รำลึก 10 ปี กฏบอสแมน
ฌอง - มาร์ค บอสแมน นักฟุตบอลชาวเบลเจี้ยนกลายเป็นนักเตะคนดังในลีกยุโรปไปทันที หลังจากที่เขาชนะคดีในศาลเมื่อปี 1995 เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตัวเอง
เรื่องราวการต่อสู้ของเขากับเอฟซี ลีแอช ทีมต้นสังกัดในเบลเยี่ยมบ้านเกิดได้รับความสนใจไปทั่ววงการฟุตบอลยุโรป จากความบาดหมางระหว่างทั้งสองฝ่ายที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 1990 ก่อนจบลงด้วยรอยยิ้มแห่งความสุข ชัยชนะของบอสแมนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 1995
ย้อนกลับไปติดตามคดีดังกล่าวที่ดังกระฉ่อนไปทั่ววงการที่ยังมีผู้คนเม้าท์กันจนถึงทุกวันนี้..... บอสแมน ได้เซ็นสัญญากับสโมสรลีแอช ซึ่งอยู่ในดิวิชั่น 2 ของเบลเยียมเมื่อปี 1988 โดยจัดได้ว่าเขาเป็นนักเตะกองกลางที่มีความสำคัญต่อทีมไม่น้อย
ปี 1990 เขาหมดสัญญากับต้นสังกัด และได้รับความสนใจจาก ดันเคิร์ก สโมสรในฝรั่งเศสที่ต้องการดึงตัวไปร่วมทีม ภายใต้ข้อเสนอสัญญา 1 ปี พร้อมกับค่าเหนื่อย 100,000 ฟรังก์เบลเยี่ยมต่อเดือน บวกเงินโบนัส 900,000 ฟรังก์เบลเยียม
ทั้งสองสโมสรต่างเห็นชอบร่วมกันว่าจะมีการเซ็นสัญญาเป็นการชั่วคราว 1 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 1,200,000 ฟรังก์เบลเยียม แต่มีเงื่อนไขพิเศษให้สโมสรดันเคิร์ก ซื้อตัวไปร่วมทีมได้หลังหมดสัญญา 1 ปีไปแล้ว โดยทีมจากฝรั่งเศสต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 4,800,000 ฟรังก์เบลเยียม
การย้ายทีมของบอสแมนทำท่าจะผ่านพ้นไปด้วยดีตามที่ทั้งสองสโมสรตกลงกันไว้ แต่ปรากฏว่า ลีแอช กลัวว่าดันเคิร์กไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ตามข้อกำหนด เนื่องจากกำลังประสบปัญหาทางการเงินอยู่ในขณะนั้น จึงตัดสินใจไม่ส่งใบสัญญาไปให้สมาคมฟุตบอลในฝรั่งเศสตามกฏการย้ายทีม ที่ระบุว่าต่างฝ่ายต้องมีใบสัญญาของตัวเองด้วย โดยมีเพียง ดันเคิร์ก เท่านั้นที่ส่งใบสัญญาย้ายทีมให้กับสมาคมฟุตบอลฝรั่งเศส
นอกจากนั้น ทีมดังแห่งลีกเบลเยียมยังโก่งค่าตัวของบอสแมนมากกว่าค่าตัวที่สโมสรซื้อมาถึง 8 เท่า ทำให้ทีมจากลีกน้ำหอมไม่เต็มใจจ่ายเงินให้ ในเมื่อไม่มีการย้ายทีมเกิดขึ้น บอสแมนซึ่งหมดสัญญากับลีแอชไปแล้วจึงถูกต้นสังกัดกดดันอย่างหนักด้วยการตักเงินค่าจ้างลงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ จากเดิม 120,000 ฟรังก์เบลเยียม เหลือเพียง 30,000 ฟรังก์เบลเยียม ซึ่งนับเป็นเงินค่าจ้างในอัตราที่ต่ำที่สุดในเบลเยียม ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาไม่ได้เป็นผู้เล่นในทีมชุดใหญ่ของสโมสรอีกต่อไปแล้ว
