Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    รอดู "อิริเดียมแฟร์" แสงฟ้าสว่างวาบจากดาวเทียม กันเถอะ

    หากใครแหงนมองท้องฟ้าในบางค่ำคืนอาจได้เห็นแสงสว่าง "วาบ" จากฟากฟ้าที่สว่างยิ่งกว่าดาวตก และเคลื่อนที่หายลับไปในความมืดมิดอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สัญญาณจากมนุษย์ต่างดาวหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบน หากแต่อาจเป็นแสงสะท้อนจากดาวเทียมสื่อสารของสหรัฐที่ชื่อ "อิริเดียม" และเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความหลงใหลให้กับคนบางกลุ่มได้ติดตาม แต่น่าเสียดายเหลือเวลาอีกแค่ 10-20 ปีเท่านั้นที่ปรากฏการณ์เช่นนี้จะสร้างสีสันให้ท้องฟ้า
         
          น้อยคนนักที่จะรู้จักปรากฏการณ์ "อิริเดียมแฟร์" (Iridium flare) ปรากฏการณ์ "วาบ" แสงสะท้อนจากดาวเทียมสื่อสารของรัฐบาลสหรัฐที่ชื่อ "อิริเดียม" (Iridium) ซึ่งโคจรอยู่รอบโลก 66 ดวง โดยเราจะเห็นแสงวาบเป็นแสงกะพริบเคลื่อนที่เป็นเส้นตรง และค่อยๆ สว่างเพิ่มขึ้นแล้ววูบดับไปในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 2-3 วินาที ขณะที่ความสว่างก็มีหลายระดับ* และบางครั้งอิริเดียมแฟร์ก็สว่างพอๆ กับความสว่างของดวงจันทร์ครึ่งดวงเลยทีเดียว
         
          นายปณัฐพงศ์ จันทรวัฒนาวณิช สมาชิกสมาคมดาราศาสตร์ไทยคนแรกที่นำปรากฏการณ์อันแปลกตานี้ไปแนะนำกับเพื่อนสมาชิกคนอื่น หลังจากที่เขาได้เห็นรูปของปรากฏการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ Spaceweather.com ที่มีชาวต่างชาติเข้าไปโพสต์ไว้และอธิบายว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวคล้ายกับ "ซูเปอร์โนวา" (Supernova) หรือการระเบิดก่อนดับของดาวฤกษ์ และมีความสว่างยิ่งกว่าดาวศุกร์ จึงทำให้เขาเริ่มอยากเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวและหาข้อมูลว่าจะเกิดปรากฏการณ์เมื่อไหร่ ที่ไหนบ้าง ซึ่งก็มีเว็บไซต์ heavens-above.com เป็นศูนย์กลางของข้อมูลที่จะดูปรากฏการณ์นี้
         
          ปณัฐพงศ์ซึ่งปัจจุบันเป็นนักศึกษาวิศวกรรมอวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดรสเดน (Technische Universitat Dresden) ประเทศเยอรมนี อธิบายว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของดาวเทียมอิริเดียมทำมุมสะท้อนแสงดวงอาทิตย์พอดี
         
          ทั้งนี้อิริเดียมเป็นดาวเทียมสื่อสารที่บริษัทเอกชนของสหรัฐผลิตขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีโครงการที่จะสร้างดาวเทียม 77 ดวงอันเป็นที่มาของชื่อกลุ่มดาวเทียมซึ่งตรงกับชื่อธาตุที่ 77 ในตารางธาตุ แต่สร้างดาวเทียมสำเร็จจริงๆ เพียง 66 ดวงเท่านั้น เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาด้านเงินทุนจนไม่สามารถสร้างดาวเทียมที่เหลือต่อ รัฐบาลสหรัฐจึงซื้อดาวเทียมเหล่านี้มาใช้ประโยชน์
         
