Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม ที่หลายคนในประเทศนี้คิดว่าเล่นเน็ทไม่เป็น จะเขียนหนังสือ Quantum Mechanic

    ลองอ่านดูกันครับ ว่าคนระดับนี้จะเล่นเน็ทเป็นไหม เหอๆๆๆ
    เครดิตจากเว็บผู้จัดการครับ

    อุดมการณ์ ความคิด ของอาจารย์ ยังคงเดิม เหมือนตอนอยู่ลาดกระบังเลยครับ

    ภายหลังลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เมื่อปลายปีที่แล้ว ชื่อของ ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม ก็เงียบหายไปจากข่าวสารแวดวงการเมืองไทย หลายคนสงสัยว่า อดีตรัฐมนตรีที่มาจากสายวิชาการแบบฮาร์ดคอร์ผู้นี้กำลังทำอะไรอยู่ บ้างเป็นห่วงว่า เขาจะเข็ดขยาดกับบทบาทนักการเมืองสมัครเล่นจนหันหลังให้ถนนสายการเมืองอย่างสิ้นเชิง และพลอยกระทบต่อผลงานวิจัยทางวิชาการที่เขาเชี่ยวชาญไปด้วย

         
          แต่ตัวตนของ ศ.ดร.สิทธิชัย ที่เรามีโอกาสได้พบและพูดคุย ณ ห้องผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครนั้น ยังคงบุคลิกลักษณะของนักวิชาการที่ยัง “มีไฟ” อย่างครบถ้วน โต๊ะทำงานที่เป็นระเบียบเต็มไปด้วยเอกสารและตำรับตำราทางวิศวกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ หลังม่านควันซิการ์และถ้วยกาแฟดำร้อน คือบรรยากาศที่เขาเคี่ยวกรำผลงานทางวิชาการอยู่เป็นประจำทุกวัน จนสำเร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่าง...
         
          “อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำสำหรับวงจรรวมยุคใหม่” และ “วงจรป้อนกลับแบบลบและออสซิลเลเตอร์” คือชื่อตำราวิชาการเล่มล่าสุด จากความทุ่มเทเวลาและสติปัญญาของ ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม ที่ใช้ช่วงเวลาหลังลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีไอซีทีมาสานต่อความฝันวิชาชีพวิศวกร เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ทางปัญญาแก่ผู้ที่ศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และอิเล็กทรอนิกส์รุ่นต่อมา
         
          แม้ว่าชื่อหนังสืออาจจะดูฟัง “ยาก” และ “หนัก” สำหรับคนทั่วไป แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่แค่เนื้อหาที่อยู่ภายใน แต่เป็น “ราคา” ที่นับว่าถูกจนน่าตกใจเมื่อเห็นขนาดรูปเล่มและความประณีตในการจัดทำ
         
          เฉพาะตำรา “อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำสำหรับวงจรรวมยุคใหม่” ที่มีจำนวน 676 หน้า พิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์อย่างดี ปกแข็งเข้าเล่มด้วยวิธีเย็บกี่ ราคาเพียง 215 บาท ขณะที่อีกเล่มอย่าง “วงจรป้อนกลับแบบลบและออสซิลเลเตอร์” นั้นมีความหนากว่าถึง 984 หน้าเลยทีเดียว!
         
          เพราะอะไร วิศวกรนักวิจัยคนหนึ่งจึงลงทุนเขียนตำราวิศวกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ออกมาเป็นภาษาไทยอย่างยากลำบาก แต่กลับขายในราคาถูกเมื่อคำนึงถึงต้นทุนอย่างภาษีกระดาษ ฯลฯ ที่ขึ้นเอาๆ ตามราคาน้ำมัน มิพักต้องเอ่ยถึงความเหนื่อยยากในการรวบรวมองค์ความรู้มาจัดเรียงขึ้นใหม่เพื่อถ่ายทอดในภาษาไทย มิใช่แค่การ “แปล” ตามตัวอักษรอย่างตำราที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์หลายเล่มในอดีตเคยทำมาเท่านั้น
         
          วันนี้ ผู้เขียนเจ้าของรางวัล "IEEE Fellow" จากสถาบันวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ ผู้ที่เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “รักและภูมิใจในอาชีพวิศวกรของเขามากยิ่งกว่าตำแหน่งรัฐมนตรี!” เปิดใจเป็นครั้งแรกถึงผลงานทางด้านวิชาการที่เขาตั้งใจฝากเป็นอนุสรณ์แด่อนุชนรุ่นหลัง
         
          Q:ตำราวิศวกรรมศาสตร์และอิเล็กทรอนิกส์ภาษาไทยสองเล่มนี้มีที่มาอย่างไร?
         
