CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    DDT ปลอดภัย องค์การอนามัยโลกยอมรับให้ใช้ได้อีกครั้ง

    Dichloro-Diphenyl-Trichloroethane (DDT) ถูกสังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกในปี 1874
    โดย Othmar Zeidler นักเคมีชาวเยอรมัน จากการทดลองสังเคราะห์ค้นหา
    สารชนิดใหม่ๆเล่นๆ แบบไม่มีจุดมุ่งหมาย

    DDT เป็นของแข็งผลึกสีขาว เกือบจะไม่ละลายในน้ำ แต่ละลายได้ดีในไขมัน
    คุณสมบัติเป็นสารฆ่าแมลงของ DDT ถูกค้นพบโดย Dr. Paul Muller ในปี 1934
    และถูกจดทะเบียนสิทธิบัตรใช้เป็นส่วนผสมของยาฆ่าแมลงในช่วง 1939-1943
    DDT ถูกนำมาใช้งานควบคุมแมลงพาหะของโรคเป็นครั้งแรกที่อิตาลีในปี 1943
    เพื่อกำจัดหมัดที่เป็นพาหะของโรคไข้รากสาด (typhus) ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง
    และเริ่มนำมาใช้ในการเกษตรตั้งแต่ปี 1945

    Dr. Muller ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1948 จากผลงานการใช้ DDT เพื่อการกำจัดแมลง

    DDT เป็นยาฆ่าแมลงที่ถูกใช้ยาวนาน และกว้างขวางมากที่สุด
    และเป็นที่ยอมรับว่ามีอันตรายต่อมนุษย์น้อยมาก
    ในบางคนจะเริ่มแสดงอาการแพ้ DDT ให้เห็นถ้าได้รับเกิน 10 mg ต่อน้ำหนักตัว 1 kg
    ซึ่งเป็นปริมาณที่เทียบได้กับการกินยาฆ่าแมลง DDT 5% ประมาณ 2-3 ช้อน
    มีรายงานการแพทย์บอกว่าการกิน DDT จำนวนมากๆโดยอุบัติเหตุ
    ขนาด 285 mg ต่อน้ำหนักตัว 1 kg ซึ่งเทียบได้กับยาฆ่าแมลง DDT 5%
    ขนาดน้ำอัดลมหนึ่งกระป๋อง ทำให้ป่วยคลื่นไส้อาเจียนอย่างหนัก แต่ไม่ทำให้ถึงตาย
    ถือว่า DDT มีความเป็นพิษน้อยกว่ายาฆ่าแมลงเกือบทุกชนิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
    ซึ่งหลายชนิดเพียงครึ่งช้อนก็ทำให้ถึงตายได้

    เพราะเป็นพิษต่ำมาก DDT จึงสามารถฉีดลงบนเสื้อผ้า เส้นผม ผิวหนังร่างกายโดยตรง
    หรือผสมลงในแชมพูหรือสบู่เพื่อกำจัดหมัด เหาหรือโลน บนร่างกาย
    การฉีดพ่น DDT แบบสัมผัสตัวมนุษย์ จะพบเห็นได้ทั่วไปในยุคที่ DDT เริ่มใช้แรกๆ
    แม้ว่าอัตราปลอดภัยต่อมนุษย์ที่องค์การอนามัยโลกประกาศ คือ 0.01 mg/kg/day
    แต่ในยุคที่มนุษย์ยังไม่ตื่นตัวต่ออันตรายของสารเคมี คนในพื้นที่ที่มีการใช้ DDT
    เพื่อควบคุมโรคมักจะได้รับ DDT สูงกว่าระดับที่ประกาศว่าปลอดภัยเป็นสิบเท่า

    DDT เป็นสารที่สามารถสะสมในไขมันของร่างกาย

    ในแง่ของสารก่อมะเร็ง DDT ถูกจัดอยู่ในระดับ B2 (probable)
    อยู่ในกลุ่มเดียวกับสารสามัญในชีวิตประจำวันอีกหลายๆชนิด เช่น คาเฟอีน
    การทดลองในสัตว์เลือดอุ่นยาวนานตลอดอายุขัยของสัตว์ทดลอง
    ไม่พบว่า DDT ทำให้เกิดเนื้องอก (tumor) มากขึ้น
    แถมการทดลองหลายรายกลับพบว่าทำให้ลดลงเล็กน้อยด้วยซ้ำ
    แต่ไม่มากพอที่จะจัดให้ DDT อยู่ในกลุ่มสารต่อต้านการเกิดมะเร็ง
    อย่างไรก็ตามมีการทดลองบางรายชี้ว่าอาจจะทำให้อัตราการเป็นมะเร็งที่เต้านม
    ของสัตว์ทดลองเพิ่มขึ้น แต่การทดลองซ้ำโดยผู้วิจัยกลุ่มอื่นไม่ยืนยันข้อสรุปนี้

    การเฝ้าศึกษากลุ่มผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการพ่นยาฆ่าแมลงในโลกจริงๆ
    ที่มักจะได้รับ DDT หลายสิบเท่าของอัตราปลอดภัย เป็นเวลาต่อเนื่องกว่าสิบปีขึ้นไป
    พบว่าอัตราการเกิดมะเร็งไม่ต่างจากค่าเฉลี่ยของคนทั่วไปด้วยเช่นกัน

    ปี 1955 องค์การอนามัยโลก WHO ยอมรับ DDT เป็นอาวุธหลักในการต่อต้านยุง
    ที่เป็นพาหะของโรคมาลาเรีย ที่ทั่วโลกมีผู้ป่วยปีละ 300-500 ล้านคน
    และตายเพราะโรคนี้ปีละ 2.7 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กในทวีปอัฟริกา
    โดยเด็ก 40% ที่เกิดในเขตที่มีการระบาดหนักจะตายเพราะมาลาเรียก่อนอายุครบห้าขวบ

    DDT ได้รับความนิยมแพร่หลายสูงสุดในปี 1962 ทั่วโลกมีการผลิต 82,000 ตัน
    การใช้ DDT อย่างกว้างขวาง ทำให้ไข้มาลาเรียถูกกำจัดจนหมดสิ้นไปจากหลายพื้นที่
    ภายในเวลาเพียงห้าปี พื้นที่ระบาดทั่วโลกลดน้อยลงถึง 70%

    ตลอดการใช้งานหลายสิบปี DDT ได้ช่วยชีวิตมนุษย์ไว้กว่าร้อยล้านคน
    ทำให้ DDT ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสารเคมีที่มีคุณูปการต่อมนุษย์ชาติสูงสุดเท่าที่เคยมี

    แก้ไขเมื่อ 25 ต.ค. 49 20:33:13

    จากคุณ : กาลามะชน - [ 24 ต.ค. 49 21:17:48 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | PanTown.com | BlogGang.com