          "ผมชอบปรากฏการณ์นี้เพราะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงความสว่างอย่างรวดเร็ว จากความสว่างปกติ +6 ซึ่งเป็นความสว่างน้อยที่สุดที่ตาเปล่าเห็นได้ แต่ใน 10-15 วินาที ความสว่างจะเปลี่ยนจากมองไม่เห็นเป็นสว่างมาก บางครั้งสว่าง -8 เป็นความสว่างพอๆ กับความสว่างของดวงจันทร์ที่ปรากฏครึ่งดวง และเหตุที่ปรากฏการณ์นี้น่าติดตามเพราะอีก 10-20 ปีไม่น่าจะมีให้เห็นแล้ว เนื่องจากดาวเทียมพวกนี้มีอายุการใช้งานเพียง 10-20 ปี บางดวงก็สร้างเมื่อปี 2541" ปณัฐพงศ์กล่าว
         
          ทั้งนี้ดาวเทียมอิริเดียมอยู่สูงจากพื้นโลกเพียง 800 กิโลเมตรและโคจรรอบโลกจากขั้วโลกเหนือวนลงไปขั้วโลกใต้และกลับไปที่ขั้วโลกเหนือภายในเวลา 100 นาที ซึ่งก็มีดาวเทียมอิริเดียมบางดวงที่เคลื่อนผ่านประเทศไทยตลอดด้วย และหากต้องการดูแสงวาบจากดาวเทียมสื่อสารนี้สิ่งสำคัญคือต้องตรงต่อเวลามากเพราะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดเพียงไม่กี่วินาที
         
          สามารถเข้าไปดูเวลาที่จะเกิดปรากฏการณ์ได้ในเว็บไซต์ heavens-above.com ซึ่งมีโปรแกรมคำนวณให้เสร็จสรรพ แต่จำเป็นต้องทราบละติจูดและลองจิจูดของตำแหน่งที่ต้องการจะดู และจะได้ข้อมูลวัน เวลา มุมเงย ทิศ ความสว่าง ความสว่างสูงสุด ศูนย์กลางของการเห็นปรากฏการณ์ รวมถึงดาวเทียมดวงที่ทำให้เกิดแสงสะท้อน
         
          "ตอนนี้เขาสามารถคำนวณเวลาที่จะเกิดได้ค่อนข้างแม่นยำในระดับที่เป็นวินาที แต่ในเรื่องของความสว่างยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่มาก บางครั้งระบุว่าจะเห็นความสว่างถึง -5 แต่เมื่อดูจริงๆ อาจเห็นแค่ +2 หรือบางครั้งระบุว่าเห็นแต่ +6 แต่เห็นจริงๆ -8 สิ่งที่น่าลุ้นคือได้ลุ้นว่าจะมองเห็นไหมเพราะสว่างแค่แป๊บเดียว ถ้ามองผิดที่ก็ไม่เห็น หรือถ้าเห็นก็แสดงว่าเราวัดทิศทาง วัดมุมได้ถูกต้อง" ปณัฐพงศ์กล่าว
         
          อย่างไรก็ดีใช่ว่าทุกคนจะชอบปรากฏการณ์แปลกตานี้เสียหมดอย่างน้อยนักดาราศาสตร์ตามหอดูดาวต่างๆ ทั่วโลกก็ไม่อยากพบเจอแสงวาบจากดาวเทียมอิริเดียมสักเท่าไหร่ ปณัฐพงศ์กล่าวว่านักดาราศาสตร์อาชีพไม่ชอบปรากฏการณ์นี้นักเพราะจะทำให้การถ่ายภาพดาราศาสตร์ของพวกเขาเสียหาย หรือบางครั้งอาจทำให้เซนเซอร์ของกล้องในหอดูดาวพังไปเลยก็ได้เพราะความสว่างของอิริเดียมแฟร์ที่มีมากนั่นเอง
         
          "กล้องของหอดูดาวจะเป็นกล้องที่ใหญ่มากและซีซีดี (CCD) ต้องไวแสงด้วยเช่นกัน ดังนั้นถ้าอิริเดียมแฟร์สว่างมาก กล้องก็อาจพังได้" ปณัฐพงศ์อธิบายถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ที่เขาหลงใหล
         
          ปณัฐพงษ์กล่าวอีกว่าอิริเดียมแฟร์มักจะเกิดในช่วงรุ่งเช้าหรือหัวค่ำเพราะเป็นจังหวะดีที่สุดในการสะท้อนแสงของดวงอาทิตย์ และนอกจากอิริเดียมแล้วก็เกิดปรากฏการณ์ทำนองนี้กับดาวเทียมดวงอื่นได้เช่นกัน แต่ความสว่างจะน้อยกว่าเพราะดาวเทียมอื่นๆ นั้นอยู่สูงจากโลกมากกว่าดาวเทียมอิริเดียมนั่นเอง
         
          ทางด้านนายวิทยา ศรีชัย สมาชิกสมาคมดาราศาสตร์ไทยที่รู้จักอิริเดียมแฟร์จากคำแนะนำของปณัฐพงษ์กล่าวว่าสนใจปรากฏการณ์นี้เพราะไม่เคยเห็นและรู้สึกว่าแปลกดี โดยปกติเราจะเห็นความสว่างของดาวเทียมไม่เปลี่ยนแปลง แต่ปรากฏการณ์นี้จะเห็นความสว่างจ้าขึ้นมาในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งนอกจากความสนใจส่วนตัวแล้วเขาก็นำปรากฏการณ์นี้ไปให้เด็กๆ ในค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิกที่เขาเป็นกรรมการคุมสอบได้รู้จักด้วย
         
          "อะไรคือเสน่ห์ของอิริเดียมแฟร์?" เป็นคำถามจากเด็กๆ ในค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิกที่เพิ่งรู้จักและได้เห็นปรากฏการณ์นี้เป็นครั้งแรก แม้จะรู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่ได้เห็นแต่พวกเขาก็อดสงสัยไม่ได้ว่าปรากฏการณ์นี้มีความหมายอะไรในทางดาราศาสตร์หรือไม่
         
          "เสน่ห์ของอิริเดียมแฟร์อยู่ตรงที่เป็นปรากฏการณ์ที่เราสามารถคำนวณได้อย่างแม่นยำว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และคำนวณได้แม่นเป็นวินาทีๆ" วิทยาอธิบาย ซึ่งเขาตั้งใจว่าจะใช้ปรากฏการณ์นี้ไปสร้างกิจกรรมทางดาราศาสตร์ต่อไป โดยยกตัวอย่างคร่าวๆ เช่นอาจใช้ในกิจกรรมฝึกการตั้งกล้องดูดาว หากเห็นดาวเทียมอิริเดียมผ่านหน้ากล้องก็แสดงว่าสามารถตั้งกล้องได้แม่นยำ
         
          ส่วนนายพรชัย รังสีธนะไพศาล กรรมการสมาคมดาราศาสตร์ไทยไม่ต้องเสียเวลากับคำอธิบายว่าเขาตื่นเต้นกับอิริเดียมแฟร์แค่ไหน เพราะขณะที่ทุกคนหลับใหลเขากลับจดจ่อกับการสังเกตท้องฟ้ายามดึกเหนือวัดมกุฎคีรีวัน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และได้ปลุกให้สมาชิกคนอื่นๆ ตื่นขึ้นมารอชมแสงวาบจากดาวเทียมอิริเดียมซึ่งจากเว็บไซต์ heavens-above.com ระบุว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเกือบ 6 นาฬิกาของรุ่งเช้าวันที่ 18 มี.ค.
         
          ความตั้งใจของพรชัยไม่ไร้ผล อิริเดียมแฟร์โผล่มาตามเวลาที่คาดหมายพร้อมๆ กับความสว่างที่มากกว่าดาวพฤหัสบดี และเขายังบันทึกภาพเคลื่อนไหวของปรากฏการณ์ไว้ได้ เสียดายก็เพียงว่าเขาไม่สามารถเก็บภาพนิ่งเอาไว้ได้ทัน แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นก็สร้างความประทับใจให้กับใครหลายๆ คนที่ได้ชม
         