ฌอง - มาร์ก บอสแมน สุดทนที่ตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมเอาซะเลย จึงออกโรงต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ที่เขาควรจะได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 1990 โดยได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากต้นสังกัด และสมาคมฟุตบอลเบลเจี้ยนในอีก 2 เดือนต่อมา ก่อนที่ศาสเบลเยียมจะตัดสินสินให้เขาสามารถย้ายไปเล่นกับ ดันเคิร์ก ได้โดยไม่มีค่าตัว แต่สมาคมฟุตบอลเบลเจี้ยนไม่เห็นด้วยจึงยื่นอุทธรณ์ ในที่สุดศาลตัดสินเด็ดขาดให้เขามีสิทธิ์ย้ายทีมได้อย่างชอบธรรม ในเดือนพฤษภาคม ปี 1991
ความวุ่นวายต่างๆมันยังไม่จบ เนื่องจากปี 1992 บอสแมนกลับมาเบลเยียมอีกครั้ง แต่เขาถูกปฏิเสธการจ่ายเงินชดเชยจากกรณีที่ต้องเป็นนักเตะตกงาน บอลแมนจึงตัดสินใจเรียกร้องขอความเป็นธรรมอีกครั้ง โดยยื่นฟ้องต่อศาลของสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 1 ล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1995
ทางสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ได้ส่งจดหมายปิดผนึกสนับสนุนการกระทำของบอสแมน และสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ก็เห็นดีด้วย ซึ่งท้ายที่สุดศาลอียูตัดสินให้บอสแมนเป็นผู้ชนะคดี โดยไม่อนญาตให้มีการอุทรณ์ใดๆ อีกต่อไป
เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นทำให้เกิดกฏการย้ายทีมรูปแบบใหม่ขึ้นมาโดยมีการตั้งชื่อตาม ฌอง - มาร์ก บอสแมน ว่า "กฏบอสแมน" ซึ่งกฏดังกล่าวจะให้อิสระกับนักเตะที่หมดสัญญากับสโมสรเดิม ในการย้ายทีมได้แบบไม่มีค่าตัว และสามารถเจรจาย้ายทีมได้ทันทีที่สัญญากับทีมต้นสังกัดปัจจุบันมีอายุเหลือเพียง 6 เดือน
สำหรับก่อนหน้าที่มีกฏบอสแมน กฏการย้ายทีมแบบเก่าระบุว่า นักเตะอาชีพมีสิทธิ์ย้ายทีมได้ก็ต่อเมื่อสองสโมสร (ต้นสังกัดปัจจุบัน และว่าที่ต้นสังกัดใหม่) ต่างมีความเห็นชอบร่วมกันโดยเฉพาะในเรื่องค่าตัวย้ายทีม ที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องสนใจว่านักเตะจะหมดสัญญากับทีมแล้วหรือไม่ ซึ่งหากนักเตะคนใดหมดสัญญากับต้นสังกัดไปแล้วและต้องการย้ายออกจากสโมสร จะไม่มีสิทธิ์ใดๆ ในการเซ็นสัญญากับสโมสรใหม่ จนกว่าต้นสังกัดจะเห็นชอบในการย้ายนั้นๆเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม "กฏบอสแมน" ได้ส่งผลกระทบต่อวงการฟุตบอลอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกับสโมสรที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของนักเตะ เนื่องจากผู้เล่นสามารถย้ายทีมได้อย่างอิสระหลังจากหมดสัญญากับต้นสังกัดไปแล้ว ซึ่งหากนักเตะคนใดไม่มีความสุขในการค้าแข้งกับสโมสรปัจจุบันก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ต่อสัญญากับทีมออกไปและรอให้สัญญาหมดลง เพื่อย้ายไปร่วมทีมอื่นแบบไม่มีค่าตัว
