ความคิดเห็นที่ 33
ดังได้กล่าวแล้วว่า อารมณ์ (Object) ก็คือโลกที่ปรากฏลักษณะอาการแก่มนุษย์ทางอายตนะต่างๆ การรับรู้อารมณ์เหล่านี้ เป็นสิ่งจำเป็นซึ่งช่วยให้มนุษย์มีความสามารถในการเกี่ยวข้องกับโลก ทำให้ชีวิตอยู่รอดและดำเนินไปด้วยดี ในกระบวนการรับรู้นี้ เวทนาก็เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งโดยทำหน้าที่เป็นเครื่องชี้บอกให้ทราบว่า อะไรเป็นอันตรายแก่ชีวิต ควรหลีกเว้น อะไรเกื้อกูลแก่ชีวิต ควรถือเอาประโยชน์ได้ เวทนาจึงช่วยให้กระบวนการรับรู้ที่ดำเนินต่อไปสามารถสร้างความรู้ความเข้าใจที่ครบถ้วนบริบูรณืเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น แต่สำหรับมนุษย์ปุถุชน เวทนามิได้มีความหมายเพียงเท่านั้น คือมิใช่เพียงแค่ว่ากระบวนการรับรู้ได้มีส่วนประกอบเพิ่มเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง ที่ช่วยเสริมความรู้ให้สมบูรณ์ อันจะทำให้มนุษย์มีความสามารถมากขึ้นในการดำรงชีวิตที่ดีงาม แต่เวทนายังหมายถึงการที่โลกมีอะไรอย่างหนึ่งเป็นผลตอบแทนหรือรางวัลแก่มนุษย์ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกด้วย ผลตอบแทนที่ว่านี้ คือความเอร็ดอร่อย ความชื่นใจที่เกิดจากอารมณ์ (Object) ซึ่งเรียกว่า สุขเวทนา ในกรณีที่กระบวนการรับรู้ดำเนินมาตามลำดับจนถึงเวทนา ถ้ามนุษย์หันเข้าจับเวทนาไว้ตามความหมายในแง่นี้ มนุษย์ก็จะหันเหออกไปจากกระบวนการรับรู้ ทำให้กระบวนธรรมอีกอย่างหนึ่งได้โอกาสเข้ามารับช่วงแล่นต่อไปแทนที่ โดยเวทนาจะกลายเป็นปัจจัยตัวเอกที่จะก่อให้เกิดผลสืบเนื่องต่อกันไป พร้อมกันนั้ กระบวนการรับรู้ ซึ่งกลายเป็นส่วนประกอบและเดินควบไปด้วย ก็จะถูกกำลังจากกระบวนธรรมใหม่นี้บีบคั้นให้บิดเบือนและเอนเอียงไปจากความเป็นจริง กระบวนธรรมรับช่วงที่ว่านี้ มักดำเนินไปในแบบง่ายๆ พื้นๆ คือ เมื่อรับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เกิดความรู้สึกสุขสบายชื่นใจ (เวทนา) ก็อยากได้ (ตัณหา) เมื่ออยากได้ ก็ติดใจพัวพันจนถึงขั้นยึดติดถือมั่น (อุปาทาน) ค้างใจอยู่ ไม่อาจวางลงได้ ทั้งที่ตามความเป็นจริงไม่อาจถือเอาไว้ได้ เพราะสิ่งนั้นๆ ล่วงเลยผ่านพ้นหมดไปแล้ว จากนั้น ก็เกิดความครุ่นคิดสร้างภาพต่างๆ ที่จะให้ตนอยู่ในภาวะครอบครองอารมณ์ (Object) อันให้เกิดสุขเวทนานั้น พร้อมทั้งคิดปรุงแต่งสร้างวิธีการที่จะให้ได้อารมณ์และสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์นั้น แล้วลงมือกระทำการต่างๆ ทางกายบ้าง วาจาบ้าง เพื่อให้ได้มาซึ่งผลที่ต้องการเพื่อจะได้เวทนาที่ชอบใจนั้นยิ่งๆ ขึ้นไปอีก บังเกิดเป็นสุขทุกข์แบบซับซ้อนแรงสูง ที่เป็นผลเสกสรรค์ของมนุษย์เอง แล้วหมุนเวียนเข้าวงจรที่เริ่มจากเวทนาใหม่อีก กลายเป็นสังสารวัฏวนอยู่อย่างนั้น ไม่สามารถก้าวต่อไปสู่ผลเลิศอย่างอื่นที่ชีวิตนี้ยังสามารถเข้าถึงได้ยิ่งกว่านั้นขึ้นไป
มีข้อความแห่งหนึ่งในพระไตรปิฎก แสดงกระบวนธรรมเท่าที่กล่าวมานี้ได้อย่างกระทัดรัด และช่วยเชื่อมข้อความที่กล่าวมาในตอนว่าด้วยขันธ์ 5 เข้ากับเรื่องที่อธิบายในตอนนี้ให้ต่อเนื่องกัน มองเห็นกระบวนธรรมได้ครบถ้วนตลอดสายยิ่งขึ้น จึงขอยกมาอ้างไว้ ดังนี้
อาศัยตาและรูป เกิดจักขุวิญญาณ, ความประจวบแห่งสิ่งทั้งสามนั้น เป็นผัสสะ, เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี, บุคคลเสวยอารมณ์ใด ย่อมหมายรู้อารมณ์นั้น (สัญญา), หมายรู้อารมณ์ใด ย่อมตริตรึกอารมณ์นั้น (วิตักกะ), ตริตรึกอารมณ์ใด ย่อมผันพิสดารซึ่งอารมณ์นั้น (ปปัญจะ หรือการคิดนึกไปต่างๆนานา), บุคคลผันพิสดารซึ่งอารมณ์ใด เพราะการผันพิสดารนั้นเป็นเหตุ ปปัญจสัญญา ต่างๆ (สัญญาที่ซับซ้อนหลากหลาย)
ย่อมผุดพุ่ง สุมรุมเขา ในเรื่องรูปทั้งหลาย ที่พึงรู้ได้ด้วยตา ( หรืออายตนะอื่นๆ จนครบ 6 คู่) ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน (เวลาที่กำลังเกิดขึ้นและปรากฏตรงหน้าเท่านั้น)
จากคุณ :
ทนายที่รัก
- [
11 ก.พ. 51 07:02:15
]
|
|
|