          ไม่ว่าเสน่ห์ของอิริเดียมแฟร์จะเป็นเพราะความแปลกตาหรือการตรงเวลาอย่างไม่บิดพริ้วสักวินาที แต่สิ่งที่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญให้เราติดตามปรากฏการณ์นี้คือคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลต่อสิ่งที่เราสิ่งเห็น ซึ่งช่วยให้เราไม่ตื่นตระหนกหรืองมงายกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนท้องฟ้าทั้งโดยธรรมชาติหรือเป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีของเราเอง อย่างน้อยใครที่คิดว่าตัวเองได้เห็นสัญญาณของ “อีที” เข้าแล้วก็จะได้ฉุกคิดขึ้นมาว่า...บางทีนั่นอาจเป็นเพียงแสงวาบสะท้อนจากดาวเทียมเท่านั้น
         
          --------------------------------------------------
         
          * ความสว่างของดวงดาวบนฟากฟ้านั้นนักดาราศาสตร์ใช้มาตรวัดที่เรียกว่าโชติมาตรหรืออันดับความสว่าง (magnitude) โดยในอดีตชาวกรีกได้จัดอันดับความสว่างของดาวฤกษ์เป็น 6 กลุ่ม ดาวฤกษ์ที่มีโชติมาตร 1 มีความสว่างมากที่สุด และแต่ละ 1 โชติมาตรจะมีความสว่างต่างกัน 2.512 เท่าหรือเป็นค่าของรากที่ 5 ของ 100 ต่อมาเมื่ออุปกรณ์ทางดาราศาสตร์พัฒนามากขึ้นก็มีการเสนอให้มีอันดับความสว่างมากกว่า 6 และพบว่ามีดาวฤกษ์รวมถึงดาวเคราะห์บางดวงที่สว่างกว่าโชติมาตร 1 ซึ่งเป็นค่าติดลบยิ่งติดลบมากความสว่างก็ยิ่งมาก อย่างดวงอาทิตย์มีความสว่าง –26.7 และดาวศุกร์มีความสว่าง –4.7 เป็นต้น (เรียบเรียงจากหนังสือรอบรู้ดูดาวของสมาคมดาราศาสตร์ไทย)
         
          **วิธีใช้โปรแกรมคำนวณในเว็บ www.heavens-above.com ระบุวันเวลาที่จะเกิดอิริเดียมแฟร์บริเวณละติจูดและลองจิจูดที่ต้องการสังเกต
         
          1. เข้าเว็บ www.heavens-above.com
         
          2. เลื่อนหน้าจอลงมาด้านล่างจนพบ ตัวหนังสือสีฟ้าข้อความว่า "Enter your coordinates manually."
         
          3. ใส่ค่าละติจูดที่แปลงเป็นลิปดาและฟิลิปดาให้อยู่รูปทศนิยมขององศา เช่น ละติจูด 13 องศา 43 ลิปดา 10.69 พิลิปดา ให้กรอกลงไปว่า 13.71963611 องศา ซึ่งคำนวณได้มาจาก 13+ (43/60) + (10.69/3600)
         
          4. ใส่ค่า ลองจิจูด โดยทำเช่นเดียวกันกับ ค่าละติจูดในข้อ 3.
         
          5. ใส่ค่า ความสูงจากระดับน้ำทะเล สำหรับสถานที่ที่เราทำการสังเกตการณ์อิริเดียม แฟลร์
         
          6. กรอกชื่อ สถานที่ ที่เราสังเกตการณ์
         
          7. เลือก TIme Zone จากดรอปดาวน์ลิสต์ (ถ้าอยู่ในไทยเป็น GMT+7 Cambodia, Kampuchea, Indonesia (West), Thailand,Vietnam)
         
          8. กดปุ่ม Submit จากนั้นจะเข้าสู่เว็บเพจหน้าใหม่
         
          9. ให้เราเลือกช่วงเวลาที่เราต้องการจะสังเกตอิริเดียมแฟลร์ (next 24 hrs | next 7 days | previous 48 hrsหรือ Daytime Flares for 7 days) จากหัวข้อย่อย IridiumFares ในหัวข้อหลัก Satellites

    ที่มาครับ

    http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000057878

    จากคุณ : ksk - [ 21 พ.ค. 50 12:58:57 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom