ความคิดเห็นที่ 22
ถามเองตอบเอง ( พอดีค้นไปด้วย คนอื่นบอกไม่เชื่อ )
" ทำไมน้ำมันมาเลย์ถูกกว่าไทย "
วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10836
ยุทธศาสตร์พลังงานชาติ ที่ต้องเข้าใจกันให้ถูกต้อง
โดย ณัฐกฤต ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา
ในอดีตประเทศไทยได้ขึ้นชื่อว่ามี "ไม้สัก" เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของชาติ
ความภูมิใจในครั้งนั้น ทำให้รัฐบาลในสมัยนั้นเร่งการส่งออกไม้สัก อย่างมืดฟ้ามัวดิน ผลก็คือในปัจจุบันประเทศไทยแทบจะไม่คงเหลือต้นสักขนาดใหญ่ไว้ให้ลูกหลานได้เชยชมอีกต่อไป
อุทาหรณ์ในเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า การเร่งใช้ทรัพยากรภายในประเทศมากจนเกินไป จะนำไปสู่ความขาดแคลนในทรัพยากรประเภทนั้นและเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเข้าใจในหลักการเบื้องต้น
มาเลเซียมีแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติมากกว่าประเทศไทยถึง 5 เท่า และได้พยายามสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรก๊าซธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยทำการส่งออกก๊าซธรรมชาติในรูปของก๊าซเหลว หรือ LNG ไปยังต่างประเทศ อาทิ ประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลีใต้
ในขณะเดียวกันการใช้พลังงานภายในประเทศมาเลเซีย ได้นำเข้าถ่านหินซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนต่ำกว่ามาผลิตพลังงานไฟฟ้า
ทั้งนี้ รัฐบาลมาเลเซียได้กำหนดเป้าหมายที่จะนำถ่านหินมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าปีละ 19 ล้านตัน ภายในปี ค.ศ.2010 มีกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินรวม 7,200 เมกะวัตต์ และได้ทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงแล้ว
ในส่วนของการส่งออกก๊าซธรรมชาติ ประเทศมาเลเซียได้ขยายโครงการ Bintulu LNG Complex ที่เมืองซาราวัค โดยในปี ค.ศ.1983 มาเลเซียผลิตก๊าซเหลวส่งออกจำนวน 3 ล้านตันต่อปี ปี ค.ศ.1996 ผลิตเพิ่มอีก 7.8 ล้านตันต่อปี และในปี ค.ศ.2002 ได้ผลิตเพิ่มขึ้นอีกเป็น 3.8 ล้านตันต่อปี
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การใช้พลังงานน้ำมันของโลกในปัจจุบันทำให้ประเทศมาเลเซียเริ่มหันกลับมาทบทวนปริมาณสำรองน้ำมันภายในประเทศ ซึ่งครั้งหนึ่งมาเลเซียเคยเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
จากการประเมินของหน่วยงานด้านพลังงานประเทศมาเลเซีย พบว่าจุดสูงสุดของการผลิตน้ำมันภายในประเทศ (Peak Production) ได้มาบรรจบในปี ค.ศ.2004 ไปแล้ว หลังจากนั้นกำลังผลิตน้ำมันจะเริ่มถดถอยลงเรื่อยๆ
จากสถานการณ์ดังกล่าว นายกรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซีย ถึงกับออกมาประกาศเตือนว่า "มาเลเซียเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมัน หากยังไม่มีการค้นพบแหล่งน้ำมันแห่งใหม่ๆ ภายในปี ค.ศ. 2009 มาเลเซียจะกลายมาเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันแทน"
มีแนวโน้มว่าประเทศมาเลเซียอาจจะชะลอการส่งออกทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพื่อรักษาระดับการใช้เชื้อเพลิงให้เหมาะสมและยาวนานที่สุด
สัญญาณนี้สามารถสะท้อนให้เห็นจากการที่มีลูกค้าใหม่ๆ รวมทั้งประเทศไทยได้ไปติดต่อซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวจากมาเลเซีย และมักจะได้รับคำปฏิเสธว่าไม่สามารถจัดหาให้ได้
หากมองในเชิงยุทธศาสตร์ด้านพลังงาน มาเลเซียวางตำแหน่งเชื้อเพลิงถ่านหินไว้เป็นตัวรองรับความต้องการด้านพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศ
ในขณะเดียวกันก็สร้างเกมรุก โดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับก๊าซธรรมชาติเหลวโดยอาศัยการส่งออกเพื่อนำเงินเข้าประเทศ โดยไม่ต้องคอยพะวงถึงความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศ ทั้งนี้เพราะยังมีปริมาณสำรองถ่านหินอีกมาก ที่จะสามารถนำเข้ามาเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า และยังมีต้นทุนที่ต่ำอีกด้วย
ดังนั้น รัฐบาลมาเลเซียจึงสามารถผลักดันผู้ประกอบการการส่งออกก๊าซเหลว เพื่อไปแข่งขัน และสร้างธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในต่างประเทศ ได้อย่างมีความภาคภูมิ
ในอดีตเราวัดความมั่งคั่งของแต่ละประเทศด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน ทองคำ หรือป่าไม้ แต่ในปัจจุบัน หลายประเทศที่ก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก อย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์ ล้วนแต่เป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากรที่โดดเด่นอยู่เลย
ด้วยเหตุนี้ การให้คำจำกัดความในความหมายของเศรษฐกิจแบบพอเพียงจึงมิใช่อยู่ที่การมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด และด้วยวิธีการที่ฉลาด
มาเลเซียเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถกำหนดกลยุทธ์ด้านพลังงานได้อย่างเหนือชั้น แม้ว่ามาเลเซียจะเป็นประเทศที่มีทรัพยากรด้านพลังงานมากกว่าประเทศไทยหลายเท่า แต่เขาก็ตระหนักถึงสถานการณ์ด้านพลังงานของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เขามีการประเมินสถานการณ์ด้านพลังงาน ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์อยู่ตลอด ในเรื่องของการบริหารสัดส่วนพลังงานของชาติ
เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามาเลเซียมองการณ์ไกลไปกว่าที่จะคอยพึ่งพาเชื้อเพลิงประเภทก๊าซหรือน้ำมัน (beyond the oil and gas) ไปแล้ว
มาเลเซียเลือกเชื้อเพลิงที่มีความมั่นคงที่สุด ทั้งในด้านปริมาณและราคา นั่นก็คือ ถ่านหิน เพื่อเป็นหลักประกันในเสถียรภาพและความมั่นคงในด้านพลังงานของชาติ
ในขณะเดียวก็ปรับเปลี่ยนก๊าซธรรมชาติให้อยู่ในรูปของก๊าซเหลว ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าสูงกว่าให้เป็นสินค้าเพื่อไปสร้างโอกาสในทางธุรกิจในภูมิภาคต่างๆ ของโลก
ปัจจุบันนี้ บริษัทด้านการพัฒนาพลังงานและเชื้อเพลิงของมาเลเซีย อย่างเช่น ปิโตรนัส มิใช่มีบทบาทเพียงแค่การจัดหาเชื้อเพลิงเพื่อสนับสนุนความต้องการพลังงานภายในประเทศเท่านั้น แต่การสะสมฐานข้อมูล (Knowledge Based) ที่ได้มาจากประสบการณ์ในการทำธุรกิจระดับโลก ทำให้บริษัทแห่งนี้สามารถหยิบฉวยเอาความรู้และข้อมูลไปใช้ได้ตลอดเวลา
ทำให้เขาสามารถตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำและรวดเร็ว สร้างความได้เปรียบ จนสามารถแข่งขันกับบริษัทอื่นๆ ในตลาดโลกได้
http://www1.matichonmultimedia.com/~matichon/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act01101150&day=2007-11-10§ionid=0130
จากคุณ :
momotar
- [
28 พ.ค. 51 19:09:17
]
|
|
|