้นและต้องจะประสบความสำเร็จบนเส้นทางสายนี้หรือไม่
"หลังจากพ่อให้มา 5 แสน ใช้ไป 3 ปี ติดตัวแดงตลอด แต่โชคดีไปแข่งแมตช์ที่อุดรธานี(ฟอร์ดเทนนิสอุดรโอเพ่น ในเดือนเมษายน ปี 2546) แล้วได้รถฟอร์ดมา เลยขายรถคันเก่าเอาเงินก้อนไปแข่งโรมาเนีย และได้แชมป์เป็นครั้งแรก"
การได้แชมป์ระดับฟิวเจอร์ ในรายการ "โรมาเนีย เมน"ส ฟิวเจอร์ เอฟ 5" ที่โรมาเนีย เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2546 ถือว่าเป็นความสำเร็จที่มาถูกที่ถูกเวลาที่สุด เพราะทั้งคู่ตั้งใจเอาไว้แล้วว่า หากไม่ได้แชมป์ที่โรมาเนียจะเลิกเล่นแน่นอน แต่ในครั้งนั้นคู่แฝดได้แชมป์ที่โรมาเนียถึง 2 รายการติด(เอฟ 5,เอฟ 7) ก่อนจะปิดท้ายด้วยตำแหน่งรองแชมป์(เอฟ 8) อีก 1 รายการ
*****************
ความสำเร็จจากการคว้าแชมป์ชายคู่มาแล้ว 12 รายการ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะนักหวดทั้งสองจับคู่เล่นเทนนิสด้วยกันมาตลอดจนถึงปัจจุบัน แม้จะเคยมีนักหวดบางคนมาขอจับคู่ด้วย แต่ต้นและต้องมีคำตอบในใจอยู่แล้วว่า "ไม่ว่าอย่างไรก็จะเล่นคู่กันไปตลอด"
ที่ผ่านมามีเหตุให้ต้องแยกกันจับคู่เพียงหนเดียวเท่านั้น ในรายการที่นิวซีแลนด์ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เพราะหากเล่นคู่กันอันดับจะไม่ถึง ไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้จึงต้องแยกคู่ ซึ่งผลงานที่ออกมาไม่ค่อยดีนัก โดยต้นเข้ารอบเมนดรอว์ ส่วนต้องได้เล่นแค่รอบควอลิฟาย ซึ่งเหตุผลที่ทำให้ไม่สามารถทะลุเข้ารอบลึกได้เป็นเพราะ "จังหวะการเล่นไม่สอดคล้องกัน" การประสานงานจึงไม่เข้าขาเหมือนตอนที่ทั้งคู่เล่นด้วยกัน
ความได้เปรียบของการเป็น "ฝาแฝด" ที่เล่นด้วยกันมาตลอดทำให้ทั้งคู่มีจุดแข็งอยู่ที่ "ทีมเวิร์ก" บวกกับการพูดคุยกันตลอดเวลา ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการเล่นได้ตลอดจนคู่แข่งไม่สามารถจับทางได้ ขณะที่คนอื่นต้องเปลี่ยนคู่ทุกอาทิตย์ แต่สำหรับนักหวดฝาแฝดคู่นี้บอกกับเรา "คุยกันตั้งแต่ยังไม่เกิด" ด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ แฝดผู้พี่ยังบอกแบบติดตลกด้วยว่า การเป็นฝาแฝดเพิ่มความได้เปรียบได้อีกอย่างหนึ่ง เพราะรูปร่างหน้าตาที่เหมือนกัน ทำให้คู่แข่งดูไม่ออกว่านักหวดคนไหนฝีมืออ่อนกว่า
"ตอนลงแข่งแมตช์สุดท้ายในอเมริกา เจอคู่แข่งอังกฤษที่เป็นแฝดเหมือนกัน ทำให้เข้าใจเลยว่าทำไมที่ผ่านมาผมถึงชนะคนอื่นได้ เพราะเขาคงจะงงว่าใครเป็นใคร ตอนผมตีผมก็คิดว่าจะมีคนหนึ่งที่ตีอ่อนกว่า เราก็พยายามมองหาคนนั้นแต่หาไม่เจอ คู่อื่นเค้าก็คงเป็นเหมือนกัน"
*****************
ณ ตอนนี้ นอกจากบัญชีของต้นและต้องจะไม่ติดลบเป็นตัวแดงเหมือนอย่างที่ผ่านมาแล้ว นักหวดฝาแฝดคู่นี้ยังมีเงินมากพอที่จะจุนเจือครอบครัว "รติวัฒน์" ได้อย่างไม่ลำบากด้วย แถมมีโครงการขยายและต่อเติมบ้านให้ใหญ่ขึ้น เพื่อจะได้รับคุณตามาอยู่ที่บ้านด้วยกัน โดยสมาชิกที่พักอยู่ด้วยกันเวลานี้ ประกอบด้วยพ่อ,แม่,ฉัตรสุดา น้องสาวบุญธรรม และคุณยาย
ต้นและต้องเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ถูกปลูกฝังในเรื่องการให้ความสำคัญกับครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ปล่อยให้มีความคิดเป็นของตัวเองอย่างอิสระด้วย มีกฎอยู่เพียงข้อเดียวเท่านั้น นั่นคือ ต้องมานั่งรับประทานอาหารมื้อเย็นอย่างพร้อมหน้าทุกวัน
ต้น : "มื้อเย็นต้องกินข้าวพร้อมกันทั้งครอบครัว เหมือนกับพยายามปลูกฝังให้อยู่กับครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก"
ต้อง : "มื้อเย็นจะพร้อมหน้ากันที่สุด ถ้าไม่กลับต้องบอกก่อน ไม่งั้นที่บ้านจะรอ"
ส่วนเพื่อนสนิทที่สุดของทั้งคู่เวลานี้ คือ ดนัย อุดมโชค นักหวดมือ 2 ของไทยที่ตระเวนไปแข่งขันต่างประเทศด้วยกันตลอด โดยปีนี้วางโปรแกรมตรงกันทุกรายการ เพื่อจะได้ไปเป็นเพื่อนกันและช่วยเหลือกันได้ แถมยังปรึกษาปัญหาส่วนตัวทุกอย่างได้ด้วย
*****************
ก่อนจะปิดฉากการสนทนา เรายิงคำถามว่า "นอกจากทั้งคู่จะเป็นแบบอย่างให้กับนักหวดเยาวชนแล้ว มีใครมาขอคำแนะนำในการลงแข่งระดับอาชีพบ้างรึเปล่า"
ต้นบอกว่า "ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ปกครองที่เข้ามาถามบ่อยๆ เกี่ยวกับการออกไปแข่งขันว่า เมื่อไหร่ถึงจะดี อยากรอให้พร้อมก่อน อยากให้ตีดีก่อน" แต่ทั้งคู่จะให้คำตอบเหมือนกันว่า พาลูกออกไปแข่งได้เลย ไม่ต้องรอให้พร้อมก่อน เพราะถ้ามัวแต่รอ วันที่ความสำเร็จจะเข้ามาหาก็จะยิ่งไกลออกไป
ต้องเสริมในเรื่องนี้ด้วยว่า "ออกตอนนี้ กับออกตอนที่คิดว่าพร้อมแล้ว ค่าเท่ากันคือแพ้ บอกได้เลยว่าแพ้ เพราะฉะนั้นออกไปแพ้ให้เร็วเท่าไหร่ จะได้ชนะได้เร็วเท่านั้น"
เหมือนอย่างที่นักหวดคู่แฝดทำได้แล้วในทุกวันนี้ โดยใช้เวลาแค่ปีเดียวขยับจากอันดับ 800 ของโลกขึ้นมาอยู่อันดับ 230 ก่อนที่ล่าสุดจะขึ้นมารั้งอันดับ 128 ของโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้วหลังจากคว้าแชมป์รายการล่าสุดที่ฝรั่งเศส
ส่วนเป้าหมายต่อไปคือการติด 100 อันดับแรกในประเภทคู่ให้ได้เร็วที่สุด เพราะเป้าหมายที่แท้จริงคือ การเล่นแกรนด์สแลมในปีนี้ให้ได้อย่างน้อยในรายการสุดท้ายของปี "ยูเอส โอเพ่น" เนื่องจากยังมีเวลาทำอันดับจนถึงเดือนสิงหาคม โดยทั้งคู่ต้องคว้าแชมป์ชาลเลนเจอร์ระดับ 5 หมื่นเหรียญสหรัฐให้ได้ 6-7 รายการจึงจะมีลุ้นทำอันดับขึ้นไปถึงมือ 70 โลก เพื่อคว้าสิทธิลงแข่งขันในแกรนด์สแลมได้
แต่จะทำได้สำเร็จภายในปีนี้หรือไม่นั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะอย่างน้อยพวกเขาก็ได้พยายามทำอย่างดีที่สุดแล้ว!
--------------------------------------------
เอาใจช่วยค่ะ....^^
ไปชมภาพอื่นๆ ของสองพี่น้องได้ที่ link ด้านล่างนะ เดี๋ยวนี้มติชนเค้ามีภาพชุดด้วยแฮะ http://www.matichon.co.th/news_relate/gallery.php?reid=20050306111256
จากคุณ :
sleepless.cs
- [
7 มี.ค. 48 09:43:20
]
|
|
|
|
|