ความคิดเห็นที่ 10
ความจริงแล้ว มันไม่ใช่ฉี่ครับ แต่เป็นน้ำเลี้ยงหรือน้ำหวานจากต้นไม้ ที่แมลงในกลุ่มเพลี้ยนั้นขับออกมา
ไม่เฉพาะจักจั่นนะครับ แมลงในกลุ่มเพลี้ยทั้งหมด (อันดับ Homoptera) รวมถึงจักจั่น ซึ่งจัดเป็นเพลี้ยขนาดใหญ่ จะมีปากลักษณะเป็นท่อ หรือเข็มมีรู เจาะเข้าไปไซเลมและโฟลเอมของพืช (ในกรณีของผลหรือดอกจะเจาะเข้าไปที่ส่วนสะสมอาหาร) เพื่อดูดเอาน้ำเลี้ยงที่มีสารอาหารที่มันจำเป็น ผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร และผ่านการกรองจากอวัยวะพิเศษในระบบทางเดินอาหารของเพลี้ยเหล่านั้น น้ำหวานที่ผ่านการกรองจะถูกขับทิ้ง กลายเป็นละอองที่ว่านั่นเอง
บางคนอาจสงสัยว่า ทำไมเพลี้ยพวกนี้จะต้องขับน้ำหวานออกมา แทนที่จะเอาผ่านกระบวนการย่อยทั้งหมด? มันมีที่มาครับ กลไกและยุทธวิธีอันชาญฉลาดนี้ ผ่านการคัดเลือกวิวัฒนาการมานับล้านปี ลำพังแค่แรงและพลังงานในตัวเพลี้ยตัวจิ๋วๆนั้น คงไม่สามารถดูดน้ำเลี้ยงจากท่อลำเลี้ยงของพืชได้หรอกครับ ลองนึกภาพเราใช้หลอดดูดน้ำจากแก้ว จะเห็นว่ามันต้องใช้แรงพอสมควรเลยทีเดียว แต่พวกมันฉลาดกว่านั้น มันอาศัยหลักฟิสิกส์ว่าด้วย กฎของการไหล และแรงดันของน้ำมาเกี่ยวข้อง (รายละเอียดรอนักฟิสิกส์มาอธิบายดีกว่านะครับ แบบว่าไม่กล้า เดี๋ยวจะหน้าแตก อิอิ) พูดง่ายๆก็คือ มันอาศัย "กาลักน้ำ" การไหลทิ้งของน้ำหวานทำให้มันสามารถดูดน้ำเลี้ยงจากต้นไม้ได้โดยไม่ต้องอาศัยแรงอะไรมากมายเลย
นอกจากนี้ เพลี้ยหลายชนิดสามารถนำน้ำหวานเหลือทิ้งนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวมันเองได้ด้วย ผมยกตัวอย่างเพลี้ยแป้ง ซึ่งคิดว่าหลายๆคนคงรู้จัก เพลี้ยขาวๆเหมือนแป้ง ที่มันคอยทำร้ายทำลายต้นไม้แสนรักของคุณ คุณเคยสังเกตไม๊ครับว่า เวลาที่คุณพยายามจะหยิบมันทิ้งหรือบี้เพลี้ยแป้งเหล่านั้น จะมีสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งมาปกป้องเพลี้ยเหล่านั้นอย่างเอาเป็นเอาตาย
สัตว์ที่ว่านี้ก็คือพวก "มด" มดพวกนี้อาศัยน้ำหวานที่เพลี้ยขับออกมาเป็นอาหาร มันจึงพยายามปกป้องแหล่งอาหารของมัน ที่น่าพิศวงกว่านั้น ก็คือ จะว่าไปแล้วพวกนี้นี่เองที่เป็นตัวแพร่กระจายเพลี้ย มันจะขนตัวอ่อนของเพลี้ยไปไว้ตามส่วนต่างๆของต้นไม้ เกิดเป็นโคโลนีของเพลี้ยใหม่ๆกระจายไปเรื่อยๆ อืมม... นึกภาพแล้วเหมือนการทำฟาร์มปศุสัตว์ของมนุษย์ยังไงอย่างงั้นเลยนะครับ...
จากคุณ :
กวิวัฏ
- [
24 ส.ค. 50 20:36:17
]
|
|
|