          A:ในชีวิตผมเป็นอาจารย์มาตลอด ผมเป็นอาจารย์ตั้งแต่กลับมาจากต่างประเทศปี 2519 เป็นต้นมา ก็เจอปัญหาว่านักศึกษาไทยขาดแคลนตำราเรียนมาก ตำราความรู้ส่วนใหญ่ปัจจุบันนี้อยู่ในลักษณะภาษาอังกฤษ ทีนี้ประเทศไทยเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครมาก่อน เพราะฉะนั้น เราก็ใช้ภาษาไทยกัน ในระยะหลังมีการเห่อให้คนไทยใช้ภาษาอังกฤษขึ้น ซึ่งก็ถูกต้อง แต่เราจะหวังไม่ได้ว่าจะให้คนไทยมีภาษาอังกฤษดีเหมือนอย่างประเทศที่เขาใช้ภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เกิด มันไม่มีทางเป็นไปได้ ผมเคยลองคำนวณดูว่า ถ้าจะให้นักเรียนไทยหนึ่งคนมีความรู้ภาษาอังกฤษดีแตกฉานพอที่จะอ่านตำราภาษาอังกฤษได้เข้าใจ ต้องใช้เงินพิเศษประมาณ 3 ล้านบาทต่อหนึ่งคน เพราะว่าของอย่างนี้มันต้องสอนทีละคน เพราะฉะนั้นมันก็เป็นไปไม่ได้ แต่เราจะต้องพัฒนาประเทศไง แล้วมันก็มีตัวอย่างประเทศในโลกนี้เยอะแยะเต็มไปหมด ที่ประชากรไม่ค่อยมีความรู้ภาษาอังกฤษดี แต่ว่าพัฒนาประเทศได้ ยกตัวอย่าง ประเทศจีน รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี อิตาลี บางประเทศที่ประชากรพูดภาษาอังกฤษได้ดีก็เพราะเป็นเมืองขึ้นเท่านั้นเอง เลยพูดได้สองภาษาโดยทั่วไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำคือต้องแปลความรู้ หรือเขียนเป็นตำราใหม่ก็ได้ อย่างของผม ผมไม่ได้แปล ผมมาเรียบเรียงใหม่ทำเป็นภาษาไทยซึ่งมีคุณภาพดี เด็กจะได้ได้ประโยชน์
         
          ในชีวิตผมพบว่า เด็กโดยเฉพาะเด็กในต่างจังหวัดนี่น่าสงสารมาก ความรู้ภาษาอังกฤษเขาจะแย่กว่าเด็กที่เรียนหนังสือในกรุงเทพ แต่เขามีความพยายามไขว่คว้าหาความรู้เยอะมาก แต่ตำราที่เขาพอจะไขว่คว้าหาความรู้ได้ในท้องตลาด เป็นตำราที่คุณภาพมันแย่เต็มที ส่วนใหญ่เป็นตำราที่เขียนขึ้นมาเพื่อเอาตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ ซึ่งเขียนลวกๆ แปลลวกๆ ไม่ได้เนื้อความครบถ้วน ใส่แต่สมการเข้าไปเยอะๆ เพราะการใส่สมการนี่มันง่าย แล้วก็ทำให้เนื้อกระดาษมันเยอะขึ้น ฉะนั้น ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ผมก็พยายามที่จะส่งเสริมให้มีการแปลตำราหรือเรียบเรียงตำราที่ดีมานาน แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจ พอผมเป็นรัฐมนตรีที่ไอซีที ผมก็ได้ของบประมาณ 500 ล้าน เพื่อเอามาทำโครงการแปลตำรา ได้มา 100 ล้าน ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าจะทำกันยังไงนะ ไม่ใช่เรื่องของผมแล้ว แต่งบประมาณได้มา มันต้องทำต่อเนื่อง ผมคิดว่าถ้ารัฐบาลให้งบประมาณ 2 พันล้าน เป็นเวลา 20 ปี เราจะได้ตำรามาหลายหมื่นเล่ม แต่ละเล่มจะได้ประโยชน์ต่อเยาวชนไทยหลายแสนคนต่อปี
         
          Q:ทำไมถึงตั้งราคาได้ถูกขนาดนั้น?
         