ตัวอย่างเช่นในรายของ สตีฟ แม็คมานามาน อดีตปีกทีมชาติอังกฤษที่ไม่ยอมเซ็นสัญญาฉบับใหม่กับทีมลิเวอร์พูล แต่ย้ายไปเล่นที่รีล มาดริด ยักษ์ใหญ่ ลา ลีกา สเปนโดยได้รับเงินค่าเหนื่อยจำนวนมหาศาล 60,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ปล่อยให้หงส์แดงพบฝันร้ายเมื่อไม่ได้เงินค่าตัว แม็ดก้า นักเตะที่สโมสรปลุกปั้นขึ้นมา
เช่นเดียวกับ โซล แคมป์เบลล์ กองหลังทีมชาติอังกฤษที่ปฏิเสธการต่อสัญญากับท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ โดยย้ายไปเล่นให้กับทีมอาร์เซนอล ซึ่งเป็นคู่ปรับร่วมเมืองแบบไม่มีค่าตัว ทั้งที่เขาเป็นนักเตะกำลังสำคัญของทีม แต่สเปอร์กลับไม่ได้รับค่าตอบแทนจากการย้ายทีมครั้งนี้แต่อย่างใด มิหนำซ้ำ บิ๊กโซลยังได้รับค่าเหนื่อยมากพอๆกับเธียร์รี่ อองรี ศูนย์หน้าทีมชาติฝรั่งเศสอีกด้วย เรื่องนี้ทำให้บรรดาแฟนบอลท็อตแน่มโกรธจัด ตราหน้า แคมป์เบลล์ ว่าเป็นคนทรยศ เป็นนักเตะที่เห็นแก่ได้
ทุกวันนี้สโมสรต่างๆ จะพยายามจูงใจนักเตะของตัวเองให้ต่อสัญญาระยะยาวกับทีมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะไม่ต้องการเสียนักเตะไปแบบฟรีๆ แต่สโมสรเล็กๆ ไม่อาจทำเช่นนั้น เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องเงินทุน จึงไม่มีเงินมากพอที่จะเซ็นสัญญาระยะยาวกับนตักเตะทุกคนได้ โดยเฉพาะกับนักเตะเยาวชน หรือนักเตะดาวรุ่งที่ยังไม่ได้ขึ้นมาเล่นในทีมชุดใหญ่ สุดท้ายแล้ว นักเตะฝีเท้าดีก็ย้ายไปอยู่กับสโมสรที่ใหญ่กว่าหลังจากที่หมดสัญญากับทีม เพื่อรับเงินค่าเหนื่อยที่มากกว่า
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลา 10 ปีเต็มที่มีการใช้กฏบอสแมน ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มอำนาจในการต่อรองให้กับนักเตะในยุคปัจจุบันมากขึ้น ยิ่งถ้าเป็นนักเตะระดับซุปเปอร์สตาร์ด้วยแล้ว ยิ่งมีอำนาจในการเรียกร้องค่าเหนื่อยได้มากเท่าที่พวกเขาต้องการ
ฌอง - มาร์ก บอสแมน ที่ปัจจุบันมีอายุ 42 ปีได้พูดถึงวันแห่งความสำเร็จที่เขาชนะคดีในศาลสูงสุดของยุโรปเมื่อเดือนธันวาคม 1995 ว่า "ผมรู้สึกภาคภูมิใจ เพราะสิ่งที่ผมทำ ไม่มีนักเตะคนไหนกล้าทำมาก่อน ผมหวังว่าช่วงเวลาต่อจากนี้ไป นักเตะคนอื่นๆ จะตระหนักในเรื่องนี้อย่างแท้จริงกับสิ่งที่ผมทำให้พวกเขา"
อย่างไรก็ตาม แม้เขาเป็นคนสร้างปรากฏการณ์จนมี "กฏบอสแมน" เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เขาได้รับกลับมาเป็นการตอบแทนคือ สถานภาพของ "นักเตะตกงาน" ที่ไม่มีสโมสรใดยื่นข้อเสนอใดๆ ให้กับเขา ไม่ว่าจะในฐานะนักเตะ หรือตำแหน่งอื่นใดในสโมสร เพราะอายุของเขาในขณะนั้นมากเกินกว่าจะเป็นนักเตะกำลังสำคัญของทีมได้แล้ว อีกทั้งร่างกายก็ไม่ได้ฟิตอย่างแต่ก่อน และยังกลายเป็นแบล็คลิสต์ของหลายๆสโมสร ที่ได้รับผลกระทบจากกฏบอสแมนอีกด้วย
"ผมออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 17 ปี และไม่มีใบประกาศนียบัตรรับรองวุฒิใดๆ ทั้งสิ้น สิ่งเดียวที่ผมรู้จักในโลกนี้คือฟุตบอลเท่านั้น และผมก็ตัดขาดจากวงการฟุตบอลไปแล้ว แต่ปัจจุบันนี้นักเตะส่วนใหญ่เห็นแก่ประโยชน์ตัวเอง และไม่มีใครเคยแสดงความระลึกถึงผมอย่างที่ผมสมควรจะได้รับเลยสักนิดเดียว"
บอสแมนเปิดเผยว่า ตนเองต้องระมัดระวังเรื่องการใช้เงินเป็นพิเศษ หลังกจากที่ได้รับเงินชดเชยที่ศาลสั่งให้สมาคมฟุตบอลเบลเจี้ยนจ่ายให้เขาเป็นเงินทั้งสิ้น 290,000 ปอนด์ ขณะที่สหภาพนักฟุตบอล FIFPRO มอบเงินให้เขา 180,000 ปอนด์ ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับที่ กานัล ปลุส เคเบิลทีวีชื่อดังของฝรั่งเศสมอบให้หลังจากจัดการแข่งขันแมตช์ที่ลีลล์ ขณะที่นักเตะคนอื่นๆ ซึ่งประกอบด้วย ชาวดัตช์, เบลเจี้ยน รวบรวมเงินบริจาคให้เขาประมาณ 70,000 ปอนด์ รวมแล้ว บอสแมน ได้รับเงินจากการต่อสู้เพื่อความชอบธรรมของตนเองไปทั้งสิ้น 720,000 ปอนด์
"ผมนำเงินมาซื้อบ้าน 2 หลัง หลังหนึ่งไว้พักอาศัย อีกหลังหนึ่งไว้ให้คนอื่นเช่า อย่างน้อยผลกำไรที่ได้มาก็เพียงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้" แต่ปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือ เรื่องการเสียภาษีย้อนหลังจำนวนมาก จนเป็นเหตุให้บอสแมนต้องขึ้นศาลอีกครั้ง ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่าทำให้เขาต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตทางการเงิน และเป็นหนี้เป็นสินอยู่ในขณะนี้
"ทุกวันนี้เมื่อผมมองดูสตาร์ชื่อดังหลายต่อหลายคน พวกเขาต่างเซ็นสัญญามูลค่ามหาศาล ทุกอย่างที่เกิดขึ้น พวกเขาต้องขอบคุณผม" บอสแมน กล่าว "โดยส่วนตัวแล้วผมไม่คิดเกี่ยวกับการได้รับเงินจำนวนมาก ผมขอแค่มีความสุขกับการใช้ชีวิตแต่ละวันก็เพียงพอแล้ว..... รีล มาดริด จะไม่ใช่สโมสรอย่างในทุกวันนี้ ไม่เว้นแม้กระทั่งเชลซี"
ขณะเดียวกัน บอสแมน ได้เสนอแนะความเห็นส่วนตัวของเขาเป็นการทิ้งท้ายได้อย่างน่าสนใจ "ผมคืดว่าเราควรจะมีระบบที่จะให้เหล่าผู้เล่นดาวรุ่งอยู่กับสโมสรอาชีพ (ทีมแรก) ของพวกเขาในช่วงเวลาที่แน่นอน เป็นเวลาหลายปี เรื่องนี้ได้ผลแล้วที่ฝรั่งเศส และนักเตะสามารถพัฒนาฝีเท้าได้ดีมากเช่นเดียวกับ"
เรื่อง : จากสตาร์ซอกเกอร์รายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 เมษายน พ.ศ.2548
แก้ไขเมื่อ 26 เม.ย. 48 15:19:10
แก้ไขเมื่อ 26 เม.ย. 48 11:26:55
จากคุณ :
chomphun
- [
26 เม.ย. 48 11:14:13
]