          A:ตำราภาษาอังกฤษแพงมาก เพราะฉะนั้น อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งสำหรับผมเท่าที่จะทำได้ ผมขายโดยไม่เอากำไรเลย ผมไม่ต้องการเอากำไร ราคานี้เป็นราคาออกจากโรงพิมพ์เลย บวก vat แค่นั้นเอง แล้วก็ขาดทุนด้วย เพราะผมแจกไปตามห้องสมุดต่างๆ หลายร้อยเล่มแล้ว ผมต้องการทำเพื่อเป็นวิทยาทานจริงๆ ไม่ได้หวังจะหาเงินหรืออะไร ถ้าจะหาเงิน หาวิธีอื่นง่ายกว่าเยอะ วิธีนี้เป็นวิธีที่ไม่คุ้มเลยถ้าจะหาเงิน
         
          Q:ตำราที่คนไทยเขียนต่างจากตำราที่เขียนโดยคนต่างชาติไหมในแง่คุณภาพเชิงวิชาการ?
         
          A:อาจารย์ต่างประเทศที่เขาเขียนตำรา แต่ละคนเขาใช้เวลาหลายปีในการเขียนต่อเล่ม เขียนทุกวัน อ่านทุกวันหาความรู้และคิดทุกวัน เป็นงานฟูลไทม์เลยการเขียนตำราแต่ละเล่ม ต้องเขียนเต็มเวลา ไม่ใช่งานเขียนนิยาย ต้องอ่านวันละ 3-4 ชั่วโมง เขียนวันละ 4-5 ชั่วโมง อย่างเล่มสามผมใช้เวลาอ่านมา 6 เดือนแล้ว เพิ่งเริ่มลงมือเขียนไปได้แค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น เราต้องใช้เวลาอย่างนี้ ถ้าไม่ใช้เวลาอย่างนี้ไม่ว่าเป็นภาษาอังกฤษหรือไทย เราไม่มีทางได้ตำราที่ดี
         
          การเขียนตำราทางวิชาการ ก่อนอื่น คนเขียนต้องรู้เรื่องก่อน ไม่ใช่ไปแปล มีตำราวิชาการในเมืองไทยเป็นจำนวนมากที่ผมว่าคนเขียนไม่รู้เรื่อง แต่ว่าแปลเอาเลย ถ้าอย่างนั้นคนอ่านก็ไม่มีทางรู้เรื่อง เพราะฉะนั้น คนเขียนต้องรู้เรื่องในสิ่งที่ตัวเองเขียนอย่างดี เพราะฉะนั้นมันต้องใช้เวลา การเขียนตำราอย่างนี้อย่างน้อยต้องใช้เวลาฟูลไทม์วันหนึ่ง 10 ชั่วโมง ปีหนึ่งเต็มๆ ถึงจะได้ ไม่อย่างนั้นไม่มีทาง ต้องทุ่มเท เพราะอย่างนั้นตำรามันถึงออกมาน้อยมาก อันนี้ผมเข้าใจเลย เพราะว่านักวิชาการเมืองไทยพอจบปริญญาเอกมา เริ่มที่จะทำงาน เริ่มที่จะเป็นผู้บริหาร ก็ไม่มีเวลาที่จะเขียนตำรา ตำราของเมืองไทยที่เขียนออกมา จะเห็นได้ว่าตำราวิชาการมีน้อย ทุกๆ สาขาขาดแคลนหมด เทียบกับต่างประเทศไม่ได้เลย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสำหรับอ่านเล่น บางคนเป็นรัฐมนตรีก็ไปเขียนไดอารี่ประสบการณ์ชีวิต ซึ่งมันง่ายและมันไร้ประโยชน์ ผมว่ามันไม่ค่อยสร้างประโยชน์อะไรให้กับสังคม”

    จากคุณ : ข้าวแดงแห่งลาดยาว - [ 22 ก.พ. 51 08:31:23 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom